มุมสุขภาพตา : #แสงสีฟ้า

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และพฤติกรรมที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

รู้จักกับแสงสีฟ้าในชีวิตประจำวัน และวิธีลดผลกระทบต่อสุขภาพดวงตา

แสงสีฟ้าคือคลื่นแสงพลังงานสูงที่มีความยาวคลื่นสั้น อยู่ในช่วง 415-455 นาโนเมตร พบได้ทั้งจากแหล่งธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ และจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเลต สมาร์ตโฟน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อดวงตาและการนอนหลับได้ แสงสีฟ้าอาจทำให้ดวงตาล้า ตาแห้ง มองเห็นไม่ชัด เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อม และรบกวนการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ส่งผลให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท การป้องกันแสงสีฟ้าทำได้โดยปรับความสว่างหน้าจอให้เหมาะสม ใช้โหมดแสงสีโทนอุ่น สวมแว่นกรองแสงสีฟ้า พักสายตาด้วยกฎ 20-20-20 ใช้น้ำตาเทียมบรรเทาตาแห้ง และหลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอก่อนนอน Bangkok Eye Hospital มีบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการตาล้า ตาแห้ง และปัญหาสายตาจากแสงสีฟ้า ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมในอนาคต   ยุคที่เทคโนโลยีและการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น แสงสีฟ้าที่ปล่อยออกมาจากหน้าจอเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่เราสัมผัสอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าแสงสีฟ้าจะมีประโยชน์ในหลายด้าน แต่ก็มีผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาและการนอนหลับหากได้รับในปริมาณมากเกินไป มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับแสงสีฟ้าและวิธีการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาและการใช้ชีวิตประจำวันกัน     แสงสีฟ้าคืออะไร? ทำไมถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตา แสงสีฟ้า (Blue Light) คือคลื่นแสงที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งมีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 415-455 nm แสงสีฟ้ามีพลังงานสูงและคล้ายคลึงกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จึงสามารถทะลุผ่านอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะดวงตาและอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตา     แหล่งที่มาของแสงสีฟ้าในชีวิตประจำวัน ในชีวิตประจำวัน การหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแสงสีฟ้ามีทั้งที่มาจากแหล่งธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ ซึ่งแต่ละแหล่งจะมีระดับความเข้มข้นของแสงสีฟ้าที่แตกต่างกันไป ดังนี้ แสงสีฟ้าจากธรรมชาติ นอกจากแสงสีฟ้าที่มาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว แสงสีฟ้ายังสามารถพบได้จากธรรมชาติอีกด้วย เช่น แสงจากดวงอาทิตย์ที่ผ่านชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีพลังงานสูงและความยาวคลื่นสั้น เมื่อแสงเหล่านี้ปะทะกับโมเลกุลของน้ำและอากาศ จะกระจายฟุ้งออกทั่วท้องฟ้าในเวลากลางวัน ทำให้เรามองเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า แสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แสงสีฟ้าที่มาจากหน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สมาร์ตโฟน อุปกรณ์ทัชสกรีนต่างๆ หรือแม้กระทั่งหลอดไฟฟ้า ความเข้มข้นของแสงสีฟ้าในแต่ละอุปกรณ์อาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะและประเภทของอุปกรณ์นั้นๆ     ผลกระทบของแสงสีฟ้าต่อสุขภาพดวงตาและการนอนหลับ อันตรายจากแสงสีฟ้าคือการที่คลื่นพลังงานสูงสามารถทำลายเซลล์ในเลนส์ตา โดยเฉพาะจอตา (Retina) ส่งผลให้การส่งภาพไปยังประสาทตาไม่แม่นยำ ทำให้มองเห็นภาพเบลอ ตามัว หรือปรับแสงไม่ทัน ซึ่งอาจทำให้ดวงตาต้องใช้เวลาปรับตัวกับสภาพแสงใหม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพดวงตาและการนอนหลับได้ดังนี้ อาการตาล้าและตาแห้ง อาการตาล้า (Asthenopia)และตาแห้ง (Dry Eyes)มักเกิดจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีรังสี UV และคลื่นแสงสีฟ้าที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการคันตาและตาแดง หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ภาวะผิวกระจกตาอักเสบพร้อมรอยแผลบนกระจกตา และทำให้พื้นผิวกระจกตามีความขรุขระ ส่งผลให้เกิดความระคายเคืองและความรำคาญขณะใช้สายตาในชีวิตประจำวัน จอประสาทตาเสื่อม โรคจอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration)เกิดจากภาวะจอตาบวมและจุดภาพชัด (Macula) ที่รับคลื่นพลังงานแสงสีฟ้าจากหน้าจอ โดยไม่ใช้แว่นกรองแสงสีฟ้าหรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตา ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพในการส่งสัญญาณการมองเห็นไปยังเส้นประสาทตา ส่งผลให้เกิดอาการตามัวและการมองเห็นที่เสื่อมลง เช่น เห็นภาพสีเพี้ยน มองไม่ชัด หรือเห็นจุดดำตรงกลางภาพ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการแพ้แสงสีฟ้า เช่น ตาแสบ ตาร้อน และตาแห้ง หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่การตาบอดในที่สุด นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท การได้รับคลื่นพลังงานแสงสีฟ้ามากเกินไปสามารถส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ (Insomnia) โดยการรบกวนระบบนาฬิกาชีวิต (Circadian Rhythm) ของร่างกาย แสงสีฟ้าจากหน้าจอจะทำให้ต่อมไพเนียล (Pineal gland) ที่ผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ซึ่งอาจทำให้สุขภาพโดยรวมเสื่อมลงหากไม่ได้รับการดูแล     วิธีป้องกันแสงสีฟ้าจากหน้าจอ การป้องกันแสงสีฟ้าจากหน้าจอเป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยถนอมดวงตาและหลีกเลี่ยงผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้หน้าจอนานๆ ซึ่งมีหลายวิธีที่สามารถช่วยลดการสัมผัสกับแสงสีฟ้า ได้แก่ ใส่แว่นกรองแสงสีฟ้า การเลือกใช้เลนส์กรองแสงสีฟ้าสามารถช่วยลดความเครียดของดวงตาและอาการอักเสบ เช่น ตาแดงได้ โดยควรเลือกเลนส์ที่มีประสิทธิภาพในการกรองแสงสีฟ้าระหว่าง 10-65% การทดสอบคุณภาพสามารถทำได้โดยการวัดผลสเปกตรัม RGB ทดสอบเม็ดสีของเลนส์ หรือการสะท้อนแสงสีฟ้าจากเลนส์เพื่อเช็คประสิทธิภาพการกรองแสง ปรับความสว่างหน้าจอให้พอดี ควรปรับระดับแสงจากหน้าจอให้เป็นโทน Warm light เพื่อให้สอดคล้องกับแสงในห้องที่ใช้งาน หากทำงานในเวลากลางคืน ควรเปิดโคมไฟแสงสีขาวร่วมกับการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์ พักสายตาตามหลัก 20-20-20 การถนอมสายตาด้วยกฎ 20-20-20 คือการพักดวงตาที่ได้รับรังสีแสงสีฟ้าจากการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือทำกิจกรรมที่ใช้สายตามากเกินไป โดยเริ่มจากการหลับตาหรือมองออกไปยังทิวทัศน์ที่มีระยะห่างอย่างน้อย 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที ทุกๆ 20 นาทีในระหว่างทำกิจกรรม ติดฟิล์มกรองแสงสีฟ้า ฟิล์มกรองแสงบนจอคอมพิวเตอร์ช่วยป้องกันแสงสีฟ้าที่มีคลื่นรังสี UV และพลังงานสูง ซึ่งสามารถลดอาการตาล้า สายตามัว และตาเบลอจากการจ้องจอนานๆ นอกจากนี้ยังช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของดวงตา และเพิ่มอายุการใช้งานของสายตาให้ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดภาระการปรับตัวโฟกัสของสายตาจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง     หยอดน้ำตาเทียม น้ำตาเทียม (Artificial tears)เป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับน้ำตาธรรมชาติ ช่วยหล่อลื่นและเพิ่มความชุ่มชื่นแก่ดวงตา บรรเทาอาการตาล้า ตาแห้ง และอาการแพ้แสงสีฟ้าจากการใช้จอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยช่วยลดความระคายเคืองในดวงตาและทำให้อาการตาล้าบรรเทาลงได้ รับประทานอาหารบำรุงสายตา สารอาหารบำรุงสายตาที่ช่วยลดอาการตาแห้ง ตาล้า และต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ การรับสารอาหาร Omega-3 fatty acids ที่มักพบใน ปลาทะเลน้ำลึก เช่น แซลมอน ทูน่า แมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน นอกจากนี้ยังมีสารสกัดจากบิลเบอร์รี่ที่มีสารแอนโธไซยานิน (Anthocyanins) ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตในดวงตา รวมไปถึง Lutein และ Zeaxanthin ที่มักพบในผักใบเขียว ช่วยลดอาการตาล้า และดวงตาฟื้นตัวเร็วขึ้นจากการใช้งานหนัก ตรวจสุขภาพดวงตาสม่ำเสมอ ผู้ที่ทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ในสายงานดิจิทัล โปรแกรมเมอร์ และอาชีพอื่นๆ ที่ต้องจดจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปอาจเกิดภาวะตาล้าสะสมได้ รวมถึงคนที่มีภาวะสายตาสั้นหรืออายุ 40 ปีขึ้นไปที่เริ่มมีอาการสายตายาว ควรนัดตรวจสุขภาพตาประจำปี เพื่อประเมินสภาพการทำงานของดวงตา พร้อมรับคำแนะนำในการถนอมสายตาจากแสงสีฟ้า เช่น การสวมแว่นตาที่มีเลนส์กรองแสงสีฟ้า และการให้ยาบำรุงสายตา   สรุป แสงสีฟ้า (Blue Light) คือแสงที่มาจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากธรรมชาติ เช่น แสงแดด และจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ แสงสีฟ้ามีความเข้มข้นสูงและสามารถทะลุผ่านดวงตาไปยังจอตา ทำให้เกิดอาการตาล้า ตาแห้ง และเสี่ยงต่อโรคตาเสื่อมและปัญหาการนอนหลับ วิธีป้องกัน ได้แก่ การใช้เลนส์กรองแสงสีฟ้า การพักสายตา และปรับความสว่างหน้าจอให้เหมาะสม   โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพมีบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการตาล้าและตาแห้งจากแสงสีฟ้า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อป้องกันและรักษาอาการเหล่านี้ก่อนที่จะลุกลามและกลายเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาว   FAQ แสงสีฟ้าที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดวงตาของเราในชีวิตประจำวัน หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับแสงสีฟ้า นี่คือคำตอบสำหรับคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับแสงสีฟ้า เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจและรับมือได้ดีขึ้น แสงสีฟ้าอันตรายและทำลายตาจริงไหม? แสงสีฟ้าสามารถทะลุเข้าทำลายเซลล์รับแสงในจอตา ซึ่งอาจส่งผลให้การมองเห็นในส่วนกลางของภาพเสื่อมลงได้ แว่นตัดแสงสีฟ้า จำเป็นไหม แว่นตัดแสงสีฟ้ายังไม่จำเป็นสำหรับบุคคลทั่วไป แต่เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้หน้าจอเป็นเวลานาน หรือผู้ที่มีปัญหาจอตาเสื่อมอยู่แล้ว ทำไมแสงสีฟ้าทำให้นอนไม่หลับ   เมื่อดวงตามองเห็นแสงสีฟ้า มันจะส่งสัญญาณไปยังสมองว่าเป็นเวลากลางวัน ซึ่งจะไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน ฮอร์โมนนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมนาฬิกาชีวิตของเรา โดยเฉพาะการนอนหลับและการตื่นนอน เมื่อมีแสงสีฟ้ามากเกินไปในช่วงเย็น จะทำให้การผลิตเมลาโทนินลดลง จึงทำให้เรานอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
ศูนย์เลสิก LASER VISION

เทคนิคการเลือกแว่นตาหลังทำเลสิก

เทคนิคการเลือกแว่นตาหลังทำเลสิก หลังจากที่ทำเลสิกแล้วเพื่อให้แผลหายเร็วและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การรักษาความสะอาดคือการหลีกเลี่ยงแสงแดด การใส่แว่นกันแดดเป็นสิ่งหนึ่งที่คุณสามารถทำเพื่อดูแลดวงตาของคุณหลังการผ่าตัดได้ โดยมีเทคนิคการเลือกแว่นกันแดดดังนี้   🌞 เลือกเลนส์ที่สามารถป้องกันแสง UV ได้ 99-100% แสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์สามารถทำอันตรายต่อดวงตาได้ แม้ว่าจะทำเลสิกแล้วก็ตาม การใส่แว่นกันแดดที่มีเลนส์ป้องกัน UV จึงเป็นสิ่งสำคัญ 🌞 ถ้าอยู่ในที่ ๆ มีแสงสะท้อนเยอะ ควรเลือกเลนส์โพลาไรซ์ซึ่งช่วยตัดแสงสะท้อนจะทำให้สบายตามากขึ้น 🌞 เลือกสีให้เหมาะกับการใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสีดำมืดก็ได้ 🌞 เลือกขนาดที่เหมาะกับใบหน้า เลนส์ควรมีความกว้างเท่ากับใบหน้าของคุณ สันจมูกควรสวมได้พอดีโดยไม่รัดแน่นเกินไป และขาแว่นควรสวมได้พอดีโดยไม่กดทับใบหน้า   สามารถมาเลือกแว่นตากันแดดแบรนด์ชั้นนำได้ที่ร้าน WALTZ ในโรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ Bangkok Eye Hospital ชั้น 3 เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 10.00 -19.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-511-2111
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111