มุมสุขภาพตา : #เลสิก

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

เลสิกสายตายาว ปรับปรุงคุณภาพการมองเห็น พร้อมข้อควรรู้ก่อนทำ

สายตายาว คือ ภาวะการมองเห็นผิดปกติ ความสามารถในการมองเห็นระยะไกลชัดเจน แต่มองเห็นสิ่งของในระยะใกล้ต่ำ หรืออาจเป็นได้ทั้ง 2 ระยะ สาเหตุของสายตายาว เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นและเกิดโดยกำเนิดผ่านทางพันธุกรรม ทำเลสิกสายตายาว คือ วิธีการใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ในการปรับค่าสายตาให้กลับมาอยู่ที่ค่าปกติ โดยการเพิ่มระยะโฟกัส การทำเลสิกสายตายาวแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ Full Correction Lasik, Monovision Lasik, Presbylasik และ Laser Blended Vision (LBV) การทำเลสิกสายตายาวให้ปลอดภัย ควรเลือกทำกับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อ พร้อมทั้งแพทย์ที่มีประสบการณ์ชำนาญทางด้านการทำเลสิกตาโดยเฉพาะ ทำเลสิกสายตายาว ที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospital มีเครื่องมือได้มาตรฐานสากล พร้อมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการรักษาสายตายาว และจักษุแพทย์มากประสบการณ์ มีเทคนิคที่หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล   ปัจจุบันมีการทำเลสิกสายตายาวเพื่อปรับคุณภาพการมองเห็นให้ดียิ่งขึ้น มาดูกันว่าการทำเลสิกสายตายาว คืออะไร หากสนใจอยากปรับค่าสายให้กลับมาตามปกติ จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างทั้งก่อนและหลังทำเลสิก รวมทั้งประเภทเลสิกต่างๆ หาคำตอบได้ในบทความนี้     สายตายาว คืออะไร ภาวะสายตายาวเป็นภาวะผิดปกติทางการมองเห็น เกิดจากกระจกตาแบนเกินไปหรือกล้ามเนื้อตาและเลนส์แก้วภายในเสื่อมอายุ ผู้ที่มีภาวะนี้จะสามารถมองเห็นภาพชัดเจนเมื่ออยู่ในระยะไกล แต่จะมองเห็นภาพที่อยู่ใกล้ตัวไม่ชัดเจน ซึ่งในบางรายอาจมองเห็นไม่ชัดเจนทั้งในระยะใกล้และไกล โดยภาวะสายตายาวมักจะเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเรียกว่า สายตายาวตามวัย (Presbyopia) และในเด็กตั้งแต่เกิดผ่านทางพันธุกรรม เรียกว่า สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness) อาการสายตายาว เป็นอย่างไร ใครที่สงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวเริ่มมีภาวะสายตายาว สังเกตได้จากอาการเหล่านี้ ปวดศีรษะหรือปวดตา มีอาการตาล้าอยู่บ่อยๆ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้สายตาเพ่งหรือจ้องขณะมอง มองเห็นภาพซ้อน ต้องหรี่ตาเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน แสบตา น้ำตาไหล ตาไวต่อแสง มองเห็นในที่ที่มีแสงน้อยหรือตอนกลางคืนได้ยากลำบาก เด็กที่มีสายตายาวอาจมีอาการตาเข หรือตาเหล่จากการเพ่งจ้อง เด็กที่มีสายตายาวจะมีพฤติกรรมขยี้ตาบ่อย ส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันเช่นการขับขี่ยานพาหนะ การอ่านหนังสือ การทำงาน ต่างๆ สายตายาว มีกี่ประเภท สายตายาวแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท สายตายาวตามวัยเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อตาเริ่มเสื่อมสภาพทำให้ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปประสบปัญหาในการมองเห็นสายตายาว เมื่อต้องใช้สายตาจึงต้องยื่นวัตถุระยะห่างมากขึ้น สายตายาวตั้งแต่กำเนิดเป็นภาวะที่เกิดโดยกำเนิด ไม่รู้ตัว เด็กที่มีสายตายาวจะไม่สามารถสื่อสารหรือบอก ได้ถึงความผิดปกติในการมองเห็นของตน ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กเพื่อสังเกตอาการ     สาเหตุสายตายาว เกิดจากอะไร สายตายาวเกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติที่รูปร่างของกระจกตา (ชั้นใสด้านหน้าของดวงตา) หรือเลนส์ตา (ส่วนภายในของดวงตาที่ช่วยในการโฟกัสภาพ) ความผิดปกตินี้ทำให้แสงโฟกัสไปที่จุดด้านหลังจอประสาทตา แทนที่จะตกลงบนจอประสาทตาโดยตรง ส่งผลให้การมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้เกิดความพร่ามัว ผู้ที่มีสายตายาวส่วนใหญ่มักมีภาวะนี้ตั้งแต่กำเนิด แต่อาจไม่แสดงอาการหรือมีปัญหาการมองเห็นจนกว่าจะมีอายุมากขึ้น โดยคนที่มีประวัติสายตายาวในครอบครัวมีโอกาสที่จะเป็นสายตายาวได้มากกว่าคนทั่วไป การวินิจฉัยสายตายาวโดยแพทย์ ปัญหาสายตายาวหากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาวิธีรักษาที่เหมาะสม วินิจฉัยโดยวิธีต่างๆ ดังนี้ ส่องตรวจในตา (Ophthalmoscopy) วัดความดันลูกตา (Tonometry) การวัดค่าสายตา (Refraction) ตรวจด้วยเครื่องตรวจตา (Slit Lamp) เพื่อทดสอบความสามารถในการมองเห็น ถ่ายภาพกระจกตา (Corneal Topography) วัดความหนาของกระจกตาในการทำเลสิกสายตายาว วัดกำลังสายตา (Phoropter) วัดความโค้งของกระจกตา (Keratometer) หลังจากที่วินิจฉัย จักษุแพทย์จะอธิบายถึงปัญหาสายตายาวและแนะนำวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อให้รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและคนไข้สามารถกลับใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ทำเลสิกสายตายาว คืออะไร การทำเลสิกสายตายาวคือ การเพิ่มระยะโฟกัสโดยใช้เลเซอร์แก้ไขค่าสายตาให้กลับมองเห็นในระยะไกลได้ชัดเจน เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตายาว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ขาดความมั่นใจ ทำให้อ่านหนังสือ หรือทำงานลำบาก นอกจากนี้ การสวมใส่แว่นอาจเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมผาดโผน ออกกำลังกาย หรือต้องขับรถบ่อยๆ เป็นต้น     ประเภทการทำเลสิกสายตายาว การทำ LASIK สายตายาวมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันออกไป สามารถศึกษาเพื่อสอบถามจักษุแพทย์เพิ่มเติมในการพิจารณาวินิจฉัยเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับตนเองได้ ดังนี้ 1. Full Correction Lasik Full Correction Lasik เป็นวิธีการรักษาด้วยเลเซอร์แบบดั้งเดิม เน้นการแก้ไขความผิดปกติของผู้ที่มีปัญหาสายตายาวแต่กำเนิด เพื่อให้สามารถกลับมองเห็นได้ชัดเจนระยะไกล ซึ่งวิธีนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสายตายาวจากอายุที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากยังจำเป็นที่้ต้องใช้แว่นสายตาสำหรับการมองเห็นในระยะใกล้ 2. Monovision Lasik Monovision Lasik เป็นเทคโนโลยีการรักษาด้วยเลเซอร์นี้จะปรับแต่งการมองเห็นของตาแต่ละข้างให้แตกต่างกัน โดยปรับสายตาข้างที่ถนัด (Dominance Eye) ให้เหมาะกับการมองเห็นระยะไกล และปรับตาข้างที่ไม่ถนัดให้มีสายตาสั้นเล็กน้อยเพื่อรองรับการมองเห็นในระยะใกล้ ซึ่งคนไข้จำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัวหลังจากทำเลสิกสายตายาววิธีนี้ เนื่องจากสมองต้องใช้เวลาในการประมวลผลให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งสองระยะ ในช่วงแรกประสิทธิภาพในการมองเห็นตอนกลางคืนอาจลดลงบ้างเล็กน้อย และจะค่อยๆ กลับมาเต็มประสิทธิภาพหลังจากร่างกายปรับตัวได้ 3. Presbylasik เทคโนโลยี Presbymax เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสายตายาว ทั้งความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิดและภาวะสายตายาวที่เกิดตามวัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นของดวงตาข้างเดียวกันในระยะต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องสวมใส่แว่นตา 4. Laser Blended Vision (LBV) Laser Blended Vision (LBV) เป็นเทคโนโลยีที่แก้ไขปัญหาสายตาได้หลายรูปแบบพร้อมกัน ทั้งสายตายาวตามวัย สายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาวแต่กำเนิด ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในทุกระยะด้วยตาข้างเดียวโดยไม่ต้องใช้แว่นสายตา ทำเลสิกสายตายาววิธีนี้ใช้เทคโนโลยีเลสิกแบบไร้ใบมีด หรือเลเซอร์ในการรักษาทุกขั้นตอน เข้าไปปรับแต่งความโค้งของกระจกตาแบบพิเศษที่เรียกว่า Spherical Aberration เพื่อเพิ่มระยะโฟกัสให้มากขึ้น (Depth of Focus) จากนั้นจึงใช้เลเซอร์ปรับแต่งความโค้งของกระจกตาทั้งสองข้างให้แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งวิธีการรักษาจะแบ่งการปรับแต่งตามความถนัดของตาแต่ละข้าง ดังนี้ ตาข้างที่ถนัด (Dominant)จะปรับความโค้งเพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยการมองเห็นระยะกลางโดยไม่กระทบการมองระยะไกล ตาข้างที่ไม่ถนัด (Non Dominant)จะปรับความโค้งมากกว่าเพื่อเน้นการมองเห็นในระยะใกล้และระยะกลาง การเตรียมตัวก่อนทำเลสิกสายตายาว ก่อนทำเลสิกสายตายาวหากทราบการเตรียมตัวอย่างเหมาะสม จะช่วยให้การทำเลสิกผ่านไปอย่างราบรื่น สำหรับคนที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์ แนะนำให้สวมแว่นแทนก่อนทำเลสิกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ควรเตรียมลางาน 2-3 วัน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เดินทางโดยใช้รถสาธารณะในวันที่มาตรวจ เพราะหลังจากทำแล้วจะมีอาการตาพร่ามัว 6-8 ชั่วโมง แนะนำให้มีผู้ติดตามมาด้วย และควรพกแว่นกันแดด ควรสระผม สวมเสื้อที่มีกระดุมติดหน้าเพื่อให้สะดวกต่อการถอดและสวมใส่ และงดการฉีดน้ำหอม การดูแลตัวเองหลังทำเลสิกสายตายาว หลังจากทำเลสิกสายตายาว ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้ หลังจากทำเลสิก 24 ชั่วโมงแรก ควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้มากที่สุด หมั่นหยอดตาตามที่แพทย์แนะนำ สัปดาห์แรกให้ระวังไม่ให้น้ำเข้าตา เช็ดหน้าแทนการล้างหน้า และระมัดระวังบริเวณรอบดวงตา โดยทางโรงพยาบาลจะแนะนำวิธีเช็ดให้ ภายในเดือนแรกจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้ แต่ควรเว้นบางกิจกรรม เช่น ว่ายน้ำ หรือการเข้าซาวน่า หลังจาก 1 เดือนเป็นต้นไป สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติแบบเต็มที่ เลือกโรงพยาบาลทำเลสิกสายตายาวอย่างไรให้ปลอดภัย การเลือกโรงพยาบาลทำเลสิกสายตายาวเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อความปลอดภัยในการรักษา สามารถพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สถานพยาบาลต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกต้อง พร้อมแสดงเลขที่ใบอนุญาตอย่างชัดเจน มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา โดยเฉพาะในด้านจักษุวิทยาและการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติทางสายตา มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานระดับสากล พร้อมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โรงพยาบาลที่มีเทคนิคและทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายและครอบคลุม ค่าใช้จ่ายในการรักษาสมเหตุสมผลกับบริการ มีเคสรีวิวจากผู้ที่เคยเข้ารับบริการที่น่าเชื่อถือ เดินทางสะดวก รองรับจำนวนคนไข้เพียงพอ     ทำเลสิกสายตายาวที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากต้องการทำเลสิกสายตายาว แนะนำให้เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการเหล่านี้ได้ที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospital ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีจุดเด่นดังนี้ โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง สรุป สายตายาว คือความผิดปกติของการมองเห็นวัตถุในระยะยาว โดยพบภาวะนี้ได้ทั้งวัยเด็กและวัยสูงอายุ ซึ่งแพทย์ทำการวินิจฉัยถึงสาเหตุของสายตายาวได้หลายวิธีเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมอย่างเช่น การทำ LASIK สายตายาว เนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามควรศึกษาข้อมูลให้พร้อมในการดูแลตนเองทั้งก่อนและหลังทำ และควรเลือกโรงพยาบาลที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และได้มาตรฐาน สำหรับผู้ที่สนใจบริการเลสิกสายตายาว ที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospitalมีเครื่องมือได้มาตรฐานสากล และจักษุแพทย์มากประสบการณ์ พร้อมดูแลด้วยเทคโนโลยีและเทคนิคในการรักษาหลากหลายรูปแบบ ให้คุณภาพในการมองเห็นของแต่ละท่านกลับมามีประสิทธิภาพ ดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสมบูรณ์
ศูนย์เลสิก LASER VISION

เทคนิคการเลือกแว่นตาหลังทำเลสิก

เทคนิคการเลือกแว่นตาหลังทำเลสิก หลังจากที่ทำเลสิกแล้วเพื่อให้แผลหายเร็วและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การรักษาความสะอาดคือการหลีกเลี่ยงแสงแดด การใส่แว่นกันแดดเป็นสิ่งหนึ่งที่คุณสามารถทำเพื่อดูแลดวงตาของคุณหลังการผ่าตัดได้ โดยมีเทคนิคการเลือกแว่นกันแดดดังนี้   🌞 เลือกเลนส์ที่สามารถป้องกันแสง UV ได้ 99-100% แสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์สามารถทำอันตรายต่อดวงตาได้ แม้ว่าจะทำเลสิกแล้วก็ตาม การใส่แว่นกันแดดที่มีเลนส์ป้องกัน UV จึงเป็นสิ่งสำคัญ 🌞 ถ้าอยู่ในที่ ๆ มีแสงสะท้อนเยอะ ควรเลือกเลนส์โพลาไรซ์ซึ่งช่วยตัดแสงสะท้อนจะทำให้สบายตามากขึ้น 🌞 เลือกสีให้เหมาะกับการใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสีดำมืดก็ได้ 🌞 เลือกขนาดที่เหมาะกับใบหน้า เลนส์ควรมีความกว้างเท่ากับใบหน้าของคุณ สันจมูกควรสวมได้พอดีโดยไม่รัดแน่นเกินไป และขาแว่นควรสวมได้พอดีโดยไม่กดทับใบหน้า   สามารถมาเลือกแว่นตากันแดดแบรนด์ชั้นนำได้ที่ร้าน WALTZ ในโรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ Bangkok Eye Hospital ชั้น 3 เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 10.00 -19.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-511-2111
ศูนย์เลสิก LASER VISION

สิ่งที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจทำเลสิกและขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนทำเลสิก

ข้อดีของเลสิก ได้แก่ การมองเห็นที่ชัดเจนถาวร ไม่ต้องพึ่งพาแว่นตาหรือคอนแท็กต์เลนส์ ชีวิตหลังเลสิกคล่องตัวมากขึ้น โอกาสลดการเกิดอุบัติเหตุจากการมองเห็นที่ดีขึ้น ข้อจำกัดของเลสิก ได้แก่ ไม่สามารถทำได้สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคเบาหวาน สะเก็ดเงิน หรือโรคต้อหิน ต้องงดใส่คอนแท็กต์เลนส์ก่อนการตรวจและผ่าตัด รวมถึงอาจมีอาการตาแห้งในบางกรณี การเตรียมตัวก่อนทำเลสิก ได้แก่ งดใส่คอนแท็กต์เลนส์ก่อนการตรวจและผ่าตัด งดน้ำหอมและเครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตาก่อนวันผ่าตัด ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้เป็นประจำ จัดเตรียมแว่นกันแดดไว้ใส่หลังผ่าตัด ทำเลสิกที่Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)มีจักษุแพทย์และเทคโนโลยีล้ำสมัยในการดูแลรักษาสายตาอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงการบริการที่ครบวงจรและการดูแลหลังการผ่าตัดที่ดี   การทำเลสิกคือการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง โดยใช้เลเซอร์ปรับรูปทรงกระจกตาให้แสงตกกระทบจุดรับภาพอย่างแม่นยำ ก่อนทำเลสิกควรเตรียมตัวให้พร้อมและตัดสินใจอย่างรอบคอบว่าจะทำเลสิกที่ไหนดี เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ     รู้จักกับการทำเลสิกก่อน เลสิก(LASIK) หรือ Laser in Situ Keratomileusis เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง โดยใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser) ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นสั้นในระดับอัลตราไวโอเลต มีคุณสมบัติเฉพาะที่ทำปฏิกิริยากับพื้นผิวที่สัมผัสโดยตรง โดยไม่กระจายออกด้านข้างหรือทะลุผ่านเข้าไปในลูกตา จึงมีความปลอดภัยและแม่นยำสูง หากคุณสงสัยว่าควรเตรียมตัวก่อนทำเลสิกอย่างไร และเลสิกมีกี่แบบ คำตอบคือเลสิกแบ่งออกเป็น 7 แบบ ดังนี้ Photorefractive Keratectomyวิธีนี้ไม่แยกชั้นกระจกตา แต่ลอกผิวกระจกตาชั้นนอกสุดออกก่อน จากนั้นใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser) ปรับความโค้งของกระจกตา และปิดกระจกตาด้วยคอนแท็กต์เลนส์เพื่อช่วยลดอาการระคายเคือง MicrokeratomeLASIKเทคนิคนี้ใช้ใบมีดขนาดเล็กเปิดฝากระจกตา จากนั้นใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ ปรับความโค้งของกระจกตาให้ได้ค่าสายตาที่ต้องการ แล้วปิดกระจกตากลับเข้าที่ Bladeless FemtoLASIKเทคนิคนี้ใช้เลเซอร์ Femtosecond Laser ในการเปิดฝากระจกตา และปรับความโค้งด้วยเอ็กไซเมอร์เลเซอร์โดยไม่ต้องใช้ใบมีด ทำให้การรักษามีความแม่นยำและปลอดภัยมากกว่าแบบใช้ใบมีด ReLEx SMILEเทคโนโลยีที่ใช้เลเซอร์ Femtosecond Laser ที่มีความแม่นยำสูง ไม่ต้องเปิดฝากระจกตา แต่ใช้เลเซอร์ตัดเนื้อกระจกตาเป็นชิ้นเลนส์ แล้วดึงออกผ่านแผลเล็กเพียง 2-4 มม. ซึ่งช่วยลดการรบกวนกระจกตา NanoLASIKเป็นการรักษาสายตาด้วยเลเซอร์ทุกขั้นตอน แยกชั้นกระจกตาด้วย Femtosecond Laser ไม่ใช้ใบมีด ปลอดภัย แม่นยำ เจ็บน้อย NanoRelexใช้ Femtosecond Laser สร้างแผลขนาด 2-3 มม. เพื่อนำชิ้นเนื้อ Lenticule ออก ใช้เวลาผ่าตัดน้อย หลังผ่าตัดช่วยลดอาการตาแห้ง แผลเล็กและกระจกตายังคงแข็งแรง SMILE Proคือเทคโนโลยี Femtosecond Laser รุ่นล่าสุด Visumax 800 โดยสร้างแผ่นเลนส์ติคูล (Lenticule) ใน 8-10 วินาที แล้วนำออกผ่านแผลขนาดเล็ก 2-4 มม. แล้วปรับรูปร่างกระจกตาให้แสงตกยังจอประสาทตาพอดี     การทำเลสิกเหมาะกับใครบ้าง ก่อนตัดสินใจทำเลสิก ควรทราบว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ ซึ่งผู้ที่เหมาะสมสำหรับการรักษาด้วยเลสิกควรมีอายุอย่างน้อย 18 ปี ค่าสายตาคงที่หรือไม่เปลี่ยนแปลงมากกว่า 50 (0.5D) อย่างน้อย 1 ปี รวมถึงควรเตรียมตัวก่อนทำเลสิก โดยมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ จึงจะสามารถทำเลสิกได้อย่างเหมาะสม การทำเลสิกไม่เหมาะกับใคร กลุ่มคนที่ไม่เหมาะกับการทำเลสิก เพราะอาจส่งผลต่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ของการรักษา ได้แก่ ผู้ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ยกเว้นในกรณีที่ต้องการไปสอบเตรียมทหารหรือตำรวจ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคกลุ่มรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี (SLE) สะเก็ดเงิน หรือ HIV ผู้ที่เป็นโรคทางจักษุ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคจิตเวชหรือมีภาวะเจ็บป่วยทางจิตที่ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์     ข้อดีของการผ่าทำเลสิก ข้อดีที่คนมีปัญหาทางสายตาควรพิจารณาผ่าตัดการทำเลสิก เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขณะทำการผ่าตัด มีเพียงการหยอดยาชาที่ตา ไม่มีการเย็บแผล จึงไม่รู้สึกเจ็บ ใช้เวลาในการผ่าตัดและการพักฟื้นน้อย แผลสามารถหายได้เร็ว หลังจากผ่าตัด สามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่ต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล เลสิกสามารถแก้ไขปัญหาความผิดปกติของสายตาให้กลับมามองเห็นชัดเจนได้อย่างถาวร ชีวิตหลังทำเลสิกมองเห็นชัดเจนขึ้น ไม่ต้องใส่แว่นตาหรือคอนแท็กต์เลนส์ มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆ งานอดิเรก และเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาทางน้ำและกีฬากลางแจ้ง ได้โดยไม่ต้องกังวล เมื่อความสามารถในการมองเห็นกลับมาชัดเจน โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายต่างๆ จะลดลง ข้อจำกัดของการทำเลสิก ก่อนที่จะตัดสินใจทำเลสิก ควรรู้ข้อจำกัดต่างๆ ที่อาจมีผลต่อผลลัพธ์หลังผ่าตัด เพื่อให้สามารถเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสมและเข้าใจในขอบเขตของการรักษา ดังนี้ ผลข้างเคียงจากการทำเลสิกที่อาจเกิดขึ้นได้ ราคาค่าทำเลสิกค่อนข้างสูง หลังทำเลสิก อาจมีอาการตาแห้งในบางราย จำเป็นต้องดูแลตามคำแนะนำของแพทย์     ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนทำเลสิก เพื่อให้การทำเลสิกเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ควรเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ดังนี้ ศึกษาหาข้อมูลและปรึกษากับแพทย์ เริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่รองรับการทำเลสิกหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมกับความต้องการได้ รวมถึงพิจารณาถึงคุณภาพ มาตรฐาน และฝีมือของจักษุแพทย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกสถานที่เข้ารับบริการ   เมื่อเลือกสถานที่แล้ว ให้ทำการนัดหมายเพื่อเข้าพบแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น ตรวจวัดสายตาอย่างละเอียด และเลือกวิธีการทำเลสิกที่เหมาะสม รวมถึงวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เตรียมตัวให้พร้อมก่อนตรวจ ก่อนเข้ารับการตรวจเพื่อทำเลสิก ควรมีการเตรียมตัวเบื้องต้น ดังนี้ หากใส่คอนแท็กต์เลนส์ชนิดนิ่ม ควรถอดออกก่อนเข้ารับการตรวจอย่างน้อย 3 วัน และหากใส่คอนแท็กต์เลนส์ชนิดแข็ง ควรถอดออกก่อนอย่างน้อย 7 วัน หากใช้ยาใดๆ เป็นประจำ ควรแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบ ในวันที่มีการตรวจสายตา ควรเตรียมแว่นกันแดดและพาผู้ดูแลมาด้วย เนื่องจากในวันนั้นจะมีการใช้ยาหยอดขยายม่านตา ซึ่งทำให้ตาพร่ามัวและไม่สามารถรับแสงได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง เตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าตัดทำเลสิก การเตรียมตัวก่อนทำเลสิกเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผู้เข้ารับบริการควรเตรียมตนเองให้พร้อม ดังนี้ งดใช้น้ำหอม เครื่องสำอาง ครีมบำรุงต่างๆ บริเวณรอบดวงตาก่อนวันผ่าตัด งดการทำผม เช่น การใส่น้ำมันบำรุงผม เจลใส่ผม หรือใช้เครื่องประดับใดๆ งดดื่มชาหรือกาแฟก่อนเข้ารับการผ่าตัด ดูแลและสังเกตร่างกายตนเอง หากพบความผิดปกติ เช่น ตาแดง ไม่สบาย เกิดการเจ็บป่วย เป็นต้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัด พกแว่นตากันแดดเพื่อป้องกันดวงตาจากแสงหลังการผ่าตัด     วิธีเลือกทำเลสิก ทำที่ไหนดี สิ่งที่สำคัญกว่าการเตรียมตัวก่อนทำเลสิก คือการเลือกว่าจะทำเลสิกที่ไหนดี? โดยวิธีเลือกโรงพยาบาลสำหรับทำเลสิก เพื่อให้ได้การรักษาที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งควรพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้ มีความเป็นมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาการติดเชื้อหลังการผ่าตัด สถานที่ต้องมีความน่าเชื่อถือในแง่ของการประสานงานและดำเนินการต่างๆ โดยมีความเป็นมืออาชีพ อุปกรณ์ครบครันและทันสมัย โดยเฉพาะในด้านการใช้เทคโนโลยีในการดูแลรักษาและผ่าตัด จักษุแพทย์ควรมีประสบการณ์ และมีใบประกอบวิชาชีพที่ถูกต้อง มีบริการหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้รับบริการ ได้รับคุณภาพและการบริการที่ดี คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป สรุป ก่อนทำเลสิกควรเตรียมตัวและรู้ข้อดี เช่น การมองเห็นที่ชัดเจนถาวร ลดการพึ่งพาแว่นตาหรือคอนแท็กต์เลนส์ ชีวิตหลังทำเลสิกจะมีความคล่องตัวมากขึ้นเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ข้อจำกัดคือไม่สามารถทำได้สำหรับบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ที่มีโรคเบาหวาน สะเก็ดเงิน หรือโรคต้อหิน ควรงดใส่คอนแท็กต์เลนส์ก่อนการตรวจและผ่าตัด รวมถึงงดน้ำหอมและเครื่องสำอางก่อนวันผ่าตัด การเตรียมตัวต้องปรึกษาแพทย์ และเตรียมแว่นกันแดดไว้ใส่หลังผ่าตัด สำหรับคนที่ต้องการทำเลสิก สามารถมาได้ที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)ซึ่งเป็นศูนย์รักษาสายตาผิดปกติที่มีทางเลือกครบครันในการรักษา และเน้นการบริการที่มีประสิทธิภาพ
ศูนย์เลสิก LASER VISION

การตรวจตาก่อนทำเลสิกคืออะไร ทำไมต้องตรวจถึง 3 ชั่วโมง?!!

การตรวจตาก่อนทำเลสิกคืออะไร ทำไมต้องตรวจถึง 3 ชั่วโมง?!! การตรวจตาก่อนทำเลสิกคืออะไร ทำไมต้องตรวจถึง 3 ชั่วโมง?!!      แน่นอนว่าคำตอบก็คือเพื่อการมองเห็น หลังการรักษาด้วยเลสิกที่ดีที่สุดของคนไข้ แต่ทำไมถึงต้องใช้เวลานานถึง 3 ช.ม. นั่นก็เป็นเพราะว่าที่ Laser Vision เรามีการซักถามประวัติของคนไข้ที่ค่อนข้างละเอียด อีกทั้งยังมีเครื่องมือทันสมัยอีกหลายอย่างที่จะช่วยตรวจวัดการมองเห็น เพิ่มข้อมูลให้กับแพทย์ในการวินิจฉัย ออกแบบ และเลือกการวิธีการทำเลสิก เพื่อคุณภาพการมองเห็นที่ชัดเจนที่สุดให้กับคุณ โดยจะเเบ่งเป็น 4 ขั้นตอนหลักดังต่อไปนี้   ขั้นตอนที่ 1 การซักประวัติคนไข้      ในการเข้ารับการผ่าตัดเลสิก เบื้องต้นทีมบุคลากรทางการแพทย์จะให้คนไข้กรอกแบบฟอร์ม และ ซักประวัติคนไข้ เพื่อตรวจเช็คว่าคนไข้ที่ต้องการทำเลสิกมีการทานยารักษาโรคหรือเคยมีประวัติโรคบางชนิดที่อาจจะที่ส่งผลหรือเป็นข้อห้ามในการผ่าตัดเลสิกหรือไม่ เพื่อที่จะได้ประเมินเบื้องต้นว่าคนไข้ควรเข้ารับการตรวจเพื่อประเมินสภาพตาอย่างละเอียด เพื่อทำเลสิกต่อ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 10 – 20 นาที    ขั้นตอนที่ 2 การตรวจประเมินสายตาอย่างละเอียด      โดยเริ่มต้นด้วยการ การวัดระดับการมองเห็นเบื้องต้นมีการตรวจวัดสายตาด้วยเครื่อง Auto Refractometer ตรวจวัดระดับความดันในลูกตาด้วยเครื่อง IOP แบบใช้ลมเป่า  ตรวจวิเคราะห์ความโค้งความหนาของกระจกตาด้วยเครื่อง Pentacam ตรวจความแข็งแรงของกระจกตาด้วยเครื่อง Corvis  หลังจากนั้น จะมีทั้งการตรวจวัดความสามารถในการมองเห็นของดวงตาแต่ละข้างโดยนักทัศนมาตร หลังจากนั้นจะมีการตรวจวัดตรวจค่าความเพี้ยนในการรวมแสงระดับสูงด้วย OPD Scan เป็นขั้นตอนสุดท้าย อาจมีคนไข้บางท่านจำเป็นที่จะต้องมีการลองแว่นตา เพื่อให้คนไข้ได้ทดลองใช้สายตาที่จะเกิดขึ้นคล้ายกับผลของค่าสายตาหลังการรักษา โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีค่าสายตามยาวร่วมกับสายตาสั้นด้วย ขั้นตอนทั้งหมด นี้อาจจะใช้เวลาในแต่ละท่านแตกต่างกันโดยประมาณ 30-60 นาที ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของคนไข้เอง   ขั้นตอนที่ 3 การตรวจประเมินสายตาอย่างละเอียดหลังขยายม่านตา      เจ้าหน้าที่จะทำการวัดค่าต่างๆ ทั้งหมดอีกครั้งเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบก่อนและหลังม่านตาขยาย เป็นการคอนเฟิร์มและให้เห็นความแตกต่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยจะมีการวัดซ้ำในขั้นตอนที่ 2 ทั้งหมด อีกครั้ง   ขั้นตอนที่ 4 พบจักษุแพทย์      ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการเข้าพบกับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยจักษุแพทย์จะใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษเพื่อตรวจดูสุขภาพของลูกตาทั้งภายในและภายนอก หลังจากนั้นจะอธิบายสภาพการมองเห็นในปัจจุบันและสุขภาพลูกตาของคนไข้ การมองเห็นหลังการทำเลสิก นอกจากนี้ยังแพทย์มีการสอบถามไลฟ์สไตล์ของคนไข้แต่ละท่านและแนะนำข้อจำกัดของการทำเลสิกในแต่ละประเภท รวมไปถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติหลังทำเลสิกอีกด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจในการทำเลสิก ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ของการมองเห็นที่ชัดเจนและดีที่สุดของคนไข้
ศูนย์เลสิก LASER VISION

หลังทำเลสิคสายตาสั้น เมื่อมีสายตายาวจะสามารถรักษาด้วยวิธีเลสิกได้อีกหรือไม่

หลังทำเลสิคสายตาสั้น เมื่อมีสายตายาวจะสามารถรักษาด้วยวิธีเลสิกได้อีกหรือไม่ หลังทำเลสิคสายตาสั้น เมื่อมีสายตายาวจะสามารถรักษาด้วยวิธีเลสิกได้อีกหรือไม่?      สายตายาวตามอายุเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกๆคน ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แม้แต่ในผู้ที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการมองเห็นมาก่อนเลยก็ตาม      สายตายาวตามอายุ เกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดจากเลนส์แก้วตาแข็งขึ้น ประกอบกับกล้ามเนื้อยึดเลนส์ตาเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเจน      ในกลุ่มผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น และได้รับการแก้ไขโดยวิธีการเลสิกไปแล้ว เมื่ออายุประมาณ 40 ปีมีสายตายาวอายุ ทำให้มองใกล้ไม่ชัด สามารถใช้แว่นสายตายาวช่วยในการอ่านหนังสือ หรือช่วยในการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ แต่หากไม่อยากใส่แว่น สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีเลสิกสายตาได้เช่นกัน การรักษาสายตายาวด้วยวิธี NV LASIK ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นในระยะไกลได้ชัดในตาข้างหนึ่ง และมองเห็นใกล้ได้ชัดในตาอีกข้างหนึ่ง เนื่องจากสายตายาวตามอายุเกิดจากความเสื่อมของเลนส์แก้วตา ดังนั้น การรักษาด้วยวิธีนี้จะอยู่ได้ 3- 5 ปีขึ้นอยู่กับสภาพสายตาของคนไข้แต่ละคน การรักษาสายตายาวตามอายุด้วยวิธีการเปลี่ยนเลนส์ (Refractive Lens Exchange-RLE) โดยจะนำเลนส์แก้วตาที่เสื่อมสภาพออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไป **ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นมักเกิดความเข้าใจผิดว่าเมื่อมีภาวะสายตายาวตามอายุร่วมด้วยสายตาจะกลับมาเป็นปกติ ในความเป็นจริง สายตายาวตาอายุเกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อตา(เสื่อมตามภาวะร่างกายที่อายุมากขึ้น) ภาวะเสื่อมดังกล่าวอาจทำให้การมองในระยะใกล้ๆได้ดีขึ้น แต่ในระยะที่ใกล้นั้นก็ใกล้กว่าระยะของคนสายตาปกติทั่วๆไป **ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นและไม่ได้รับการแก้ไข เมื่ออายุ 40 ปีมีภาวะสายตายาวตามอายุร่วมด้วย จะทำให้มองไม่ชัดทั้งใกล้และไกล
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111