|
จอประสาทตาลอกเป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของจอประสาทตา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้ มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุ รวมถึงแนวทางป้องกันที่เหมาะสมได้ในบทความนี้
จอประสาทตาลอก (Retinal Detachment) หรือจอตาลอก คือภาวะที่เนื้อเยื่อบริเวณด้านหลังลูกตาแยกตัวออกจากผนังที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง ทำให้จอตาขาดสารอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง เซลล์จอประสาทตาทำงานผิดปกติในการแปลงแสงเป็นสัญญาณประสาทเพื่อส่งต่อไปยังสมอง หากไม่ได้รับการรักษา เซลล์ประสาทอาจเสื่อมและตาย จนทำให้การมองเห็นลดลงอย่างถาวรและไม่สามารถฟื้นฟูได้ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจอประสาทตาลอกแบ่งได้ 3 แบบ คือ
จอตาลอกที่พบได้บ่อยที่สุดคือภาวะที่เกิดจากการฉีกขาดของจอตา ส่งผลให้ของเหลวจากวุ้นตาแทรกซึมเข้าไปใต้จอตา จนทำให้เกิดการแยกตัวของจอประสาทตาออกจากผนังด้านหลังลูกตา ภาวะนี้จัดเป็นชนิดที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากหากปล่อยไว้ อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นถาวร
จอประสาทตาลอกแบบเกิดจากพังผืดดึงรั้ง ทำให้จอประสาทตาหลุดลอกจากผนังลูกตาด้านหลัง เป็นภาวะที่พบได้น้อย โดยมักเกิดในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอตาระยะท้าย ซึ่งมีเส้นเลือดงอกผิดปกติร่วมกับเลือดออกในวุ้นตา
นอกจากนี้ ยังอาจพบในผู้ที่มีการอักเสบอย่างรุนแรงของวุ้นตาหรือจอตาจนเกิดชั้นพังผืด หรือผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุรุนแรงทางดวงตา เช่น ลูกตาแตกหรือทะลุ ภาวะนี้ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเนื่องจากมีความซับซ้อนและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการมองเห็น
ภาวะจอประสาทตาลอกจากการรั่วของหลอดเลือดเกิดจากของเหลวสะสมบริเวณหลังดวงตาโดยไม่มีการฉีกขาดของจอตา สาเหตุหลักมักมาจากการอักเสบหรือตุ่มเนื้องอกในดวงตา ส่งผลให้เกิดอาการบวมและอาจกระทบต่อการมองเห็น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม
หากมีอาการที่บ่งบอกว่าเป็นจอประสาทตาหลุดลอก ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยทันที อาการที่พบได้บ่อยคือ
การมองเห็นผิดปกติ เกิดขึ้นโดยไม่มีอาการปวดตา ตาแดง หรือมีน้ำตาไหลออกมา
การมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูปในขณะที่หลับตาหรืออยู่ในที่มืด
การมองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำคล้ายเงาหยากไย่ลอยไปมาภายในลูกตา โดยเฉพาะหากมองไปในพื้นที่ที่สว่าง เช่น ขณะมองท้องฟ้าใส หรือผนังสีขาว
ตามัวร่วมกับอาการเหมือนมีหมอกบังสายตา หรือเห็นภาพคล้ายม่าน เป็นคลื่นๆ หรือคดงอ
หากปล่อยให้จอประสาทตาลอกเป็นอยู่นานๆ ผู้ป่วยอาจเริ่มมองเห็นเงาที่ขอบลานสายตา ซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นจนเต็มลานสายตาภายในไม่กี่วัน
จอประสาทตาลอกเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่บางครั้งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มักเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
อายุมากขึ้น น้ำวุ้นตาจะเสื่อมและหดตัว ทำให้เกิดการดึงรั้งจอประสาทตาจนฉีกขาด ซึ่งมักพบในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป
พันธุกรรม เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นจอตาลอก
เคยมีจอประสาทตาลอกในดวงตาข้างหนึ่ง
การติดเชื้อหรืออักเสบในลูกตา
สายตาสั้นมาก
อุบัติเหตุรุนแรงกระทบกระเทือนดวงตา
โรคทางตา เช่น ม่านตาอักเสบ หรือจอประสาทตาบางผิดปกติ
ผ่าตัดตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ
เนื้องอกหรือมะเร็งในลูกตา
นอกจากปัจจัยเสี่ยงแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดจอประสาทตาลอก ได้แก่
กลุ่มผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
กลุ่มผู้ที่ละเลยการรักษาสุขอนามัยความสะอาดของดวงตา
กลุ่มผู้ที่ทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของดวงตาเป็นประจำ เช่น การเล่นกีฬา การขับรถโต้ลม
ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีหรือเครื่องจักรโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตา
การวินิจฉัยจอประสาทตาลอกที่แม่นยำ ทำได้ดังนี้
การตรวจจอประสาทตา แพทย์จะตรวจสอบตาทั้งสองข้างอย่างละเอียด รวมถึงรูม่านตาและสังเกตรอยฉีกขาดหรือการลอกตัวของจอประสาทตา
การถ่ายภาพอัลตราซาวนด์ แพทย์อาจใช้การทดสอบนี้หากมีเลือดออกในตา เพื่อประเมินเพิ่มเติม
การรักษาจอประสาทตาลอกมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ได้แก่
การฉายแสงเลเซอร์เพื่อรักษาจอประสาทตาลอกจะมุ่งเน้นไปที่บริเวณที่มีรอยฉีกขาดของจอประสาทตา โดยแพทย์จะใช้เลเซอร์เพื่อทำให้เกิดแผลเป็นเล็กๆ รอบรอยฉีกขาด ซึ่งช่วยยึดจอประสาทตาให้อยู่ที่เดิม กระบวนการนี้เริ่มจากการหยอดยาหยอดตาเพื่อขยายรูม่านตา ก่อนจะใช้เลเซอร์ฉายผ่านรูม่านตา เมื่อเสร็จสิ้นการรักษา แพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อลดอาการบวมและให้คำแนะนำการดูแลหลังการรักษา
การรักษาจอประสาทตาลอกด้วยการฉีดแก๊สเข้าสู่วุ้นตาจะใช้เพื่อดันจอประสาทตากลับสู่ตำแหน่งเดิม โดยเฉพาะในกรณีที่มีการฉีกขาดของจอประสาทตา (Rhegmatogenous Retinal Detachment) แก๊สที่ฉีดเข้าไปจะลอยขึ้นไปช่วยดันจอประสาทตาที่หลุดลอก หากการฉีกขาดอยู่บริเวณด้านบนของตา ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในท่าคว่ำหรือตะแคงหลังการฉีด เพื่อให้แก๊สลอยขึ้นไปในตำแหน่งที่ต้องการ
การรักษานี้อาจต้องใช้ร่วมกับการใช้เลเซอร์ โดยแพทย์จะยิงเลเซอร์รอบบริเวณที่เกิดการฉีกขาด เพื่อช่วยยึดจอประสาทให้อยู่ที่เดิม และค่อยๆ ลดปริมาณแก๊สเมื่อจอประสาทตาเริ่มติดกัน
การใช้เครื่องมือขนาดเล็กที่มีอุณหภูมิเย็นในการรักษาจอประสาทตาลอกนั้นจะช่วยให้เกิดแผลเป็นบริเวณรอบๆ รอยฉีกขาดในจอประสาทตา ช่วยยึดจอประสาทให้อยู่ที่เดิม เครื่องมือนี้จะถูกนำไปแตะที่ตาขาวใกล้กับรอยฉีกขาดที่ตรวจพบ หลังจากนั้นแพทย์จะหยอดยาป้องกันอาการบวมและให้คำแนะนำวิธีการดูแลหลังการรักษา
การผ่าตัดรักษาจอประสาทตาลอกทำได้ 2 วิธีดังนี้
ผ่าตัดด้วยการใช้วัสดุหนุนตาขาว (Scleral Buckle) เช่น ยางหรือฟองน้ำซิลิโคน หนุนที่ตาขาวเพื่อดันจอประสาทกลับที่เดิม โดยที่วัสดุไม่ปรากฏภายนอกตาและไม่จำเป็นต้องจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่าคว่ำหน้า
ผ่าตัดวุ้นตาและซ่อมจอตาภายในลูกตาโดยตรง (Pars Plana Vitrectomy – PPV) เทคนิคนี้ใช้ในกรณีจอประสาทตาลอกจากพังผืดดึงรั้ง โดยจะใช้เครื่องมือผ่านตาขาวตำแหน่ง Pars Plana เพื่อดึงน้ำวุ้นตาและตัดพังผืดที่ดึงจอประสาทตาออก ก่อนใช้วิธีอื่นๆ ช่วยให้จอประสาทกลับที่เดิม
การป้องกันเพื่อชะลอการเกิดจอประสาทตาลอก ทำได้หลายวิธีดังนี้
สวมอุปกรณ์ปกป้องดวงตาเมื่อทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น การเล่นกีฬา หรือทำงานกับเครื่องจักร
เข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาอย่างละเอียดประจำปี
หากพบอาการคล้ายจอประสาทตาลอก ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็ว
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
ดูแลความสะอาดของดวงตาเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อหรืออักเสบ
จอประสาทตาลอกเกิดขึ้นเมื่อจอประสาทตาหลุดออกจากพื้นผิวตา ซึ่งอาจเกิดจากการฉีกขาดหรือการดึงรั้งของเนื้อจอประสาท ส่งผลให้มองเห็นเบลอหรือเห็นแสงวูบวาบ หากไม่รักษาอาจนำไปสู่การตาบอด ปัจจัยเสี่ยงประกอบด้วยอายุที่มากขึ้น ประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ สายตาสั้นมาก การบาดเจ็บที่ตา การผ่าตัดตาก่อนหน้า และโรคเบาหวาน
การรักษามีหลายวิธี เช่น การใช้แสงเลเซอร์ การฉีดแก๊สในตา และการผ่าตัด ส่วนการป้องกันทำได้โดยการสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาในกิจกรรมเสี่ยง การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิต รวมถึงการดูแลความสะอาดของดวงตา
หากคุณมีอาการจอประสาทตาลอก มารับการรักษาได้ที่ ศูนย์รักษาโรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่ให้บริการดูแลและรักษาโรคจอประสาทตาโดยเฉพาะ พร้อมทีมแพทย์ผู้มีประสบการณ์ในการรักษาและฟื้นฟูอาการเกี่ยวกับดวงตา