ย้อนกลับ
รู้จักอาการและปัจจัยเสี่ยงของจอประสาทตาเสื่อม พร้อมวิธีการดูแลรักษา
  • จอประสาทตาเสื่อม คือโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ทำให้การมองเห็นส่วนกลางเสื่อมลงจากการเสื่อมสภาพของจอประสาทตา 

  • จอประสาทตาเสื่อมทำให้มีอาการมองเห็นเป็นภาพเบลอ มองเห็นเป็นจุดดำๆ หรือมองเห็นเป็นแสงจ้า

  • วิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่ การฉีดยา เลเซอร์ และการผ่าตัด ส่วนการป้องกันควรรักษาสุขภาพตา โดยการไม่สูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพตาปีละครั้ง

  • การรักษาจอประสาทตาเสื่อมที่ศูนย์รักษาโรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีบริการครบวงจรโดยจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการดูแลแบบเฉพาะบุคคล

 

จอประสาทตาเสื่อมเป็นภาวะที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น ทำให้มองเห็นไม่ชัด มองเห็นเป็นจุดดำ และมองเห็นเป็นแสงจ้า มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมเพื่อดูแลสุขภาพตาและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บทความนี้ได้รวบรวมไว้ให้แล้ว

 

โรคจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร

 

โรคจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร

จอประสาทตาเสื่อม (AMD) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็น โดยโรคนี้เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายโดยเฉพาะที่จอประสาทตา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ ขณะที่การมองเห็นขอบภาพยังคงปกติ 

 

โรคนี้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ในจุดศูนย์กลางของจอประสาทตา (Macula) ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการมองเห็น ทำให้การมองเห็นส่วนกลางค่อยๆ เสื่อมไป อาจเริ่มจากภาพตรงกลางที่ไม่ชัดเจน ภาพบิดเบี้ยว หรือสีผิดเพี้ยน จนกระทั่งไม่สามารถมองเห็นภาพตรงกลางได้ในที่สุด โดยจอประสาทตาเสื่อมสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

1. จอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD)

รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 80-90% เกิดจากการสะสมของเสียที่จอประสาทตา ส่งผลให้เซลล์รับแสงเสื่อมสภาพอย่างช้าๆ ทำให้การมองเห็นลดลงทีละน้อย ซึ่งเป็นผลจากการเสื่อมตามอายุ

2. จอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD)

จอประสาทตาเสื่อมแบบเปียกพบได้ประมาณ 10-20% แต่มีความรุนแรงมากกว่า เกิดจากการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติใต้จอประสาทตา ซึ่งเส้นเลือดเหล่านี้อาจรั่วหรือแตก ทำให้เกิดการบวมและแผลเป็นที่จอประสาทตา ผู้ป่วยจึงเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยวและมืดลง ส่งผลให้การมองเห็นสูญเสียไปอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดในกลุ่มผู้สูงวัย

 

อาการของจอประสาทตาเสื่อมเป็นอย่างไร

 

อาการของจอประสาทตาเสื่อมเป็นอย่างไร

โรคจอประสาทตาเสื่อมส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้อย่างรุนแรง โดยจะมีการแบ่งระยะของอาการจอประสาทตาเสื่อมออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะจะมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกันไป ได้แก่

  1. จอประสาทตาเสื่อมระยะแรก จอประสาทตาเสื่อมแบบแห้งอาการเริ่มต้นมักจะไม่ชัดเจน ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวจนกว่าภาวะเสื่อมจะดำเนินไปในระยะหนึ่ง

  2. จอประสาทตาเสื่อมระยะกลาง ในระยะกลางของจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง บางคนอาจยังไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ขณะที่บางคนอาจเริ่มสังเกตเห็นอาการเล็กน้อย เช่น ภาพเบลอเล็กน้อยในบริเวณศูนย์กลางภาพ หรือพบปัญหาในการมองเห็นในที่มีแสงน้อย

  3. จอประสาทตาเสื่อมระยะสุดท้าย ในระยะสุดท้ายของจอประสาทตาเสื่อม (ทั้งแบบเปียกและแห้ง) มองเห็นภาพเส้นตรงเป็นคลื่นหรือโค้งงอ และบริเวณใกล้ศูนย์กลางภาพอาจเบลอและขยายใหญ่ขึ้น สีภาพอาจไม่สดใสเหมือนเดิม และการมองเห็นในที่แสงน้อยอาจยากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้เป็นจอประสาทตาเสื่อม 

จอประสาทตาเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การทำความเข้าใจถึงสาเหตุเหล่านี้จะช่วยในการป้องกันและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาเหตุที่พบบ่อยมีดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น โดยพบโรคนี้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

  • มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ผู้ที่มีญาติสายตรงควรตรวจเช็กจอประสาทตาทุกๆ 2 ปี

  • พบการเกิดโรคสูงในคนผิวขาว (Caucasian) โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

  • การดื่มสุราและสูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้

  • ผู้ที่มีความดันเลือดสูงหรือทานยาลดความดันเลือด พร้อมทั้งมีระดับไขมัน (Cholesterol) สูงและระดับ Carotenoid ต่ำในเลือด 

  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับฮอร์โมน Estrogen

  • การสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และแสงสีฟ้าที่มาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นระยะเวลานาน

 

ตรวจจอประสาทตาเสื่อมได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

 

ตรวจจอประสาทตาเสื่อมได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

การวินิจฉัยโรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาและป้องกันการสูญเสียการมองเห็น วิธีการวินิจฉัยโรคนี้มีหลายวิธี ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์ตรวจพบอาการจอประสาทตาเสื่อมได้อย่างแม่นยำ ได้แก่ 

  • การตรวจขยายม่านตา แพทย์จะใช้ยาหยอดตา 1-2 ชนิด หยอดทุก 5-10 นาที และให้ผู้ป่วยหลับตาระหว่างนั้น เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ การหยอดใช้เวลาประมาณ 45 นาที จนกว่าม่านตาจะขยายเต็มที่ เพื่อช่วยให้ตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตาได้ชัดเจน

  • การตรวจจอประสาทตา การฉีดสาร Fluorescein เข้าเส้นเลือดดำเพื่อตรวจดูจอประสาทตา ช่วยให้แพทย์สามารถเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือด ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคจอประสาทตาเสื่อม

  • การสแกนจอประสาทตา แพทย์จะใช้กล้องถ่ายภาพจอประสาทตาหรือวิธี OCT (Optical Coherence Tomography) เพื่อตรวจหาความผิดปกติหรือการเสื่อมของเซลล์ในจอประสาทตา

 

จอประสาทตาเสื่อม รักษา

 

วิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม

การรักษาจอประสาทตาเสื่อมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละกรณี ดังนี้

การใช้ยาและอาหารเสริม

วิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อมด้วยยาต้าน VEGF (Vascular Endothelial Growth Factor) เป็นการฉีดยาสำหรับรักษาจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก ซึ่งช่วยยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติ ส่วนการรับประทานวิตามินซี วิตามินอี เบตาแคโรทีน สังกะสี และทองแดง อาจช่วยชะลอการลุกลามของจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้งในบางรายได้

 

  • ข้อดี ยาฉีดเหมาะกับการรักษาจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก วิตามินและแร่ธาตุมีราคาถูก และปลอดภัย

  • ข้อจำกัด ยาฉีดควรฉีดเข้าดวงตาอยู่เสมอและอาจมีผลข้างเคียง วิตามินและแร่ธาตุได้ผลแค่กับเฉพาะบางคน

การฉายเลเซอร์

การฉายเลเซอร์เพื่อรักษาจอประสาทตาเสื่อมมี 2 แบบ ได้แก่ Photodynamic therapy (PDT) ซึ่งใช้เลเซอร์ร่วมกับยาฉีดเพื่อทำลายเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติ และ Laser photocoagulation ที่ใช้เลเซอร์ในการทำลายเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติโดยตรง

  • ข้อดี ทำลายเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติได้ดี

  • ข้อจำกัด อาจทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อปกติรอบๆ และไม่สามารถได้ผลกับทุกคน

การผ่าตัดจอประสาทตาเสื่อม

การผ่าตัดเพื่อรักษาจอประสาทตาเสื่อมมี 2 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีจะถูกเลือกใช้ตามลักษณะและความรุนแรงของโรค ดังนี้

  1. ผ่าตัดนำเลือดออก ช่วยเอาเลือดออกจากดวงตา เพื่อลดความดันและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายถาวรต่อจอประสาทตา

  2. ผ่าตัดปลูกถ่ายจอประสาทตา เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง การรักษานี้มุ่งหวังที่จะช่วยฟื้นฟูการมองเห็นของผู้ป่วย

การใช้เทคโนโลยีใหม่

วิธีการใหม่ในการรักษาจอประสาทตาเสื่อมมีหลายรูปแบบที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูการมองเห็นและชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา ดังนี้

  • ยาฉีดชนิดใหม่ ที่ออกฤทธิ์นานขึ้นมีประโยชน์ในการช่วยลดความถี่ในการฉีด ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบายมากขึ้นและลดภาระในการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

  • Gene Therapy เป็นการรักษาโดยการใส่ยีนที่ปกติลงในเซลล์จอประสาทตาเพื่อซ่อมแซมความเสียหาย การทำงานของจอประสาทตาและชะลอการเสื่อมของการมองเห็น

  • Stem Cell Therapy ใช้สเต็มเซลล์เพื่อสร้างเซลล์จอประสาทตาใหม่ ช่วยในการฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่เสียหายและคืนการมองเห็นให้กับผู้ป่วย

การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม

การป้องกันนี้มีเป้าหมายเพื่อชะลอการเกิดภาวะจอประสาทตาเสื่อมให้ช้าลง ซึ่งประกอบด้วยแนวทางต่างๆ ที่นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง

  • ควบคุมความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือด

  • ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว เนื้อปลา และผลไม้

  • แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีเบตาแคโรทีน โดยเฉพาะลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ในปริมาณสูง เช่น แอปเปิล บรอกโคลี ข้าวโพด แตงกวา องุ่น มะม่วง ส้ม ฟักทอง ผักโขม ถั่ว พริก และไข่แดง เป็นต้น

  • ตรวจสุขภาพและตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี

  • สวมแว่นตากันแดดที่เคลือบสารป้องกันรังสี UV และใช้ร่มที่สะท้อนรังสี UV เมื่อออกกลางแดด

สรุป

จอประสาทตาเสื่อมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ อาการของจอประสาทตาเสื่อม เช่น การมองเห็นภาพเบลอ มองเห็นจุดดำ หรือมองเห็นเป็นแสงจ้า สาเหตุมักเกิดจากอายุ พันธุกรรม โรคเบาหวาน หรือการสูบบุหรี่ การรักษาจอประสาทตาเสื่อมทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการฉีดยาเลเซอร์ การใช้ยาต้าน VEGF และการผ่าตัด และเพื่อป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควบคุมสุขภาพ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา และตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ 

หากเป็นจอประสาทตาเสื่อม มารับการรักษาได้ที่ ศูนย์รักษาโรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่มีบริการดูแลและรักษาโรคจอประสาทตาอย่างครบวงจร โดยจักษุแพทย์ ราคาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทการรักษา

calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111