มุมสุขภาพตา : #จอประสาทตาลอก

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

จอประสาทตาลอกคืออะไร มีอาการอย่างไร พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน

จอประสาทตาลอกคือภาวะที่จอประสาทตาหลุดออกจากพื้นผิวตา อาจเกิดจากการฉีกขาดหรือการดึงรั้งของเนื้อจอประสาท ทำให้มองเห็นเบลอหรือเห็นเป็นแสงวูบวาบ อาการของจอประสาทตาลอก ได้แก่ การมองเห็นเบลอ เห็นแสงวูบวาบหรือแสงแฟลช และอาจสูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือมองเห็นภาพซ้อน การรักษาจอประสาทตาลอก ทำได้โดยการใช้แสงเลเซอร์ การฉีดแก๊สในตา และการผ่าตัด ส่วนการป้องกันทำได้โดยการสวมแว่นกันแดดหรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตา การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ และการควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิต การรักษาจอประสาทตาลอกที่ศูนย์รักษาโรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) รักษาด้วยจักษุแพทย์พร้อมเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทันสมัย   จอประสาทตาลอกเป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของจอประสาทตา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้ มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุ รวมถึงแนวทางป้องกันที่เหมาะสมได้ในบทความนี้     จอประสาทตาลอก คือภาวะอะไร จอประสาทตาลอก (Retinal Detachment) หรือจอตาลอก คือภาวะที่เนื้อเยื่อบริเวณด้านหลังลูกตาแยกตัวออกจากผนังที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง ทำให้จอตาขาดสารอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง เซลล์จอประสาทตาทำงานผิดปกติในการแปลงแสงเป็นสัญญาณประสาทเพื่อส่งต่อไปยังสมอง หากไม่ได้รับการรักษา เซลล์ประสาทอาจเสื่อมและตาย จนทำให้การมองเห็นลดลงอย่างถาวรและไม่สามารถฟื้นฟูได้ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจอประสาทตาลอกแบ่งได้ 3 แบบ คือ 1. จอประสาทตาลอกแบบมีรูฉีกขาด (Rhegmatogenous Retinal Detachment) จอตาลอกที่พบได้บ่อยที่สุดคือภาวะที่เกิดจากการฉีกขาดของจอตา ส่งผลให้ของเหลวจากวุ้นตาแทรกซึมเข้าไปใต้จอตา จนทำให้เกิดการแยกตัวของจอประสาทตาออกจากผนังด้านหลังลูกตา ภาวะนี้จัดเป็นชนิดที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากหากปล่อยไว้ อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นถาวร 2. จอประสาทตาลอกแบบเกิดจากพังผืดดึงรั้ง (Tractional Retinal Detachment)  จอประสาทตาลอกแบบเกิดจากพังผืดดึงรั้ง ทำให้จอประสาทตาหลุดลอกจากผนังลูกตาด้านหลัง เป็นภาวะที่พบได้น้อย โดยมักเกิดในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอตาระยะท้าย ซึ่งมีเส้นเลือดงอกผิดปกติร่วมกับเลือดออกในวุ้นตา  นอกจากนี้ ยังอาจพบในผู้ที่มีการอักเสบอย่างรุนแรงของวุ้นตาหรือจอตาจนเกิดชั้นพังผืด หรือผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุรุนแรงทางดวงตา เช่น ลูกตาแตกหรือทะลุ ภาวะนี้ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเนื่องจากมีความซับซ้อนและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการมองเห็น 3. จอประสาทตาลอกแบบสารน้ำรั่วขังใต้จอตา (Exudative Retinal Detachment) ภาวะจอประสาทตาลอกจากการรั่วของหลอดเลือดเกิดจากของเหลวสะสมบริเวณหลังดวงตาโดยไม่มีการฉีกขาดของจอตา สาเหตุหลักมักมาจากการอักเสบหรือตุ่มเนื้องอกในดวงตา ส่งผลให้เกิดอาการบวมและอาจกระทบต่อการมองเห็น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม     อาการของจอประสาทตาลอกเป็นอย่างไร หากมีอาการที่บ่งบอกว่าเป็นจอประสาทตาหลุดลอก ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยทันที อาการที่พบได้บ่อยคือ การมองเห็นผิดปกติ เกิดขึ้นโดยไม่มีอาการปวดตา ตาแดง หรือมีน้ำตาไหลออกมา การมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูปในขณะที่หลับตาหรืออยู่ในที่มืด การมองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำคล้ายเงาหยากไย่ลอยไปมาภายในลูกตา โดยเฉพาะหากมองไปในพื้นที่ที่สว่าง เช่น ขณะมองท้องฟ้าใส หรือผนังสีขาว ตามัวร่วมกับอาการเหมือนมีหมอกบังสายตา หรือเห็นภาพคล้ายม่าน เป็นคลื่นๆ หรือคดงอ หากปล่อยให้จอประสาทตาลอกเป็นอยู่นานๆ ผู้ป่วยอาจเริ่มมองเห็นเงาที่ขอบลานสายตา ซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นจนเต็มลานสายตาภายในไม่กี่วัน ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เป็นจอประสาทตาลอก  จอประสาทตาลอกเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่บางครั้งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มักเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ อายุมากขึ้น น้ำวุ้นตาจะเสื่อมและหดตัว ทำให้เกิดการดึงรั้งจอประสาทตาจนฉีกขาด ซึ่งมักพบในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป พันธุกรรม เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นจอตาลอก เคยมีจอประสาทตาลอกในดวงตาข้างหนึ่ง การติดเชื้อหรืออักเสบในลูกตา สายตาสั้นมาก อุบัติเหตุรุนแรงกระทบกระเทือนดวงตา โรคทางตา เช่น ม่านตาอักเสบ หรือจอประสาทตาบางผิดปกติ ผ่าตัดตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ เนื้องอกหรือมะเร็งในลูกตา     กลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นจอประสาทตาลอก นอกจากปัจจัยเสี่ยงแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดจอประสาทตาลอก ได้แก่ กลุ่มผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน กลุ่มผู้ที่ละเลยการรักษาสุขอนามัยความสะอาดของดวงตา กลุ่มผู้ที่ทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของดวงตาเป็นประจำ เช่น การเล่นกีฬา การขับรถโต้ลม ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีหรือเครื่องจักรโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตา     การวินิจฉัยจอประสาทตาลอก การวินิจฉัยจอประสาทตาลอกที่แม่นยำ ทำได้ดังนี้ การตรวจจอประสาทตา แพทย์จะตรวจสอบตาทั้งสองข้างอย่างละเอียด รวมถึงรูม่านตาและสังเกตรอยฉีกขาดหรือการลอกตัวของจอประสาทตา การถ่ายภาพอัลตราซาวนด์ แพทย์อาจใช้การทดสอบนี้หากมีเลือดออกในตา เพื่อประเมินเพิ่มเติม     วิธีการรักษาจอประสาทตาลอก มีอะไรบ้าง  การรักษาจอประสาทตาลอกมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ได้แก่ การยิงเลเซอร์ (Argon Laser Photocoagulation) การฉายแสงเลเซอร์เพื่อรักษาจอประสาทตาลอกจะมุ่งเน้นไปที่บริเวณที่มีรอยฉีกขาดของจอประสาทตา โดยแพทย์จะใช้เลเซอร์เพื่อทำให้เกิดแผลเป็นเล็กๆ รอบรอยฉีกขาด ซึ่งช่วยยึดจอประสาทตาให้อยู่ที่เดิม กระบวนการนี้เริ่มจากการหยอดยาหยอดตาเพื่อขยายรูม่านตา ก่อนจะใช้เลเซอร์ฉายผ่านรูม่านตา เมื่อเสร็จสิ้นการรักษา แพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อลดอาการบวมและให้คำแนะนำการดูแลหลังการรักษา การฉีดฟองแก๊ส (Pneumatic Retinopexy) การรักษาจอประสาทตาลอกด้วยการฉีดแก๊สเข้าสู่วุ้นตาจะใช้เพื่อดันจอประสาทตากลับสู่ตำแหน่งเดิม โดยเฉพาะในกรณีที่มีการฉีกขาดของจอประสาทตา (Rhegmatogenous Retinal Detachment) แก๊สที่ฉีดเข้าไปจะลอยขึ้นไปช่วยดันจอประสาทตาที่หลุดลอก หากการฉีกขาดอยู่บริเวณด้านบนของตา ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในท่าคว่ำหรือตะแคงหลังการฉีด เพื่อให้แก๊สลอยขึ้นไปในตำแหน่งที่ต้องการ การรักษานี้อาจต้องใช้ร่วมกับการใช้เลเซอร์ โดยแพทย์จะยิงเลเซอร์รอบบริเวณที่เกิดการฉีกขาด เพื่อช่วยยึดจอประสาทให้อยู่ที่เดิม และค่อยๆ ลดปริมาณแก๊สเมื่อจอประสาทตาเริ่มติดกัน การจี้ด้วยความเย็น (Cryopexy) การใช้เครื่องมือขนาดเล็กที่มีอุณหภูมิเย็นในการรักษาจอประสาทตาลอกนั้นจะช่วยให้เกิดแผลเป็นบริเวณรอบๆ รอยฉีกขาดในจอประสาทตา ช่วยยึดจอประสาทให้อยู่ที่เดิม เครื่องมือนี้จะถูกนำไปแตะที่ตาขาวใกล้กับรอยฉีกขาดที่ตรวจพบ หลังจากนั้นแพทย์จะหยอดยาป้องกันอาการบวมและให้คำแนะนำวิธีการดูแลหลังการรักษา การผ่าตัดจอประสาทตาลอก การผ่าตัดรักษาจอประสาทตาลอกทำได้ 2 วิธีดังนี้ ผ่าตัดด้วยการใช้วัสดุหนุนตาขาว (Scleral Buckle) เช่น ยางหรือฟองน้ำซิลิโคน หนุนที่ตาขาวเพื่อดันจอประสาทกลับที่เดิม โดยที่วัสดุไม่ปรากฏภายนอกตาและไม่จำเป็นต้องจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่าคว่ำหน้า ผ่าตัดวุ้นตาและซ่อมจอตาภายในลูกตาโดยตรง (Pars Plana Vitrectomy – PPV) เทคนิคนี้ใช้ในกรณีจอประสาทตาลอกจากพังผืดดึงรั้ง โดยจะใช้เครื่องมือผ่านตาขาวตำแหน่ง Pars Plana เพื่อดึงน้ำวุ้นตาและตัดพังผืดที่ดึงจอประสาทตาออก ก่อนใช้วิธีอื่นๆ ช่วยให้จอประสาทกลับที่เดิม แนวทางในการป้องกันจอประสาทตาลอก การป้องกันเพื่อชะลอการเกิดจอประสาทตาลอก ทำได้หลายวิธีดังนี้ สวมอุปกรณ์ปกป้องดวงตาเมื่อทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น การเล่นกีฬา หรือทำงานกับเครื่องจักร เข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาอย่างละเอียดประจำปี หากพบอาการคล้ายจอประสาทตาลอก ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็ว ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ดูแลความสะอาดของดวงตาเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อหรืออักเสบ สรุป จอประสาทตาลอกเกิดขึ้นเมื่อจอประสาทตาหลุดออกจากพื้นผิวตา ซึ่งอาจเกิดจากการฉีกขาดหรือการดึงรั้งของเนื้อจอประสาท ส่งผลให้มองเห็นเบลอหรือเห็นแสงวูบวาบ หากไม่รักษาอาจนำไปสู่การตาบอด ปัจจัยเสี่ยงประกอบด้วยอายุที่มากขึ้น ประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ สายตาสั้นมาก การบาดเจ็บที่ตา การผ่าตัดตาก่อนหน้า และโรคเบาหวาน การรักษามีหลายวิธี เช่น การใช้แสงเลเซอร์ การฉีดแก๊สในตา และการผ่าตัด ส่วนการป้องกันทำได้โดยการสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาในกิจกรรมเสี่ยง การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิต รวมถึงการดูแลความสะอาดของดวงตา หากคุณมีอาการจอประสาทตาลอก มารับการรักษาได้ที่ ศูนย์รักษาโรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่ให้บริการดูแลและรักษาโรคจอประสาทตาโดยเฉพาะ พร้อมทีมแพทย์ผู้มีประสบการณ์ในการรักษาและฟื้นฟูอาการเกี่ยวกับดวงตา
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111