มุมสุขภาพตา : #กระจก

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

กระจกจาโก่ง กระจกตาย้วย มาหาสาเหตุ ฃอาการ และแนวทางการรักษา

กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติไป หากปล่อยไว้นานอาจสายเกินแก้อาจนำไปสู่อาการสายตาสั้นหรือสายตาเอียง บทความนี้จะพามาหาสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษา เพื่อให้สามารถดูแลและลดความเสี่ยงต่อปัญหากระจกตาโก่งได้อย่างถูกต้อง   กระจกตาโก่ง เป็นภาวะที่กระจกตาบางลงเป็นรูปทรงกรวยหรือโก่งนูน จนแสงหักเหเข้าสู่ดวงตาอย่างผิดปกติ กระจกตาโก่งจะส่งผลให้การมองเห็นถดถอย มองเห็นภาพไม่ชัด ผิดเพี้ยน และมีค่าสายตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกระจกตาโก่ง คือกลุ่มวัยรุ่นที่มีโครงสร้างกระจกตาเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ผู้ที่ขยี้ตาแรงบ่อยๆ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม ควรรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการกระจกตาโก่งร่วมกับการเคืองตา ตาแดง ปวดศีรษะ และการมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว     กระจกตาโก่ง คืออะไร โดยปกติแล้วกระจกตาจะมีความหนาโดยเฉลี่ยที่ 530-550 ไมครอน หรือประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และมีรูปทรงโค้งที่สม่ำเสมอ ซึ่งทำให้แสงหักเหอย่างถูกต้อง ส่งผลให้เห็นภาพที่คมชัด แต่กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วย (Keratoconus) คือภาวะที่กระจกตาเริ่มบางลงและเปลี่ยนรูปไปเป็นรูปทรงกรวยหรือโก่งนูนผิดปกติ ทำให้แสงหักเหเข้าสู่ดวงตาได้ไม่ถูกต้อง มองเห็นเป็นภาพเบลอ บิดเบี้ยว ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นาน อาจมีอาการรุนแรงขึ้นจนมีปัญหาด้านการมองเห็นได้ ผลกระทบจากกระจกตาโก่ง อาการกระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยส่งผลต่อการมองเห็นได้ การที่กระจกตาที่บางและเปลี่ยนเป็นรูปทรงกรวยนั้น ทำให้การหักเหแสงผิดพลาด ไม่รวมจุดโฟกัสให้เป็นภาพเดียว ทำให้มองเห็นภาพเบลอ ผิดเพี้ยน เกิดเป็นปัญหาสายตาเอียง สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ นอกจากนี้อาการกระจกตาโก่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ จากการที่โครงสร้างกระจกตาเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เป็นแผลที่กระจกตากระจกตาติดเชื้อกระจกตาบางจนบวมน้ำและแตกออก หรือเกิดวงแหวนในกระจกตา ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ส่งผลต่อการมองเห็นให้ถดถอยลงอย่างมาก และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้     สังเกตอาการกระจกตาโก่งได้อย่างไร กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยจะเริ่มแสดงอาการชัดเจนขึ้นเมื่อมีอายุ 13 ปี หรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และจะแสดงอาการยาวนานจนถึง 10 - 20 ปี โดยผู้ที่มีภาวะกระจกตาโก่ง โดยสังเกตได้จากอาการเหล่านี้ ภาพที่มองเห็นมีความเบลอ มัว และผิดเพี้ยนตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาหรือคอนแท็กต์เลนส์บ่อยครั้ง เนื่องจากค่าสายตาเอียง สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตาไวต่อแสง ไม่สามารถมองสู้แสงได้ มีอาการเคืองตา แสบตา มีอาการปวดตาร่วมกับปวดศีรษะ หากมีอาการหนักจนเกิดแผลที่กระจกตา หรือกระจกตาบวมน้ำจนแตก การมองเห็นจะเสื่อมลงอย่างรุนแรง สาเหตุของอาการกระจกตาโก่ง กระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วยเกิดจากความผิดปกติของเส้นใยคอลลาเจนของกระจกตา ที่มีความอ่อนแอลง หรือมีการเรียงตัวที่ไม่สม่ำเสมอ กระจกตาจึงไม่แข็งแรง เมื่อปล่อยไว้นาน กระจกตาจะบางลงเรื่อยๆ และโก่งนูนออกมา ซึ่งที่มาของการเกิดโรคกระจกตาโก่งนั้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ปัจจัยบางอย่างอาจก่อให้เกิดอาการกระจกตาโก่งได้ เช่น เกิดจากพันธุกรรม ครอบครัวมีประวัติการเป็นกระจกตาโก่ง การขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ เป็นเวลานาน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ขึ้นตา ที่มักจะคันตาอยู่เสมอ ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดมากเกินไป มีอาการกระจกตาโก่งร่วมกับบางโรค เช่น ดาวน์ซินโดรม โรคหนังยืดผิดปกติ โรคหืด     กลุ่มเสี่ยงกระจกตาโก่ง มีใครบ้าง กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาโก่งนั้น มักเป็นกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกระจกตา เช่น ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระจกตามากที่สุด ผู้ที่ขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ จากโรคภูมิแพ้ขึ้นตา หรือเมื่อมีอาการคันตา ผู้ที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้กระจกตาบางลงได้ ผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงหรือสายตาสั้น ร่วมกับมีค่าสายตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม มีแนวโน้มเกิดอาการกระจกตาโก่งได้มากกว่าปกติ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการเรียงตัวของคอลลาเจน เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อ หลอดเลือด น้ำเหลือง และเส้นประสาท ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางโรคตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคครูซอง โรคหนังยืดผิดปกติ โรคกระดูกเปราะพันธุกรรม เป็นต้น อาการกระจกตาโก่งแบบไหนต้องรีบพบแพทย์ หากการมองเห็นแย่ลงอย่างรวดเร็ว หรือมีอาการผิดปกติบนดวงตา เช่น เคืองตา ตาแดง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากโรคกระจกตาโก่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด หากแพทย์พบการเปลี่ยนแปลงของกระจกตาได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งรักษาได้เร็วเท่านั้น     วินิจฉัยกระจกตาโก่งโดยแพทย์ โรคกระจกตาโก่งมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจประเมินสภาพดวงตาเพื่อทำเลสิก หรือเพื่อรักษาโรคทางตาอื่นๆ เมื่อแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นกระจกตาโก่ง จะตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดด้วยเครื่องตรวจวัดพื้นผิวและความหนากระจกตา (Corneal topography) ต่อมาการวินิจฉัยโรคกระจกตาโก่งเริ่มต้นด้วยการซักประวัติโรคทางตาของคนในครอบครัว สอบถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมถึงตรวจสายตาด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้ 1. ทดสอบความสามารถในการมองเห็น (Visual Acuity) เป็นการทดสอบด้วยการอ่านแผนภูมิวัดสายตา Snellen Chart ซึ่งเป็นแผนภูมิที่มีชุดตัวเลข 8 แถว และจะมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละแถว โดยจะวาง Snellen Chart ห่างออกในระยะ 6 เมตร จากนั้นเริ่มวัดสายตาทีละข้าง เพื่อประเมินระดับการมองเห็นที่แท้จริง นอกจากนี้ยังมีการทดสอบสายตาด้วยการใช้เครื่องมือ Phoropter ที่เปลี่ยนเลนส์เพื่อแก้ไขการหักเหแสงของดวงตาได้ เมื่อผู้ที่รับการตรวจด้วย Phoropter เริ่มรู้สึกว่ามองเห็นชัดขึ้นตามปกติ แพทย์ก็จะนำค่าสายตาที่วัดได้ไปอ้างอิงในการตัดแว่นสายตาหรือคอนแท็กต์เลนส์ต่อไป ผู้ที่มีอาการกระจกตาโก่งมักจะมีปัญหาสายตาสั้น สายตาเอียง การทดสอบความสามารถในการมองเห็นเหล่านี้ จะช่วยระบุได้ว่ามีสายตาที่ผิดปกติอย่างไร และมีค่าสายตาเท่าใด 2. วัดความโค้งกระจกตา (Keratometry) การตรวจโดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่าเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) ส่องแสงเข้าไปในกระจกตา เพื่อดูการหักเหของแสง และวัดความโค้งของกระจกตาจากการสะท้อนของแสง ผู้ที่มีความโค้งหรือรูปร่างกระจกตาที่ผิดปกติ จะมีปัญหาสายตาต่างๆ เช่น สายตาสั้น สายตาเอียง และมีแนวโน้มที่จะเป็นกระจกตาโก่งได้ 3. การส่องกล้องจุลทรรศน์ดวงตา (Slit Lamp Examination) Slit Lamp คือกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่ส่องดวงตาให้เห็นทั้งภายนอกและภายในเป็นรูปแบบสามมิติ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะวางคางและหน้าผากให้แนบชิดกับเครื่อง จากนั้นแพทย์จะบังคับกล้องไปยังจุดที่ต้องการตรวจ แล้วปรับลำแสงให้กว้างขึ้นหรือแคบลงตามความต้องการเพื่อตรวจดูส่วนต่างๆ ของดวงตาอย่างชัดเจน หากผู้เข้ารับการตรวจมีลักษณะดวงตาที่เปลี่ยนไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาโก่งได้ 4. วัดกำลังสายตา (Retinoscope) เรติโนสโคป (Retinoscope) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินการหักเหของแสงในดวงตา โดยการใช้แสงจากเครื่องส่องไปที่ดวงตาของผู้เข้ารับการตรวจ แล้วสังเกตการสะท้อนกลับจากกระจกตา เพื่อประเมินว่าแสงถูกหักเหอย่างไรบ้าง ซึ่งมีหลักการคล้ายกับการตรวจด้วย Keratometer แตกต่างกันที่ Keratometer นั้นใช้ในการวัดรูปร่างและความโค้งของกระจกตา แต่ Retinoscope ใช้เพื่อตรวจดูความผิดปกติของการหักเหแสงในดวงตา ซึ่งผู้ที่มีอาการกระจกตาโก่ง ก็จะมีการหักเหของแสงในดวงตาที่ผิดเพี้ยนไป     แนวทางการรักษากระจกตาโก่ง แนวทางการรักษากระจกตาโก่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ โดยหลังจากแพทย์ประเมินอาการและแล้วจะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้ดังนี้ 1. การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ หากอาการกระจกตาโก่งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการสวมใส่แว่นสายตา หรือคอนแท็กต์เลนส์ชนิดพิเศษ ซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด เช่น Scleral Lens, RGP Lens เป็นต้น การจะใช้คอนแท็กต์เลนส์ชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามที่แพทย์ประเมินให้ 2. การฉายแสง การฉายแสงที่กระจกตา (Corneal Cross-Linking) เป็นวิธีการรักษากระจกตาโก่งโดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตร่วมกับวิตามินบี (Riboflavin) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นใยคอลลาเจนในกระจกตา เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด และยังให้ผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพด้วย ทั้งนี้ การฉายแสงเหมาะสำหรับผู้ที่กระจกตายังคงมีความหนาและไม่มีแผลที่ผิวกระจกตาเท่านั้น ผู้ที่มีกระจกตาหนาน้อยกว่า 400 ไมครอน หรือเคยมีการติดเชื้อที่กระจกตา ไม่เหมาะแก่การรักษาด้วยวิธีนี้ 3. การผ่าตัดใส่วงแหวนขึงกระจกตา การใส่วงแหวนขึงกระจกตา เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาโก่งมาก หรือสายตาเอียงมากจนไม่สามารถสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ได้ วิธีนี้ที่ช่วยปรับรูปร่างของกระจกตาให้แบนลงและกลับมาใกล้เคียงกับกระจกตาปกติ เพื่อให้ผู้ที่มีกระจกตาโก่งมากสวมใส่แว่นหรือคอนแท็กต์เลนส์แก้ไขปัญหาสายตาได้ และจะรักษาด้วยการสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์หรือแว่นต่อไป 4. การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ในกรณีที่อาการกระจกตาโก่งมีความรุนแรงมาก มีแผลเป็นที่กระจกตา และการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ไม่ได้ผล อาจต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ซึ่งเป็นการรักษาที่ช่วยให้ความโค้งของกระจกตากลับมาใกล้เคียงกับปกติและช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายกระจกตานั้นมีความซับซ้อน และต้องรอรับการบริจาคกระจกตา อีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกระจกตานานมากกว่า 1 ปี การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการกระจกตาโก่ง อาการกระจกตาโก่งไม่สามารถป้องกันได้ แต่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ด้วยการดูแลตัวเองดังนี้ หลีกเลี่ยงการขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ ไม่สวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ข้ามคืน ลดการใช้สายตาหนักๆ จนตาล้า บริหารดวงตาด้วยการกลอกตาไปมา แทนการใช้นิ้วกดหรือนวดไปที่ดวงตา ปกป้องดวงตาจากแสงแดด และแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือ หมั่นตรวจสุขภาพตา และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาว่าเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ รักษาอาการกระจกตาโก่ง ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากมีอาการที่เข้าข่ายเป็นโรคกระจกตาโก่ง แนะนำให้เข้ามาปรึกษา วินิจฉัย และรักษาได้ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalศูนย์เฉพาะทางด้านการดูแลสุขภาพดวงตา ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีจุดเด่นดังนี้ ทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมเครื่องมือมาตรฐานระดับสากล เพื่อความแม่นยำและความปลอดภัยในการรักษา ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง การบริการที่ใส่ใจ พร้อมบรรยากาศโรงพยาบาลที่อบอุ่นและเป็นกันเอง สรุป โรคกระจกตาโก่งหรือกระจกตาย้วย เป็นภาวะที่กระจกตาบางลงจนโก่งนูน ส่งผลให้มองเห็นเป็นภาพเบลอ ผิดเพี้ยน โดยสาเหตุการเกิดโรคนี้ยังไม่แน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การขยี้ตา และการป่วยเป็นโรคบางชนิด ซึ่งการรักษากระจกตาโก่งทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ การฉายแสง ไปจนถึงการผ่าตัดใส่วงแหวน หรือผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา หากกำลังสงสัยว่ามีอาการเข้าข่ายกระจกตาโก่ง แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalที่นี่มีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการบริการที่ครบวงจร เพื่อให้ดวงตาคู่สำคัญได้รับการดูแลที่ดีและปลอดภัย

แผลที่กระจกตาเสี่ยงกระจกตาติดเชื้อ! รวมอาการ สาเหตุ และการรักษา

แผลที่กระจกตาอันตรายมากกว่าที่คิด อาจทำให้กระจกตาติดเชื้อจนอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้! บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการกระจกตาเป็นแผลว่าคืออะไร มีอาการอย่างไร พร้อมหาสาเหตุและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ตลอดจนการดูแลดวงตาเพื่อลดความเสี่ยงเป็นแผลที่กระจกตา หาคำตอบได้ที่นี่   แผลที่กระจกตา คือ การที่กระจกตาได้รับบาดเจ็บจนเกิดเป็นแผล มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น แผลที่กระจกตามีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นแผลเพียงเล็กน้อยจะรักษาได้ด้วยการทานยา แต่หากมีอาการรุนแรงก็สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ แผลที่กระจกตาที่สังเกตได้ เช่น ปวดตา ตาอักเสบ ตาแดง มีน้ำตาไหลออกมา หรือมีหนองในดวงตา เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดจากแผลที่กระจกตา เช่น การติดเชื้อภายในลูกตา โรคต้อหิน หรือกระจกตาทะลุ ตลอดจนเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร การรักษากระจกตาเป็นแผลทำได้ 2 วิธี คือ การรักษากระจกตาเป็นแผลด้วยยาในกรณีที่อาการไม่รุนแรง และการรักษากระจกตาเป็นแผลด้วยการผ่าตัดในกรณีที่มีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง     ทำความรู้จักแผลที่กระจกตา คืออะไร กระจกตาของคนเราเปรียบเหมือนกระจกหน้ารถยนต์ที่เป็นเกราะป้องกันอันตรายจากภายนอก เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดการติดเชื้อขึ้น อาจส่งผลให้กระจกตาเป็นแผลได้ โดยแผลที่กระจกตาคือรอยโรคที่เกิดขึ้นบริเวณกระจกตา ซึ่งเป็นส่วนที่ใสและโค้งของผิวดวงตา มีหน้าที่ช่วยในการหักเหแสง หากเป็นแผลจะทำให้รู้สึกปวดตา ตาแดง และมองเห็นผิดปกติได้ ดังนั้นการรักษาแผลที่กระจกตาเป็นสิ่งที่จำเป็น และควรรีบซ่อมแซมอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ด่านหน้าที่ช่วยป้องกันดวงตาสามารถกลับมาทำงานได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง อาการแผลที่กระจกตา เป็นอย่างไร อาการกระจกตาเป็นแผล สังเกตได้จากอาการผิดปกติเหล่านี้   ปวดตา โดยเฉพาะเวลาที่อยู่ในที่ที่มีแสงสว่างมาก ระคายเคือง คันบริเวณรอบดวงตา ตาอักเสบ ตาแดง เปลือกตาบวม แสบตา น้ำตาไหลอยู่ตลอด มีหนองในตา หรือมีของเหลวไหลออกจากดวงตา บางรายอาจพบว่ามีจุดสีขาว หรือสีเทาขนาดเล็กในดวงตา     หาสาเหตุแผลที่กระจกตา เกิดจากอะไรได้บ้าง แผลที่กระจกตาเกิดได้จากหลายสาเหตุใดบ้าง? โดยปกติแล้วสามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดแผลที่กระจกตาได้ ดังนี้ แผลที่กระจกตาจากการติดเชื้อ แผลที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยสามารถแบ่งเชื้อโรคได้หลายชนิด ได้แก่ แผลที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเช่น เชื้อไวรัสโรคงูสวัด เชื้อเริม แผลที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแบคทีเรียจะผลิตสารที่เป็นพิษเข้าไปทำลายดวงตา ทำให้เกิดการอักเสบ เกิดแผลที่กระจกตาได้ แผลที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อรามักเกิดในกรณีที่กระจกตาถูกกระทบจากสิ่งแปลกปลอม เช่น ใบไม้ ใบหญ้าเข้าตา แผลที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อปรสิตเช่น เชื้ออะมีบา ทั้งนี้การเกิดแผลที่กระจกตาจากการติดเชื้ออะมีบานั้น เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย แต่เมื่อเกิดแล้ว จะมีอันตรายมากกว่าการติดเชื้อแบบอื่นๆ แผลที่กระจกตาจากปัจจัยอื่น ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดแผลที่กระจกตา ได้แก่ ผู้ที่มีขนตายาวมากจนขนตาทิ่มเข้าไปในดวงตา เกิดการระคายเคืองจนส่งผลให้เกิดแผลที่กระจกตา ผู้ที่สวมคอนแท็กต์เลนส์เกิดจากการดูแลรักษาความสะอาดที่ไม่เพียงพอ ทำให้ดวงตาอักเสบหรือติดเชื้อ ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุได้รับการกระทบกระเทือนที่ดวงตา เช่น ฝุ่นหรือก้อนหินกระเด็นเข้าตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ กระเด็นเข้ามาที่ดวงตา ผู้ที่มีภาวะตาแห้งร่างกายสร้างน้ำตาหล่อลื่นได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ดวงตาระคายเคืองได้ง่าย ส่งผลทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้     ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากแผลที่กระจกตา ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากแผลที่กระจกตา มีดังนี้ กระจกตาทะลุคือการที่กระจกตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนกระจกตาทะลุ กระจกตาติดเชื้อคือการที่เกิดการติดเชื้อที่กระจกตา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรียต่างๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตา ตาแดง ตามัว ไม่สามารถสู้แสงได้ โรคต้อหินคือการที่ร่างกายมีค่าความดันลูกตาสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยโรคต้อหินส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าเป็น จนกว่าจะเริ่มมีอาการอื่นๆ เช่น เริ่มมองเห็นไม่ชัด มองเห็นได้ในระยะแคบลง หรือในกรณีที่เกิดโรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง มองเห็นเฉพาะทางตรง ภาวะม่านตาอักเสบคือภาวะที่มีการอักเสบบริเวณเนื้อเยื่อส่วนกลางภายในลูกตา ซึ่งเนื้อเยื่อส่วนนี้ประกอบไปด้วยเส้นเลือดจำนวนมาก เมื่อเกิดการอักเสบจึงส่งผลต่อการมองเห็นเป็นอย่างมาก การวินิจฉัยแผลที่กระจกตาโดยแพทย์ เมื่อเกิดแผลที่กระจกตา คนไข้จะมีอาการเจ็บที่ตา หรือตาอักเสบได้ ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคทางดวงตาโดยทั่วไป ทั้งนี้แพทย์จะเริ่มทำการวินิจฉัยโดยอิงจากขั้นตอน ดังต่อไปนี้ แพทย์ซักประวัติเบื้องต้นเช่น โรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา หรือประวัติการใช้ยาต่างๆ แพทย์สืบหาสาเหตุเช่น มีอาการผิดปกติจากอะไร พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงทำให้เกิดแผลที่กระจกตา แพทย์ตรวจตาอย่างละเอียดด้วยกล้องตรวจตาชนิดลำแสงแคบ (Slit lamp biomicroscope) เพื่อดูความเสียหายที่เกิดขึ้น แพทย์ขูดกระจกตาเพื่อนำตัวอย่างเชื้อออกมา แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาต้นตอของการติดเชื้อว่ามาจากเชื้อชนิดใด แพทย์แจ้งผลการวินิจฉัยพร้อมแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด แนวทางการรักษาแผลที่กระจกตา สำหรับแนวทางการรักษาแผลที่กระจกตา สามารถรักษาได้ทั้งหมด 2 วิธี ได้แก่ การรักษาแผลที่กระจกตาด้วยยา การรักษาแผลที่กระจกตาด้วยการผ่าตัด โดยมีรายละเอียดดังนี้ การรักษาแผลที่กระจกตาด้วยยา วิธีการรักษาแผลที่กระจกตาด้วยยาเป็นวิธีการรักษาแบบเบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลที่กระจกตาเพียงเล็กน้อย มีรอยแผลตื้น กระจกตาไม่ได้ถูกฉีกขาดอย่างหนัก สามารถทานยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสเพื่อรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ การรักษาแผลที่กระจกตาด้วยการผ่าตัด วิธีการรักษาแผลที่กระจกตาด้วยการผ่าตัดเป็นการรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยแพทย์จะนำเนื้อเยื่อกระจกตาเดิมออก จากนั้นทำการเปลี่ยนเนื้อเยื่อกระจกตาใหม่ด้วยการใช้เนื้อเยื่อกระจกตาของผู้ที่บริจาคเข้าไปแทน     ดูแลดวงตาอย่างไร ให้ห่างไกลแผลที่กระจกตา วิธีการดูแลรักษาดวงตาเพื่อลดความเสี่ยงกระจกตาเป็นแผล มีดังนี้ สวมอุปกรณ์ป้องกันรอบดวงตาเมื่อต้องทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น งานช่าง งานสัมผัสสารเคมี เป็นต้น หมั่นดูแลรักษาความสะอาดบริเวณดวงตา หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือลูบคลำบริเวณรอบดวงตา สำหรับผู้ที่สวมคอนแท็กต์เลนส์ ล้างมือให้สะอาดก่อนสวมใส่และควรทำความสะอาดเลบนส์หลังใช้งานทุกครั้ง ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้า เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อ รักษาแผลที่กระจกตา ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากมีอาการแผลที่กระจกตา เข้ามารักษาได้ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาดวงตาอย่างครบวงจร โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีจุดเด่นดังนี้ โรงพยาบาลมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ ที่พร้อมดูแลตลอดทุกขั้นตอนจนถึงการติดตามผลการรักษา โรงพยาบาลมีเทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย โรงพยาบาลพร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ โรงพยาบาลใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศที่เป็นกันเอง สรุป แผลที่กระจกตา คืออาการกระจกตาได้รับบาดเจ็บจนเกิดเป็นแผล มีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ตลอดจนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ หากเป็นแผลขนาดเล็กสามารถรักษาได้ด้วยการทานยา แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรง ร่วมกับการติดเชื้อ แพทย์จะแนะนำให้่าตัดเพื่อรักษา อาการกระจกตาเป็นแผลไม่ควปล่อยไว้ เพราะอาจเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงต้อหินและการสูญเสียการมองเห็นได้ เข้ามารักษาอาการแผลที่กระจกตาได้ที่ศูนย์โรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการด้วยความใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการวินิจฉัย การรักษา ตลอดจนการติดตามผล

วิธีรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าต้อกระจกมีกี่แบบ ผ่าต้อกระจกที่ไหนดี

การผ่าต้อกระจกคือการกำจัดเลนส์ตาขุ่นและใส่เลนส์ตาเทียมเพื่อคืนวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน วิธีรักษาต้อกระจกมี 4 วิธี คือการสลายต้อ ใช้เลเซอร์ ผ่าตัดเอาออกทั้งก้อน และผ่าตัดแผลเล็ก ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังผ่าต้อกระจก ได้แก่ การมีเลือดออกในลูกตา การติดเชื้อ ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก เลนส์ตาเทียมเลื่อนหลุด ปวดตา และการมองเห็นผิดปกติ รักษาต้อกระจกที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) เพราะที่นี่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านดวงตา พร้อมให้บริการโดยจักษุแพทย์ด้านต้อกระจก อุปกรณ์ทันสมัย และการดูแลที่ใกล้ชิดเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด   การผ่าต้อกระจกเป็นการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเลนส์ตาขุ่นมัวหรือเปลี่ยนแปลง ทำให้การมองเห็นลดลง วิธีการเตรียมตัวก่อนและดูแลหลังการผ่าตัดมีความสำคัญเพื่อการฟื้นตัวและผลลัพธ์ที่ดี รวมถึงการเลือกผ่าต้อกระจกที่ไหนดี? ควรเลือกสถานที่ที่เหมาะสมผ่านปัจจัยต่างๆ ที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ     การผ่าต้อกระจกคืออะไร การรักษาต้อกระจกแตกต่างจากการรักษาต้อลมและต้อเนื้อเพราะมีเพียงวิธีเดียว คือ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งถือเป็นวิธีการรักษามาตรฐานทั่วโลก และสามารถทำได้ทั้งหมด 3 เทคนิควิธี ได้แก่ 1. ผ่าต้อกระจกโดยการสลายต้อ (Phacoemulsification) การผ่าตัดสลายต้อกระจกเป็นการผ่าตัดที่มีแผลขนาดเล็กมากประมาณ 2.6-3 มิลลิเมตร จึงไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผล ซึ่งทำให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของจักษุแพทย์และความซับซ้อนของเคส นอกจากนี้การใส่เลนส์ตาเทียมใหม่ยังช่วยแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสายตามองใกล้ผิดปกติได้อีกด้วย 2. ผ่าต้อกระจกโดยใช้เลเซอร์ (Femtosecond Laser-Assisted Cataract Surgery) การรักษาต้อกระจกด้วยเลเซอร์Femtosecond Laserช่วยในขั้นตอนการเปิดแผล การเปิดถุงหุ้มเลนส์ และการแบ่งเลนส์ต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้การสลายและดูดออกด้วยอัลตราซาวนด์ง่ายขึ้น เนื่องจาก Femtosecond Laser ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จักษุแพทย์จึงวางแผนการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดแผลจะมีความแม่นยำสูง สามารถเปิดถุงหุ้มเลนส์ให้มีขนาดตามต้องการ และวางเลนส์แก้วตาเทียมให้อยู่ตำแหน่งตรงกลางได้ดี ช่วยแก้ไขสายตาเอียงให้ได้องศาที่ต้องการ 3. การผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็ก (MSICS: Manual Small Incision Cataract Surgery) เทคนิคการผ่าตัดที่เอาต้อกระจกทั้งก้อนออกผ่านแผลขนาดเล็กบริเวณตาขาวที่ปิดเองได้โดยไม่ต้องเย็บแผล มีถุงหุ้มเลนส์ยังคงอยู่ในตา แผลผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีขนาดเล็กกว่าวิธีผ่าต้อกระจกโดยวิธีเอาออกทั้งก้อน แต่ใหญ่กว่าวิธีผ่าต้อกระจกโดยใช้เลเซอร์ นอกจากนี้การไม่ต้องเย็บแผลช่วยลดปัญหาการเกิดสายตาเอียงที่อาจเกิดจากการผ่าตัด ฟื้นตัวเร็วกว่าและลดจำนวนครั้งในการพบแพทย์เพื่อการติดตามผลการรักษาหลังผ่าตัด     ชนิดของเลนส์ตามเทียมที่ใส่หลังผ่าต้อกระจก การผ่าต้อกระจกมักจะตามมาด้วยการใส่เลนส์ตาเทียมเพื่อช่วยปรับการมองเห็นให้ชัดเจนขึ้น มีชนิดของเลนส์ตาเทียมหลายประเภทให้เลือก ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและข้อดีที่แตกต่างกันไป ดังนี้ Monofocal IOLเลนส์ตาเทียมชนิดมองไกลได้ระยะเดียวสามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาวที่มีอยู่เดิมก่อนการผ่าตัดได้ เป็นเลนส์ตาเทียมที่ได้รับความนิยมมากในโรงพยาบาลทั่วไปในประเทศไทย Toric IOLเลนส์ตาเทียมชนิดที่แก้ไขปัญหาสายตาเอียงได้ Multifocal IOLเป็นเลนส์ตาเทียมที่มองเห็นได้หลายระยะ ใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศและในโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย     ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าต้อกระจก ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าต้อกระจก ได้แก่ การมีเลือดออกในลูกตาหรือเบ้าตาจากการฉีดยาชา กระจกตาขุ่นมัวเนื่องจากเซลล์ตาไม่แข็งแรง การติดเชื้อ จอประสาทตาหลุดลอก ปวดตาแสงจ้า และเลนส์แก้วตาเทียมเลื่อนหลุด อาการรุนแรงอาจนำไปสู่การสูญเสียดวงตาหรือการมองเห็น ภาวะเหล่านี้พบได้น้อยมากและอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือน หรือหลายปีหลังการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วยในการดูแลตนเองหลังผ่าตัด การเตรียมตัวก่อนผ่าต้อกระจก การเตรียมตัวก่อนผ่าต้อกระจกจึงมีความสำคัญ ควรปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย ฝึกนอนหงาย โดยมีผ้าคลุมบริเวณใบหน้า นานประมาณ 20-30 นาที เพื่อให้หายใจใต้ผ้าคลุมจนชิน เนื่องจากตอนผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องนอนคลุมผ้าในลักษณะคล้ายกัน ในวันผ่าตัด ให้อาบน้ำสระผม ล้างหน้า และงดทาแป้ง ครีม หรือแต่งหน้าก่อนมาโรงพยาบาล รับประทานอาหารเช้าและยาโรคประจำตัวตามปกติ ยกเว้นยาที่แพทย์สั่งให้งด เช่น แอสไพริน หรือยาละลายลิ่มเลือด ถอดของมีค่า เครื่องประดับ และฟันปลอม หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง เคืองตา มีขี้ตา หรือเป็นหวัด ไอ จาม กรุณาแจ้งแพทย์หรือพยาบาล เพื่อรักษาให้หายก่อนเข้ารับการผ่าตัด ในวันผ่าตัด ควรมีญาติหรือเพื่อนมาด้วยอย่างน้อย 1 คน เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องปิดตาข้างที่ผ่าตัดกลับบ้าน การดูแลหลังผ่าต้อกระจก เพื่อให้ไม่มีการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก ควรดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด โดยมีขั้นตอนดังนี้ สวมแว่นกันแดดหรือแว่นสายตาตลอดเวลา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกระทบกระแทก หากไม่มีให้ครอบตาด้วยฝาครอบตาที่โรงพยาบาลจัดให้ ใช้ฝาครอบตาก่อนเข้านอนทุกคืนเพื่อป้องกันการขยี้ตาโดยไม่รู้สึกตัว ควรนอนหงายเป็นหลัก แต่สามารถนอนตะแคงได้โดยเอาตาข้างที่ผ่าตัดขึ้นด้านบน อ่านหนังสือและดูโทรทัศน์ได้ แต่ควรหยุดพักเมื่อรู้สึกแสบตา สามารถทำกิจวัตรประจำวันเบาๆ เช่น เดินเล่น หรือ ไปทานอาหารนอกบ้าน แต่ไม่ควรก้มศีรษะต่ำกว่าเอว ไม่ควรยกของหนัก หลีกเลี่ยงการไอ จาม เบ่งอย่างรุนแรง ห้ามขยี้ตา และระวังการลื่นหกล้ม อาบน้ำได้ โดยไม่ให้น้ำเข้าตา การสระผมควรนอนสระที่ร้าน หรือให้ผู้อื่นสระให้ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าตา สามารถแปรงฟัน และล้างใบหน้าครึ่งล่างได้ โดยไม่ควรให้น้ำกระเด็นเข้าตา ทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาและใบหน้า โดยใช้สำลีหรือผ้าสะอาดชุบน้ำ เช็ดหน้าและเปลือกตาจากหัวตาไปหางตา หลีกเลี่ยงการทำสวน รดน้ำ พรวนดิน ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหารที่มีไอหรือควัน 7 วัน หยอดยาตามแพทย์สั่ง และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง     ผ่าต้อกระจกราคาเท่าไร ควรผ่าที่ไหนดี ราคาการผ่าต้อกระจกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 20,000 ถึง 80,000 บาท หรือมากกว่านั้น สามารถแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และเงื่อนไขสุขภาพดวงตาของแต่ละบุคคล เช่น โรงพยาบาลที่เลือกรักษา ประเภทของเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้ เทคนิคการผ่าตัด การใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัด และความซับซ้อนของเคส รวมถึงการบริการเสริมอื่นๆ เช่น การตรวจหลังผ่าตัดและการติดตามผล วิธีการเลือกโรงพยาบาลผ่าต้อกระจก ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านต้อกระจก พร้อมให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือทันสมัยในการรักษาต้อกระจก เพื่อให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยมากที่สุด   สรุป การผ่าต้อกระจกคือการนำเลนส์ตาขุ่นออกและใส่เลนส์เทียมใหม่เพื่อฟื้นฟูการมองเห็นทำได้ 4 วิธี คือผ่าตัดสลายต้อ ผ่าตัดโดยเลเซอร์ ผ่าตัดออกทั้งก้อน และผ่าตัดแบบแผลเล็ก ก่อนผ่าควรเตรียมตัวตามคำแนะนำแพทย์ และหลังผ่าต้องดูแลตาอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงของผลแทรกซ้อน สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาต้อกระจก สามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์โรคต้อกระจก Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)ซึ่งให้การดูแลและรักษาโรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาอย่างครบวงจร

ทำความเข้าใจอาการกระจกตาเสื่อม สาเหตุ วิธีการดูแลรักษาและป้องกัน

กระจกตาเสื่อมคือภาวะที่กระจกตาเสียหาย ส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติ กระจกตาเสื่อมเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้กระจกตามีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการสะสมของเนื้อเยื่อผิดปกติ วิธีรักษากระจกตาเสื่อม ได้แก่ การใช้ยาหยอดตา คอนแท็กต์เลนส์พิเศษ หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ส่วนการป้องกันคือการตรวจสุขภาพตาอยู่เสมอ การรักษากระจกตาเสื่อมที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล พร้อมด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในการตรวจและรักษาโรคกระจกตา   กระจกตาเสื่อมเป็นภาวะที่กระจกตาเกิดการผิดปกติ ส่งผลให้การมองเห็นเปลี่ยนไป การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดกระจกตาเสื่อม รวมถึงการรู้จักวิธีการรักษาและป้องกันที่เหมาะสม จะช่วยให้สามารถตรวจพบภาวะนี้ได้แต่เนิ่นๆ และป้องกันการเสื่อมสภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้     กระจกตาเสื่อม คือโรคอะไร? กระจกตาเสื่อมเกิดจากการสะสมของวัสดุในชั้นหนึ่งหรือหลายชั้นของกระจกตา ซึ่งวัสดุนั้นอาจทำให้กระจกตาสูญเสียความโปร่งใส ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นหรือมองเห็นไม่ชัดเจน โดยกระจกตาเสื่อมแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ   กระจกตาเสื่อมที่ชั้นหน้าหรือผิวหนังเป็นภาวะที่มีผลกระทบต่อชั้นนอกสุดของกระจกตา (รวมถึงชั้นเยื่อบุผิวและชั้นเยื่อรับรองผิว) กระจกตาเสื่อมจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(Stroma) ส่งผลต่อกระจกตาชั้นกลาง ซึ่งเป็นชั้นหนาที่สุดของกระจกตา กระจกตาเสื่อมชนิดหลังมีผลกระทบต่อส่วนในสุดของกระจกตา(ชั้นเยื่อบุผิวชั้นในและชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน) โดยกระจกตาเสื่อมชนิดหลังที่พบบ่อยที่สุดคือโรคฟุคส์ (Fuchs’ dystrophy)     สาเหตุของกระจกตาเสื่อม เกิดจากอะไรบ้าง กระจกตาเสื่อมมีหลายรูปแบบที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และบางรูปแบบยังคงต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น เชื้อชาติ ซึ่งมักเกิดในผู้ที่มีเชื้อสายขาว อายุ โดยมักเกิดในผู้ที่อายุมากกว่า 30 ปี และเพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกำหนดเพศเป็นหญิงตั้งแต่แรกเกิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้มากกว่าเพศชาย     สังเกตอาการของกระจกตาเสื่อม อาการของกระจกตาเสื่อมจะค่อยๆ พัฒนาและอาจทำให้การมองเห็นแย่ลงในระยะยาวหากไม่ได้รับการดูแลหรือรักษาที่เหมาะสม โดยสังเกตอาการของกระจกตาเสื่อมได้ คือ ตาแฉะ ตาแห้ง ระคายเคืองที่ตา การมองเห็นเบลอ ตาไวต่อแสง การมองเห็นเป็นภาพซ้อน รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา ปวดตา สายตาสั้น (มองเห็นวัตถุที่ไกลๆ เบลอ) สายตาเอียง (มองเห็นวัตถุเบลอหรือบิดเบี้ยว)     วิธีการรักษากระจกตาเสื่อม แม้ว่ากระจกตาเสื่อมยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ก็มีการรักษาที่ช่วยชะลอไม่ให้ภาวะนี้เสื่อมลงไปมากกว่าเดิม ซึ่งทำได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้ ยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งหยอดตา ยาหยอดตาหรือยาทาเฉพาะที่เป็นตัวเลือกในการรักษาอาการที่เกิดจากกระจกตาเสื่อม โดยช่วยบรรเทาอาการต่างๆ เช่น อาการปวดตา ความรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา และอาการตาแห้ง ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตามากขึ้นและบรรเทาอาการกระจกตาเสื่อมลงได้ ยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในกรณีที่กระจกตาเสียหายจากภาวะกระจกตาเสื่อม ซึ่งอาจทำให้กระจกตามีความเปราะบางและไวต่อการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆ โดยช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ คอนแท็กต์เลนส์ชนิดพิเศษ คอนแท็กต์เลนส์พิเศษถูกออกแบบมาให้ใส่บนกระจกตาเช่นเดียวกับคอนแท็กต์เลนส์ทั่วไป แต่มีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยในการฟื้นฟูกระจกตาเสื่อม โดยเลนส์เหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การทำศัลยกรรมแก้ไขกระจกตาด้วยแสง (Phototherapeutic Keratectomy) Phototherapeutic Keratectomy (PTK) เป็นวิธีการรักษากระจกตาเสื่อมที่ใช้เลเซอร์ที่ปรับความแม่นยำได้สูง เพื่อกำจัดเฉพาะเนื้อเยื่อกระจกตาที่เสียหายออก ทำให้จักษุแพทย์สามารถระบุและกำจัดส่วนที่เสียหายได้อย่างตรงจุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อกระจกตาส่วนที่ยังดีอยู่ การปลูกถ่ายกระจกตา ในกรณีที่กระจกตาเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียหายรุนแรงจนส่งผลต่อการมองเห็น การปลูกถ่ายกระจกตาอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง การผ่าตัดนี้ใช้เนื้อเยื่อกระจกตาจากผู้บริจาคมาแทนที่เนื้อเยื่อกระจกตาของผู้ป่วย ซึ่งปลูกถ่ายได้ทั้งแบบบางส่วนหรือแบบทั้งหมด การดูแลดวงตาเพื่อป้องกันกระจกตาเสื่อม กระจกตาเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ทำให้มีโอกาสเกิดกระจกตาเสื่อมในอนาคต แม้ว่าจะไม่สามารถลดความเสี่ยงได้ แต่การตรวจตาอย่างสม่ำเสมอและดูแลรักษาในระยะเริ่มต้นสามารถช่วยชะลออาการและรักษาสุขภาพดวงตาได้ สรุป กระจกตาเสื่อมเป็นภาวะที่กระจกตาของตาเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียหาย ส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติ หรือเกิดอาการเบลอหรือมองไม่ชัดเจน มักเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม รักษาได้ด้วยยาหยอดตา การใช้คอนแท็กต์เลนส์พิเศษ หรือการผ่าตัด เพื่อชะลอหรือบรรเทาอาการ ส่วนการป้องกันควรตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ   หากสงสัยว่าตัวเองอาจจะเป็นกระจกตาเสื่อม มารับการวินิจฉัยและการรักษาที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)ที่นี่มีจักษุแพทย์พร้อมดูแลดวงตาของคุณโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการตรวจและรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

สาเหตุที่ทำให้กระจกตาถลอก พร้อมวิธีการรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ

กระจกตาถลอกคือการบาดเจ็บที่กระจกตา เกิดรอยขีดข่วนหรือแผลที่ผิวกระจกตา ส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดบริเวณดวงตาและมองเห็นได้ไม่ชัด กระจกตาถลอกเกิดจากการขีดข่วนหรือบาดเจ็บที่กระจกตา เช่น การขยี้ตาแรง การมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในดวงตา หรือการใช้คอนแท็กต์เลนส์ไม่ถูกวิธี วิธีรักษากระจกตาถลอกคือการใช้ยาหยอดตาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และปิดตาลดการเสียดสี ส่วนวิธีป้องกัน เช่น ไม่ขยี้ตา สวมแว่นตาป้องกัน และรักษาความสะอาดมือ รักษากระจกตาถลอกที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มอบการดูแลจากจักษุแพทย์ที่มีประสบการณ์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและปลอดภัย   ทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้เกิดกระจกตาถลอกและการเลือกวิธีการรักษาและป้องกันที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพดวงตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาว     กระจกตาถลอก คืออาการอะไร กระจกตาถลอก คือการขีดข่วนหรือบาดเจ็บที่ผิวกระจกตาซึ่งเป็นส่วนโปร่งใสที่ปกคลุมดวงตา ชั้นบนสุดของกระจกตาคือเยื่อบุ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 ชั้นของกระจกตา อาการของการถลอกเกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุผิว การเสียดสี หรืออุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงมาก แต่เมื่อผิวกระจกตาหลุดออกจะกระทบกับเส้นประสาทที่อยู่ใต้เยื่อบุผิว ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดจากการสัมผัสกับน้ำหรืออากาศ     รู้ได้อย่างไรว่าเป็นกระจกตาถลอก หากกระจกตาถูกขีดข่วนหรือบาดเจ็บ อาจทำให้เกิดอาการกระจกตาถลอก ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการต่างๆ คือ ดวงตาแฉะหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ เจ็บปวดที่ดวงตา อาจมีอาการระคายเคืองหรือรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา มีอาการไวต่อแสงหรือแสบตาเมื่อมองแสง มองเห็นไม่ชัด หรือภาพพร่ามัวเนื่องจากกระจกตาไม่เรียบ เวียนศีรษะจากการมองเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ชัดเจน หนังตาบวม หรือมีอาการเปลือกตากระตุก     กระจกตาถลอก มองไม่ชัด เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง กระจกตาถลอกและทำให้มองเห็นไม่ชัดเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาการผิดปกติ และโรคต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้ สิ่งแปลกปลอมเข้าตา หากอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองหรือเศษสิ่งสกปรกมาก โดยเฉพาะในผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นหรือเศษละอองจากสิ่งสกปรกเยอะ เช่น ผู้ที่ทำงานในอาชีพก่อสร้าง ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือชาวไร่ชาวสวนที่ใกล้ชิดกับใบไม้และกิ่งไม้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระจกตาถลอกได้ ขยี้ตาแรง การขยี้ตาแรงอาจทำให้กระจกตาถลอกได้ เนื่องจากแรงที่เกิดขึ้นจากการขยี้ตาทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างมือหรือสิ่งที่มีสิ่งสกปรกติดอยู่กับผิวกระจกตา นอกจากนี้การขยี้ตายังทำให้สิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่น หรือเชื้อโรคเข้าไปในตา ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือการระคายเคืองเพิ่มขึ้น ดวงตาบาดเจ็บ การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาจากสาเหตุต่างๆ เช่น การขูดขีดจากเล็บมือ แปรงแต่งหน้า หรือปากกาทิ่มตา ทำให้เกิดกระจกตาถลอกได้ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไปสัมผัสหรือเสียดสีกับผิวกระจกตาที่บอบบาง ทำให้เกิดรอยขีดข่วนหรือการบาดเจ็บได้ง่าย นอกจากนี้การเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง เช่น กีฬาที่มีลูกบอลหรืออุปกรณ์กระทบเข้ากับดวงตา หากไม่ใส่แว่นตาป้องกัน หรือการผ่าตัดที่ไม่ได้ปิดตาอย่างถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดกระจกตาถลอก ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อหรือการบาดเจ็บที่รุนแรงขึ้นได้ การใส่คอนแท็กต์เลนส์ไม่ถูกต้อง คอนแท็กต์เลนส์เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดกระจกตาถลอกได้ โดยเฉพาะในคนที่ใช้คอนแท็กต์เลนส์แฟชั่นที่อาจไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน หากคอนแท็กต์เลนส์ไม่สะอาดหรือเสียดสีกับดวงตาก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเป็นแผลที่กระจกตาได้ รวมถึงการใช้คอนแท็กต์เลนส์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้คอนแท็กต์เลนส์แบบรายวันแต่ใส่ติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด หรือไม่รักษาความสะอาดของคอนแท็กต์เลนส์อย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้เลนส์เสื่อมสภาพและส่งผลให้เกิดการถลอกที่กระจกตาได้ ติดเชื้อที่ดวงตา การติดเชื้อที่ดวงตา เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ดวงตาผ่านการสัมผัสโดยตรงหรือการใช้สิ่งของที่ไม่สะอาดจะทำให้เกิดการอักเสบหรือแผลที่กระจกตา ซึ่งจะทำให้ผิวกระจกตาบอบบางและเสี่ยงต่อการขีดข่วนหรือการบาดเจ็บได้ง่าย ทำให้เกิดกระจกตาถลอกได้ โรคประจำตัว นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว อาการกระจกตาถลอก มองไม่ชัดอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวได้เช่นกัน เช่น ผู้ที่มีภาวะตาแห้งซึ่งทำให้ดวงตาขาดน้ำและเกิดการถลอกของกระจกตาง่ายขึ้น ผู้ที่มีอาการของโรคภูมิแพ้หรือเยื่อบุตาอักเสบจากโรคภูมิแพ้ที่ทำให้ขยี้ตาบ่อยครั้ง จนทำให้กระจกตาถลอกเป็นแผล ผู้ที่มีโรคที่ทำให้เปลือกตาปิดไม่สนิท ก็เสี่ยงต่อการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาและทำให้เกิดการถลอกหรือแผลที่กระจกตาได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระจกตาถลอก อาการกระจกตาถลอกเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในร่างกาย ได้แก่ การทำงานใกล้กับอันตรายที่อาจกระทบตา เช่น เครื่องเจียรหรือโรงเลื่อย การทำสวนโดยไม่สวมแว่นตาป้องกัน การเล่นกีฬาอันตรายที่อาจทำให้เกิดบาดเจ็บที่ดวงตา การใส่คอนแท็กต์เลนส์ การมีอาการตาแห้ง การขยี้ตาซ้ำๆ หรือขยี้ตาด้วยแรงมาก     การรักษาและฟื้นฟูกระจกตาถลอก วิธีรักษากระจกตาถลอกจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันตามการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ดังนี้ การใช้ยายาหยอดตาและยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการเจ็บตาและตาแดง ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตาหรือยาทาชนิดขี้ผึ้งใช้ป้องกันการติดเชื้อที่ดวงตาและฆ่าเชื้อไวรัส ใช้ผ้าปิดตาช่วยป้องกันแสงและลดการเคลื่อนไหวของดวงตา โดยเฉพาะในกรณีที่มีรอยแผลใหญ่หรือภาวะตาไวต่อแสง เพื่อป้องกันการเสียดสีและช่วยฟื้นตัว ใช้คอนแท็กต์เลนส์พอดีตาช่วยป้องกันการเสียดสีได้ และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์     การป้องกันไม่ให้เกิดกระจกตาถลอก วิธีป้องกันและดูแลเพื่อลดความเสี่ยงและปกป้องดวงตาให้ปลอดภัยจากการบาดเจ็บ ไม่ให้เกิดกระจกตาถลอก มองเห็นไม่ชัด สามารถทำได้มีหลายวิธี ดังนี้ รักษาความสะอาด หมั่นล้างมือ ตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการจับ ถู หรือขยี้ดวงตาแรงๆ สวมแว่นตาป้องกันเพื่อป้องกันดวงตาจากสิ่งแปลกปลอมในชีวิตประจำวันหรือสถานการณ์เสี่ยง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละออง เช่น พื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดความเสี่ยงจากสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา เลือกใช้คอนแท็กต์เลนส์ที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับสภาพดวงตา รวมถึงถอดคอนแท็กต์เลนส์ก่อนนอนและทำความสะอาดให้ถูกวิธี ใช้สารเคมีหรืออุปกรณ์ที่มีคมอย่างระมัดระวัง สรุป กระจกตาถลอกคือการบาดเจ็บที่ผิวกระจกตา ซึ่งทำให้เกิดรอยขีดข่วนหรือแผลที่ผิวหนังของกระจกตา โดยสาเหตุของกระจกตาถลอกมักเกิดจากขยี้ตาแรง การใช้อุปกรณ์หรือสารเคมีเสี่ยง การใส่คอนแท็กต์เลนส์ไม่สะอาด หรือการบาดเจ็บจากของแข็ง การรักษากระจกตาถลอกมีการใช้ยาหยอดตา ยาปฏิชีวนะ และการปิดตาเพื่อป้องกันการเสียดสี ส่วนการป้องกันควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตา สวมแว่นตาป้องกัน และใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่สะอาด หากมีอาการกระจกตาถลอก มารับการรักษาที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)มีแพทย์ที่ชำนาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดูแลดวงตาที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระจกตา

กระจกตาคืออะไร? มีหน้าที่สำคัญกับดวงตาอย่างไร และวิธีดูแลกระจกตา

กระจกตาคือส่วนโปร่งใสที่โค้งอยู่ที่ด้านหน้าของดวงตา ทำหน้าที่หักเหแสงและปกป้องดวงตา กระจกตามีทั้งหมด 6 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอก ชั้นเยื่อรับรองผิว ชั้นกลาง ชั้นของดูอา ชั้นเยื่อรับรองเซลล์ด้านใน และชั้นเซลล์ผิวด้านใน โรคและอาการที่เกี่ยวกับกระจกตา ได้แก่ กระจกตาอักเสบ กระจกตาโค้งผิดรูป และแผลกระจกตา วิธีดูแลกระจกตาทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสตาด้วยมือเปล่า รักษาความสะอาด และตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ การรักษากระจกตาที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีจักษุแพทย์ที่ชำนาญการ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยในการรักษาปัญหากระจกตาอย่างมีประสิทธิภาพ   กระจกตาทำหน้าที่เป็นหน้าต่างของดวงตาที่ช่วยให้แสงเข้าสู่ดวงตาและโฟกัสแสงไปยังจอประสาทตาเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน นอกจากนี้กระจกตายังมีบทบาทในการป้องกันดวงตาจากฝุ่นละออง เชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมได้ด้วย การดูแลกระจกตาให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจอย่างมาก ไปรู้จักกับหน้าที่และความสำคัญของกระจกตา โรคที่เกี่ยวข้อง และวิธีการดูแลกระจกตาให้สุขภาพดี เพื่อการมองเห็นที่คมชัดในทุกวัน     กระจกตาคืออะไร สำคัญอย่างไรกับดวงตาบ้าง กระจกตา (Cornea) คือชั้นโปร่งใสทรงโดมที่อยู่ด้านหน้าของดวงตาทั้งสองข้าง กระจกตาทำหน้าที่อะไร? ทำหน้าที่คล้ายกับ "กระจกบังลม" ของดวงตา ช่วยป้องกันเศษฝุ่นละออง เชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าสู่ดวงตา รูปทรงเฉพาะของกระจกตายังมีบทบาทสำคัญในการหักเหแสงที่เข้าสู่ดวงตา เพื่อให้การมองเห็นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยกรองรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) บางส่วนเพื่อปกป้องดวงตาอีกด้วย โดยปกติกระจกตาของคนทั่วไปจะมีความหนาประมาณ 520 ไมครอน     กระจกตามีกี่ชั้น แต่ละชั้นทำหน้าที่อะไร กระจกตามีกี่ชั้น? โครงสร้างของกระจกตาประกอบด้วย 6 ชั้นที่ทำงานร่วมกันอย่างซับซ้อนเพื่อให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพและช่วยปกป้องดวงตาจากอันตรายต่างๆ โดยแต่ละชั้นมีหน้าที่ที่ต่างกันคือ 1. กระจกตาชั้นนอก (Epithelium) ชั้นนอกสุดของกระจกตา ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันระหว่างส่วนภายในของดวงตากับสิ่งแวดล้อมภายนอก นอกจากนี้ยังไวต่อความเจ็บปวดอย่างมาก นักวิจัยประมาณว่ากระจกตาชั้นนอกมีตัวรับความเจ็บปวดมากกว่าผิวหนังถึง 300 ถึง 600 เท่า ความไวนี้ช่วยปกป้องดวงตา โดยกระตุ้นให้ตอบสนองอย่างรวดเร็วเพื่อหยุดหรือกำจัดสิ่งที่ทำให้ดวงตาเจ็บปวดได้ทันท่วงที 2. ชั้นเยื่อรับรองผิว (Bowman’s layer)  กระจกตาชั้นเยื่อรับรองผิวเป็นชั้นที่แข็งแรงซึ่งประกอบด้วยคอลลาเจนเป็นส่วนใหญ่ มีหน้าที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งและรักษารูปทรงของกระจกตาให้คงที่ 3. กระจกตาชั้นกลาง (Stroma)  Stoma หรือกระจกตาชั้นกลางเป็นชั้นที่หนาที่สุดของกระจกตา ทำหน้าที่เสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างกระจกตา และช่วยหักเหแสงให้โฟกัสไปยังจอประสาทตา 4. ชั้นของดูอา (Pre-Descemet’s layer) งานวิจัยระบุว่าชั้นนี้มีความแน่นหนาราวกับสุญญากาศ ทำให้เป็นเกราะป้องกันที่แข็งแรงมากในการแยกของเหลวภายในดวงตาออกจากอากาศภายนอก 5. ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน (Descemet’s membrane) ชั้นเยื่อรองรับเซลล์ด้านในมีความบางและยืดหยุ่นได้ดี แต่ก็ยังแข็งแรงมากอีกด้วย มีความสำคัญต่อโครงสร้างของดวงตาและช่วยปกป้องส่วนภายในดวงตาจากการบาดเจ็บและการติดเชื้อ 6. ชั้นเซลล์ผิวด้านใน (Endothelial) กระจกตาชั้นเซลล์ผิวด้านในมีหน้าที่หลักในการควบคุมสมดุลของของเหลวในกระจกตาและภายในดวงตา ช่วยให้มั่นใจว่าจะมีน้ำและของเหลวในชั้นสโตรมาของกระจกตาในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้กระจกตาทำงานได้อย่างถูกต้อง     โรคหรืออาการที่มักพบได้ที่กระจกตา โรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับกระจกตาที่พบบ่อยและต้องระวังในการดูแลรักษา มีดังนี้ ตาแห้ง ชั้นผิวหนังของกระจกตาต้องการน้ำตาเพื่อรักษาความชุ่มชื้น เพราะน้ำตาช่วยหล่อลื่นผิวดวงตาและช่วยให้ดูดซึมออกซิเจนจากอากาศได้ เมื่อกระจกตาขาดความชุ่มชื้น จะเกิดอาการระคายเคืองและเจ็บปวดบริเวณดวงตา โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้สายตานานหรือต้องเพ่งตามอง ซึ่งอาจรบกวนการมองเห็นและทำให้เกิดอาการตาแห้ง การติดเชื้อ เมื่อผิวกระจกตาถูกทำลาย จึงทำให้เกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย รวมถึงไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิต ตัวอย่างหนึ่งของการติดเชื้อคืออาการกระจกตาอักเสบจากปรสิต (Acanthamoeba Keratitis) โดยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดตา ระคายเคือง ตาแดง แสบตา ตาพร่ามัว รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา ไปจนถึงน้ำตาไหลผิดปกติ กระจกตาอักเสบ การอักเสบของกระจกตา เป็นภาวะหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับกระจกตา มักมีอาการมองเห็นไม่ชัด ตาแดง และปวดตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างรุนแรง โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้กระจกตาอักเสบ ได้แก่ การติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อราที่เข้าไปทำลายกระจกตา การบาดเจ็บ กระจกตาเสียหายจากสิ่งที่มากระทบได้ เช่น รอยขีดข่วนจากสิ่งสกปรก การขยี้ตา หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ทำให้ผิวกระจกตาเสียหาย นอกจากนี้ยังสามารถเกิดการฉีกขาดจากของมีคม โดนของหนักกระทบตา หรือการใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไปที่อาจทำให้เนื้อเยื่อกระจกตาเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง รวมถึงการสึกกร่อนของผิวกระจกตาจนทำให้บางส่วนของกระจกตาเสียหาย ที่มักเกิดจากอาการตาแห้ง ระคายเคืองจากสารเคมี หรือเจอแสงแดดบ่อยๆ ความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม กระจกตามีความไวต่อความร้อนและความเย็นจัด เช่น การได้รับความร้อนสูงจนทำให้กระจกตาเป็นแผล หรือจากการสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งมักพบได้บ่อยกับคนที่อยู่ในแสงแดดเป็นเวลานาน หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป  นอกจากนี้กระจกตายังมีความไวต่อสารเคมีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำกรดหรือสารเคมีในรูปแบบก๊าซที่อาจระเหยและสัมผัสกระจกตา ซึ่งสามารถทำให้กระจกตาเกิดการระคายเคือง การบาดเจ็บ หรือการติดเชื้อได้ กระจกตาเสื่อม "โรคกระจกตาเสื่อม" มีมากกว่า 20 โรค โดยโรคที่พบได้บ่อย เช่น โรคกระจกตาโค้งผิดรูปและโรคฟุคส์ (Fuchs’ dystrophy) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของกระจกตา รวมถึงการทำงานร่วมกันของชั้นผิวกระจกตาแต่ละชั้น      วิธีดูแลกระจกตา ช่วยรักษาสุขภาพดวงตา การป้องกันและดูแลกระจกตาด้วยตนเองเพื่อป้องกันโรคหรืออาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับกระจกตา ทำได้หลายวิธี ดังนี้ ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เพื่อหาสัญญาณเตือนของปัญหาที่เกี่ยวกับกระจกตาและดวงตาโดยรวม ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ ล้างมืออย่างสม่ำเสมอก่อนสัมผัสดวงตา ป้องกันไม่ให้ดวงตาได้รับเชื้อโรคที่อาจทำร้ายกระจกตาได้ ไม่ใช้เครื่องสำอางหรือสิ่งของที่ต้องสัมผัสกับดวงตาร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายการติดเชื้อที่ตาได้ เก็บรักษาและดูแลคอนแท็กต์เลนส์อย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการขยี้หรือสัมผัสดวงตา รวมถึงการถูตาผ่านเปลือกตา ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายโดยไม่ตั้งใจหรือทำให้ผิวกระจกตาอ่อนแอลง สรุป กระจกตาคือส่วนโปร่งใสมีรูปร่างโค้งอยู่ที่ด้านหน้าของดวงตา ทำหน้าที่หักเหแสงและปกป้องดวงตา มีทั้งหมด 6 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอก ชั้นเยื่อรับรองผิว ชั้นกลาง ชั้นของดูอา ชั้นเยื่อรับรองเซลล์ด้านใน และชั้นเซลล์ผิวด้านใน โรคหรืออาการที่กระจกตา เช่น ตาแห้ง กระจกตาอักเสบ กระจกตาเสื่อม เป็นต้น ซึ่งป้องกันได้ด้วยการดูแลกระจกตาให้มีสุขภาพดวงตาที่ดี เช่น หมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา และรักษาความสะอาด หากมีปัญหาเกี่ยวกับกระจกตา เข้ารับการรักษาได้ที่ ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งมีจักษุแพทย์ผู้ชำนาญและมีประสบการณ์พร้อมดูแลดวงตาของคุณ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหากระจกตาและรักษาสุขภาพดวงตาอย่างมีประสิทธิภาพ
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111