มุมสุขภาพตา

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

อาการตาล้า ปัญหาสายตาที่ต้องรีบดูแล หาสาเหตุและแนวทางการรักษา

‘อาการตาล้า’ เป็นปัญหาที่พบได้ในชีวิตประจำวัน แต่หากเกิดขึ้นบ่อย ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคต่างๆ ได้ ในบทความนี้จะมาแนะนำวิธีสังเกตอาการตาล้า พร้อมวิธีแก้อาการตาล้าอย่างละเอียด   อาการตาล้า คือการที่ดวงตามีความอ่อนล้าจากการใช้งานอย่างหนัก ทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน หรือเห็นเป็นภาพเบลอ อาการตาล้าที่สังเกตได้ เช่น ปวดตา ตาแห้ง แสบตา มองเห็นภาพไม่ชัดเจน เป็นต้น อาการตาล้าเป็นอาการที่เกิดได้ทั่วไป แต่หากเกิดขึ้นบ่อย ควรเข้ารับการตรวจตาอย่างละเอียดกับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจส่งผลเสียต่อการมองเห็นระยะยาวได้ อาการตาล้า นอกจากส่งผลต่อการดำเนินชีวิตแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของดวงตาอีกด้วย เพราะเมื่อดวงตาอ่อนล้า มักเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ อาการตาล้ารักษาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยใช้น้ำตาเทียม สวมแว่นตากันแดดหรือแว่นกรองแสง ประคบเย็น และฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา วิธีป้องกันตาล้า เริ่มต้นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ลดระยะเวลาการใช้งานหน้าจอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในพื้นที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น ลักษณะอาการผิดปกติที่แสดงว่าตาล้าอย่างหนัก ได้แก่ รู้สึกปวดบริเวณเบ้าตาอย่างหนัก มีน้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา มองเห็นภาพไม่ชัดเจน หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด     ทำความรู้จัก ตาล้า คืออะไร อาการตาล้า (Asthenopia) คืออาการที่เกิดจากการที่ดวงตาถูกใช้งานอย่างหนัก หรือมีการใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน โดยอาการตาล้าเป็นอาการที่มีความรุนแรงน้อย ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันจนไม่สามารถมองเห็นภาพได้ชัด ส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือ การขับขี่รถยนต์ เป็นต้น สังเกตอาการตาล้า มีอะไรบ้าง อาการตาล้า สามารถสังเกตได้ดังนี้ ปวดตา ปวดเบ้าตา หรือปวดบริเวณรอบๆ ดวงตา ตาแห้ง มีน้ำตาไหลออกมา ระคายเคืองตา แสบตา ตาล้า มองเห็นภาพเบลอ มองเห็นไม่ชัดเจน อาจมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ มีอาการบ้านหมุน หรือเห็นภาพซ้อนกัน     ตาล้าอันตรายกว่าที่คิด! ส่งผลกระทบอะไรได้บ้าง อาการตาล้าอันตรายกว่าที่คิด! โดยปกติแล้วอาการตาล้าเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ทั้งนี้หากมีอาการตาล้า ปวดบริเวณเบ้าตาบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงสุขภาพที่กำลังทรุดตัวลง โดยอาการตาล้า นอกจากส่งผลต่อสุขภาพดวงตาแล้ว ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตอีกด้วย ดังนี้ ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาการตาล้าจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มองเห็นภาพเบลอๆ เห็นเป็นภาพซ้อน จนส่งผลต่อกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านหนังสือ การเขียนหนังสือ การมองเห็นใบหน้า หรือการมองถนนขณะขับรถ เป็นต้น ผลกระทบต่อสุขภาพดวงตา อาการตาล้าจนส่งผลกับสุขภาพดวงตา เพราะอาการตาล้าอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น กล้ามเนื้อตาอักเสบ กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เป็นต้น หาสาเหตุอาการตาล้า เกิดจากอะไรได้บ้าง อาการตาล้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งสาเหตุหลักๆ ออกเป็น 6 ประการ ดังนี้ 1. การเพ่งมองระยะใกล้ การที่ดวงตาเพ่งมองสิ่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะประชิด ดวงตาจะเบิกกว้าง จ้องมองอยู่ตลอด เมื่อเพ่งมองเป็นระยะเวลานานส่งผลให้เกิดอาการตาล้าได้ 2. การอยู่ในพื้นที่แสงน้อย การทำกิจกรรมในพื้นที่ที่ขาดแสง หรือมีแสงไม่เพียงพอ ส่งผลให้ดวงตาต้องเพ่งมองเพื่อให้มองเห็นภาพได้ชัดขึัน ทำให้เกิดอาการตาล้าในที่สุด 3. เครียดหรือเหนื่อยล้า ผู้ที่ความเครียดสูง ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้าได้มากกว่าปกติ โดยความเครียดส่งผลต่อร่างกายโดยรวม อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย รวมถึงภาวะตาล้าได้อีกด้วย 4. ค่าสายตาผิดปกติ ผู้ที่มีอาการสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง มักเกิดอาการตาล้าร่วมด้วย เนื่องจากดวงตามองเห็นในระยะใกล้ หรือไกลได้น้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดการเพ่ง การจ้องมองสิ่งของเพื่อให้เห็นได้ชัดขึ้นอยู่ตลอด 5. การจ้องหน้าจอ การที่ดวงตาจ้องไปที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอโทรศัพท์อยู่บ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เป็นการใช้สายตาอย่างหนักในช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน ส่งผลให้ตาล้าได้ในที่สุด 6. การขับขี่รถยนต์ ในระหว่างการขับรถ ผู้ขับขี่รถยนต์จะต้องใช้สายตาประกอบการขับรถอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการขับตรง มองซ้าย มองขวา และแสงสว่างจากดวงอาทิตย์และท้องถนนยังทำร้ายสายตาอีกด้วย เมื่อขับรถเป็นระยะเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมง อาจทำให้เกิดอาการตาล้าได้     อาการตาล้าแบบไหนที่ต้องรีบพบจักษุแพทย์ จากที่ได้ทราบกันแล้วว่าอาการตาล้าเกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่อาการตาล้าแบบไหนที่เป็นอาการเร่งด่วน ที่ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ แนะนำให้สังเกตจากอาการผิดปกติ ดังต่อไปนี้ มีอาการปวดบริเวณดวงตาอย่างรุนแรง มีอาการแสบตา น้ำตาไหลอยู่ตลอด มองเห็นภาพเบลอ หรือเห็นภาพซ้อนกันอยู่ตลอด มีอาการบ้านหมุน วิงเวียนศีรษะร่วมด้วย การวินิจฉัยอาการตาล้าโดยแพทย์ ทำได้อย่างไร สำหรับการตรวจวินิจฉัยอาการตาล้าโดยจักษุแพทย์ โดยส่วนใหญ่จักษุแพทย์จะเริ่มจากการสอบถามประวัติเบื้องต้น รวมถึงโรคประจำตัวต่างๆ เพื่อให้ทราบประวัติสุขภาพโดยคร่าวๆ จากนั้นจะทำการสอบถามพฤติกรรมที่อาจส่งผลกับตัวโรค เพื่อค้นหาสาเหตุของอาการตาล้า และทำการตรวจสอบดวงตาด้วยอุปกรณ์เฉพาะเพื่อทำการวินิจฉัยสาเหตุ พร้อมทั้งแนะนำวิธีการรักษาอาการตาล้า     แนวทางการรักษาอาการตาล้า อาการตาล้า เป็นอาการที่พบได้โดยทั่วไป และสามารถหายเองได้ โดยแนวทางการรักษาอาการตาล้าเบื้องต้น ทำได้ ดังนี้   ใช้น้ำตาเทียมเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ช่วยบรรเทาอาการตาล้า รวมถึงลดโอกาสเกิดการระคายเคือง สวมแว่นกันแดดและแว่นกรองแสงเป็นการถนอมดวงตาด้วยการป้องกันแสงแดด และแสงสีฟ้าเข้ามาทำลายดวงตา ประคบดวงตาการประคบเย็นด้วยการใช้ผ้าสะอาดห่อน้ำแข็ง หรือใช้เจลเย็นประคบที่ดวงตาเป็นระยะเวลาประมาณ 10-15 นาที จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา ลดอาการตาล้า ตาพร่าได้ ฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาแนะนำให้ทำตามขั้นตอน ดังนี้ เตรียมอุปกรณ์สำหรับการฝึกบริการกล้ามเนื้อตา เช่น ดินสอ หรือปากกาอย่างน้อย 1 แท่ง ใช้มือข้างที่ถนัด ถือดินสอเอาไว้ ยื่นแขนที่ถือดินสอไปให้สุดแขน โดยให้ดินสออยู่กึ่งกลางจมูก ใช้ดวงตาทั้งสองมองไปที่ดินสอ โดยหากเห็นดินสอแท่งเดียว ถือว่าถูกต้อง หากมองเห็นดินสอเป็น 2 แท่ง ให้หลับตา พักสายตาสักระยะ แล้วมองใหม่อีกครั้ง ค่อยๆ เลื่อนมือเข้ามาใกล้อย่างช้าๆ โดยหากเห็นดินสอเป็น 2 แท่ง หรือเริ่มเห็นไม่ชัด ให้หยุด และถอยกลับไปเริ่มต้นใหม่ ยื่นแขนเข้า-ออก และมองตามไปเรื่อยๆ ประมาณ 20 ครั้งแล้วหยุด รวมวิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการตาล้า สำหรับวิธีการดูแลตนเองเพื่อป้องกันอาการตาล้าที่ทำได้ด้วยตนเอง มีดังนี้   นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอควรพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ หลีกเลี่ยงการจ้องหน้าจอเป็นระยะเวลานานไม่ว่าจะเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอโทรศัพท์ หน้าจอโทรทัศน์ เป็นต้น กำหนดเวลาพักสายตาแนะนำให้พักสายตาทุกๆ 30-50 นาที โดยให้มองไปรอบๆ แทนการจดจ่ออยู่กับที่ เลือกกินอาหารหรือวิตามินที่ช่วยบำรุงสายตาเน้นบริโภคผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า หรือรับประทานผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น ราสป์เบอร์รี โกจิเบอร์รี เป็นต้น การสวมแว่นตัดแสงหรือแว่นกรองแสงสีฟ้าเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องจดจ่ออยู่กับหน้าจอบ่อยๆ เช่น ใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือการใช้งานโทรศัพท์มือถือ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะมีแสงสีฟ้าซึ่งทำอันตรายต่อดวงตา อาจทำให้เกิดอาการตาล้า แสบตาได้ง่าย รักษาอาการตาล้า ที่ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital พร้อมตรวจสอบดวงตา ตรวจหาค่าความผิดปกติด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย พร้อมทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ หากมีอาการตาล้า ตาพร่า รู้สึกปวดบริเวณเบ้าตาบ่อยๆ แนะนำให้ทำการนัดหมายเพื่อตรวจสุขภาพดวงตาที่นี่ได้เลย โรงพยาบาลมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่พร้อมดูแลทุกปัญหาด้านดวงตา ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม่นยำ และคำนึงถึงความปลอดภัยมาก่อนเสมอ โรงพยาบาลมีศูนย์บริการที่หลากหลายที่พร้อมให้การรักษาโรคตาอย่างครอบคลุม โรงพยาบาลพร้อมให้บริการการรักษาโรคดวงตาอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตรวจสภาพตา การวินิจฉัยโรค วิธีการรักษา รวมถึงการติดตามผลการรักษา เพื่อให้คนไข้มั่นใจว่าจะได้รับการรักษาที่แม่นยำ และมีความปลอดภัยมาก่อนเสมอ สรุป ‘อาการตาล้า’ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป แต่หากเป็นเรื้อรัง หรือกลับมาเป็นบ่อยๆ รวมถึงมีอาการปวดเบ้าตา แสบตา ปวดหัว หรือบ้านหมุนร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายของสุขภาพดวงตา ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุและรักษาสุขภาพดวงตาของเราให้กลับมาดีดังเดิม ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospitalมีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ และคำนึงถึงความปลอดภัยมาก่อนเสมอ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อผลลัพธ์การรักษาดวงตาให้กลับมาชัดและสดใส

กระจกจาโก่ง กระจกตาย้วย มาหาสาเหตุ ฃอาการ และแนวทางการรักษา

กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติไป หากปล่อยไว้นานอาจสายเกินแก้อาจนำไปสู่อาการสายตาสั้นหรือสายตาเอียง บทความนี้จะพามาหาสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษา เพื่อให้สามารถดูแลและลดความเสี่ยงต่อปัญหากระจกตาโก่งได้อย่างถูกต้อง   กระจกตาโก่ง เป็นภาวะที่กระจกตาบางลงเป็นรูปทรงกรวยหรือโก่งนูน จนแสงหักเหเข้าสู่ดวงตาอย่างผิดปกติ กระจกตาโก่งจะส่งผลให้การมองเห็นถดถอย มองเห็นภาพไม่ชัด ผิดเพี้ยน และมีค่าสายตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกระจกตาโก่ง คือกลุ่มวัยรุ่นที่มีโครงสร้างกระจกตาเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ผู้ที่ขยี้ตาแรงบ่อยๆ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม ควรรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการกระจกตาโก่งร่วมกับการเคืองตา ตาแดง ปวดศีรษะ และการมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว     กระจกตาโก่ง คืออะไร โดยปกติแล้วกระจกตาจะมีความหนาโดยเฉลี่ยที่ 530-550 ไมครอน หรือประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และมีรูปทรงโค้งที่สม่ำเสมอ ซึ่งทำให้แสงหักเหอย่างถูกต้อง ส่งผลให้เห็นภาพที่คมชัด แต่กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วย (Keratoconus) คือภาวะที่กระจกตาเริ่มบางลงและเปลี่ยนรูปไปเป็นรูปทรงกรวยหรือโก่งนูนผิดปกติ ทำให้แสงหักเหเข้าสู่ดวงตาได้ไม่ถูกต้อง มองเห็นเป็นภาพเบลอ บิดเบี้ยว ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นาน อาจมีอาการรุนแรงขึ้นจนมีปัญหาด้านการมองเห็นได้ ผลกระทบจากกระจกตาโก่ง อาการกระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยส่งผลต่อการมองเห็นได้ การที่กระจกตาที่บางและเปลี่ยนเป็นรูปทรงกรวยนั้น ทำให้การหักเหแสงผิดพลาด ไม่รวมจุดโฟกัสให้เป็นภาพเดียว ทำให้มองเห็นภาพเบลอ ผิดเพี้ยน เกิดเป็นปัญหาสายตาเอียง สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ นอกจากนี้อาการกระจกตาโก่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ จากการที่โครงสร้างกระจกตาเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เป็นแผลที่กระจกตากระจกตาติดเชื้อกระจกตาบางจนบวมน้ำและแตกออก หรือเกิดวงแหวนในกระจกตา ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ส่งผลต่อการมองเห็นให้ถดถอยลงอย่างมาก และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้     สังเกตอาการกระจกตาโก่งได้อย่างไร กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยจะเริ่มแสดงอาการชัดเจนขึ้นเมื่อมีอายุ 13 ปี หรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และจะแสดงอาการยาวนานจนถึง 10 - 20 ปี โดยผู้ที่มีภาวะกระจกตาโก่ง โดยสังเกตได้จากอาการเหล่านี้ ภาพที่มองเห็นมีความเบลอ มัว และผิดเพี้ยนตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาหรือคอนแท็กต์เลนส์บ่อยครั้ง เนื่องจากค่าสายตาเอียง สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตาไวต่อแสง ไม่สามารถมองสู้แสงได้ มีอาการเคืองตา แสบตา มีอาการปวดตาร่วมกับปวดศีรษะ หากมีอาการหนักจนเกิดแผลที่กระจกตา หรือกระจกตาบวมน้ำจนแตก การมองเห็นจะเสื่อมลงอย่างรุนแรง สาเหตุของอาการกระจกตาโก่ง กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยเกิดจากความผิดปกติของเส้นใยคอลลาเจนของกระจกตา ที่มีความอ่อนแอลง หรือมีการเรียงตัวที่ไม่สม่ำเสมอ กระจกตาจึงไม่แข็งแรง เมื่อปล่อยไว้นาน กระจกตาจะบางลงเรื่อยๆ และโก่งนูนออกมา ซึ่งที่มาของการเกิดโรคกระจกตาโก่งนั้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ปัจจัยบางอย่างอาจก่อให้เกิดอาการกระจกตาโก่งได้ เช่น เกิดจากพันธุกรรม ครอบครัวมีประวัติการเป็นกระจกตาโก่ง การขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ เป็นเวลานาน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ขึ้นตา ที่มักจะคันตาอยู่เสมอ ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดมากเกินไป มีอาการกระจกตาโก่งร่วมกับบางโรค เช่น ดาวน์ซินโดรม โรคหนังยืดผิดปกติ โรคหืด     กลุ่มเสี่ยงกระจกตาโก่ง มีใครบ้าง กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาโก่งนั้น มักเป็นกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกระจกตา เช่น ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระจกตามากที่สุด ผู้ที่ขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ จากโรคภูมิแพ้ขึ้นตา หรือเมื่อมีอาการคันตา ผู้ที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้กระจกตาบางลงได้ ผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงหรือสายตาสั้น ร่วมกับมีค่าสายตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม มีแนวโน้มเกิดอาการกระจกตาโก่งได้มากกว่าปกติ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการเรียงตัวของคอลลาเจน เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อ หลอดเลือด น้ำเหลือง และเส้นประสาท ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางโรคตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคครูซอง โรคหนังยืดผิดปกติ โรคกระดูกเปราะพันธุกรรม เป็นต้น อาการกระจกตาโก่งแบบไหนต้องรีบพบแพทย์ หากการมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว หรือมีอาการผิดปกติบนดวงตา เช่น เคืองตา ตาแดง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากโรคกระจกตาโก่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด หากแพทย์พบการเปลี่ยนแปลงของกระจกตาได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งรักษาได้เร็วเท่านั้น     วินิจฉัยกระจกตาโก่งโดยแพทย์ โรคกระจกตาโก่งมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจประเมินสภาพดวงตาเพื่อทำเลสิก หรือเพื่อรักษาโรคทางตาอื่นๆ เมื่อแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นกระจกตาโก่ง จะตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดด้วยเครื่องตรวจวัดพื้นผิวและความหนากระจกตา (Corneal topography) ต่อมาการวินิจฉัยโรคกระจกตาโก่งเริ่มต้นด้วยการซักประวัติโรคทางตาของคนในครอบครัว สอบถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมถึงตรวจสายตาด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้ 1. ทดสอบความสามารถในการมองเห็น (Visual Acuity) เป็นการทดสอบด้วยการอ่านแผนภูมิวัดสายตา Snellen Chart ซึ่งเป็นแผนภูมิที่มีชุดตัวเลข 8 แถว และจะมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละแถว โดยจะวาง Snellen Chart ห่างออกในระยะ 6 เมตร จากนั้นเริ่มวัดสายตาทีละข้าง เพื่อประเมินระดับการมองเห็นที่แท้จริง นอกจากนี้ยังมีการทดสอบสายตาด้วยการใช้เครื่องมือ Phoropter ที่เปลี่ยนเลนส์เพื่อแก้ไขการหักเหแสงของดวงตาได้ เมื่อผู้ที่รับการตรวจด้วย Phoropter เริ่มรู้สึกว่ามองเห็นชัดขึ้นตามปกติ แพทย์ก็จะนำค่าสายตาที่วัดได้ไปอ้างอิงในการตัดแว่นสายตาหรือคอนแท็กต์เลนส์ต่อไป ผู้ที่มีอาการกระจกตาโก่งมักจะมีปัญหาสายตาสั้น สายตาเอียง การทดสอบความสามารถในการมองเห็นเหล่านี้ จะช่วยระบุได้ว่ามีสายตาที่ผิดปกติอย่างไร และมีค่าสายตาเท่าใด 2. วัดความโค้งกระจกตา (Keratometry) การตรวจโดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่าเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) ส่องแสงเข้าไปในกระจกตา เพื่อดูการหักเหของแสง และวัดความโค้งของกระจกตาจากการสะท้อนของแสง ผู้ที่มีความโค้งหรือรูปร่างกระจกตาที่ผิดปกติ จะมีปัญหาสายตาต่างๆ เช่น สายตาสั้น สายตาเอียง และมีแนวโน้มที่จะเป็นกระจกตาโก่งได้ 3. การส่องกล้องจุลทรรศน์ดวงตา (Slit Lamp Examination) Slit Lamp คือกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่ส่องดวงตาให้เห็นทั้งภายนอกและภายในเป็นรูปแบบสามมิติ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะวางคางและหน้าผากให้แนบชิดกับเครื่อง จากนั้นแพทย์จะบังคับกล้องไปยังจุดที่ต้องการตรวจ แล้วปรับลำแสงให้กว้างขึ้นหรือแคบลงตามความต้องการเพื่อตรวจดูส่วนต่างๆ ของดวงตาอย่างชัดเจน หากผู้เข้ารับการตรวจมีลักษณะดวงตาที่เปลี่ยนไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาโก่งได้ 4. วัดกำลังสายตา (Retinoscope) เรติโนสโคป (Retinoscope) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินการหักเหของแสงในดวงตา โดยการใช้แสงจากเครื่องส่องไปที่ดวงตาของผู้เข้ารับการตรวจ แล้วสังเกตการสะท้อนกลับจากกระจกตา เพื่อประเมินว่าแสงถูกหักเหอย่างไรบ้าง ซึ่งมีหลักการคล้ายกับการตรวจด้วย Keratometer แตกต่างกันที่ Keratometer นั้นใช้ในการวัดรูปร่างและความโค้งของกระจกตา แต่ Retinoscope ใช้เพื่อตรวจดูความผิดปกติของการหักเหแสงในดวงตา ซึ่งผู้ที่มีอาการกระจกตาโก่ง ก็จะมีการหักเหของแสงในดวงตาที่ผิดเพี้ยนไป     แนวทางการรักษากระจกตาโก่ง แนวทางการรักษากระจกตาโก่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ โดยหลังจากแพทย์ประเมินอาการและแล้วจะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้ดังนี้ 1. การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ หากอาการกระจกตาโก่งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการสวมใส่แว่นสายตา หรือคอนแท็กต์เลนส์ชนิดพิเศษ ซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด เช่น Scleral Lens, RGP Lens เป็นต้น การจะใช้คอนแท็กต์เลนส์ชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามที่แพทย์ประเมินให้ 2. การฉายแสง การฉายแสงที่กระจกตา (Corneal Cross-Linking) เป็นวิธีการรักษากระจกตาโก่งโดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตร่วมกับวิตามินบี (Riboflavin) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นใยคอลลาเจนในกระจกตา เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด และยังให้ผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพด้วย ทั้งนี้ การฉายแสงเหมาะสำหรับผู้ที่กระจกตายังคงมีความหนาและไม่มีแผลที่ผิวกระจกตาเท่านั้น ผู้ที่มีกระจกตาหนาน้อยกว่า 400 ไมครอน หรือเคยมีการติดเชื้อที่กระจกตา ไม่เหมาะแก่การรักษาด้วยวิธีนี้ 3. การผ่าตัดใส่วงแหวนขึงกระจกตา การใส่วงแหวนขึงกระจกตา เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาโก่งมาก หรือสายตาเอียงมากจนไม่สามารถสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ได้ วิธีนี้ที่ช่วยปรับรูปร่างของกระจกตาให้แบนลงและกลับมาใกล้เคียงกับกระจกตาปกติ เพื่อให้ผู้ที่มีกระจกตาโก่งมากสวมใส่แว่นหรือคอนแท็กต์เลนส์แก้ไขปัญหาสายตาได้ และจะรักษาด้วยการสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์หรือแว่นต่อไป 4. การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ในกรณีที่อาการกระจกตาโก่งมีความรุนแรงมาก มีแผลเป็นที่กระจกตา และการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ไม่ได้ผล อาจต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ซึ่งเป็นการรักษาที่ช่วยให้ความโค้งของกระจกตากลับมาใกล้เคียงกับปกติและช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายกระจกตานั้นมีความซับซ้อน และต้องรอรับการบริจาคกระจกตา อีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกระจกตานานมากกว่า 1 ปี การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการกระจกตาโก่ง อาการกระจกตาโก่งไม่สามารถป้องกันได้ แต่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ด้วยการดูแลตัวเองดังนี้ หลีกเลี่ยงการขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ ไม่สวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ข้ามคืน ลดการใช้สายตาหนักๆ จนตาล้า บริหารดวงตาด้วยการกลอกตาไปมา แทนการใช้นิ้วกดหรือนวดไปที่ดวงตา ปกป้องดวงตาจากแสงแดด และแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือ หมั่นตรวจสุขภาพตา และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาว่าเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ รักษาอาการกระจกตาโก่ง ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากมีอาการที่เข้าข่ายเป็นโรคกระจกตาโก่ง แนะนำให้เข้ามาปรึกษา วินิจฉัย และรักษาได้ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalศูนย์เฉพาะทางด้านการดูแลสุขภาพดวงตา ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีจุดเด่นดังนี้ ทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมเครื่องมือมาตรฐานระดับสากล เพื่อความแม่นยำและความปลอดภัยในการรักษา ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง การบริการที่ใส่ใจ พร้อมบรรยากาศโรงพยาบาลที่อบอุ่นและเป็นกันเอง สรุป โรคกระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วย เป็นภาวะที่กระจกตาบางลงจนโก่งนูน ส่งผลให้มองเห็นเป็นภาพเบลอ ผิดเพี้ยน โดยสาเหตุการเกิดโรคนี้ยังไม่แน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การขยี้ตา และการป่วยเป็นโรคบางชนิด ซึ่งการรักษากระจกตาโก่งทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ การฉายแสง ไปจนถึงการผ่าตัดใส่วงแหวน หรือผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา หากกำลังสงสัยว่ามีอาการเข้าข่ายกระจกตาโก่ง แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalที่นี่มีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการบริการที่ครบวงจร เพื่อให้ดวงตาคู่สำคัญได้รับการดูแลที่ดีและปลอดภัย

แผลที่กระจกตาเสี่ยงกระจกตาติดเชื้อ! รวมอาการ สาเหตุ และการรักษา

แผลที่กระจกตาอันตรายมากกว่าที่คิด อาจทำให้กระจกตาติดเชื้อจนอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้! บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการกระจกตาเป็นแผลว่าคืออะไร มีอาการอย่างไร พร้อมหาสาเหตุและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ตลอดจนการดูแลดวงตาเพื่อลดความเสี่ยงเป็นแผลที่กระจกตา หาคำตอบได้ที่นี่   แผลที่กระจกตา คือ การที่กระจกตาได้รับบาดเจ็บจนเกิดเป็นแผล มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น แผลที่กระจกตามีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นแผลเพียงเล็กน้อยจะรักษาได้ด้วยการทานยา แต่หากมีอาการรุนแรงก็สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ แผลที่กระจกตาที่สังเกตได้ เช่น ปวดตา ตาอักเสบ ตาแดง มีน้ำตาไหลออกมา หรือมีหนองในดวงตา เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดจากแผลที่กระจกตา เช่น การติดเชื้อภายในลูกตา โรคต้อหิน หรือกระจกตาทะลุ ตลอดจนเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร การรักษากระจกตาเป็นแผลทำได้ 2 วิธี คือ การรักษากระจกตาเป็นแผลด้วยยาในกรณีที่อาการไม่รุนแรง และการรักษากระจกตาเป็นแผลด้วยการผ่าตัดในกรณีที่มีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง     ทำความรู้จักแผลที่กระจกตา คืออะไร กระจกตาของคนเราเปรียบเหมือนกระจกหน้ารถยนต์ที่เป็นเกราะป้องกันอันตรายจากภายนอก เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดการติดเชื้อขึ้น อาจส่งผลให้กระจกตาเป็นแผลได้ โดยแผลที่กระจกตาคือรอยโรคที่เกิดขึ้นบริเวณกระจกตา ซึ่งเป็นส่วนที่ใสและโค้งของผิวดวงตา มีหน้าที่ช่วยในการหักเหแสง หากเป็นแผลจะทำให้รู้สึกปวดตา ตาแดง และมองเห็นผิดปกติได้ ดังนั้นการรักษาแผลที่กระจกตาเป็นสิ่งที่จำเป็น และควรรีบซ่อมแซมอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ด่านหน้าที่ช่วยป้องกันดวงตาสามารถกลับมาทำงานได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง อาการแผลที่กระจกตา เป็นอย่างไร อาการกระจกตาเป็นแผล สังเกตได้จากอาการผิดปกติเหล่านี้   ปวดตา โดยเฉพาะเวลาที่อยู่ในที่ที่มีแสงสว่างมาก ระคายเคือง คันบริเวณรอบดวงตา ตาอักเสบ ตาแดง เปลือกตาบวม แสบตา น้ำตาไหลอยู่ตลอด มีหนองในตา หรือมีของเหลวไหลออกจากดวงตา บางรายอาจพบว่ามีจุดสีขาว หรือสีเทาขนาดเล็กในดวงตา     หาสาเหตุแผลที่กระจกตา เกิดจากอะไรได้บ้าง แผลที่กระจกตาเกิดได้จากหลายสาเหตุใดบ้าง? โดยปกติแล้วสามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดแผลที่กระจกตาได้ ดังนี้ แผลที่กระจกตาจากการติดเชื้อ แผลที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยสามารถแบ่งเชื้อโรคได้หลายชนิด ได้แก่ แผลที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเช่น เชื้อไวรัสโรคงูสวัด เชื้อเริม แผลที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแบคทีเรียจะผลิตสารที่เป็นพิษเข้าไปทำลายดวงตา ทำให้เกิดการอักเสบ เกิดแผลที่กระจกตาได้ แผลที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อรามักเกิดในกรณีที่กระจกตาถูกกระทบจากสิ่งแปลกปลอม เช่น ใบไม้ ใบหญ้าเข้าตา แผลที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อปรสิตเช่น เชื้ออะมีบา ทั้งนี้การเกิดแผลที่กระจกตาจากการติดเชื้ออะมีบานั้น เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย แต่เมื่อเกิดแล้ว จะมีอันตรายมากกว่าการติดเชื้อแบบอื่นๆ แผลที่กระจกตาจากปัจจัยอื่น ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดแผลที่กระจกตา ได้แก่ ผู้ที่มีขนตายาวมากจนขนตาทิ่มเข้าไปในดวงตา เกิดการระคายเคืองจนส่งผลให้เกิดแผลที่กระจกตา ผู้ที่สวมคอนแท็กต์เลนส์เกิดจากการดูแลรักษาความสะอาดที่ไม่เพียงพอ ทำให้ดวงตาอักเสบหรือติดเชื้อ ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุได้รับการกระทบกระเทือนที่ดวงตา เช่น ฝุ่นหรือก้อนหินกระเด็นเข้าตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ กระเด็นเข้ามาที่ดวงตา ผู้ที่มีภาวะตาแห้งร่างกายสร้างน้ำตาหล่อลื่นได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ดวงตาระคายเคืองได้ง่าย ส่งผลทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้     ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากแผลที่กระจกตา ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากแผลที่กระจกตา มีดังนี้ กระจกตาทะลุคือการที่กระจกตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนกระจกตาทะลุ กระจกตาติดเชื้อคือการที่เกิดการติดเชื้อที่กระจกตา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรียต่างๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตา ตาแดง ตามัว ไม่สามารถสู้แสงได้ โรคต้อหินคือการที่ร่างกายมีค่าความดันลูกตาสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยโรคต้อหินส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าเป็น จนกว่าจะเริ่มมีอาการอื่นๆ เช่น เริ่มมองเห็นไม่ชัด มองเห็นได้ในระยะแคบลง หรือในกรณีที่เกิดโรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง มองเห็นเฉพาะทางตรง ภาวะม่านตาอักเสบคือภาวะที่มีการอักเสบบริเวณเนื้อเยื่อส่วนกลางภายในลูกตา ซึ่งเนื้อเยื่อส่วนนี้ประกอบไปด้วยเส้นเลือดจำนวนมาก เมื่อเกิดการอักเสบจึงส่งผลต่อการมองเห็นเป็นอย่างมาก การวินิจฉัยแผลที่กระจกตาโดยแพทย์ เมื่อเกิดแผลที่กระจกตา คนไข้จะมีอาการเจ็บที่ตา หรือตาอักเสบได้ ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคทางดวงตาโดยทั่วไป ทั้งนี้แพทย์จะเริ่มทำการวินิจฉัยโดยอิงจากขั้นตอน ดังต่อไปนี้ แพทย์ซักประวัติเบื้องต้นเช่น โรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา หรือประวัติการใช้ยาต่างๆ แพทย์สืบหาสาเหตุเช่น มีอาการผิดปกติจากอะไร พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงทำให้เกิดแผลที่กระจกตา แพทย์ตรวจตาอย่างละเอียดด้วยกล้องตรวจตาชนิดลำแสงแคบ (Slit lamp biomicroscope) เพื่อดูความเสียหายที่เกิดขึ้น แพทย์ขูดกระจกตาเพื่อนำตัวอย่างเชื้อออกมา แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาต้นตอของการติดเชื้อว่ามาจากเชื้อชนิดใด แพทย์แจ้งผลการวินิจฉัยพร้อมแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด แนวทางการรักษาแผลที่กระจกตา สำหรับแนวทางการรักษาแผลที่กระจกตา สามารถรักษาได้ทั้งหมด 2 วิธี ได้แก่ การรักษาแผลที่กระจกตาด้วยยา การรักษาแผลที่กระจกตาด้วยการผ่าตัด โดยมีรายละเอียดดังนี้ การรักษาแผลที่กระจกตาด้วยยา วิธีการรักษาแผลที่กระจกตาด้วยยาเป็นวิธีการรักษาแบบเบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลที่กระจกตาเพียงเล็กน้อย มีรอยแผลตื้น กระจกตาไม่ได้ถูกฉีกขาดอย่างหนัก สามารถทานยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสเพื่อรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ การรักษาแผลที่กระจกตาด้วยการผ่าตัด วิธีการรักษาแผลที่กระจกตาด้วยการผ่าตัดเป็นการรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยแพทย์จะนำเนื้อเยื่อกระจกตาเดิมออก จากนั้นทำการเปลี่ยนเนื้อเยื่อกระจกตาใหม่ด้วยการใช้เนื้อเยื่อกระจกตาของผู้ที่บริจาคเข้าไปแทน     ดูแลดวงตาอย่างไร ให้ห่างไกลแผลที่กระจกตา วิธีการดูแลรักษาดวงตาเพื่อลดความเสี่ยงกระจกตาเป็นแผล มีดังนี้ สวมอุปกรณ์ป้องกันรอบดวงตาเมื่อต้องทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น งานช่าง งานสัมผัสสารเคมี เป็นต้น หมั่นดูแลรักษาความสะอาดบริเวณดวงตา หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือลูบคลำบริเวณรอบดวงตา สำหรับผู้ที่สวมคอนแท็กต์เลนส์ ล้างมือให้สะอาดก่อนสวมใส่และควรทำความสะอาดเลบนส์หลังใช้งานทุกครั้ง ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้า เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อ รักษาแผลที่กระจกตา ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากมีอาการแผลที่กระจกตา เข้ามารักษาได้ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาดวงตาอย่างครบวงจร โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีจุดเด่นดังนี้ โรงพยาบาลมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ ที่พร้อมดูแลตลอดทุกขั้นตอนจนถึงการติดตามผลการรักษา โรงพยาบาลมีเทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย โรงพยาบาลพร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ โรงพยาบาลใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศที่เป็นกันเอง สรุป แผลที่กระจกตา คืออาการกระจกตาได้รับบาดเจ็บจนเกิดเป็นแผล มีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ตลอดจนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ หากเป็นแผลขนาดเล็กสามารถรักษาได้ด้วยการทานยา แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรง ร่วมกับการติดเชื้อ แพทย์จะแนะนำให้่าตัดเพื่อรักษา อาการกระจกตาเป็นแผลไม่ควปล่อยไว้ เพราะอาจเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงต้อหินและการสูญเสียการมองเห็นได้ เข้ามารักษาอาการแผลที่กระจกตาได้ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการด้วยความใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการวินิจฉัย การรักษา ตลอดจนการติดตามผล

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ปัญหาที่ส่งผลมากกว่าความงาม รักษาได้อย่างไร?

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อด้านความงามเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาด้วยเช่นกัน ทั้งอาการมองเห็นได้ไม่ชัด สายตาเอียง ตาขี้เกียจ เป็นต้น มาดูกันว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาอย่างไร หาคำตอบ ได้ในบทความนี้   กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่ยกเปลือกตาหรือเส้นประสาทบริเวณดวงตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาบนหย่อนคล้อยและอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งปกติ ส่งผลต่อทัศนวิสัยการมองเห็น ล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีสาเหตุจากพันธุกรรม อายุที่มากขึ้น พฤติกรรมการใช้ชีวิต อุบัติเหตุหรือศัลยกรรมตาผิดพลาด กล้ามเนื้อเบ้าตาฉีกขาดและความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน อาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่สังเกตได้คือมีปัญหาด้านการลืมตา ขยี้ตาบ่อย เกิดภาวะหนังตาตก เบ้าตาลึกผิดปกติ เลิกหน้าผากเพื่อมอง และอาการอื่นๆ เช่น ตาปรือ ชั้นตาไม่เท่ากัน ชั้นตาซ้อน เป็นต้น กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงป้องกันไม่ได้ เพราะบางรายอาจมีอาการตั้งแต่เกิดหรือเกิดภายหลัง แต่สามารถตรวจสายตาเป็นประจำและสังเกตอาการที่อาจเป็นตัวบ่งชี้ของภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้     กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) คืออะไร กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) คือภาวะกล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่ยกเปลือกตาหรือเส้นประสาทบริเวณดวงตาทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เปลือกตาบนหย่อนคล้อยและอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งปกติ หนังตาบนลงมาปิดตาดำจนมองเห็นได้ไม่ชัดเจนหรืออาจจะปิดการมองเห็นเลยก็ได้เช่นกัน ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมักดูเหมือนง่วงนอนตลอดเวลา ตาปรือ ทำให้เสียบุคลิกภาพ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงพบได้ในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย เป็นได้ตั้งแต่เกิดหรือเกิดในภายหลังจากอายุที่มากขึ้น การบาดเจ็บของดวงตาและการศัลยกรรม และกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดขึ้นได้กับเปลือกตาข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ซึ่งข้างใดข้างหนึ่งอาจรุนแรงกว่าอีกข้างก็ได้เช่นกัน     หาสาเหตุกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เกิดจากอะไรได้บ้าง กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ซึ่งแบ่งสาเหตุหลักๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ ดังนี้ 1. พันธุกรรม กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงจากพันธุกรรมเป็นการเกิดขึ้นของภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงตั้งแต่กำเนิด เรียกว่าโรคหนังตาตกแต่เกิด (Congenital Ptosis) เกิดจากกล้ามเนื้อตาไม่พัฒนา หรือถ่ายทอดจากพันธุกรรมทำให้หนังตาตกลงมาปิดตาดำมากกว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อตาหนึ่งหรือสองข้าง เด็กที่มีภาวะกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสายตาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นตาขี้เกียจ สายตาเอียง มองเห็นภาพมัว ตาเข การเคลื่อนไหวตาผิดปกติ เนื้องอกบริเวณเปลือกตาหรือตำแหน่งอื่น สังเกตเด็กที่มีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้จากพฤติกรรมการเลิกคิ้ว แหงนคอไปด้านหลัง ยกคางขึ้นเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อบุคลิกภาพแต่ยังทำให้เกิดปัญหากับศีรษะและคอของเด็กด้วย 2. อายุที่มากขึ้น อายุที่มากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อตาและผิวหนังมีการหย่อนคล้อยไปตามวัยและการใช้งาน ทำให้หนังตาหย่อนคล้อย หนังตาตก บดบังทัศนียภาพการมองเห็น เกิดการเลิกคิ้วเพื่อให้มองเห็นได้ชัด ซึ่งยิ่งทำให้เกิดริ้วรอยย่นบนหน้าผากเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความงามและการใช้ชีวิตประจำวัน 3. พฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างอาจเป็นสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เช่น การอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือจ้องหน้าจอโทรศัพท์เป็นเวลานานโดยไม่ได้พักสายตา ทำให้สายตาทำงานหนัก เกิดอาการอ่อนล้าดวงตา เสี่ยงพัฒนาไปเป็นภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง รวมไปถึงการขยี้ยาบ่อยๆ แรงๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงได้เช่นกัน 4. อุบัติเหตุ หรือศัลยกรรมตาผิดพลาด การเกิดอุบัติเหตุหรือศัลยกรรมตาผิดพลาดส่งผิดให้เกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ การเกิดอุบัติเหตุมีส่วนทำให้กระดูกบริเวณใบหน้าผิดไปจากเดิม เนื่องจากการกระแทกทำให้เส้นประสาทควบคุมกล้ามเนื้อตาผิดปกติ จนเกิดหนังตาตก ลืมตาลำบาก จนส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง การศัลยกรรมตาสองชั้นผิดพลาดเกิดจากความไม่เชี่ยวชาญของแพทย์ที่ทำการผ่าตัด หรือไม่ได้วินิจฉัยก่อนว่าผู้รับการผ่าตัดมีปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงหรือไม่ การผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อาจมาจากการทำตาสองชั้นสูงเกินไป ทำให้เกิดการรั้งจนเป็นพังพืดที่กล้ามเนื้อตา การผูกปมไหมที่ไปขัดขวางการทำงานของกล้ามเนื้อตา การผ่าตัดไปกระทบกับกล้ามเนื้อตา ทำให้ตาไม่เท่ากัน ตาปรือ หรือหนังตาตก 5. กล้ามเนื้อเหนือเบ้าตาฉีกขาด กล้ามเนื้อเหนือเบ้าตาฉีกขาด เกิดจากกล้ามเนื้อลีเวเตอร์ (Levator) ที่มีหน้าที่หน้าที่ยกเปลือกตาและควบคุมการปิดเปิดทำงานผิดปกติได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนนี้เกิดการอ่อนแรง การใส่คอนแท็กต์เลนส์หรือการขยี้ตาบ่อยๆ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อตาบาดเจ็บจนเกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง 6. ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Myasthenia Gravis) กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Myasthenia Gravis) หรือ MG ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของตาอ่อนแรงง่ายขึ้น เนื่องจากหลั่งสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการตาปรือ ลืมตาลำบาก หนังตาตก การกลอกตาผิดปกติ เกิดภาพซ้อน และตาไม่สามารถโฟกัสได้     กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาการเป็นอย่างไร การสังเกตอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ โดยกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอาการที่พบได้ มีดังนี้ 1. มีปัญหาด้านการลืมตา เมื่อมีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะทำให้ไม่สามารถลืมตาได้เต็มที่ กรณีที่เป็นข้างเดียวจะสังเกตได้ว่าตาไม่เท่ากัน หนังตาตกลงมาชัดเจน ชั้นตาใหญ่กว่าปกติ ดูตาปรือ และลืมตาให้เต็มที่เท่ากับข้างที่เป็นปกติไม่ได้ 2. มีพฤติกรรมขยี้ตาบ่อย กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่ส่งผลให้ชั้นตาพับ ตาปรือ หนังตาตก และอาจทำให้รู้สึกระคายเคืองบริเวณดวงตา ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมขยี้ตาบ่อยๆ ได้ 3. เกิดภาวะหนังตาตก ภาวะหนังตาตกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เกิดหรือเกิดขึ้นในภายหลังได้จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทำให้ตาไม่เท่ากัน ตาง่วง ปรือ ใบหน้าไม่สดใส เหมือนคนง่วงนอนตลอดเวลา เนื่องจากกล้ามเนื้อตาเปิดได้ไม่เต็มที่จากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง และอาจทำให้การมองเห็นไม่ปกติจากหนังตาตกที่มาบดบังการมองเห็น 4. เบ้าตาลึกผิดปกติ ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมักมีเบ้าตาลึกมากกว่าปกติ จะสังเกตได้ว่ามีร่องรอยลึกอยู่เหนือเปลือกตา พบบ่อยในผู้ที่มีอายุ เบ้าตาลึกจะเห็นได้ง่ายในผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเนื่องจากไขมันใต้เปลือกตาหายไป ทำให้ตาดูโหล ดูโทรม ดูมีอายุ 5. เลิกหน้าผากเพื่อมอง อีกหนึ่งอาการที่สังเกตเห็นได้ง่ายคือพฤติกรรมการเลิกหน้าเพื่อมองให้ชัดขึ้น เพราะผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง หนังตาจะเกิดการหย่อนคล้อยส่งผลต่อการมองเห็น จึงต้องเลิกคิ้วขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดริ้วรอยบนหน้าผาก ทำให้ใบหน้าดูมีอายุ และเสียบุคลิกภาพ 6. อาการอื่นๆ ที่สังเกตเห็นได้ชัด อาการอื่นๆ ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ การเลิกคิ้ว เงยหน้ามอง ตาปรือ ชั้นตาไม่เท่ากัน ชั้นตาซ้อน หนังตาตกและหย่อนคล้อย การมองเห็นผิดปกติ สายตาเอียง และตาไม่เท่ากัน ผลกระทบกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่มากกว่าแค่ความงาม กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงไม่เพียงแต่ส่งผลด้านความงามเท่านั้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาดูแลยังส่งผลต่อสุขภาพดวงตาและปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น การเกิดสายตาเอียงจากแรงกดของเปลือกตาด้านหน้าซึ่งทำให้รูปร่างตาเปลี่ยน เกิดการมองเห็นที่ผิดเพี้ยน การเกิดสายตาขี้เกียจ ในเด็กอาจทำให้เด็กแหงนหน้ายกคางขึ้นเพื่อให้มองเห็น ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาเกี่ยวกับคอ และการหดเกร็งกล้ามเนื้อหน้าผากและทำให้เกิดปัญหาพัฒนาการช้าได้     วินิจฉัยกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงโดยแพทย์ กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงวินิจฉัยได้จากการมองด้วยตาเปล่าได้ เนื่องด้วยผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะมีหนังตาตก หากเป็นข้างเดียวจะสังเกตได้ง่ายกว่าเป็นทั้ง 2 ข้าง ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจตา ซึ่งประกอบไปด้วย Slit Lamp Examinationคือกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้แสงสว่างในการตรวจ จะช่วยให้จักษุแพทย์สามารถส่องเห็นทั้งภายนอกและภายในดวงตาแบบภาพ 3 มิติ ตรวจลานสายตา (Visual Field Test)คือการตรวจลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการวัดขอบเขตการมองเห็นเมื่อมองตรงไปข้างหน้า ตรวจการกลอกตา (Ocular Motility Testing)เพื่อตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อตา โดยการให้ผู้ป่วยมองตามนิ้วโดยไม่เคลื่อนไหวใบหน้า Tensilon Testทดสอบโดยฉีดยา edrophonium chloride 2 - 5 มิลลิกรัม ทางหลอดเลือดดำเพื่อตรวจหาโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (MG)     แนวทางการรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง การแก้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงหรือรักษาด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับอาการและการทำงานของกล้ามเนื้อเปลือกตา หากไม่มีการบดบังของดวงตาจนส่งผลให้เกิดปัญหาการมองเห็น อาจไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ แต่หากปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงส่งผลต่อความงามและกระทบการมองเห็น ควรรีบได้รับการรักษาเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ตามมาได้ กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงมีแนวทางการรักษา ดังนี้ ผ่าตัดรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง การผ่าตัดรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะมีการใช้ยาชาเฉพาะพื้นที่ และมีรูปแบบการผ่าตัดที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับลักษณะของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หากยังเปิดตาเองได้จะใช้การผ่าตัดดึงกล้ามเนื้อเปิดตาแบบแผลด้านใน (Mullerectomy)เพราะฟื้นตัวเร็ว ได้ชั้นตาที่เป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับชั้นตาเดิมก่อนเป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หากตาตกมากแต่ยังพอมีแรงเปิดตาได้ จะใช้วิธีการผ่าตัดดึงกล้ามเนื้อเปิดตาแบบแผลด้านนอก (Levator Surgery)โดยแพทย์จะผ่าตัดจะเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อลึกด้านใน เพื่อดึงเพื่อให้กล้ามเนื้อเปิดตากลับมาทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแต่กำเนิดและไม่มีแรงเปิดตาได้ จะใช้วิธีการผ่าตัดดึงกล้ามเนื้อเปิดตา ใช้แรงดึงจากกล้ามเนื้อหน้าผาก (Frontalis Sling) โดยใช้เอ็นหุ้มกล้ามเนื้อส่วนต้นขาแทนการใช้วัสดุสังเคราะห์มาคล้องแทน เพราะอยู่ได้นาน โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย ยาหยอดรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง การรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงโดยการใช้ยาหยอด จะใช้ตัวยาที่เรียกว่า Oxymetazoline ที่เข้าไปทำงานกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการยกเปลือกตาบน (Levator Muscle) ซึ่งช่วยให้เปิดตาได้กว้างขึ้น และต้องใช้เป็นประจำ แต่มีข้อจำกัดคือรักษากล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงบางประเภทไม่ได้ การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดได้กับทุกคน และบางครั้งก็เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เกิด แต่ก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงและแก้ไขแต่เนินๆ ได้ โดยการหมั่นพบแพทย์ตรวจเช็กสายตา การสังเกตอาการของโรค และลดการใช้สายตาหนักๆ รักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่ศูนย์ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากมีอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เข้ารับคำปรึกษาและการรักษาได้ที่ศูนย์ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง Bangkok Eye Hospitalที่นี่เชี่ยวชาญด้านการดูแลและรักษาความผิดปกติของดวงตา โดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีความโดดเด่นดังนี้ โรงพยาบาลดูแลโดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม โรงพยาบาลมีเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับการรักษาดวงตา เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย โรงพยาบาลพร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ โรงพยาบาลใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศที่เป็นกันเอง สรุป กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) เป็นภาวะที่เปลือกตาหย่อนคล้อยกว่าปกติ เนื่องจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาหรือเส้นประสาท ส่งผลให้ตาปรือ คล้ายคนง่วงนอน ลืมตาได้ไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านสายตาอย่างสายตาเอียง สายตาขี้เกียจได้ กระทบต่อทั้งบุคลิกภาพ ความมั่นใจ และการมองเห็น ภาวะนี้เกิดได้ในทุกเพศทุกวัย ทั้งจากพันธุกรรม อายุที่มากขึ้น การบาดเจ็บ หรือผลข้างเคียงจากการศัลยกรรม โดยอาจเกิดขึ้นที่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ซึ่งระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล ศูนย์ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง Bangkok Eye Hospitalที่นี่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือทันสมัย แก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงในราคาเข้าถึงได้ ให้คำแนะนำ ดูแล พร้อมบรรยากาศที่เป็นกันเอง

เลสิกสายตายาว ปรับปรุงคุณภาพการมองเห็น พร้อมข้อควรรู้ก่อนทำ

สายตายาว คือ ภาวะการมองเห็นผิดปกติ ความสามารถในการมองเห็นระยะไกลชัดเจน แต่มองเห็นสิ่งของในระยะใกล้ต่ำ หรืออาจเป็นได้ทั้ง 2 ระยะ สาเหตุของสายตายาว เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นและเกิดโดยกำเนิดผ่านทางพันธุกรรม ทำเลสิกสายตายาว คือ วิธีการใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ในการปรับค่าสายตาให้กลับมาอยู่ที่ค่าปกติ โดยการเพิ่มระยะโฟกัส การทำเลสิกสายตายาวแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ Full Correction Lasik, Monovision Lasik, Presbylasik และ Laser Blended Vision (LBV) การทำเลสิกสายตายาวให้ปลอดภัย ควรเลือกทำกับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อ พร้อมทั้งแพทย์ที่มีประสบการณ์ชำนาญทางด้านการทำเลสิกตาโดยเฉพาะ ทำเลสิกสายตายาว ที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospital มีเครื่องมือได้มาตรฐานสากล พร้อมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการรักษาสายตายาว และจักษุแพทย์มากประสบการณ์ มีเทคนิคที่หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล   ปัจจุบันมีการทำเลสิกสายตายาวเพื่อปรับคุณภาพการมองเห็นให้ดียิ่งขึ้น มาดูกันว่าการทำเลสิกสายตายาว คืออะไร หากสนใจอยากปรับค่าสายให้กลับมาตามปกติ จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างทั้งก่อนและหลังทำเลสิก รวมทั้งประเภทเลสิกต่างๆ หาคำตอบได้ในบทความนี้     สายตายาว คืออะไร ภาวะสายตายาวเป็นภาวะผิดปกติทางการมองเห็น เกิดจากกระจกตาแบนเกินไปหรือกล้ามเนื้อตาและเลนส์แก้วภายในเสื่อมอายุ ผู้ที่มีภาวะนี้จะสามารถมองเห็นภาพชัดเจนเมื่ออยู่ในระยะไกล แต่จะมองเห็นภาพที่อยู่ใกล้ตัวไม่ชัดเจน ซึ่งในบางรายอาจมองเห็นไม่ชัดเจนทั้งในระยะใกล้และไกล โดยภาวะสายตายาวมักจะเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเรียกว่า สายตายาวตามวัย (Presbyopia) และในเด็กตั้งแต่เกิดผ่านทางพันธุกรรม เรียกว่า สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness) อาการสายตายาว เป็นอย่างไร ใครที่สงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวเริ่มมีภาวะสายตายาว สังเกตได้จากอาการเหล่านี้ ปวดศีรษะหรือปวดตา มีอาการตาล้าอยู่บ่อยๆ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้สายตาเพ่งหรือจ้องขณะมอง มองเห็นภาพซ้อน ต้องหรี่ตาเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน แสบตา น้ำตาไหล ตาไวต่อแสง มองเห็นในที่ที่มีแสงน้อยหรือตอนกลางคืนได้ยากลำบาก เด็กที่มีสายตายาวอาจมีอาการตาเข หรือตาเหล่จากการเพ่งจ้อง เด็กที่มีสายตายาวจะมีพฤติกรรมขยี้ตาบ่อย ส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันเช่นการขับขี่ยานพาหนะ การอ่านหนังสือ การทำงาน ต่างๆ สายตายาว มีกี่ประเภท สายตายาวแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท สายตายาวตามวัยเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อตาเริ่มเสื่อมสภาพทำให้ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปประสบปัญหาในการมองเห็นสายตายาว เมื่อต้องใช้สายตาจึงต้องยื่นวัตถุระยะห่างมากขึ้น สายตายาวตั้งแต่กำเนิดเป็นภาวะที่เกิดโดยกำเนิด ไม่รู้ตัว เด็กที่มีสายตายาวจะไม่สามารถสื่อสารหรือบอก ได้ถึงความผิดปกติในการมองเห็นของตน ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กเพื่อสังเกตอาการ     สาเหตุสายตายาว เกิดจากอะไร สายตายาวเกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติที่รูปร่างของกระจกตา (ชั้นใสด้านหน้าของดวงตา) หรือเลนส์ตา (ส่วนภายในของดวงตาที่ช่วยในการโฟกัสภาพ) ความผิดปกตินี้ทำให้แสงโฟกัสไปที่จุดด้านหลังจอประสาทตา แทนที่จะตกลงบนจอประสาทตาโดยตรง ส่งผลให้การมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้เกิดความพร่ามัว ผู้ที่มีสายตายาวส่วนใหญ่มักมีภาวะนี้ตั้งแต่กำเนิด แต่อาจไม่แสดงอาการหรือมีปัญหาการมองเห็นจนกว่าจะมีอายุมากขึ้น โดยคนที่มีประวัติสายตายาวในครอบครัวมีโอกาสที่จะเป็นสายตายาวได้มากกว่าคนทั่วไป การวินิจฉัยสายตายาวโดยแพทย์ ปัญหาสายตายาวหากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาวิธีรักษาที่เหมาะสม วินิจฉัยโดยวิธีต่างๆ ดังนี้ ส่องตรวจในตา (Ophthalmoscopy) วัดความดันลูกตา (Tonometry) การวัดค่าสายตา (Refraction) ตรวจด้วยเครื่องตรวจตา (Slit Lamp) เพื่อทดสอบความสามารถในการมองเห็น ถ่ายภาพกระจกตา (Corneal Topography) วัดความหนาของกระจกตาในการทำเลสิกสายตายาว วัดกำลังสายตา (Phoropter) วัดความโค้งของกระจกตา (Keratometer) หลังจากที่วินิจฉัย จักษุแพทย์จะอธิบายถึงปัญหาสายตายาวและแนะนำวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อให้รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและคนไข้สามารถกลับใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ทำเลสิกสายตายาว คืออะไร การทำเลสิกสายตายาวคือ การเพิ่มระยะโฟกัสโดยใช้เลเซอร์แก้ไขค่าสายตาให้กลับมองเห็นในระยะไกลได้ชัดเจน เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตายาว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ขาดความมั่นใจ ทำให้อ่านหนังสือ หรือทำงานลำบาก นอกจากนี้ การสวมใส่แว่นอาจเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมผาดโผน ออกกำลังกาย หรือต้องขับรถบ่อยๆ เป็นต้น     ประเภทการทำเลสิกสายตายาว การทำ LASIK สายตายาวมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันออกไป สามารถศึกษาเพื่อสอบถามจักษุแพทย์เพิ่มเติมในการพิจารณาวินิจฉัยเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับตนเองได้ ดังนี้ 1. Full Correction Lasik Full Correction Lasik เป็นวิธีการรักษาด้วยเลเซอร์แบบดั้งเดิม เน้นการแก้ไขความผิดปกติของผู้ที่มีปัญหาสายตายาวแต่กำเนิด เพื่อให้สามารถกลับมองเห็นได้ชัดเจนระยะไกล ซึ่งวิธีนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสายตายาวจากอายุที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากยังจำเป็นที่้ต้องใช้แว่นสายตาสำหรับการมองเห็นในระยะใกล้ 2. Monovision Lasik Monovision Lasik เป็นเทคโนโลยีการรักษาด้วยเลเซอร์นี้จะปรับแต่งการมองเห็นของตาแต่ละข้างให้แตกต่างกัน โดยปรับสายตาข้างที่ถนัด (Dominance Eye) ให้เหมาะกับการมองเห็นระยะไกล และปรับตาข้างที่ไม่ถนัดให้มีสายตาสั้นเล็กน้อยเพื่อรองรับการมองเห็นในระยะใกล้ ซึ่งคนไข้จำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัวหลังจากทำเลสิกสายตายาววิธีนี้ เนื่องจากสมองต้องใช้เวลาในการประมวลผลให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งสองระยะ ในช่วงแรกประสิทธิภาพในการมองเห็นตอนกลางคืนอาจลดลงบ้างเล็กน้อย และจะค่อยๆ กลับมาเต็มประสิทธิภาพหลังจากร่างกายปรับตัวได้ 3. Presbylasik เทคโนโลยี Presbymax เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสายตายาว ทั้งความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิดและภาวะสายตายาวที่เกิดตามวัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นของดวงตาข้างเดียวกันในระยะต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องสวมใส่แว่นตา 4. Laser Blended Vision (LBV) Laser Blended Vision (LBV) เป็นเทคโนโลยีที่แก้ไขปัญหาสายตาได้หลายรูปแบบพร้อมกัน ทั้งสายตายาวตามวัย สายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาวแต่กำเนิด ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในทุกระยะด้วยตาข้างเดียวโดยไม่ต้องใช้แว่นสายตา ทำเลสิกสายตายาววิธีนี้ใช้เทคโนโลยีเลสิกแบบไร้ใบมีด หรือเลเซอร์ในการรักษาทุกขั้นตอน เข้าไปปรับแต่งความโค้งของกระจกตาแบบพิเศษที่เรียกว่า Spherical Aberration เพื่อเพิ่มระยะโฟกัสให้มากขึ้น (Depth of Focus) จากนั้นจึงใช้เลเซอร์ปรับแต่งความโค้งของกระจกตาทั้งสองข้างให้แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งวิธีการรักษาจะแบ่งการปรับแต่งตามความถนัดของตาแต่ละข้าง ดังนี้ ตาข้างที่ถนัด (Dominant)จะปรับความโค้งเพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยการมองเห็นระยะกลางโดยไม่กระทบการมองระยะไกล ตาข้างที่ไม่ถนัด (Non Dominant)จะปรับความโค้งมากกว่าเพื่อเน้นการมองเห็นในระยะใกล้และระยะกลาง การเตรียมตัวก่อนทำเลสิกสายตายาว ก่อนทำเลสิกสายตายาวหากทราบการเตรียมตัวอย่างเหมาะสม จะช่วยให้การทำเลสิกผ่านไปอย่างราบรื่น สำหรับคนที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์ แนะนำให้สวมแว่นแทนก่อนทำเลสิกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ควรเตรียมลางาน 2-3 วัน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เดินทางโดยใช้รถสาธารณะในวันที่มาตรวจ เพราะหลังจากทำแล้วจะมีอาการตาพร่ามัว 6-8 ชั่วโมง แนะนำให้มีผู้ติดตามมาด้วย และควรพกแว่นกันแดด ควรสระผม สวมเสื้อที่มีกระดุมติดหน้าเพื่อให้สะดวกต่อการถอดและสวมใส่ และงดการฉีดน้ำหอม การดูแลตัวเองหลังทำเลสิกสายตายาว หลังจากทำเลสิกสายตายาว ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้ หลังจากทำเลสิก 24 ชั่วโมงแรก ควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้มากที่สุด หมั่นหยอดตาตามที่แพทย์แนะนำ สัปดาห์แรกให้ระวังไม่ให้น้ำเข้าตา เช็ดหน้าแทนการล้างหน้า และระมัดระวังบริเวณรอบดวงตา โดยทางโรงพยาบาลจะแนะนำวิธีเช็ดให้ ภายในเดือนแรกจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้ แต่ควรเว้นบางกิจกรรม เช่น ว่ายน้ำ หรือการเข้าซาวน่า หลังจาก 1 เดือนเป็นต้นไป สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติแบบเต็มที่ เลือกโรงพยาบาลทำเลสิกสายตายาวอย่างไรให้ปลอดภัย การเลือกโรงพยาบาลทำเลสิกสายตายาวเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อความปลอดภัยในการรักษา สามารถพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สถานพยาบาลต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกต้อง พร้อมแสดงเลขที่ใบอนุญาตอย่างชัดเจน มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา โดยเฉพาะในด้านจักษุวิทยาและการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติทางสายตา มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานระดับสากล พร้อมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โรงพยาบาลที่มีเทคนิคและทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายและครอบคลุม ค่าใช้จ่ายในการรักษาสมเหตุสมผลกับบริการ มีเคสรีวิวจากผู้ที่เคยเข้ารับบริการที่น่าเชื่อถือ เดินทางสะดวก รองรับจำนวนคนไข้เพียงพอ     ทำเลสิกสายตายาวที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากต้องการทำเลสิกสายตายาว แนะนำให้เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการเหล่านี้ได้ที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospital ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีจุดเด่นดังนี้ โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง สรุป สายตายาว คือความผิดปกติของการมองเห็นวัตถุในระยะยาว โดยพบภาวะนี้ได้ทั้งวัยเด็กและวัยสูงอายุ ซึ่งแพทย์ทำการวินิจฉัยถึงสาเหตุของสายตายาวได้หลายวิธีเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมอย่างเช่น การทำ LASIK สายตายาว เนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามควรศึกษาข้อมูลให้พร้อมในการดูแลตนเองทั้งก่อนและหลังทำ และควรเลือกโรงพยาบาลที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และได้มาตรฐาน สำหรับผู้ที่สนใจบริการเลสิกสายตายาว ที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospitalมีเครื่องมือได้มาตรฐานสากล และจักษุแพทย์มากประสบการณ์ พร้อมดูแลด้วยเทคโนโลยีและเทคนิคในการรักษาหลากหลายรูปแบบ ให้คุณภาพในการมองเห็นของแต่ละท่านกลับมามีประสิทธิภาพ ดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสมบูรณ์

รู้เท่าทันโรคตาขี้เกียจ! วิธีสังเกตอาการ พร้อมหาสาเหตุและวิธีรักษา

โรคตาขี้เกียจ หรือ Lazy Eyes คือโรคที่พบบ่อยในเด็ก หากปล่อยไว้นานโดยไม่ทำการรักษาจะมีผลต่อกล้ามเนื้อตาในระยะยาวได้ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการและพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเพ่งมองสิ่งต่างๆ ปวดศีรษะร่วมกับปวดตา และมองเห็นชัดข้างเดียว ควรพาพบแพทย์เนื่องจากอาจเป็นอาการของโรคตาขี้เกียจได้ มาดูว่าโรคตาขี้เกียจคืออะไร มีอาการอย่างไร การวินิจฉัย พร้อมแนวทางการรักษาได้ที่นี่ โรคตาขี้เกียจคืออาการที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างสูญเสียประสิทธิภาพการมองเห็นจนสมองปิดการรับรู้ อาการของตาขี้เกียจที่สังเกตได้ เช่น ต้องเพ่งมอง ตาล้า ปวดศีรษะง่ายหรืออาจพบต้อในตาได้ โรคตาขี้เกียจรักษาได้หลายวิธี ทั้งการปิดตาหนึ่งข้าง การใส่แว่น การใช้ยาหยอดตาขยายรูม่านตา เป็นต้น อาการตาขี้เกียจป้องกันได้โดยการสังเกตพฤติกรรมของเด็กหรือหมั่นตรวจสุขภาพและสายตาอย่างสม่ำเสมอ รักษาโรคตาขี้เกียจที่ศูนย์รักษาโรคตาเด็ก Bangkok Eye Hospital มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ประสบการณ์สูงในเรื่องการรักษาตาขี้เกียจ พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับการรักษาที่ทันสมัย ใส่ใจการให้บริการในทุกเคส     โรคตาขี้เกียจ (Amblyopia) คืออะไร โรคตาขี้เกียจ (Amblyopia) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Lazy Eyes คืออาการที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างมองเห็นไม่ชัดจนทำให้สมองปิดการรับรู้ หรือทำให้ประสาทสัมผัสปิดการใช้งานและพัฒนาด้านอื่นแทน จนทำให้กล้ามเนื้อตานั้นอ่อนแอและมีการมองเห็นที่แย่ลง เป็นโรคสายตาที่พบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีได้ 2 - 5% โรคตาขี้เกียจ มีอาการอย่างไร ตาขี้เกียจมีอาการที่สามารถสังเกตที่บ่งชี้ได้ โดยสังเกตได้จากการพฤติกรรมการมองของเด็ก ดังนี้ เพ่งตามองสิ่งต่างๆ ในระยะใกล้ หรือเอียงคอมอง ปิดตาข้างใดข้างหนึ่งเพื่อมองให้ชัดเจน ตาเหล่หรือตาเข ปวดศีรษะร่วมกับอาการตาล้าหรือปวดตาบ่อยๆ     สาเหตุโรคตาขี้เกียจ เกิดจากอะไร สาเหตุของโรคตาขี้เกียจอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้ 1. ค่าสายตาผิดปกติตั้งแต่เด็ก หากมีค่าสายตามากทั้งสองข้างตั้งแต่เด็กจะทำให้สมองปิดการรับรู้จนหยุดพัฒนาค่าสายตาและพัฒนาประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ทดแทน หรือหากมีค่าสายตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งที่มากตั้งแต่เด็กจะทำให้การพัฒนาการมองเห็นมีเพียงข้างเดียวและส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแอได้ในระยะยาว 2. อาการตาเหล่ ตาเข อาการตาเหล่หรือตาเขข้างเดียวเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจได้มากที่สุด เนื่องจากอาการตาเหล่หรือ ตาเขข้างเดียวจะทำให้ดวงตานั้นมีการใช้สายตาเพียงข้างเดียว หากเกิดขึ้นกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะทำให้การพัฒนาสายตาด้านการรับรู้ภาพ 3 มิตินั้นไม่เต็มที่ หากไม่รักษาดวงตาที่ไม่สามารถรับภาพ 3 มิติได้จะกลายเป็นโรคตาขี้เกียจที่รักษาได้ยาก 3. ภาวะเปลือกตาตก ภาวะเปลือกตาตก หากมีอาการเปลือกตาตกจะทำให้ถูกบดบังการมองเห็นหรือมองเห็นได้ไม่เต็มที่ ทำให้สายตานั้นทำงานได้แย่ลง จนเกิดเป็นโรคตาขี้เกียจได้ทั้งสองข้าง 4. ระบบประสาทผิดปกติ สาเหตุของตาขี้เกียจจากระบบประสาทผิดปกติ หากมีความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง กระแสประสาทหรือเส้นประสาทดวงตา ทำให้สมองไม่สามารถประมวลผลหรือรับภาพได้ตามปกติ จะทำให้การพัฒนาของสายตาทำได้ไม่เต็มที่จนเกิดโรคตาขี้เกียจ 5. โรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โรคทางสายตาอื่นๆ ก็สามารถทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจได้ เช่นต้อกระจกเลนส์ตาผิดปกติหรือจอประสาทตาเสื่อมในเด็ก ทำให้การมองเห็นของดวงตาผิดปกติหรือไม่ชัดเจน จนเกิดเป็นโรคตาขี้เกียจได้     ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคตาขี้เกียจ ภาวะแทรกซ้อนของโรคตาขี้เกียจคืออาจทำให้สูญเสียการมองเห็นแบบภาพ 3 มิติและสายตาสั้นผิดปกติได้ หากไม่รักษาตั้งแต่ก่อนอายุ 2 ปีก็จะทำให้รักษาไม่ค่อยเห็นผล และมีผลต่อการมองเห็นได้มาก จึงควรสังเกตอาการตั้งแต่ยังเด็กและรีบรักษาให้เร็วที่สุด การวินิจฉัยอาการตาขี้เกียจจากแพทย์ การวินิจฉัยโรคตาขี้เกียจโดยแพทย์นั้นจะทำการตรวจดูอาการตาเหล่ ตาเข เปลือกตา หรือส่วนอื่นๆ ในดวงตาที่อาจบดบังหรือทำให้การมองเห็นไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังต้องวินิจฉัยอาการตาขี้เกียจจากการวัดค่าสายตาของดวงตาทั้งสองข้างด้วย     แนวทางการรักษาโรคตาขี้เกียจ การรักษาโรคตาขี้เกียจนั้น หากยิ่งพบแพทย์และทำการวินิจฉัยการรักษาเร็วก็ยิ่งได้ประสิทธิภาพ โดยแพทย์จะทำการประเมินโรคตาขี้เกียจจากสาเหตุและอาการต่างๆ เพื่อเลือกวิธีรักษา ดังนี้ การสวมใส่แว่น การสวมใส่แว่นจะเป็นการรักษาตาขี้เกียจที่เกิดจากค่าสายตาที่มากผิดปกติ โดยการใส่แว่นจะช่วยปรับให้ดวงตาที่มีอาการตาขี้เกียจนั้นถูกกระตุ้นและใช้งานได้ดีขึ้นจนทำให้เกิดการพัฒนาการมองเห็นขึ้นตามลำดับ วิธีการรักษาตาขี้เกียจด้วยการสวมแว่นอาจทำร่วมกับการปิดตาข้างหนึ่งหากอาการตาขี้เกียจนั้นเกิดจากค่าสายตามากข้างเดียวหรืออาการตาเหล่ตาเขข้างเดียว การปิดตาข้างเดียว การปิดตาข้างเดียว เป็นการกระตุ้นในกรณีที่มีอาการโรคตาขี้เกียจข้างเดียว เนื่องจากอาการตาขี้เกียจคือการหยุดใช้งานดวงตา การปิดตาข้างเดียวจะเป็นการกระตุ้นให้ดวงตาที่หยุดการทำงานหรือการพัฒนานั้นกลับมาถูกกระตุ้นและใช้งานมากขึ้นเพื่อให้เทียบเท่ากับดวงตาที่มีการใช้งานปกติ การรักษาตาขี้เกียจด้วยการปิดตาข้างเดียวนั้นอาจใช้ระยะเวลา 5 - 6 ชั่วโมงต่อวันหรือตามที่แพทย์แนะนำ ในระหว่างการรักษาด้วยการปิดตาข้างเดียวในแต่ละวันนั้นควรที่จะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กที่รับการรักษาได้ถูกกระตุ้นให้ใช้ดวงตาตามปกติมากที่สุด วิธีการรักษาตาขี้เกียจด้วยการปิดตาข้างเดียวต้องอาศัยความสม่ำเสมอในการรักษาและอาจใช้ระยะเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีจนกว่าอาการตาขี้เกียจจะถูกกระตุ้นจนสามารถพัฒนาต่อได้ หยอดยาขยายรูม่านตา การหยอดยาขยายรูม่านตา ใช้ในกรณีที่คล้ายคลึงกันกับการปิดตาข้างเดียว คือการลดการมองเห็นของดวงตาข้างที่ถนัดเพื่อเปิดการกระตุ้นการใช้งานดวงตาที่มีอาการของโรคตาขี้เกียจให้มากขึ้น เนื่องจากการขยายรูม่านตาจะทำให้การมองเห็นนั้นน้อยลง การผ่าตัดรักษาตาขี้เกียจ การผ่าตัดรักษาโรคตาขี้เกียจ เป็นการแก้ไขอาการตาขี้เกียจที่เกิดจากอาการตาเหล่ ตาเข หรือหนังตาตกโดยแก้ที่สาเหตุของโรค เมื่อผ่าตัดรักษาอาการตาเหล่ ตาเข และหนังตาตกที่บดบังการมองเห็นหรือทำให้การมองเห็นไม่สมบูรณ์แล้ว ก็จะทำให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นและมีการกระตุ้นสายตาให้พัฒนาขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับอาการตาขี้เกียจในวัยผู้ใหญ่ที่มีการพัฒนาการมองเห็นเต็มที่แล้ว ป้องกันอาการตาขี้เกียจได้อย่างไร การรักษาอาการตาขี้เกียจอาจทำได้ยาก แพทย์จึงแนะนำให้ป้องกันอาการตาขี้เกียจตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมีแนวทางในการป้องกัน ได้แก่ ตรวจสุขภาพและค่าสายตาเป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กก่อนอายุ 2 - 3 ปี หมั่นสังเกตอาการที่อาจบ่งชี้ถึงโรคตาขี้เกียจ เช่น อาการเพ่งหรือเอียงคอมองสิ่งต่างๆ อาการปวดศีรษะหรือดวงตา สังเกตการค่าสายตาที่แตกต่างกันของดวงตาทั้งสองข้าง สอนให้เด็กรู้จักการสังเกตการมองเห็นของตนเองเพื่อให้รับรู้ได้อย่างรวดเร็วในช่วงที่พบความผิดปกติซึ่งอาจนำไปสู่โรคตาขี้เกียจได้ รักษาโรคตาขี้เกียจ (Amblyopia) ที่ศูนย์โรคตาเด็ก Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากมีอาการตาขี้เกียจ (Amblyopia) แนะนำให้เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการเหล่านี้ได้ที่ศูนย์รักษาตาเด็ก Bangkok Eye Hospital ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้ามเนื้อตาเข มีจุดเด่นดังนี้ โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง สรุป โรคตาขี้เกียจ หรือ Lazy eyes คือ อาการที่การมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างนั้นมีปัญหาจนทำให้สมองปิดการรับรู้หรือหยุดพัฒนาประสาทสัมผัสการมองเห็นและนำไปพัฒนาด้านอื่นทดแทน หากปล่อยไว้นานและไม่ทำการรักษาจะส่งผลในระยะยาวคือทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแอหรือสายตาสั้นผิดปกติ หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นของลูก แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยการรักษามีหลากหลายวิธี เช่น การใส่แว่น การปิดตาหนึ่งข้าง หรือการหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อเป็นการปรับการมองเห็น และกระตุ้นสายตาข้างที่มีอาการของโรคตาขี้เกียจให้มีการใช้งานและพัฒนาการมองเห็นให้ดีขึ้น ที่ศูนย์โรคตาเด็ก Bangkok Eye Hospitalมีการดูแลจากแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือในการรักษาที่ทันสมัย ดูแลอย่างครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนของการให้คำปรึกษา การวินิจฉัย และการรักษาโรคตาขี้เกียจ ด้วยใจบริการที่ใส่ใจในทุกเคสภายใต้สถานที่ที่มีความเป็นกันเอง ทำให้มั่นใจในการรักษาได้อย่างผ่อนคลายไร้กังวล
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111