กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติไป หากปล่อยไว้นานอาจสายเกินแก้อาจนำไปสู่อาการสายตาสั้นหรือสายตาเอียง บทความนี้จะพามาหาสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษา เพื่อให้สามารถดูแลและลดความเสี่ยงต่อปัญหากระจกตาโก่งได้อย่างถูกต้อง
|
โดยปกติแล้วกระจกตาจะมีความหนาโดยเฉลี่ยที่ 530-550 ไมครอน หรือประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และมีรูปทรงโค้งที่สม่ำเสมอ ซึ่งทำให้แสงหักเหอย่างถูกต้อง ส่งผลให้เห็นภาพที่คมชัด แต่กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วย (Keratoconus) คือภาวะที่กระจกตาเริ่มบางลงและเปลี่ยนรูปไปเป็นรูปทรงกรวยหรือโก่งนูนผิดปกติ ทำให้แสงหักเหเข้าสู่ดวงตาได้ไม่ถูกต้อง มองเห็นเป็นภาพเบลอ บิดเบี้ยว ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นาน อาจมีอาการรุนแรงขึ้นจนมีปัญหาด้านการมองเห็นได้
อาการกระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยส่งผลต่อการมองเห็นได้ การที่กระจกตาที่บางและเปลี่ยนเป็นรูปทรงกรวยนั้น ทำให้การหักเหแสงผิดพลาด ไม่รวมจุดโฟกัสให้เป็นภาพเดียว ทำให้มองเห็นภาพเบลอ ผิดเพี้ยน เกิดเป็นปัญหาสายตาเอียง สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ
นอกจากนี้อาการกระจกตาโก่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ จากการที่โครงสร้างกระจกตาเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เป็นแผลที่กระจกตากระจกตาติดเชื้อกระจกตาบางจนบวมน้ำและแตกออก หรือเกิดวงแหวนในกระจกตา ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ส่งผลต่อการมองเห็นให้ถดถอยลงอย่างมาก และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยจะเริ่มแสดงอาการชัดเจนขึ้นเมื่อมีอายุ 13 ปี หรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และจะแสดงอาการยาวนานจนถึง 10 - 20 ปี โดยผู้ที่มีภาวะกระจกตาโก่ง โดยสังเกตได้จากอาการเหล่านี้
ภาพที่มองเห็นมีความเบลอ มัว และผิดเพี้ยนตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น
ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาหรือคอนแท็กต์เลนส์บ่อยครั้ง เนื่องจากค่าสายตาเอียง สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตาไวต่อแสง ไม่สามารถมองสู้แสงได้
มีอาการเคืองตา แสบตา
มีอาการปวดตาร่วมกับปวดศีรษะ
หากมีอาการหนักจนเกิดแผลที่กระจกตา หรือกระจกตาบวมน้ำจนแตก การมองเห็นจะเสื่อมลงอย่างรุนแรง
กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยเกิดจากความผิดปกติของเส้นใยคอลลาเจนของกระจกตา ที่มีความอ่อนแอลง หรือมีการเรียงตัวที่ไม่สม่ำเสมอ กระจกตาจึงไม่แข็งแรง เมื่อปล่อยไว้นาน กระจกตาจะบางลงเรื่อยๆ และโก่งนูนออกมา ซึ่งที่มาของการเกิดโรคกระจกตาโก่งนั้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ปัจจัยบางอย่างอาจก่อให้เกิดอาการกระจกตาโก่งได้ เช่น
เกิดจากพันธุกรรม ครอบครัวมีประวัติการเป็นกระจกตาโก่ง
การขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ เป็นเวลานาน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ขึ้นตา ที่มักจะคันตาอยู่เสมอ
ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดมากเกินไป
มีอาการกระจกตาโก่งร่วมกับบางโรค เช่น ดาวน์ซินโดรม โรคหนังยืดผิดปกติ โรคหืด
กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาโก่งนั้น มักเป็นกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกระจกตา เช่น
ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระจกตามากที่สุด
ผู้ที่ขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ จากโรคภูมิแพ้ขึ้นตา หรือเมื่อมีอาการคันตา
ผู้ที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้กระจกตาบางลงได้
ผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงหรือสายตาสั้น ร่วมกับมีค่าสายตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ
ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม มีแนวโน้มเกิดอาการกระจกตาโก่งได้มากกว่าปกติ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการเรียงตัวของคอลลาเจน เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อ หลอดเลือด น้ำเหลือง และเส้นประสาท
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางโรคตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคครูซอง โรคหนังยืดผิดปกติ โรคกระดูกเปราะพันธุกรรม เป็นต้น
หากการมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว หรือมีอาการผิดปกติบนดวงตา เช่น เคืองตา ตาแดง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากโรคกระจกตาโก่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด หากแพทย์พบการเปลี่ยนแปลงของกระจกตาได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งรักษาได้เร็วเท่านั้น
โรคกระจกตาโก่งมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจประเมินสภาพดวงตาเพื่อทำเลสิก หรือเพื่อรักษาโรคทางตาอื่นๆ เมื่อแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นกระจกตาโก่ง จะตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดด้วยเครื่องตรวจวัดพื้นผิวและความหนากระจกตา (Corneal topography) ต่อมาการวินิจฉัยโรคกระจกตาโก่งเริ่มต้นด้วยการซักประวัติโรคทางตาของคนในครอบครัว สอบถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมถึงตรวจสายตาด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
เป็นการทดสอบด้วยการอ่านแผนภูมิวัดสายตา Snellen Chart ซึ่งเป็นแผนภูมิที่มีชุดตัวเลข 8 แถว และจะมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละแถว โดยจะวาง Snellen Chart ห่างออกในระยะ 6 เมตร จากนั้นเริ่มวัดสายตาทีละข้าง เพื่อประเมินระดับการมองเห็นที่แท้จริง
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบสายตาด้วยการใช้เครื่องมือ Phoropter ที่เปลี่ยนเลนส์เพื่อแก้ไขการหักเหแสงของดวงตาได้ เมื่อผู้ที่รับการตรวจด้วย Phoropter เริ่มรู้สึกว่ามองเห็นชัดขึ้นตามปกติ แพทย์ก็จะนำค่าสายตาที่วัดได้ไปอ้างอิงในการตัดแว่นสายตาหรือคอนแท็กต์เลนส์ต่อไป
ผู้ที่มีอาการกระจกตาโก่งมักจะมีปัญหาสายตาสั้น สายตาเอียง การทดสอบความสามารถในการมองเห็นเหล่านี้ จะช่วยระบุได้ว่ามีสายตาที่ผิดปกติอย่างไร และมีค่าสายตาเท่าใด
การตรวจโดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่าเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) ส่องแสงเข้าไปในกระจกตา เพื่อดูการหักเหของแสง และวัดความโค้งของกระจกตาจากการสะท้อนของแสง ผู้ที่มีความโค้งหรือรูปร่างกระจกตาที่ผิดปกติ จะมีปัญหาสายตาต่างๆ เช่น สายตาสั้น สายตาเอียง และมีแนวโน้มที่จะเป็นกระจกตาโก่งได้
Slit Lamp คือกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่ส่องดวงตาให้เห็นทั้งภายนอกและภายในเป็นรูปแบบสามมิติ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะวางคางและหน้าผากให้แนบชิดกับเครื่อง จากนั้นแพทย์จะบังคับกล้องไปยังจุดที่ต้องการตรวจ แล้วปรับลำแสงให้กว้างขึ้นหรือแคบลงตามความต้องการเพื่อตรวจดูส่วนต่างๆ ของดวงตาอย่างชัดเจน หากผู้เข้ารับการตรวจมีลักษณะดวงตาที่เปลี่ยนไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาโก่งได้
เรติโนสโคป (Retinoscope) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินการหักเหของแสงในดวงตา โดยการใช้แสงจากเครื่องส่องไปที่ดวงตาของผู้เข้ารับการตรวจ แล้วสังเกตการสะท้อนกลับจากกระจกตา เพื่อประเมินว่าแสงถูกหักเหอย่างไรบ้าง ซึ่งมีหลักการคล้ายกับการตรวจด้วย Keratometer แตกต่างกันที่ Keratometer นั้นใช้ในการวัดรูปร่างและความโค้งของกระจกตา แต่ Retinoscope ใช้เพื่อตรวจดูความผิดปกติของการหักเหแสงในดวงตา ซึ่งผู้ที่มีอาการกระจกตาโก่ง ก็จะมีการหักเหของแสงในดวงตาที่ผิดเพี้ยนไป
แนวทางการรักษากระจกตาโก่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ โดยหลังจากแพทย์ประเมินอาการและแล้วจะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้ดังนี้
หากอาการกระจกตาโก่งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการสวมใส่แว่นสายตา หรือคอนแท็กต์เลนส์ชนิดพิเศษ ซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด เช่น Scleral Lens, RGP Lens เป็นต้น การจะใช้คอนแท็กต์เลนส์ชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามที่แพทย์ประเมินให้
การฉายแสงที่กระจกตา (Corneal Cross-Linking) เป็นวิธีการรักษากระจกตาโก่งโดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตร่วมกับวิตามินบี (Riboflavin) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นใยคอลลาเจนในกระจกตา เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด และยังให้ผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพด้วย
ทั้งนี้ การฉายแสงเหมาะสำหรับผู้ที่กระจกตายังคงมีความหนาและไม่มีแผลที่ผิวกระจกตาเท่านั้น ผู้ที่มีกระจกตาหนาน้อยกว่า 400 ไมครอน หรือเคยมีการติดเชื้อที่กระจกตา ไม่เหมาะแก่การรักษาด้วยวิธีนี้
การใส่วงแหวนขึงกระจกตา เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาโก่งมาก หรือสายตาเอียงมากจนไม่สามารถสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ได้ วิธีนี้ที่ช่วยปรับรูปร่างของกระจกตาให้แบนลงและกลับมาใกล้เคียงกับกระจกตาปกติ เพื่อให้ผู้ที่มีกระจกตาโก่งมากสวมใส่แว่นหรือคอนแท็กต์เลนส์แก้ไขปัญหาสายตาได้ และจะรักษาด้วยการสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์หรือแว่นต่อไป
ในกรณีที่อาการกระจกตาโก่งมีความรุนแรงมาก มีแผลเป็นที่กระจกตา และการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ไม่ได้ผล อาจต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ซึ่งเป็นการรักษาที่ช่วยให้ความโค้งของกระจกตากลับมาใกล้เคียงกับปกติและช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายกระจกตานั้นมีความซับซ้อน และต้องรอรับการบริจาคกระจกตา อีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกระจกตานานมากกว่า 1 ปี
อาการกระจกตาโก่งไม่สามารถป้องกันได้ แต่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ด้วยการดูแลตัวเองดังนี้
หลีกเลี่ยงการขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ
ไม่สวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ข้ามคืน
ลดการใช้สายตาหนักๆ จนตาล้า
บริหารดวงตาด้วยการกลอกตาไปมา แทนการใช้นิ้วกดหรือนวดไปที่ดวงตา
ปกป้องดวงตาจากแสงแดด และแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือ
หมั่นตรวจสุขภาพตา และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาว่าเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่
หากมีอาการที่เข้าข่ายเป็นโรคกระจกตาโก่ง แนะนำให้เข้ามาปรึกษา วินิจฉัย และรักษาได้ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalศูนย์เฉพาะทางด้านการดูแลสุขภาพดวงตา ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีจุดเด่นดังนี้
ทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ
ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมเครื่องมือมาตรฐานระดับสากล เพื่อความแม่นยำและความปลอดภัยในการรักษา
ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
การบริการที่ใส่ใจ พร้อมบรรยากาศโรงพยาบาลที่อบอุ่นและเป็นกันเอง
โรคกระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วย เป็นภาวะที่กระจกตาบางลงจนโก่งนูน ส่งผลให้มองเห็นเป็นภาพเบลอ ผิดเพี้ยน โดยสาเหตุการเกิดโรคนี้ยังไม่แน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การขยี้ตา และการป่วยเป็นโรคบางชนิด ซึ่งการรักษากระจกตาโก่งทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ การฉายแสง ไปจนถึงการผ่าตัดใส่วงแหวน หรือผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา
หากกำลังสงสัยว่ามีอาการเข้าข่ายกระจกตาโก่ง แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalที่นี่มีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการบริการที่ครบวงจร เพื่อให้ดวงตาคู่สำคัญได้รับการดูแลที่ดีและปลอดภัย