มุมสุขภาพตา : #โรคต้อหิน

เรียงตาม
ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง
อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม
ศูนย์เลสิก LASER VISION
โรคต้อหินเฉียบพลัน
โรคต้อหินเฉียบพลัน ชื่อโรคก็บ่งบอกให้เรารู้อยู่แล้วว่าเฉียบพลัน "ต้อหินเฉียบพลัน" จะทำให้ผู้ป่วยตาแดง ตามัว ปวดตา และตาบอดในเวลาอันสั้น ทุกอย่างเป็นไปอย่างเฉียบพลัน      ภายในดวงตาคนเรามีน้ำทั้งชนิดใสและข้นเป็นองค์ประกอบ ทำให้ลูกตาเกิดแรงดันอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้เครื่องมือไปวัดจะได้ประมาณ 10-20 มิลลิเมตรปรอท น้ำในลูกตามีการไหลเวียนแลกเปลี่ยนกับกระแสเลือด มีน้ำเข้าในและออกนอกลูกตาเป็นประจำ น้ำเข้าและออกจะสมดุลกัน สำหรับผู้ที่เป็นโรคต้อหินเฉียบพลัน เกิดจากการไหลเวียนของน้ำเข้าและออกผิดพลาด น้ำออกจากตาน้อยกว่าน้ำเข้าตา ทำให้ความดันตาขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว อาจวัดความดันตาได้สูงถึง 50-60 มิลลิเมตรปรอท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตา ปวดศรีษะอย่างรุนแรงในทันที แรงดันที่สูงขนาดนี้ ทำให้ กระจกตา ที่ปกติใส จะขุ่นมัวทันที ทำให้ผู้ป่วยตามัวลงอย่างทันทีด้วย      โรคต้อหินเฉียบพลันนี้เกิดขึ้นได้เฉพาะในคนที่มีรูปร่าง ลักษณะภายในของตาผิดปกติ มองข้างนอกจะเป็นลูกตาปกติ ร่วมกับภาวะแวดล้อมที่ทำให้ ม่านตา ขยายผิดปกติ เช่น จากการใช้ยาบางชนิด พบโรคนี้มากในผู้หญิงสูงอายุ เนื่องด้วยผู้หญิงมักมีขนาดดวงตาเล็กกว่าผู้ชาย เมื่ออายุมากขึ้นขนาดแก้วตาซึ่งอยู่ภายในดวงตาใหญ่ขึ้น (เพราะเนื้อเยื่อบางส่วนของตาเสื่อมลงตามวัย) จึงทำให้ช่องต่างๆ ภายในดวงตาแคบลง   อาการ      ในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการเตือนนำมาก่อนการเกิดต้อหินเฉียบพลัน ได้แก่ รู้สึกปวดตาเวลาใช้สายตามากๆ ทำให้ตาพร่าไปชั่วคราว ตามักพร่ามัวเวลาพลบค่ำ หรือบางครั้งอาจมองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ แต่พอนอนพักอาการจะดีขึ้น แต่จะมีอาการแบบนี้บ่อยๆ ดังนั้นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้หญิง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบเข้าปรึกษาจักษุแพทย์ทันที หากจักษุแพทย์ตรวจพบอาการดังกล่าวร่วมกับความผิดปกติของลักษณะภายในตาที่แคบ หรือตื้น สามารถทำการป้องกันได้โดยการใช้แสงเลเซอร์รักษา ซึ่งสามารถป้องกันโรคนี้ได้อย่างถาวร   ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดโรคต้อหินเฉียบพลัน ถึงแม้ไม่อาจทราบสาเหตุที่แน่ชัด ที่ทำให้ความดันตาสูงขึ้นอย่างกะทันหัน แต่พอสรุปได้ว่ากลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงที่เกิดโรคต้อหินเฉียบพลันได้แก่ ผู้ป่วยบางเชื้อชาติ เช่น ชาวเอเชีย พบมากกว่าชาวยุโรป ผู้ป่วยหญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย อายุที่มากขึ้นมีโอกาสเป็นมากขึ้น มักพบในอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มี บิดา มารดา และ/หรือ ญาติพี่น้อง เป็นโรคนี้ กล่าวคือ เป็นโรคทางพันธุกรรม ส่วนใหญ่โรคนี้จะเป็นอย่างฉับพลัน โดยไม่มีโรคตาอื่นๆนำมาก่อน มีบ้างที่เกิดจากมีโรคตาบางอย่าง เช่น เป็น ต้อกระจก ที่ต้อแก่แล้วไม่ไปรับการผ่าตัด หรือ ได้รับอุบัติเหตุจนแก้วตาเคลื่อนไปจากเดิม      ดังได้กล่าวแล้วว่า อาการสำคัญของต้อหินเฉียบพลันมี 3 อย่าง ได้แก่ ตาแดง ตามัว และ ปวดตา อาการเหล่านี้ ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องรีบพบจักษุแพทย์ทันที ซึ่งหากแพทย์วินิจฉัยได้เร็ว ให้ยาลดความดันตา ตามด้วยการยิงแสงเลเซอร์อาการทั้ง 3 อย่าง ข้างต้นจะหายได้ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงควรเข้าควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ศูนย์เลสิก LASER VISION
อาการเริ่มต้นและสัญญาณเตือนของต้อหิน พร้อมการรักษาและป้องกัน
ต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากความเสียหายต่อเส้นประสาทตา ซึ่งมักเกิดจากความดันในลูกตาที่สูงเกินไป ทำให้การมองเห็นค่อยๆ เสื่อมลงหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาการของต้อหินที่มักพบ เช่น ปวดตา น้ำตาไหล การมองเห็นลดลง และเห็นวงแสงรอบดวงไฟ การรักษาต้อหินมีหลายวิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรง ได้แก่ ยาหยอดตา ยาทาน เลเซอร์ และการผ่าตัด การรักษาต้อหินที่โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ ดีเพราะมีจักษุแพทย์และเทคโนโลยีทันสมัยในการดูแลและรักษาโรคต้อหินอย่างครบวงจร   ต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากความดันในลูกตาสูงเกินไป อาจทำลายเส้นประสาทตาและนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา อาการเริ่มต้นของต้อหินมักไม่ชัดเจน ทำให้การตรวจพบในระยะแรกยาก ในบทความนี้จะพูดถึงอาการเริ่มต้น วิธีการรักษา และวิธีการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้     ต้อหินคือโรคอะไร โรคต้อหิน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในดวงตา แต่มีอันตรายสูง เนื่องจากอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรหากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างสม่ำเสมอ โรคนี้ทำให้การมองเห็นแย่ลง ความกว้างของการมองเห็นแคบลง จนสุดท้ายอาจสูญเสียการมองเห็นทั้งหมดได้ การสูญเสียการมองเห็นจากต้อหินเป็นสิ่งถาวรและไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ ซึ่งต้อหินสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. ต้อหินมุมเปิด ต้อหินปฐมภูมิชนิดนี้เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดและแบ่งออกเป็นสองประเภทตามความดันลูกตา ได้แก่ ความดันลูกตาสูงและความดันลูกตาปกติ กลไกการเกิดโรคยังไม่ชัดเจน การดำเนินโรคมักเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ป่วยมักไม่สังเกตเห็นความผิดปกติในระยะแรก   ส่วนใหญ่จะทราบจากการตรวจของจักษุแพทย์ เมื่อโรคดำเนินไป ผู้ป่วยอาจเริ่มสังเกตเห็นอาการตามัว มองเห็นได้แคบลง หรือความสามารถในการปรับการมองเห็นในที่สว่างและมืดลดลง 2. ต้อหินมุมปิด ต้อหินปฐมภูมิชนิดนี้พบได้บ่อยในคนเอเชียคือต้อหินมุมปิด ซึ่งเกิดจากการอุดกั้นการระบายน้ำในลูกตาที่มุมตา ทำให้ความดันลูกตาสูง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่   ชนิดเฉียบพลันผู้ป่วยมักมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นรัศมีรอบดวงไฟ และอาจปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันการทำลายขั้วประสาทตา ชนิดเรื้อรังพบได้บ่อยกว่าชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการชัดเจน หรือมีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะเล็กน้อย เป็นๆ หายๆ เป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือหลายปี 3. ต้อหินจากการผิดปกติของดวงตา ต้อหินทุติยภูมิเกิดจากความผิดปกติอื่นๆ ของดวงตา เช่น เบาหวานขึ้นตา ต้อกระจกที่สุกมาก การอักเสบภายในดวงตา เนื้องอกหรือมะเร็งในลูกตา อุบัติเหตุต่อดวงตา ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตา และการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์ 4. ต้อหินตั้งแต่เกิดและในเด็กเล็ก ต้อหินตั้งแต่กำเนิดและในเด็กเล็ก เกิดจากความผิดปกติของดวงตาตั้งแต่ในครรภ์ ทำให้ระบบระบายน้ำในลูกตาทำงานผิดปกติ อาจเกิดเฉพาะกับดวงตาหรือมีความผิดปกติทางร่างกายร่วมด้วย อาการที่มักพบ ได้แก่ กลัวแสง เปลือกตากระตุก น้ำตาไหลเอ่อ หรือแม่อาจสังเกตเห็นลูกมีลูกตาดำใหญ่ผิดปกติหรือตาดำขุ่น     อาการตามระยะของต้อหิน อาการของต้อหินและโรคต้อหินเฉียบพลันที่พบได้บ่อย มีลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดของโรค โดยสามารถสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้   อาการปวดตา ตาแดง น้ำตาไหลผิดปกติ การมองเห็นมัวลง เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ การมองเห็นไม่ชัดเจน แม้จะตัดแว่นใหม่แล้วก็ตาม     ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน ความดันลูกตาสูงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นปัจจัยเดียวที่สามารถควบคุมได้ หากความดันลูกตาสูงมาก ความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินจะเพิ่มขึ้น และยังส่งผลให้โรคดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้นอีกด้วย อายุอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดต้อหิน โดยเฉพาะต้อหินปฐมภูมิมุมเปิดที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี พันธุกรรมการมีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินได้ถึง 4-5 เท่า โรคประจำตัวโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคอื่นที่ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินได้ รวมถึงโรคข้อรูมาตอยด์ที่มีการอักเสบเรื้อรังที่ดวงตา ยาบางชนิดเช่น ยาแก้โรคกระเพาะ ยากันชัก ยารักษาโรคซึมเศร้า เป็นต้น อุบัติเหตุที่ลูกตาหรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตา โรคตาเช่น เบาหวานขึ้นตา การอักเสบภายในลูกตา โรคเม็ดสีผิดปกติในดวงตา หรือภาวะต้อกระจกบางชนิด สายตาสั้นมากหรือสายตายาวมากคนที่มีสายตาสั้นมากจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดต้อหินมุมเปิด ส่วนคนที่มีสายตายาวมากจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดต้อหินมุมปิด การวินิจฉัยเพื่อตรวจหาต้อหิน โรคต้อหินไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า การตรวจวินิจฉัยจึงมีความสำคัญมาก โดยสามารถตรวจวินิจฉัยโรคต้อหินอย่างละเอียดตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ ผ่านการตรวจระดับการมองเห็น การวัดค่าสายตาหักเหด้วยคอมพิวเตอร์ การตรวจตาทั่วไป การตรวจขั้วประสาทตา การตรวจมุมตา วัดความดันลูกตา ความหนาของกระจกตา การตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพขั้วประสาทตา การใช้เครื่องสแกนวิเคราะห์จอประสาทตาและขั้วประสาทตา (Optical Coherence Tomography) และเครื่องตรวจลานสายตา (Visual Field Analyzer) ที่ช่วยให้ทราบผลตรวจได้ทันที     วิธีการรักษาโรคต้อหิน การรักษาต้อหินมีหลายวิธีที่ช่วยลดความดันลูกตาและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ ซึ่งการเลือกวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหินที่เป็นและความรุนแรงของโรค โดยมีดังนี้ ใช้ยารักษาต้อหิน การใช้ยารักษาต้อหินอาจรวมถึงการใช้ยาหยอดตาต้อหิน ยารับประทาน และยาฉีด โดยจักษุแพทย์จะทำการรักษาทีละขั้นตอนและติดตามผลการตอบสนองต่อการรักษาอย่างใกล้ชิด การรักษาด้วยเลเซอร์ การรักษาต้อหินด้วยเลเซอร์ขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน โดยใช้เวลารักษาไม่นาน มักจะมีการให้ยาควบคู่กันด้วย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยเลเซอร์ต้อหินอาจรวมถึงตาแห้ง การไม่ทนแสง ระคายเคืองดวงตา และปวดตา อย่างไรก็ตามหลังการรักษาด้วยเลเซอร์ ผู้ป่วยมักพักฟื้นเพียง 30 นาทีและสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังรักษา การผ่าตัดรักษาต้อหิน เมื่อการรักษาด้วยยาและเลเซอร์ไม่ได้ผล การผ่าตัดจะเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของต้อหิน สิ่งสำคัญที่ควรเข้าใจคือการผ่าตัดรักษาต้อหินมีจุดประสงค์เพื่อลดความดันในลูกตา ไม่ใช่การกำจัดต้ออย่างถาวร เนื่องจากเมื่อเป็นต้อหินแล้ว สามารถควบคุมอาการไม่ให้แย่ลงได้เท่านั้น     ป้องกันไม่ให้เกิดต้อหิน ได้อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดต้อหิน การดูแลดวงตาและสุขภาพตาอย่างเหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ โดยทำตามวิธีง่ายๆ เช่น   ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันและรักษาสุขภาพดวงตาให้ดี ระวังเรื่องความสะอาด โดยการล้างมือบ่อยๆ เช็ดหน้าให้สะอาด และล้างเครื่องสำอางให้หมดจด อย่าเอามือไปขยี้ตา เพื่อป้องกันการอักเสบ ติดเชื้อ หรือระคายเคือง ระมัดระวังป้องกันการบาดเจ็บในดวงตา เช่น การใส่แว่นป้องกันการกระแทกในกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์หรือซื้อยาหยอดตามาหยอดเอง การใช้ยาควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น ควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง เพื่อป้องกันการเกิดต้อหินจากภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เส้นเลือดในตาผิดปกติ สรุป ต้อหินคือโรคที่เกิดจากความดันในลูกตาสูง ซึ่งสามารถทำลายเส้นประสาทตาและส่งผลต่อการมองเห็น มีหลายประเภทคือต้อหินปฐมภูมิแบบมุมเปิดและมุมปิด ต้อหินทุติยภูมิ และต้อหินตั้งแต่เกิด วิธีรักษาต้อหิน ได้แก่ ยาหยอดตา ยาเม็ด ยาฉีด การรักษาด้วยเลเซอร์ และการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการ สามารถป้องกันต้อหินได้ด้วยการดูแลดวงตา เช่น ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์โดยไม่จำเป็น ระมัดระวังป้องกันการบาดเจ็บที่ดวงตา และการควบคุมโรคประจำตัวต่างๆ สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาต้อหิน สามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพซึ่งให้บริการดูแลและรักษาโรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาอย่างครบวงจร
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111