มุมสุขภาพตา : #กระจกตา

เรียงตาม
ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง
อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม
ทำความเข้าใจอาการกระจกตาเสื่อม สาเหตุ วิธีการดูแลรักษาและป้องกัน
กระจกตาเสื่อมคือภาวะที่กระจกตาเสียหาย ส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติ กระจกตาเสื่อมเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้กระจกตามีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการสะสมของเนื้อเยื่อผิดปกติ วิธีรักษากระจกตาเสื่อม ได้แก่ การใช้ยาหยอดตา คอนแท็กต์เลนส์พิเศษ หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ส่วนการป้องกันคือการตรวจสุขภาพตาอยู่เสมอ การรักษากระจกตาเสื่อมที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล พร้อมด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในการตรวจและรักษาโรคกระจกตา   กระจกตาเสื่อมเป็นภาวะที่กระจกตาเกิดการผิดปกติ ส่งผลให้การมองเห็นเปลี่ยนไป การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดกระจกตาเสื่อม รวมถึงการรู้จักวิธีการรักษาและป้องกันที่เหมาะสม จะช่วยให้สามารถตรวจพบภาวะนี้ได้แต่เนิ่นๆ และป้องกันการเสื่อมสภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้     กระจกตาเสื่อม คือโรคอะไร? กระจกตาเสื่อมเกิดจากการสะสมของวัสดุในชั้นหนึ่งหรือหลายชั้นของกระจกตา ซึ่งวัสดุนั้นอาจทำให้กระจกตาสูญเสียความโปร่งใส ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นหรือมองเห็นไม่ชัดเจน โดยกระจกตาเสื่อมแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ   กระจกตาเสื่อมที่ชั้นหน้าหรือผิวหนังเป็นภาวะที่มีผลกระทบต่อชั้นนอกสุดของกระจกตา (รวมถึงชั้นเยื่อบุผิวและชั้นเยื่อรับรองผิว) กระจกตาเสื่อมจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(Stroma) ส่งผลต่อกระจกตาชั้นกลาง ซึ่งเป็นชั้นหนาที่สุดของกระจกตา กระจกตาเสื่อมชนิดหลังมีผลกระทบต่อส่วนในสุดของกระจกตา(ชั้นเยื่อบุผิวชั้นในและชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน) โดยกระจกตาเสื่อมชนิดหลังที่พบบ่อยที่สุดคือโรคฟุคส์ (Fuchs’ dystrophy)     สาเหตุของกระจกตาเสื่อม เกิดจากอะไรบ้าง กระจกตาเสื่อมมีหลายรูปแบบที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และบางรูปแบบยังคงต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น เชื้อชาติ ซึ่งมักเกิดในผู้ที่มีเชื้อสายขาว อายุ โดยมักเกิดในผู้ที่อายุมากกว่า 30 ปี และเพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกำหนดเพศเป็นหญิงตั้งแต่แรกเกิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้มากกว่าเพศชาย     สังเกตอาการของกระจกตาเสื่อม อาการของกระจกตาเสื่อมจะค่อยๆ พัฒนาและอาจทำให้การมองเห็นแย่ลงในระยะยาวหากไม่ได้รับการดูแลหรือรักษาที่เหมาะสม โดยสังเกตอาการของกระจกตาเสื่อมได้ คือ ตาแฉะ ตาแห้ง ระคายเคืองที่ตา การมองเห็นเบลอ ตาไวต่อแสง การมองเห็นเป็นภาพซ้อน รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา ปวดตา สายตาสั้น (มองเห็นวัตถุที่ไกลๆ เบลอ) สายตาเอียง (มองเห็นวัตถุเบลอหรือบิดเบี้ยว)     วิธีการรักษากระจกตาเสื่อม แม้ว่ากระจกตาเสื่อมยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ก็มีการรักษาที่ช่วยชะลอไม่ให้ภาวะนี้เสื่อมลงไปมากกว่าเดิม ซึ่งทำได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้ ยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งหยอดตา ยาหยอดตาหรือยาทาเฉพาะที่เป็นตัวเลือกในการรักษาอาการที่เกิดจากกระจกตาเสื่อม โดยช่วยบรรเทาอาการต่างๆ เช่น อาการปวดตา ความรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา และอาการตาแห้ง ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตามากขึ้นและบรรเทาอาการกระจกตาเสื่อมลงได้ ยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในกรณีที่กระจกตาเสียหายจากภาวะกระจกตาเสื่อม ซึ่งอาจทำให้กระจกตามีความเปราะบางและไวต่อการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆ โดยช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ คอนแท็กต์เลนส์ชนิดพิเศษ คอนแท็กต์เลนส์พิเศษถูกออกแบบมาให้ใส่บนกระจกตาเช่นเดียวกับคอนแท็กต์เลนส์ทั่วไป แต่มีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยในการฟื้นฟูกระจกตาเสื่อม โดยเลนส์เหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การทำศัลยกรรมแก้ไขกระจกตาด้วยแสง (Phototherapeutic Keratectomy) Phototherapeutic Keratectomy (PTK) เป็นวิธีการรักษากระจกตาเสื่อมที่ใช้เลเซอร์ที่ปรับความแม่นยำได้สูง เพื่อกำจัดเฉพาะเนื้อเยื่อกระจกตาที่เสียหายออก ทำให้จักษุแพทย์สามารถระบุและกำจัดส่วนที่เสียหายได้อย่างตรงจุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อกระจกตาส่วนที่ยังดีอยู่ การปลูกถ่ายกระจกตา ในกรณีที่กระจกตาเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียหายรุนแรงจนส่งผลต่อการมองเห็น การปลูกถ่ายกระจกตาอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง การผ่าตัดนี้ใช้เนื้อเยื่อกระจกตาจากผู้บริจาคมาแทนที่เนื้อเยื่อกระจกตาของผู้ป่วย ซึ่งปลูกถ่ายได้ทั้งแบบบางส่วนหรือแบบทั้งหมด การดูแลดวงตาเพื่อป้องกันกระจกตาเสื่อม กระจกตาเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ทำให้มีโอกาสเกิดกระจกตาเสื่อมในอนาคต แม้ว่าจะไม่สามารถลดความเสี่ยงได้ แต่การตรวจตาอย่างสม่ำเสมอและดูแลรักษาในระยะเริ่มต้นสามารถช่วยชะลออาการและรักษาสุขภาพดวงตาได้ สรุป กระจกตาเสื่อมเป็นภาวะที่กระจกตาของตาเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียหาย ส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติ หรือเกิดอาการเบลอหรือมองไม่ชัดเจน มักเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม รักษาได้ด้วยยาหยอดตา การใช้คอนแท็กต์เลนส์พิเศษ หรือการผ่าตัด เพื่อชะลอหรือบรรเทาอาการ ส่วนการป้องกันควรตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ   หากสงสัยว่าตัวเองอาจจะเป็นกระจกตาเสื่อม มารับการวินิจฉัยและการรักษาที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)ที่นี่มีจักษุแพทย์พร้อมดูแลดวงตาของคุณโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการตรวจและรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
สาเหตุที่ทำให้กระจกตาถลอก พร้อมวิธีการรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
กระจกตาถลอกคือการบาดเจ็บที่กระจกตา เกิดรอยขีดข่วนหรือแผลที่ผิวกระจกตา ส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดบริเวณดวงตาและมองเห็นได้ไม่ชัด กระจกตาถลอกเกิดจากการขีดข่วนหรือบาดเจ็บที่กระจกตา เช่น การขยี้ตาแรง การมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในดวงตา หรือการใช้คอนแท็กต์เลนส์ไม่ถูกวิธี วิธีรักษากระจกตาถลอกคือการใช้ยาหยอดตาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และปิดตาลดการเสียดสี ส่วนวิธีป้องกัน เช่น ไม่ขยี้ตา สวมแว่นตาป้องกัน และรักษาความสะอาดมือ รักษากระจกตาถลอกที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มอบการดูแลจากจักษุแพทย์ที่มีประสบการณ์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและปลอดภัย   ทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้เกิดกระจกตาถลอกและการเลือกวิธีการรักษาและป้องกันที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพดวงตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาว     กระจกตาถลอก คืออาการอะไร กระจกตาถลอก คือการขีดข่วนหรือบาดเจ็บที่ผิวกระจกตาซึ่งเป็นส่วนโปร่งใสที่ปกคลุมดวงตา ชั้นบนสุดของกระจกตาคือเยื่อบุ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 ชั้นของกระจกตา อาการของการถลอกเกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุผิว การเสียดสี หรืออุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงมาก แต่เมื่อผิวกระจกตาหลุดออกจะกระทบกับเส้นประสาทที่อยู่ใต้เยื่อบุผิว ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดจากการสัมผัสกับน้ำหรืออากาศ     รู้ได้อย่างไรว่าเป็นกระจกตาถลอก หากกระจกตาถูกขีดข่วนหรือบาดเจ็บ อาจทำให้เกิดอาการกระจกตาถลอก ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการต่างๆ คือ ดวงตาแฉะหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ เจ็บปวดที่ดวงตา อาจมีอาการระคายเคืองหรือรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา มีอาการไวต่อแสงหรือแสบตาเมื่อมองแสง มองเห็นไม่ชัด หรือภาพพร่ามัวเนื่องจากกระจกตาไม่เรียบ เวียนศีรษะจากการมองเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ชัดเจน หนังตาบวม หรือมีอาการเปลือกตากระตุก     กระจกตาถลอก มองไม่ชัด เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง กระจกตาถลอกและทำให้มองเห็นไม่ชัดเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาการผิดปกติ และโรคต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้ สิ่งแปลกปลอมเข้าตา หากอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองหรือเศษสิ่งสกปรกมาก โดยเฉพาะในผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นหรือเศษละอองจากสิ่งสกปรกเยอะ เช่น ผู้ที่ทำงานในอาชีพก่อสร้าง ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือชาวไร่ชาวสวนที่ใกล้ชิดกับใบไม้และกิ่งไม้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระจกตาถลอกได้ ขยี้ตาแรง การขยี้ตาแรงอาจทำให้กระจกตาถลอกได้ เนื่องจากแรงที่เกิดขึ้นจากการขยี้ตาทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างมือหรือสิ่งที่มีสิ่งสกปรกติดอยู่กับผิวกระจกตา นอกจากนี้การขยี้ตายังทำให้สิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่น หรือเชื้อโรคเข้าไปในตา ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือการระคายเคืองเพิ่มขึ้น ดวงตาบาดเจ็บ การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาจากสาเหตุต่างๆ เช่น การขูดขีดจากเล็บมือ แปรงแต่งหน้า หรือปากกาทิ่มตา ทำให้เกิดกระจกตาถลอกได้ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไปสัมผัสหรือเสียดสีกับผิวกระจกตาที่บอบบาง ทำให้เกิดรอยขีดข่วนหรือการบาดเจ็บได้ง่าย นอกจากนี้การเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง เช่น กีฬาที่มีลูกบอลหรืออุปกรณ์กระทบเข้ากับดวงตา หากไม่ใส่แว่นตาป้องกัน หรือการผ่าตัดที่ไม่ได้ปิดตาอย่างถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดกระจกตาถลอก ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อหรือการบาดเจ็บที่รุนแรงขึ้นได้ การใส่คอนแท็กต์เลนส์ไม่ถูกต้อง คอนแท็กต์เลนส์เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดกระจกตาถลอกได้ โดยเฉพาะในคนที่ใช้คอนแท็กต์เลนส์แฟชั่นที่อาจไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน หากคอนแท็กต์เลนส์ไม่สะอาดหรือเสียดสีกับดวงตาก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเป็นแผลที่กระจกตาได้ รวมถึงการใช้คอนแท็กต์เลนส์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้คอนแท็กต์เลนส์แบบรายวันแต่ใส่ติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด หรือไม่รักษาความสะอาดของคอนแท็กต์เลนส์อย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้เลนส์เสื่อมสภาพและส่งผลให้เกิดการถลอกที่กระจกตาได้ ติดเชื้อที่ดวงตา การติดเชื้อที่ดวงตา เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ดวงตาผ่านการสัมผัสโดยตรงหรือการใช้สิ่งของที่ไม่สะอาดจะทำให้เกิดการอักเสบหรือแผลที่กระจกตา ซึ่งจะทำให้ผิวกระจกตาบอบบางและเสี่ยงต่อการขีดข่วนหรือการบาดเจ็บได้ง่าย ทำให้เกิดกระจกตาถลอกได้ โรคประจำตัว นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว อาการกระจกตาถลอก มองไม่ชัดอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวได้เช่นกัน เช่น ผู้ที่มีภาวะตาแห้งซึ่งทำให้ดวงตาขาดน้ำและเกิดการถลอกของกระจกตาง่ายขึ้น ผู้ที่มีอาการของโรคภูมิแพ้หรือเยื่อบุตาอักเสบจากโรคภูมิแพ้ที่ทำให้ขยี้ตาบ่อยครั้ง จนทำให้กระจกตาถลอกเป็นแผล ผู้ที่มีโรคที่ทำให้เปลือกตาปิดไม่สนิท ก็เสี่ยงต่อการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาและทำให้เกิดการถลอกหรือแผลที่กระจกตาได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระจกตาถลอก อาการกระจกตาถลอกเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในร่างกาย ได้แก่ การทำงานใกล้กับอันตรายที่อาจกระทบตา เช่น เครื่องเจียรหรือโรงเลื่อย การทำสวนโดยไม่สวมแว่นตาป้องกัน การเล่นกีฬาอันตรายที่อาจทำให้เกิดบาดเจ็บที่ดวงตา การใส่คอนแท็กต์เลนส์ การมีอาการตาแห้ง การขยี้ตาซ้ำๆ หรือขยี้ตาด้วยแรงมาก     การรักษาและฟื้นฟูกระจกตาถลอก วิธีรักษากระจกตาถลอกจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันตามการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ดังนี้ การใช้ยายาหยอดตาและยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการเจ็บตาและตาแดง ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตาหรือยาทาชนิดขี้ผึ้งใช้ป้องกันการติดเชื้อที่ดวงตาและฆ่าเชื้อไวรัส ใช้ผ้าปิดตาช่วยป้องกันแสงและลดการเคลื่อนไหวของดวงตา โดยเฉพาะในกรณีที่มีรอยแผลใหญ่หรือภาวะตาไวต่อแสง เพื่อป้องกันการเสียดสีและช่วยฟื้นตัว ใช้คอนแท็กต์เลนส์พอดีตาช่วยป้องกันการเสียดสีได้ และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์     การป้องกันไม่ให้เกิดกระจกตาถลอก วิธีป้องกันและดูแลเพื่อลดความเสี่ยงและปกป้องดวงตาให้ปลอดภัยจากการบาดเจ็บ ไม่ให้เกิดกระจกตาถลอก มองเห็นไม่ชัด สามารถทำได้มีหลายวิธี ดังนี้ รักษาความสะอาด หมั่นล้างมือ ตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการจับ ถู หรือขยี้ดวงตาแรงๆ สวมแว่นตาป้องกันเพื่อป้องกันดวงตาจากสิ่งแปลกปลอมในชีวิตประจำวันหรือสถานการณ์เสี่ยง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละออง เช่น พื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดความเสี่ยงจากสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา เลือกใช้คอนแท็กต์เลนส์ที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับสภาพดวงตา รวมถึงถอดคอนแท็กต์เลนส์ก่อนนอนและทำความสะอาดให้ถูกวิธี ใช้สารเคมีหรืออุปกรณ์ที่มีคมอย่างระมัดระวัง สรุป กระจกตาถลอกคือการบาดเจ็บที่ผิวกระจกตา ซึ่งทำให้เกิดรอยขีดข่วนหรือแผลที่ผิวหนังของกระจกตา โดยสาเหตุของกระจกตาถลอกมักเกิดจากขยี้ตาแรง การใช้อุปกรณ์หรือสารเคมีเสี่ยง การใส่คอนแท็กต์เลนส์ไม่สะอาด หรือการบาดเจ็บจากของแข็ง การรักษากระจกตาถลอกมีการใช้ยาหยอดตา ยาปฏิชีวนะ และการปิดตาเพื่อป้องกันการเสียดสี ส่วนการป้องกันควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตา สวมแว่นตาป้องกัน และใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่สะอาด หากมีอาการกระจกตาถลอก มารับการรักษาที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)มีแพทย์ที่ชำนาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดูแลดวงตาที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระจกตา
กระจกตาคืออะไร? มีหน้าที่สำคัญกับดวงตาอย่างไร และวิธีดูแลกระจกตา
กระจกตาคือส่วนโปร่งใสที่โค้งอยู่ที่ด้านหน้าของดวงตา ทำหน้าที่หักเหแสงและปกป้องดวงตา กระจกตามีทั้งหมด 6 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอก ชั้นเยื่อรับรองผิว ชั้นกลาง ชั้นของดูอา ชั้นเยื่อรับรองเซลล์ด้านใน และชั้นเซลล์ผิวด้านใน โรคและอาการที่เกี่ยวกับกระจกตา ได้แก่ กระจกตาอักเสบ กระจกตาโค้งผิดรูป และแผลกระจกตา วิธีดูแลกระจกตาทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสตาด้วยมือเปล่า รักษาความสะอาด และตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ การรักษากระจกตาที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีจักษุแพทย์ที่ชำนาญการ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยในการรักษาปัญหากระจกตาอย่างมีประสิทธิภาพ   กระจกตาทำหน้าที่เป็นหน้าต่างของดวงตาที่ช่วยให้แสงเข้าสู่ดวงตาและโฟกัสแสงไปยังจอประสาทตาเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน นอกจากนี้กระจกตายังมีบทบาทในการป้องกันดวงตาจากฝุ่นละออง เชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมได้ด้วย การดูแลกระจกตาให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจอย่างมาก ไปรู้จักกับหน้าที่และความสำคัญของกระจกตา โรคที่เกี่ยวข้อง และวิธีการดูแลกระจกตาให้สุขภาพดี เพื่อการมองเห็นที่คมชัดในทุกวัน     กระจกตาคืออะไร สำคัญอย่างไรกับดวงตาบ้าง กระจกตา (Cornea) คือชั้นโปร่งใสทรงโดมที่อยู่ด้านหน้าของดวงตาทั้งสองข้าง กระจกตาทำหน้าที่อะไร? ทำหน้าที่คล้ายกับ "กระจกบังลม" ของดวงตา ช่วยป้องกันเศษฝุ่นละออง เชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าสู่ดวงตา รูปทรงเฉพาะของกระจกตายังมีบทบาทสำคัญในการหักเหแสงที่เข้าสู่ดวงตา เพื่อให้การมองเห็นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยกรองรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) บางส่วนเพื่อปกป้องดวงตาอีกด้วย โดยปกติกระจกตาของคนทั่วไปจะมีความหนาประมาณ 520 ไมครอน     กระจกตามีกี่ชั้น แต่ละชั้นทำหน้าที่อะไร กระจกตามีกี่ชั้น? โครงสร้างของกระจกตาประกอบด้วย 6 ชั้นที่ทำงานร่วมกันอย่างซับซ้อนเพื่อให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพและช่วยปกป้องดวงตาจากอันตรายต่างๆ โดยแต่ละชั้นมีหน้าที่ที่ต่างกันคือ 1. กระจกตาชั้นนอก (Epithelium) ชั้นนอกสุดของกระจกตา ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันระหว่างส่วนภายในของดวงตากับสิ่งแวดล้อมภายนอก นอกจากนี้ยังไวต่อความเจ็บปวดอย่างมาก นักวิจัยประมาณว่ากระจกตาชั้นนอกมีตัวรับความเจ็บปวดมากกว่าผิวหนังถึง 300 ถึง 600 เท่า ความไวนี้ช่วยปกป้องดวงตา โดยกระตุ้นให้ตอบสนองอย่างรวดเร็วเพื่อหยุดหรือกำจัดสิ่งที่ทำให้ดวงตาเจ็บปวดได้ทันท่วงที 2. ชั้นเยื่อรับรองผิว (Bowman’s layer)  กระจกตาชั้นเยื่อรับรองผิวเป็นชั้นที่แข็งแรงซึ่งประกอบด้วยคอลลาเจนเป็นส่วนใหญ่ มีหน้าที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งและรักษารูปทรงของกระจกตาให้คงที่ 3. กระจกตาชั้นกลาง (Stroma)  Stoma หรือกระจกตาชั้นกลางเป็นชั้นที่หนาที่สุดของกระจกตา ทำหน้าที่เสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างกระจกตา และช่วยหักเหแสงให้โฟกัสไปยังจอประสาทตา 4. ชั้นของดูอา (Pre-Descemet’s layer) งานวิจัยระบุว่าชั้นนี้มีความแน่นหนาราวกับสุญญากาศ ทำให้เป็นเกราะป้องกันที่แข็งแรงมากในการแยกของเหลวภายในดวงตาออกจากอากาศภายนอก 5. ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน (Descemet’s membrane) ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านในมีความบางและยืดหยุ่นได้ดี แต่ก็ยังแข็งแรงมากอีกด้วย มีความสำคัญต่อโครงสร้างของดวงตาและช่วยปกป้องส่วนภายในดวงตาจากการบาดเจ็บและการติดเชื้อ 6. ชั้นเซลล์ผิวด้านใน (Endothelial) กระจกตาชั้นเซลล์ผิวด้านในมีหน้าที่หลักในการควบคุมสมดุลของของเหลวในกระจกตาและภายในดวงตา ช่วยให้มั่นใจว่าจะมีน้ำและของเหลวในชั้นสโตรมาของกระจกตาในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้กระจกตาทำงานได้อย่างถูกต้อง     โรคหรืออาการที่มักพบได้ที่กระจกตา โรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับกระจกตาที่พบบ่อยและต้องระวังในการดูแลรักษา มีดังนี้ ตาแห้ง ชั้นผิวหนังของกระจกตาต้องการน้ำตาเพื่อรักษาความชุ่มชื้น เพราะน้ำตาช่วยหล่อลื่นผิวดวงตาและช่วยให้ดูดซึมออกซิเจนจากอากาศได้ เมื่อกระจกตาขาดความชุ่มชื้น จะเกิดอาการระคายเคืองและเจ็บปวดบริเวณดวงตา โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้สายตานานหรือต้องเพ่งตามอง ซึ่งอาจรบกวนการมองเห็นและทำให้เกิดอาการตาแห้ง การติดเชื้อ เมื่อผิวกระจกตาถูกทำลาย จึงทำให้เกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย รวมถึงไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิต ตัวอย่างหนึ่งของการติดเชื้อคืออาการกระจกตาอักเสบจากปรสิต (Acanthamoeba Keratitis) โดยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดตา ระคายเคือง ตาแดง แสบตา ตาพร่ามัว รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา ไปจนถึงน้ำตาไหลผิดปกติ กระจกตาอักเสบ การอักเสบของกระจกตา เป็นภาวะหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับกระจกตา มักมีอาการมองเห็นไม่ชัด ตาแดง และปวดตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างรุนแรง โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้กระจกตาอักเสบ ได้แก่ การติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อราที่เข้าไปทำลายกระจกตา การบาดเจ็บ กระจกตาเสียหายจากสิ่งที่มากระทบได้ เช่น รอยขีดข่วนจากสิ่งสกปรก การขยี้ตา หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ทำให้ผิวกระจกตาเสียหาย นอกจากนี้ยังสามารถเกิดการฉีกขาดจากของมีคม โดนของหนักกระทบตา หรือการใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไปที่อาจทำให้เนื้อเยื่อกระจกตาเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง รวมถึงการสึกกร่อนของผิวกระจกตาจนทำให้บางส่วนของกระจกตาเสียหาย ที่มักเกิดจากอาการตาแห้ง ระคายเคืองจากสารเคมี หรือเจอแสงแดดบ่อยๆ ความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม กระจกตามีความไวต่อความร้อนและความเย็นจัด เช่น การได้รับความร้อนสูงจนทำให้กระจกตาเป็นแผล หรือจากการสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งมักพบได้บ่อยกับคนที่อยู่ในแสงแดดเป็นเวลานาน หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป  นอกจากนี้กระจกตายังมีความไวต่อสารเคมีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำกรดหรือสารเคมีในรูปแบบก๊าซที่อาจระเหยและสัมผัสกระจกตา ซึ่งสามารถทำให้กระจกตาเกิดการระคายเคือง การบาดเจ็บ หรือการติดเชื้อได้ กระจกตาเสื่อม "โรคกระจกตาเสื่อม" มีมากกว่า 20 โรค โดยโรคที่พบได้บ่อย เช่น โรคกระจกตาโค้งผิดรูปและโรคฟุคส์ (Fuchs’ dystrophy) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของกระจกตา รวมถึงการทำงานร่วมกันของชั้นผิวกระจกตาแต่ละชั้น      วิธีดูแลกระจกตา ช่วยรักษาสุขภาพดวงตา การป้องกันและดูแลกระจกตาด้วยตนเองเพื่อป้องกันโรคหรืออาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับกระจกตา ทำได้หลายวิธี ดังนี้ ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เพื่อหาสัญญาณเตือนของปัญหาที่เกี่ยวกับกระจกตาและดวงตาโดยรวม ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ ล้างมืออย่างสม่ำเสมอก่อนสัมผัสดวงตา ป้องกันไม่ให้ดวงตาได้รับเชื้อโรคที่อาจทำร้ายกระจกตาได้ ไม่ใช้เครื่องสำอางหรือสิ่งของที่ต้องสัมผัสกับดวงตาร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายการติดเชื้อที่ตาได้ เก็บรักษาและดูแลคอนแท็กต์เลนส์อย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการขยี้หรือสัมผัสดวงตา รวมถึงการถูตาผ่านเปลือกตา ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายโดยไม่ตั้งใจหรือทำให้ผิวกระจกตาอ่อนแอลง สรุป กระจกตาคือส่วนโปร่งใสมีรูปร่างโค้งอยู่ที่ด้านหน้าของดวงตา ทำหน้าที่หักเหแสงและปกป้องดวงตา มีทั้งหมด 6 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอก ชั้นเยื่อรับรองผิว ชั้นกลาง ชั้นของดูอา ชั้นเยื่อรับรองเซลล์ด้านใน และชั้นเซลล์ผิวด้านใน โรคหรืออาการที่กระจกตา เช่น ตาแห้ง กระจกตาอักเสบ กระจกตาเสื่อม เป็นต้น ซึ่งป้องกันได้ด้วยการดูแลกระจกตาให้มีสุขภาพดวงตาที่ดี เช่น หมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา และรักษาความสะอาด หากมีปัญหาเกี่ยวกับกระจกตา เข้ารับการรักษาได้ที่ ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งมีจักษุแพทย์ผู้ชำนาญและมีประสบการณ์พร้อมดูแลดวงตาของคุณ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหากระจกตาและรักษาสุขภาพดวงตาอย่างมีประสิทธิภาพ
เข้าใจในเรื่องกระจกตาอักเสบว่าเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน
กระจกตาอักเสบ คือภาวะที่กระจกตาเกิดการอักเสบ ทำให้ตาแดง ปวดตา มองเห็นไม่ชัด หรือรู้สึกระคายเคือง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา การบาดเจ็บที่ดวงตา หรือใช้คอนแท็กต์เลนส์ไม่ถูกวิธี ปัจจัยที่ทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ ได้แก่ การใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สัมผัสดวงตาด้วยมือสกปรก บาดเจ็บที่ดวงตา และติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อม  รักษากระจกตาอักเสบได้ด้วยยาหยอดตาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส หรือยาต้านเชื้อรา และป้องกันได้โดยการเก็บรักษาคอนแท็กต์เลนส์ให้ถูกต้อง ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาด้วยมือสกปรก มารักษากระจกตาอักเสบที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่มีจักษุแพทย์คอยดูแลและเทคโนโลยีทันสมัยในการรักษา   มาทำความรู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบ รวมถึงวิธีการรักษาและป้องกันที่เหมาะสมเพื่อดูแลสุขภาพดวงตาให้ปลอดภัยจากการอักเสบ หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย     ภาวะกระจกตาอักเสบ คืออะไร? กระจกตาอักเสบ (Keratitis) คือการอักเสบของกระจกตาที่อาจเกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ โดยภาวะกระจกตาอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนภาวะที่ไม่เกิดจากการติดเชื้ออาจเกิดจากการบาดเจ็บที่กระจกตา     กระจกตาอักเสบ เกิดจากอะไรได้บ้าง สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบทั้งจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ได้แก่ กระจกตาอักเสบ ที่เกิดจากการติดเชื้อ เชื้อแบคทีเรีย เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในการเกิดกระจกตาอักเสบ มักเกิดจากการสะสมของฝุ่นและสิ่งสกปรกในตา เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคงูสวัด หรือเริม โดยภาวะกระจกตาอักเสบจากเริมมักเกิดขึ้นซ้ำได้ เชื้อรา สามารถทำให้กระจกตาอักเสบได้ในบางกรณี เชื้อปรสิต เช่น เชื้ออะแคนทามีบา ซึ่งมักพบในผู้ที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์ขณะว่ายน้ำ กระจกตาอักเสบ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาจากการผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือการข่วนกระจกตา การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบที่กระจกตา มีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา เช่น ฝุ่น หรือเศษวัสดุที่อาจทำให้กระจกตาอักเสบ ดวงตาสัมผัสกับรังสียูวีมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายและอักเสบที่กระจกตา ความผิดปกติของเปลือกตา เช่น เปลือกตาบิดเข้า หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (เช่น SLE กลุ่มอาการโจเกรน และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) ซึ่งมักมีอาการตาแห้งร่วมด้วย  ภาวะขาดวิตามินเอ ที่อาจทำให้กระจกตาเสียหายและเกิดอาการอักเสบ     สังเกตอาการของกระจกตาอักเสบ  มาดูกันว่าอาการใดบ้างที่อาจบ่งบอกได้ว่าเป็นภาวะกระจกตาอักเสบ โดยอาการที่สังเกตได้และควรระวังมีดังนี้ ตาแดงและปวดตา น้ำตาไหลและมีขี้ตา ลืมตาไม่ขึ้นเพราะรู้สึกปวดหรือระคายเคืองตา มองเห็นไม่ชัดหรือการมองเห็นลดลง ตาแพ้แสง ระคายเคืองตาเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในดวงตา     ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดกระจกตาอักเสบ  ปัจจัยหลายๆ อย่างสามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดกระจกตาอักเสบได้ง่ายขึ้น ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมการดูแลดวงตาและสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ คอนแท็กต์เลนส์ การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไปอาจทำให้ดวงตามีโอกาสได้รับบาดเจ็บและติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งการทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อคอนแท็กต์เลนส์ที่ผิดวิธีหรือไม่สะอาดพอก็เพิ่มความเสี่ยงได้ นอกจากนี้การใส่คอนแท็กต์เลนส์ขณะอยู่ในสระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติยังเป็นสาเหตุของกระจกตาอักเสบจากเชื้ออะแคนทามีบาได้อีกด้วย ภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ร่างกายจะป้องกันการติดเชื้อได้น้อยลง สาเหตุของภูมิคุ้มกันต่ำมีหลากหลาย เช่น จากโรคภูมิแพ้หรือการใช้ยากดภูมิ ระบบป้องกันตามธรรมชาติของดวงตาจะทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้เชื้อโรคที่เข้ามายังกระจกตาทำลายเนื้อเยื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบได้ กลุ่มยาสเตียรอยด์ การใช้ยาสเตียรอยด์นานๆ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่องได้ ส่งผลให้ดวงตาป้องกันเชื้อโรคได้ยากขึ้น เชื้อโรคเข้ามายังกระจกตาจะทำลายเนื้อเยื่อกระจกตาได้ง่ายขึ้น จึงอาจทำให้กระจกตาอักเสบ บวมหรือติดเชื้อในกระจกตาได้นั่นเอง ดวงตาบาดเจ็บ ดวงตาบาดเจ็บรวมถึงการบาดเจ็บจากการผ่าตัดทำให้กระจกตาอักเสบได้ เนื่องจากเมื่อกระจกตาถูกทำลายหรือมีบาดแผล เชื้อโรคจากภายนอกอาจเข้าสู่กระจกตาได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการติดเชื้อ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระจกตาอักเสบมากขึ้น อาการของกระจกตาอักเสบ ที่ควรพบแพทย์ หากมีอาการปวดตาบ่อยๆ ร่วมกับอาการตาแดง ตาบวม ลืมตาไม่ขึ้น หรือมองเห็นไม่ชัด อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นภาวะกระจกตาอักเสบได้ แนะนำผู้ป่วยควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที เพราะการได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงทีจะช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง หากการรักษาล่าช้าอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและมีผลต่อการมองเห็นอย่างถาวรได้ วิธีการตรวจหรือวินิจฉัยกระจกตาอักเสบ  มี 2 วิธีที่แม่นยำที่ช่วยให้การตรวจหาสาเหตุและการรักษาของกระจกตาอักเสบมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ Slit-Lamp ใช้สีฟลูออเรสซีนแต้มบนดวงตาเพื่อช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติที่กระจกตาชัดเจนขึ้น การตรวจในห้องปฏิบัติการ แพทย์อาจเก็บตัวอย่างน้ำตา ขี้ตา หรือเซลล์กระจกตาส่งไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของการอักเสบ วิธีรักษาภาวะกระจกตาอักเสบ  วิธีรักษาภาวะกระจกตาอักเสบทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบ โดยมีรายละเอียดดังนี้ กระจกตาอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ วิธีรักษาจะเน้นที่การบรรเทาอาการ โดยใช้น้ำตาเทียมช่วยให้ความชุ่มชื้นและลดการระคายเคือง กระจกตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ โดยอาจหยอดวันละ 4 ครั้ง หรือบ่อยถึงทุก 30 นาทีในชั่วโมงแรกๆ และบางกรณีอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย กระจกตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ใช้ยาหยอดตาหรือยารับประทานต้านเชื้อไวรัสมีประสิทธิภาพในการรักษากระจกตาอักเสบจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้การใช้น้ำตาเทียมยังช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา กระจกตาอักเสบจากเชื้อรา ใช้ยาต้านเชื้อราหยอดตา ร่วมกับการรับประทานยาต้านเชื้อราควบคู่กันในบางราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดความรุนแรงของการติดเชื้อ กระจกตาอักเสบจากเชื้ออะแคนทามีบา (Acanthamoeba) ใช้ยาหยอดตาต้านเชื้อปรสิต ซึ่งเชื้ออะแคนทามีบามักตอบสนองช้าและทนทานต่อยา จึงต้องใช้เวลานานในการรักษา     แนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดกระจกตาอักเสบ วิธีป้องกันไม่ให้เกิดกระจกตาอักเสบอย่างง่ายคือการดูแลและใช้งานคอนแท็กต์เลนส์อย่างถูกต้องทำได้ดังนี้ ถอดคอนแท็กต์เลนส์ก่อนเข้านอน ล้างมือและเช็ดมือให้แห้งก่อนสัมผัสคอนแท็กต์เลนส์ ดูแลเก็บรักษาตามคู่มือ ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่เหมาะสำหรับประเภทของคอนแท็กต์เลนส์ เปลี่ยนคอนแท็กต์เลนส์ใหม่เมื่อหมดอายุ เปลี่ยนตลับเก็บทุก 3-6 เดือน ทิ้งน้ำยาแช่คอนแท็กต์เลนส์ในตลับทุกครั้งหลังทำความสะอาดเลนส์ หลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์ในตอนว่ายน้ำ การป้องกันเชื้อไวรัสจากกระจกตาอักเสบไม่ให้แพร่กระจาย อีกวิธีในการป้องกันกระจกตาอักเสบ คือการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แม้ว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสในกระจกตาได้ทั้งหมด แต่การทำตามข้อแนะนำนี้จะช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา เปลือกตา หรือผิวหนังรอบดวงตาขณะเป็นโรคเริม ยกเว้นจะล้างมือทำความสะอาดอย่างหมดจด ใช้ยาหยอดตาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์เท่านั้น ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส   สรุป กระจกตาอักเสบคือภาวะที่กระจกตาเกิดการอักเสบ ทำให้ตาแดง บวม ปวดตา มองเห็นไม่ชัด หรือรู้สึกระคายเคือง มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือการบาดเจ็บที่ดวงตา โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ที่ทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ ได้แก่ การใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การสัมผัสดวงตาด้วยมือสกปรก การบาดเจ็บที่ดวงตา และการติดเชื้อ วิธีรักษากระจกตาอักเสบทำได้ด้วยยาหยอดตาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส หรือยาต้านเชื้อรา ส่วนการป้องกันควรดูแลคอนแท็กต์เลนส์ให้ถูกต้อง ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาด้วยมือสกปรก หากสงสัยว่าเป็นกระจกตาอักเสบ สามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่ ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่พร้อมดูแลด้วยความชำนาญและเทคโนโลยีทันสมัย
กระจกตาติดเชื้อคืออาการอะไร การรักษาและป้องกันที่ถูกต้องทำอย่างไร
กระจกตาติดเชื้อคือการอักเสบของกระจกตาจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ส่งผลให้ตาระคายเคืองและพร่ามัว การรักษากระจกตาติดเชื้อรวมถึงการใช้ยาหยอดตา ยาฆ่าเชื้อ หรือในบางกรณีอาจต้องใช้ยาฉีดหรือการผ่าตัดเพื่อรักษาแผลในกระจกตา วิธีรักษากระจกตาติดเชื้อควรใช้ยาหยอดตาฆ่าเชื้อ ยาฉีด หรือในบางกรณีอาจต้องผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา การรักษากระจกตาติดเชื้อที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและบริการครอบคลุม เพื่อฟื้นฟูการมองเห็นให้กลับมาชัดเจนอีกครั้ง   การติดเชื้อที่กระจกตาเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้ดวงตาพร่ามัว อาจรุนแรงจนส่งผลต่อการมองเห็น หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อดวงตาได้ อย่างไรก็ตามภาวะนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพตาและปฏิบัติตามวิธีลดความเสี่ยง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและรักษาดวงตาให้แข็งแรงอยู่เสมอ     กระจกตาติดเชื้อเป็นอย่างไร ภาวะกระจกตาอักเสบติดเชื้อ (Infectious Keratitis) เกิดจากการติดเชื้อที่กระจกตา ทำให้เกิดการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็น  การอักเสบส่งผลให้กระจกตาเกิดแผลเป็น กระจกตาผิดรูปร่าง และกระจกตาขุ่นมัว ส่งผลให้การหักเหแสงผิดปกติ แสงไม่สามารถผ่านเข้าสู่ดวงตาได้ตามปกติ ซึ่งอาจกระทบต่อการมองเห็นอย่างรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการของกระจกตาติดเชื้อ กระจกตาติดเชื้อ มีอาการเริ่มต้นจากการรู้สึกปวดตา เคืองตา ตาแดง มีขี้ตาสีขาวขุ่น เหลือง หรือเขียวขุ่น ร่วมกับอาการแพ้แสงจนน้ำตาไหล และอาจมีการมองเห็นพร่ามัว หรือในบางกรณีอาจไม่มีอาการมองเห็นผิดปกติเลย ในระยะแรกอาการอาจสังเกตได้ยาก ผู้ป่วยอาจพบเพียงสีขาวขุ่นบางๆ บนกระจกตา แต่หากอาการรุนแรงขึ้น จะสังเกตเห็นฝ้าขาวบนกระจกตาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ควรรีบเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็ว สาเหตุที่ทำให้เกิดกระจกตาติดเชื้อ สาเหตุของกระจกตาติดเชื้อที่พบได้บ่อยที่สุดมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือเชื้อราและเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม หรือไวรัสงูสวัด ส่วนการติดเชื้อจากโปรโตซัว เช่น Acanthamoeba นั้นพบได้น้อยกว่า แต่ยังเป็นไปได้ในบางกรณี     ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสติดเชื้อให้กับกระจกตา ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดกระจกตาติดเชื้อ มีดังนี้ ปัจจัยภายนอก เช่น สิ่งแปลกปลอมเข้าตา การใช้คอนแท็กต์เลนส์ การใช้ยาหยอดตาบางชนิด การได้รับอุบัติเหตุต่อกระจกตา และการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาหรือการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตา โรคของผิวตา เบ้าตา และส่วนอื่นๆ ของดวงตา เช่น เปลือกตาอักเสบ เปลือกตาผิดรูป หรือหลับตาไม่สนิท ขนตาม้วนเข้าหรือออก การอักเสบติดเชื้อในเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียง ตาแห้ง และทางเดินน้ำตาอุดตัน ความผิดปกติของกระจกตา เช่น กระจกตาบวมเรื้อรัง รอยถลอกหรือกระจกตาเปิด การเสียความรู้สึกบริเวณกระจกตา และประวัติติดเชื้อไวรัสที่กระจกตามาก่อน ภาวะทางร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาวะขาดสารอาหาร โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็งหรือโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน     วิธีรักษากระจกตาติดเชื้อ ไม่ให้ลุกลาม วิธีรักษากระจกตาติดเชื้อมุ่งเน้นเพื่อหยุดการลุกลามของเชื้อ ช่วยสมานแผล และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้ ใช้ยาหยอดตา ในกรณีที่ยังไม่ทราบชนิดของเชื้อโรค อาจเริ่มต้นด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อที่ครอบคลุมการติดเชื้อในวงกว้าง หากจำเป็นอาจต้องขูดผิวกระจกตาเพื่อตรวจหาเชื้อและเลือกใช้ยาที่ตรงกับชนิดของเชื้อก่อโรค แต่สำหรับกรณีที่แผลมีขนาดเล็ก แพทย์อาจให้ยาฆ่าเชื้อแบบครอบคลุมโดยไม่ต้องขูดกระจกตา ใช้น้ำตาเทียม เพื่อเร่งการสมานแผล แพทย์อาจพิจารณาให้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยหล่อลื่นกระจกตา และลดความระคายเคียง รวมถึงการใช้ยารักษาการติดเชื้อควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและฟื้นฟูสภาพกระจกตาให้กลับมาเป็นปกติ ใช้ยาฆ่าเชื้อ ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อเพิ่มเติมในรูปแบบอื่น เช่น การฉีดยาเข้าทางเส้นเลือด การรับประทานยา หรือแม้กระทั่งการฉีดยาเข้าบริเวณกระจกตาโดยตรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อและการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษา ลดการสัมผัสของผิวตา การรักษากระจกตาติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาวิธีการลดการสัมผัสของผิวตาจากสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการระคายเคืองหรือการติดเชื้อซ้ำ เช่น การใช้เทปปิดตาในตอนกลางคืน การเย็บเปลือกตาติดกันแบบชั่วคราว หรือการใช้เลนส์สัมผัสปิดทับกระจกตา นอกจากนี้ ในกรณีที่แผลเปิดเรื้อรัง อาจทำการเย็บเนื้อเยื่อปิดทับเพื่อช่วยในการรักษาและสมานแผล ปิดรอยรั่ว ภาวะกระจกตาทะลุหรือเกิดรูรั่วในกระจกตา การรักษาควรทำอย่างเร่งด่วน โดยใช้เนื้อเยื่อจากกระจกตาหรือตาขาวแปะ หรือใช้กาวพิเศษเพื่ออุดรูรั่ว พร้อมกับการใช้เลนส์สัมผัสปิดทับ เพื่อช่วยปิดรอยรั่วและป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่กระจกตาเพิ่มเติม เปลี่ยนกระจกตา หากไม่สามารถควบคุมอาการติดเชื้อได้ อาจต้องพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาหรือผ่าตัดปลูกถ่ายเซลล์ผิวตา ในบางกรณีที่รุนแรงมากอาจจำเป็นต้องนำลูกตาออกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและรักษาอาการที่เกิดขึ้น     วิธีป้องกันการติดเชื้อที่กระจกตา การป้องกันการติดเชื้อที่กระจกตาเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพดวงตา เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้ โดยมีแนวทางป้องกันที่ทำได้ดังนี้ ถ้ามีแผลบริเวณริมฝีปากหรือมีตุ่มเริม หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา เปลือกตา และบริเวณรอบตา  ใช้ยาหยอดตาที่แพทย์จักษุแพทย์สั่งเท่านั้น การล้างมือบ่อยๆ ช่วยลดการแพร่ของไวรัสได้ สรุป กระจกตาติดเชื้อคือภาวะที่กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้ตาระคายเคืองและพร่ามัวได้ หากเป็นแล้วควรรีบรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อลุกลาม นอกจากนี้ยังป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น การรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงการสัมผัสตาโดยไม่จำเป็น สำหรับคนที่มีอาการกระจกตาติดเชื้อ มารักษาได้ที่ ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่เราพร้อมดูแลดวงตาของคุณด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีแพทย์เฉพาะทางและบริการที่ครอบคลุม เพื่อให้คุณกลับมามองเห็นได้ชัดเจนอีกครั้ง
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111