ย้อนกลับ
กระจกจาโก่ง กระจกตาย้วย มาหาสาเหตุ ฃอาการ และแนวทางการรักษา

กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติไป หากปล่อยไว้นานอาจสายเกินแก้อาจนำไปสู่อาการสายตาสั้นหรือสายตาเอียง บทความนี้จะพามาหาสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษา เพื่อให้สามารถดูแลและลดความเสี่ยงต่อปัญหากระจกตาโก่งได้อย่างถูกต้อง

 

  • กระจกตาโก่ง เป็นภาวะที่กระจกตาบางลงเป็นรูปทรงกรวยหรือโก่งนูน จนแสงหักเหเข้าสู่ดวงตาอย่างผิดปกติ

  • กระจกตาโก่งจะส่งผลให้การมองเห็นถดถอย มองเห็นภาพไม่ชัด ผิดเพี้ยน และมีค่าสายตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกระจกตาโก่ง คือกลุ่มวัยรุ่นที่มีโครงสร้างกระจกตาเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ผู้ที่ขยี้ตาแรงบ่อยๆ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม

  • ควรรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการกระจกตาโก่งร่วมกับการเคืองตา ตาแดง ปวดศีรษะ และการมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว

 

กระจกตาโก่ง คืออะไร

 

กระจกตาโก่ง คืออะไร

โดยปกติแล้วกระจกตาจะมีความหนาโดยเฉลี่ยที่ 530-550 ไมครอน หรือประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และมีรูปทรงโค้งที่สม่ำเสมอ ซึ่งทำให้แสงหักเหอย่างถูกต้อง ส่งผลให้เห็นภาพที่คมชัด แต่กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วย (Keratoconus) คือภาวะที่กระจกตาเริ่มบางลงและเปลี่ยนรูปไปเป็นรูปทรงกรวยหรือโก่งนูนผิดปกติ ทำให้แสงหักเหเข้าสู่ดวงตาได้ไม่ถูกต้อง มองเห็นเป็นภาพเบลอ บิดเบี้ยว ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นาน อาจมีอาการรุนแรงขึ้นจนมีปัญหาด้านการมองเห็นได้

ผลกระทบจากกระจกตาโก่ง

อาการกระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยส่งผลต่อการมองเห็นได้ การที่กระจกตาที่บางและเปลี่ยนเป็นรูปทรงกรวยนั้น ทำให้การหักเหแสงผิดพลาด ไม่รวมจุดโฟกัสให้เป็นภาพเดียว ทำให้มองเห็นภาพเบลอ ผิดเพี้ยน เกิดเป็นปัญหาสายตาเอียง สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ

นอกจากนี้อาการกระจกตาโก่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ จากการที่โครงสร้างกระจกตาเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เป็นแผลที่กระจกตากระจกตาติดเชื้อกระจกตาบางจนบวมน้ำและแตกออก หรือเกิดวงแหวนในกระจกตา ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ส่งผลต่อการมองเห็นให้ถดถอยลงอย่างมาก และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

 

สังเกตอาการกระจกตาโก่งได้อย่างไร

 

สังเกตอาการกระจกตาโก่งได้อย่างไร

กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยจะเริ่มแสดงอาการชัดเจนขึ้นเมื่อมีอายุ 13 ปี หรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และจะแสดงอาการยาวนานจนถึง 10 - 20 ปี โดยผู้ที่มีภาวะกระจกตาโก่ง โดยสังเกตได้จากอาการเหล่านี้

  • ภาพที่มองเห็นมีความเบลอ มัว และผิดเพี้ยนตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น

  • ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาหรือคอนแท็กต์เลนส์บ่อยครั้ง เนื่องจากค่าสายตาเอียง สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • ตาไวต่อแสง ไม่สามารถมองสู้แสงได้

  • มีอาการเคืองตา แสบตา

  • มีอาการปวดตาร่วมกับปวดศีรษะ

  • หากมีอาการหนักจนเกิดแผลที่กระจกตา หรือกระจกตาบวมน้ำจนแตก การมองเห็นจะเสื่อมลงอย่างรุนแรง

สาเหตุของอาการกระจกตาโก่ง

กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยเกิดจากความผิดปกติของเส้นใยคอลลาเจนของกระจกตา ที่มีความอ่อนแอลง หรือมีการเรียงตัวที่ไม่สม่ำเสมอ กระจกตาจึงไม่แข็งแรง เมื่อปล่อยไว้นาน กระจกตาจะบางลงเรื่อยๆ และโก่งนูนออกมา ซึ่งที่มาของการเกิดโรคกระจกตาโก่งนั้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ปัจจัยบางอย่างอาจก่อให้เกิดอาการกระจกตาโก่งได้ เช่น

  • เกิดจากพันธุกรรม ครอบครัวมีประวัติการเป็นกระจกตาโก่ง

  • การขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ เป็นเวลานาน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ขึ้นตา ที่มักจะคันตาอยู่เสมอ

  • ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดมากเกินไป

  • มีอาการกระจกตาโก่งร่วมกับบางโรค เช่น ดาวน์ซินโดรม โรคหนังยืดผิดปกติ โรคหืด

 

กลุ่มเสี่ยงกระจกตาโก่ง มีใครบ้าง

 

กลุ่มเสี่ยงกระจกตาโก่ง มีใครบ้าง

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาโก่งนั้น มักเป็นกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกระจกตา เช่น

  • ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระจกตามากที่สุด

  • ผู้ที่ขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ จากโรคภูมิแพ้ขึ้นตา หรือเมื่อมีอาการคันตา

  • ผู้ที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้กระจกตาบางลงได้

  • ผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงหรือสายตาสั้น ร่วมกับมีค่าสายตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ

  • ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม มีแนวโน้มเกิดอาการกระจกตาโก่งได้มากกว่าปกติ

  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการเรียงตัวของคอลลาเจน เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อ หลอดเลือด น้ำเหลือง และเส้นประสาท

  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางโรคตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคครูซอง โรคหนังยืดผิดปกติ โรคกระดูกเปราะพันธุกรรม เป็นต้น

อาการกระจกตาโก่งแบบไหนต้องรีบพบแพทย์

หากการมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว หรือมีอาการผิดปกติบนดวงตา เช่น เคืองตา ตาแดง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากโรคกระจกตาโก่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด หากแพทย์พบการเปลี่ยนแปลงของกระจกตาได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งรักษาได้เร็วเท่านั้น

 

วินิจฉัยกระจกตาโก่งโดยแพทย์

 

วินิจฉัยกระจกตาโก่งโดยแพทย์

โรคกระจกตาโก่งมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจประเมินสภาพดวงตาเพื่อทำเลสิก หรือเพื่อรักษาโรคทางตาอื่นๆ เมื่อแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นกระจกตาโก่ง จะตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดด้วยเครื่องตรวจวัดพื้นผิวและความหนากระจกตา (Corneal topography) ต่อมาการวินิจฉัยโรคกระจกตาโก่งเริ่มต้นด้วยการซักประวัติโรคทางตาของคนในครอบครัว สอบถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมถึงตรวจสายตาด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

1. ทดสอบความสามารถในการมองเห็น (Visual Acuity)

เป็นการทดสอบด้วยการอ่านแผนภูมิวัดสายตา Snellen Chart ซึ่งเป็นแผนภูมิที่มีชุดตัวเลข 8 แถว และจะมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละแถว โดยจะวาง Snellen Chart ห่างออกในระยะ 6 เมตร จากนั้นเริ่มวัดสายตาทีละข้าง เพื่อประเมินระดับการมองเห็นที่แท้จริง

นอกจากนี้ยังมีการทดสอบสายตาด้วยการใช้เครื่องมือ Phoropter ที่เปลี่ยนเลนส์เพื่อแก้ไขการหักเหแสงของดวงตาได้ เมื่อผู้ที่รับการตรวจด้วย Phoropter เริ่มรู้สึกว่ามองเห็นชัดขึ้นตามปกติ แพทย์ก็จะนำค่าสายตาที่วัดได้ไปอ้างอิงในการตัดแว่นสายตาหรือคอนแท็กต์เลนส์ต่อไป

ผู้ที่มีอาการกระจกตาโก่งมักจะมีปัญหาสายตาสั้น สายตาเอียง การทดสอบความสามารถในการมองเห็นเหล่านี้ จะช่วยระบุได้ว่ามีสายตาที่ผิดปกติอย่างไร และมีค่าสายตาเท่าใด

2. วัดความโค้งกระจกตา (Keratometry)

การตรวจโดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่าเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) ส่องแสงเข้าไปในกระจกตา เพื่อดูการหักเหของแสง และวัดความโค้งของกระจกตาจากการสะท้อนของแสง ผู้ที่มีความโค้งหรือรูปร่างกระจกตาที่ผิดปกติ จะมีปัญหาสายตาต่างๆ เช่น สายตาสั้น สายตาเอียง และมีแนวโน้มที่จะเป็นกระจกตาโก่งได้

3. การส่องกล้องจุลทรรศน์ดวงตา (Slit Lamp Examination)

Slit Lamp คือกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่ส่องดวงตาให้เห็นทั้งภายนอกและภายในเป็นรูปแบบสามมิติ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะวางคางและหน้าผากให้แนบชิดกับเครื่อง จากนั้นแพทย์จะบังคับกล้องไปยังจุดที่ต้องการตรวจ แล้วปรับลำแสงให้กว้างขึ้นหรือแคบลงตามความต้องการเพื่อตรวจดูส่วนต่างๆ ของดวงตาอย่างชัดเจน หากผู้เข้ารับการตรวจมีลักษณะดวงตาที่เปลี่ยนไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาโก่งได้

4. วัดกำลังสายตา (Retinoscope)

เรติโนสโคป (Retinoscope) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินการหักเหของแสงในดวงตา โดยการใช้แสงจากเครื่องส่องไปที่ดวงตาของผู้เข้ารับการตรวจ แล้วสังเกตการสะท้อนกลับจากกระจกตา เพื่อประเมินว่าแสงถูกหักเหอย่างไรบ้าง ซึ่งมีหลักการคล้ายกับการตรวจด้วย Keratometer แตกต่างกันที่ Keratometer นั้นใช้ในการวัดรูปร่างและความโค้งของกระจกตา แต่ Retinoscope ใช้เพื่อตรวจดูความผิดปกติของการหักเหแสงในดวงตา ซึ่งผู้ที่มีอาการกระจกตาโก่ง ก็จะมีการหักเหของแสงในดวงตาที่ผิดเพี้ยนไป

 

แนวทางการรักษากระจกตาโก่ง

 

แนวทางการรักษากระจกตาโก่ง

แนวทางการรักษากระจกตาโก่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ โดยหลังจากแพทย์ประเมินอาการและแล้วจะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้ดังนี้

1. การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์

หากอาการกระจกตาโก่งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการสวมใส่แว่นสายตา หรือคอนแท็กต์เลนส์ชนิดพิเศษ ซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด เช่น Scleral Lens, RGP Lens เป็นต้น การจะใช้คอนแท็กต์เลนส์ชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามที่แพทย์ประเมินให้

2. การฉายแสง

การฉายแสงที่กระจกตา (Corneal Cross-Linking) เป็นวิธีการรักษากระจกตาโก่งโดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตร่วมกับวิตามินบี (Riboflavin) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นใยคอลลาเจนในกระจกตา เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด และยังให้ผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพด้วย

ทั้งนี้ การฉายแสงเหมาะสำหรับผู้ที่กระจกตายังคงมีความหนาและไม่มีแผลที่ผิวกระจกตาเท่านั้น ผู้ที่มีกระจกตาหนาน้อยกว่า 400 ไมครอน หรือเคยมีการติดเชื้อที่กระจกตา ไม่เหมาะแก่การรักษาด้วยวิธีนี้

3. การผ่าตัดใส่วงแหวนขึงกระจกตา

การใส่วงแหวนขึงกระจกตา เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาโก่งมาก หรือสายตาเอียงมากจนไม่สามารถสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ได้ วิธีนี้ที่ช่วยปรับรูปร่างของกระจกตาให้แบนลงและกลับมาใกล้เคียงกับกระจกตาปกติ เพื่อให้ผู้ที่มีกระจกตาโก่งมากสวมใส่แว่นหรือคอนแท็กต์เลนส์แก้ไขปัญหาสายตาได้ และจะรักษาด้วยการสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์หรือแว่นต่อไป

4. การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา

ในกรณีที่อาการกระจกตาโก่งมีความรุนแรงมาก มีแผลเป็นที่กระจกตา และการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ไม่ได้ผล อาจต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ซึ่งเป็นการรักษาที่ช่วยให้ความโค้งของกระจกตากลับมาใกล้เคียงกับปกติและช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายกระจกตานั้นมีความซับซ้อน และต้องรอรับการบริจาคกระจกตา อีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกระจกตานานมากกว่า 1 ปี

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการกระจกตาโก่ง

อาการกระจกตาโก่งไม่สามารถป้องกันได้ แต่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ด้วยการดูแลตัวเองดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ

  • ไม่สวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ข้ามคืน

  • ลดการใช้สายตาหนักๆ จนตาล้า

  • บริหารดวงตาด้วยการกลอกตาไปมา แทนการใช้นิ้วกดหรือนวดไปที่ดวงตา

  • ปกป้องดวงตาจากแสงแดด และแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือ

  • หมั่นตรวจสุขภาพตา และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาว่าเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่

รักษาอาการกระจกตาโก่ง ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร

หากมีอาการที่เข้าข่ายเป็นโรคกระจกตาโก่ง แนะนำให้เข้ามาปรึกษา วินิจฉัย และรักษาได้ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalศูนย์เฉพาะทางด้านการดูแลสุขภาพดวงตา ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีจุดเด่นดังนี้

  • ทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ

  • ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมเครื่องมือมาตรฐานระดับสากล เพื่อความแม่นยำและความปลอดภัยในการรักษา

  • ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

  • การบริการที่ใส่ใจ พร้อมบรรยากาศโรงพยาบาลที่อบอุ่นและเป็นกันเอง

สรุป

โรคกระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วย เป็นภาวะที่กระจกตาบางลงจนโก่งนูน ส่งผลให้มองเห็นเป็นภาพเบลอ ผิดเพี้ยน โดยสาเหตุการเกิดโรคนี้ยังไม่แน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การขยี้ตา และการป่วยเป็นโรคบางชนิด ซึ่งการรักษากระจกตาโก่งทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ การฉายแสง ไปจนถึงการผ่าตัดใส่วงแหวน หรือผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา

หากกำลังสงสัยว่ามีอาการเข้าข่ายกระจกตาโก่ง แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalที่นี่มีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการบริการที่ครบวงจร เพื่อให้ดวงตาคู่สำคัญได้รับการดูแลที่ดีและปลอดภัย

calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111