มุมสุขภาพตา : #จอประสาทตาเสื่อม

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

รู้จักอาการและปัจจัยเสี่ยงของจอประสาทตาเสื่อม พร้อมวิธีการดูแลรักษา

จอประสาทตาเสื่อม คือโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ทำให้การมองเห็นส่วนกลางเสื่อมลงจากการเสื่อมสภาพของจอประสาทตา  จอประสาทตาเสื่อมทำให้มีอาการมองเห็นเป็นภาพเบลอ มองเห็นเป็นจุดดำๆ หรือมองเห็นเป็นแสงจ้า วิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่ การฉีดยา เลเซอร์ และการผ่าตัด ส่วนการป้องกันควรรักษาสุขภาพตา โดยการไม่สูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพตาปีละครั้ง การรักษาจอประสาทตาเสื่อมที่ศูนย์รักษาโรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีบริการครบวงจรโดยจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการดูแลแบบเฉพาะบุคคล   จอประสาทตาเสื่อมเป็นภาวะที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น ทำให้มองเห็นไม่ชัด มองเห็นเป็นจุดดำ และมองเห็นเป็นแสงจ้า มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมเพื่อดูแลสุขภาพตาและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บทความนี้ได้รวบรวมไว้ให้แล้ว     โรคจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร จอประสาทตาเสื่อม (AMD) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็น โดยโรคนี้เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายโดยเฉพาะที่จอประสาทตา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ ขณะที่การมองเห็นขอบภาพยังคงปกติ    โรคนี้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ในจุดศูนย์กลางของจอประสาทตา (Macula) ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการมองเห็น ทำให้การมองเห็นส่วนกลางค่อยๆ เสื่อมไป อาจเริ่มจากภาพตรงกลางที่ไม่ชัดเจน ภาพบิดเบี้ยว หรือสีผิดเพี้ยน จนกระทั่งไม่สามารถมองเห็นภาพตรงกลางได้ในที่สุด โดยจอประสาทตาเสื่อมสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้ 1. จอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD) รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 80-90% เกิดจากการสะสมของเสียที่จอประสาทตา ส่งผลให้เซลล์รับแสงเสื่อมสภาพอย่างช้าๆ ทำให้การมองเห็นลดลงทีละน้อย ซึ่งเป็นผลจากการเสื่อมตามอายุ 2. จอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) จอประสาทตาเสื่อมแบบเปียกพบได้ประมาณ 10-20% แต่มีความรุนแรงมากกว่า เกิดจากการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติใต้จอประสาทตา ซึ่งเส้นเลือดเหล่านี้อาจรั่วหรือแตก ทำให้เกิดการบวมและแผลเป็นที่จอประสาทตา ผู้ป่วยจึงเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยวและมืดลง ส่งผลให้การมองเห็นสูญเสียไปอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดในกลุ่มผู้สูงวัย     อาการของจอประสาทตาเสื่อมเป็นอย่างไร โรคจอประสาทตาเสื่อมส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้อย่างรุนแรง โดยจะมีการแบ่งระยะของอาการจอประสาทตาเสื่อมออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะจะมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกันไป ได้แก่ จอประสาทตาเสื่อมระยะแรก จอประสาทตาเสื่อมแบบแห้งอาการเริ่มต้นมักจะไม่ชัดเจน ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวจนกว่าภาวะเสื่อมจะดำเนินไปในระยะหนึ่ง จอประสาทตาเสื่อมระยะกลาง ในระยะกลางของจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง บางคนอาจยังไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ขณะที่บางคนอาจเริ่มสังเกตเห็นอาการเล็กน้อย เช่น ภาพเบลอเล็กน้อยในบริเวณศูนย์กลางภาพ หรือพบปัญหาในการมองเห็นในที่มีแสงน้อย จอประสาทตาเสื่อมระยะสุดท้าย ในระยะสุดท้ายของจอประสาทตาเสื่อม (ทั้งแบบเปียกและแห้ง) มองเห็นภาพเส้นตรงเป็นคลื่นหรือโค้งงอ และบริเวณใกล้ศูนย์กลางภาพอาจเบลอและขยายใหญ่ขึ้น สีภาพอาจไม่สดใสเหมือนเดิม และการมองเห็นในที่แสงน้อยอาจยากขึ้น สาเหตุที่ทำให้เป็นจอประสาทตาเสื่อม  จอประสาทตาเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การทำความเข้าใจถึงสาเหตุเหล่านี้จะช่วยในการป้องกันและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาเหตุที่พบบ่อยมีดังนี้ อายุที่มากขึ้น โดยพบโรคนี้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ผู้ที่มีญาติสายตรงควรตรวจเช็กจอประสาทตาทุกๆ 2 ปี พบการเกิดโรคสูงในคนผิวขาว (Caucasian) โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี การดื่มสุราและสูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ ผู้ที่มีความดันเลือดสูงหรือทานยาลดความดันเลือด พร้อมทั้งมีระดับไขมัน (Cholesterol) สูงและระดับ Carotenoid ต่ำในเลือด  ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับฮอร์โมน Estrogen การสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และแสงสีฟ้าที่มาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นระยะเวลานาน     ตรวจจอประสาทตาเสื่อมได้ด้วยวิธีไหนบ้าง การวินิจฉัยโรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาและป้องกันการสูญเสียการมองเห็น วิธีการวินิจฉัยโรคนี้มีหลายวิธี ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์ตรวจพบอาการจอประสาทตาเสื่อมได้อย่างแม่นยำ ได้แก่  การตรวจขยายม่านตา แพทย์จะใช้ยาหยอดตา 1-2 ชนิด หยอดทุก 5-10 นาที และให้ผู้ป่วยหลับตาระหว่างนั้น เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ การหยอดใช้เวลาประมาณ 45 นาที จนกว่าม่านตาจะขยายเต็มที่ เพื่อช่วยให้ตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตาได้ชัดเจน การตรวจจอประสาทตา การฉีดสาร Fluorescein เข้าเส้นเลือดดำเพื่อตรวจดูจอประสาทตา ช่วยให้แพทย์สามารถเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือด ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคจอประสาทตาเสื่อม การสแกนจอประสาทตา แพทย์จะใช้กล้องถ่ายภาพจอประสาทตาหรือวิธี OCT (Optical Coherence Tomography) เพื่อตรวจหาความผิดปกติหรือการเสื่อมของเซลล์ในจอประสาทตา     วิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม การรักษาจอประสาทตาเสื่อมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละกรณี ดังนี้ การใช้ยาและอาหารเสริม วิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อมด้วยยาต้าน VEGF (Vascular Endothelial Growth Factor) เป็นการฉีดยาสำหรับรักษาจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก ซึ่งช่วยยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติ ส่วนการรับประทานวิตามินซี วิตามินอี เบตาแคโรทีน สังกะสี และทองแดง อาจช่วยชะลอการลุกลามของจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้งในบางรายได้   ข้อดี ยาฉีดเหมาะกับการรักษาจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก วิตามินและแร่ธาตุมีราคาถูก และปลอดภัย ข้อจำกัด ยาฉีดควรฉีดเข้าดวงตาอยู่เสมอและอาจมีผลข้างเคียง วิตามินและแร่ธาตุได้ผลแค่กับเฉพาะบางคน การฉายเลเซอร์ การฉายเลเซอร์เพื่อรักษาจอประสาทตาเสื่อมมี 2 แบบ ได้แก่ Photodynamic therapy (PDT) ซึ่งใช้เลเซอร์ร่วมกับยาฉีดเพื่อทำลายเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติ และ Laser photocoagulation ที่ใช้เลเซอร์ในการทำลายเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติโดยตรง ข้อดี ทำลายเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติได้ดี ข้อจำกัด อาจทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อปกติรอบๆ และไม่สามารถได้ผลกับทุกคน การผ่าตัดจอประสาทตาเสื่อม การผ่าตัดเพื่อรักษาจอประสาทตาเสื่อมมี 2 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีจะถูกเลือกใช้ตามลักษณะและความรุนแรงของโรค ดังนี้ ผ่าตัดนำเลือดออก ช่วยเอาเลือดออกจากดวงตา เพื่อลดความดันและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายถาวรต่อจอประสาทตา ผ่าตัดปลูกถ่ายจอประสาทตา เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง การรักษานี้มุ่งหวังที่จะช่วยฟื้นฟูการมองเห็นของผู้ป่วย การใช้เทคโนโลยีใหม่ วิธีการใหม่ในการรักษาจอประสาทตาเสื่อมมีหลายรูปแบบที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูการมองเห็นและชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา ดังนี้ ยาฉีดชนิดใหม่ ที่ออกฤทธิ์นานขึ้นมีประโยชน์ในการช่วยลดความถี่ในการฉีด ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบายมากขึ้นและลดภาระในการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง Gene Therapy เป็นการรักษาโดยการใส่ยีนที่ปกติลงในเซลล์จอประสาทตาเพื่อซ่อมแซมความเสียหาย การทำงานของจอประสาทตาและชะลอการเสื่อมของการมองเห็น Stem Cell Therapy ใช้สเต็มเซลล์เพื่อสร้างเซลล์จอประสาทตาใหม่ ช่วยในการฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่เสียหายและคืนการมองเห็นให้กับผู้ป่วย การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม การป้องกันนี้มีเป้าหมายเพื่อชะลอการเกิดภาวะจอประสาทตาเสื่อมให้ช้าลง ซึ่งประกอบด้วยแนวทางต่างๆ ที่นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ดังนี้ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ควบคุมความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือด ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว เนื้อปลา และผลไม้ แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีเบตาแคโรทีน โดยเฉพาะลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ในปริมาณสูง เช่น แอปเปิล บรอกโคลี ข้าวโพด แตงกวา องุ่น มะม่วง ส้ม ฟักทอง ผักโขม ถั่ว พริก และไข่แดง เป็นต้น ตรวจสุขภาพและตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี สวมแว่นตากันแดดที่เคลือบสารป้องกันรังสี UV และใช้ร่มที่สะท้อนรังสี UV เมื่อออกกลางแดด สรุป จอประสาทตาเสื่อมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ อาการของจอประสาทตาเสื่อม เช่น การมองเห็นภาพเบลอ มองเห็นจุดดำ หรือมองเห็นเป็นแสงจ้า สาเหตุมักเกิดจากอายุ พันธุกรรม โรคเบาหวาน หรือการสูบบุหรี่ การรักษาจอประสาทตาเสื่อมทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการฉีดยาเลเซอร์ การใช้ยาต้าน VEGF และการผ่าตัด และเพื่อป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควบคุมสุขภาพ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา และตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ  หากเป็นจอประสาทตาเสื่อม มารับการรักษาได้ที่ ศูนย์รักษาโรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่มีบริการดูแลและรักษาโรคจอประสาทตาอย่างครบวงจร โดยจักษุแพทย์ ราคาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทการรักษา
ศูนย์รักษาจอประสาทตา

5 สุดยอดอาหารบำรุงจอประสาทตา

5 สุดยอดอาหารบำรุงจอประสาทตา :  เสริมแกร่งสายตาคู่ใจ เพื่อการมองเห็นที่คมชัด จอประสาทตา คือ อวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่รับภาพและส่งสัญญาณไปยังสมอง ทำให้เรามองเห็นโลกอันสวยงามรอบตัวเรา การดูแลรักษาจอประสาทตาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้น อาจส่งผลต่อการมองเห็นอย่างถาวรได้ นอกจากการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำแล้ว การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยบำรุงและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับจอประสาทตาได้ อาหาร 5 ชนิด ที่ช่วยบำรุงจอประสาทตา และความสำคัญของสารอาหารแต่ละชนิดในอาหาร 1.    ผักใบเขียวเข้ม : ผักใบเขียว เช่น คะน้า ตำลึง ผักโขม และผักบุ้ง อุดมไปด้วยลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องจอประสาทตาจากแสงสีฟ้าและรังสียูวี o    ลูทีนและซีแซนทีน : ทำหน้าที่เป็นเหมือน “แว่นกันแดดภายใน” ช่วยกรองแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายต่อดวงตา และยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Age-related Macular Degeneration - AMD) อ้างอิงจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Ophthalmology 2.    ปลาที่มีไขมันสูง : ปลาแซลมอน ปลาทูน่า และปลาแมคเคอเรล เป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาสุขภาพของจอประสาทตา o    กรดไขมันโอเมก้า-3 : ช่วยลดการอักเสบและป้องกันจอประสาทตาแห้ง นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าโอเมก้า-3 อาจช่วยชะลอการลุกลามของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ อ้างอิงจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Ophthalmology 3.    ไข่ : ไข่แดงอุดมไปด้วยลูทีน ซีแซนทีน และสังกะสี o    สังกะสี : ช่วยในการขนส่งวิตามินเอไปยังจอประสาทตา ซึ่งวิตามินเอมีบทบาทสำคัญในการมองเห็นในที่แสงน้อย การขาดสังกะสีอาจนำไปสู่ภาวะตาบอดกลางคืนได้ 4.    ผลไม้ตระกูลเบอร์รี : บลูเบอร์รี สตรอว์เบอร์รี และราสเบอร์รี เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ o    สารต้านอนุมูลอิสระ : ช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาจากความเสียหาย และยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังดวงตา ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพตาโดยรวม 5.    ถั่วและเมล็ดพืช : อัลมอนด์ วอลนัท และเมล็ดทานตะวัน เป็นแหล่งของวิตามินอี o    วิตามินอี : เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตา วิตามินอียังช่วยลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อมตามที่ระบุในวารสารทางการแพทย์หลายฉบับ เมนูอาหารบำรุงสายตาที่คุณสามารถทำเองได้ง่ายๆ สลัดผักโขมกับปลาแซลมอนย่าง : อุดมไปด้วยลูทีน ซีแซนทีน และโอเมก้า-3 ไข่เจียวใส่ผัก : ได้รับทั้งลูทีน ซีแซนทีน และสังกะสี โยเกิร์ตกับผลไม้รวมและถั่ว : รวมสารอาหารบำรุงสายตาหลายชนิดไว้ในเมนูเดียว น้ำปั่นบลูเบอร์รี : ดื่มง่าย ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเต็มๆ ผลงานวิจัยสนับสนุน งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Ophthalmology พบว่า การรับประทานอาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีนสูง ช่วยลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมขั้นสูงได้ งานวิจัยในวารสาร Archives of Ophthalmology ระบุว่า ผู้ที่รับประทานปลาที่มีไขมันสูงเป็นประจำ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมน้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยรับประทาน  ที่ศูนย์รักษาจอประสาทตา โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ เรามีทีมจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านจอประสาทตา พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย คอยให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคทางจอประสาทตาอย่างครบวงจรหากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพตา หรือต้องการเข้ารับการตรวจเช็คสุขภาพตา สามารถติดต่อได้ที่ 02-511-2111 ศูนย์รักษาจอประสาทตา โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ ได้ทันที เราพร้อมดูแลดวงตาของคุณ เพื่อให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมองเห็นโลกได้อย่างชัดเจน สุขภาพตาที่ดี เริ่มต้นจากการใส่ใจ
ศูนย์รักษาจอประสาทตา

จอประสาทตา: กุญแจสำคัญสู่โลกที่สดใส - ใส่ใจสุขภาพดวงตา ตรวจเช็กก่อนสาย

"จอประสาทตา" กุญแจสำคัญสู่โลกที่สดใส ดวงตา คือ หน้าต่างที่เปิดให้เราเห็นโลกใบนี้ แต่เบื้องหลังความงดงามนั้น มี "จอประสาทตา" หรือเรตินา ทำหน้าที่เสมือนกล้องถ่ายรูปที่มีความละเอียดสูงสุด คอยบันทึกทุกภาพที่เราเห็น แปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วส่งต่อไปยังสมอง ให้เราได้สัมผัสกับสีสัน ความเคลื่อนไหว และรายละเอียดต่างๆ รอบตัว จอประสาทตา สำคัญอย่างไร? ลองนึกภาพว่า หาก "กล้อง" หรือจอประสาทตาของเราเกิดขีดข่วนหรือเสียหาย ภาพที่ออกมาก็จะเบลอ พร่ามัว ไม่คมชัด จอประสาทตาก็เช่นกัน หากเกิดความผิดปกติจะส่งผลโดยตรงต่อการมองเห็น อาจเริ่มจากตามัว มองเห็นภาพบิดเบี้ยว จนลุกลามถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคุณภาพชีวิต ภัยเงียบที่จ้องคุกคาม : โรคจอประสาทตา โรคจอประสาทตามีหลายชนิด บางชนิดอาจไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่ค่อยๆ ทำลายการมองเห็นอย่างช้าๆ จึงเป็น "ภัยเงียบ" ที่เราต้องตระหนักและหมั่นตรวจเช็คสุขภาพดวงตาอยู่เสมอ ตัวอย่างโรคจอประสาทตาที่พบบ่อย ได้แก่ :       • จอประสาทตาเสื่อม : พบมากในผู้สูงอายุ ทำให้สูญเสียการมองเห็นบริเวณกลางภาพ ส่งผลต่อการอ่านหนังสือ การขับรถ และกิจวัตรประจำวันอื่นๆ       • เบาหวานขึ้นจอประสาทตา : ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ทำให้หลอดเลือดที่จอประสาทตาผิดปกติ อาจนำไปสู่การมองเห็นภาพซ้อน หรือสูญเสียการมองเห็นได้       • จอประสาทตาฉีกขาด : เกิดจากการลอกตัวของชั้นจอประสาทตา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างกะทันหัน จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ในโอกาสวันจอประสาทตาโลกนี้ โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ ขอเชิญชวนทุกท่านมาดูแลและใส่ใจสุขภาพดวงตา โดยเฉพาะการตรวจเช็คจอประสาทตาเป็นประจำเพื่อป้องกันและรักษาความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคทางตา ศูนย์รักษาจอประสาทตา โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ: มั่นใจ..ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง เรามีทีมจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านจอประสาทตา พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย คอยให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคจอประสาทตาอย่างครบวงจร ด้วยความใส่ใจและมาตรฐานระดับสากล เพื่อให้คุณมั่นใจว่าดวงตาของคุณจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด  
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111