มุมสุขภาพตา : #เบาหวานขึ้นตา

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และพฤติกรรมที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม
ศูนย์รักษาจอประสาทตา

อาการเบาหวานขึ้นตา กันไว้ดีกว่าแก้ ปล่อยไว้อาจสูญเสียการมองเห็นได้!

ผู้ป่วยเบาหวานต้องรู้! อาการเบาหวานขึ้นตา ภัยร้ายที่ต้องเฝ้าระวัง อาจเป็นสาเหตุทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ บทความนี้จะพาไปดูว่าอาการเบาหวานขึ้นตาคืออะไร มีอาการเป็นอย่างไร พร้อมทั้งเจาะลึกหาสาเหตุของอาการ รวมถึงแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี ไปหาคำตอบกันเลย! อาการเบาหวานขึ้นตา คือภาวะที่เป็นผลมาจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานานจนทำให้หลอดเลือดที่จอประสาทตาได้รับความเสียหาย จนส่งผลกระทบต่อการมองเห็น อาการเบาหวานขึ้นตาแบ่งออกเป็น 2 ระยะตามความรุนแรง ได้แก่ ระยะเริ่มแรกที่ยังไม่แสดงอาการ หรือส่งผลต่อการมองเห็นเล็กน้อย และระยะก้าวหน้าที่ส่งผลต่อการมองเห็นจนอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ภาวะแทรกซ้อนของอาการเบาหวานขึ้นตา เช่น เลือดออกในวุ้นตาจอตาลอกต้อหินไปจนถึงการสูญเสียการมองเห็น หากมีอาการเบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก แพทย์จะแนะนำให้ดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีเพื่อประคับประคองอาการ แต่หากเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้นจนเป็นระยะก้าวหน้าแพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยยา เลเซอร์ หรือการผ่าตัดตามเหมาะสม รักษาเบาหวานขึ้นตาไม่สามารถทำให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการและลดโอกาสเกิดการลุกลามได้ จึงควรเข้ามาพบแพทย์เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติทางการมองเห็น     เบาหวานขึ้นตา คืออะไร โรคเบาหวาน คืออาการที่เกิดจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเป็นระยะเวลานาน ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากความบกพร่องในการผลิตอินซูลินที่เป็นฮอร์โมนช่วยนำน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย หรือเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลินที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน เมื่อร่างกายไม่นำน้ำตาลไปใช้น้ำตาลก็จะสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมากนั่นเอง อาการเบาหวานขึ้นตา หรือจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน (Diabetic Retinopathy) คือภาวะที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดที่จอประสาทตา (Retina) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อทำหน้าที่รับแสงและส่งสัญญาณภาพไปยังสมองได้รับความเสียหายจนส่งผลต่อการมองเห็น อาการเบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน จึงควรเฝ้าระวังเป็นอย่างมากเพราะอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้เลยทีเดียว! อาการเบาหวานขึ้นตาเป็นอย่างไร ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหมั่นสังเกตอาการเบาหวานขึ้นตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีหากมีอาการ ป้องกันการสูญเสียการมองเห็นในอนาคต โดยอาการที่สังเกตได้ มีดังนี้ มองเห็นภาพมัวหรือมองเห็นได้ไม่ชัดเกิดจากหลอดเลือดที่จอประสาทตาเสียหาย ทำให้จอประสาทตาบวม หรือมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา มีจุดดำหรือเส้นลอยไปมาในสายตาเกิดจากเลือดหรือของเหลวรั่วไหลออกมาในน้ำวุ้นตา มองเห็นภาพบิดเบี้ยวเกิดจากจอประสาทตาบวม หรือมีของเหลวรั่วซึมเข้าไปในจอประสาทตา มองเห็นสีผิดเพี้ยนอาจมีปัญหาในการแยกแยะสีต่างๆ โดยเฉพาะสีแดงและสีเขียว มองไม่ค่อยเห็นในที่มืดและมีปัญหาในการมองเห็นในสภาพแสงน้อย สูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและตำแหน่งที่เกิดความเสียหายบนจอประสาทตา     เบาหวานขึ้นตา 2 ระยะ ที่ควรรู้! นอกจากอาการเบาหวานขึ้นตาข้างต้นแล้ว เบาหวานขึ้นตายังแบ่งออกเป็น 2 ระยะตามความรุนแรงของอาการได้อีกด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้ เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก (Non-Proliferative Diabetic Retinopathy - NPDR) คือระยะที่หลอดเลือดฝอยเล็กๆ ที่จอประสาทตาเริ่มผิดปกติแต่ยังไม่รุนแรงมากนัก มีสาเหตุจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้ผนังหลอดเลือดที่จอประสาทตาอ่อนแอ เปราะบาง ทำให้หลอดเลือดโป่งพอง มีเลือดออกเล็กน้อย หรือมีของเหลวรั่วซึมออกมา ในระยะนี้ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการใดๆ หรืออาจมีมองเห็นภาพมัวเล็กน้อย จักษุแพทย์สามารถตรวจพบความผิดปกติของหลอดเลือดที่จอประสาทตาได้จากการตรวจตาหากมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า (Proliferative Diabetic Retinopathy - PDR) คือระยะที่อาการเริ่มรุนแรงมากขึ้น เกิดจากหลอดเลือดที่จอประสาทตาถูกทำลายอย่างรุนแรงจนร่างกายพยายามสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่หลอดเลือดใหม่เหล่านี้มีผนังบาง เปราะและแตกง่าย โดยสาเหตุหลักของระยะนี้คือภาวะขาดออกซิเจนที่จอประสาทตาเนื่องจากหลอดเลือดเดิมถูกทำลาย ร่างกายจึงกระตุ้นให้สร้างหลอดเลือดใหม่เพื่อนำออกซิเจนมาเลี้ยงจอประสาทตา ผู้ป่วยในระยะนี้จะมีอาการมองเห็นภาพมัวมากขึ้น มีจุดดำหรือเส้นลอยไปมาในสายตาจำนวนมาก มองเห็นภาพบิดเบี้ยว และอาจสูญเสียการมองเห็นหากมีเลือดออกในน้ำวุ้นตาหรือเกิดจอประสาทตาหลุดลอก และยังมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดต้อหิน และโรคตาอื่นๆ ร่วมด้วย     เบาหวานขึ้นตาห้ามละเลย อาจสูญเสียการมองเห็นได้! เบาหวานขึ้นตาหากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ โดยมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากอาการเบาหวานขึ้นตา ดังนี้ เลือดออกในวุ้นตาผู้ป่วยจะเริ่มมองเห็นจุดสีดำลอยไปมา หากปล่อยไว้จนมีเลือดออกมาในปริมาณมากอาจทำให้บดบังการมองเห็นได้ และใช้เวลารักษาอาการเลือดออกในวุ้นตาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน จอตาลอกแผลในตาที่เกิดจากเบาหวานขึ้นตาส่งผลให้เกิดการดึงรั้งบริเวณจอตาจนเกิดเป็นแผลหรือรอยจอตาลอก ส่งผลให้มองเห็นจุดดำลอยไปมา เห็นแสงวาบ และสูญเสียการมองเห็นอย่างรุนแรง ต้อหินกลุ่มเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของร่างกายอาจแทรกแซงการระบายน้ำในลูกตา ความดันตาจึงสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากดวงตาไปยังสมอง สูญเสียการมองเห็นอาการเบาหวานขึ้นตาที่ก่อให้เกิดต้อหิน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ท้ายที่สุดจะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ การตรวจวินิจฉัยเบาหวานขึ้นตาโดยแพทย์ วิธีรักษาเบาหวานขึ้นตา แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนเข้ามาตรวจตาและขยายม่านตาเพื่อตรวจจอตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติหรือไม่มีอาการที่เป็นสัญญาณของเบาหวานขึ้นตาเลยก็ตาม หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการเบาหวานขึ้นตา แพทย์จะแนะนำให้มาตรวจบ่อยขึ้นเพื่อประคองอาการ หลังจากตรวจวินิจฉัยเบาหวานขึ้นตา ผู้ป่วยมีมักมีอาการตามัวเป็นเวลา 4 - 6 ชั่วโมง จึงควรมีผู้ดูแลเดินทางไปด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางหลังการวินิจฉัยนั่นเอง     แนวทางการรักษาเบาหวานขึ้นตา วิธีรักษาเบาหวานขึ้นตาแบ่งออกตามระยะอาการ โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้ แนวทางรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก วิธีรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรกที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ การมองเห็นยังเป็นปกติ แพทย์จะแนะนำให้ควบคุมระดับน้ำตาลและระดับน้ำตาลสะสมให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ รวมถึงควบคุมอาการโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อประคับประคองอาการและชะลอความรุนแรงของโรค พร้อมนัดให้ผู้ป่วยเข้ามาตรวจหาความผิดปกติของโรคอย่างสม่ำเสมอ หากอาการเริ่มรุนแรงขึ้นจะได้รับการรักษาทันท่วงที แนวทางรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า วิธีรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้าทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้ รักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยยาแพทย์จะฉีดยาเข้าวุ้นตาเพื่อลดการรั่วของหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดที่เกิดขึ้นมาใหม่ฝ่อลง อย่างไรก็ตาม ตัวยาออกฤทธิ์ไม่ถาวรและอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในวุ้นตา ตาอักเสบ เป็นต้น รักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยเลเซอร์วิธีมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตาที่เริ่มสร้างหลอดเลือดใหม่หรืออาการจุดภาพชัดบวม เลเซอร์จะช่วยให้เส้นเลือดใหม่ฝ่อลง จอตายุบ ลดอาการเลือดออกในตา และลดความเสี่ยงตาบอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รักษาเบาหวานขึ้นตาด้วยการผ่าตัดหากผู้ป่วยเริ่มมีอาการรุนแรง เลือดออกในตาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการดึงรั้งที่พังผืดจอประสาทตา การผ่าตัดวุ้นตาจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ซ่อมแซมจอตาที่ลอกให้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงตาบอด และเรียกคืนการมองเห็น ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลอาการเบาหวานขึ้นตา การป้องกันโรคเบาหวานขึ้นตาได้ดีที่สุดคือการดูแลตัวเองไม่ให้เป็นเบาหวาน แต่สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานแล้ว มาดูกันว่ามีแนวทางดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อป้องกันอาการเบาหวานขึ้นตา ดังนี้ กินอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงอาหารรสจัด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม อยู่ในระดับปกติที่ระหว่าง 70 - 100 mg/dL ควบคุมความดันให้ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดหรือลดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตการมองเห็นของตัวเองว่ามีอาการผิดปกติไหม เช่น มองเห็นไม่ชัด ตามัว มองเห็นเป็นจุดดำ เป็นต้น ไปพบจักษุแพทย์ตามนัดเป็นประจำแม้ไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็น เบาหวานขึ้นตา รักษาให้หายขาดได้ไหม? อาการเบาหวานขึ้นตาไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงการลุกลามของโรคจนเป็นสาเหตุให้สูญเสียการมองเห็นได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด     เบาหวานขึ้นตา เลือกกินได้อย่างไร หากมีอาการเบาหวานหรือเบาหวานขึ้นตาสามารถเลือกกินอย่างถูกวิธีเพื่อประคับประคองอาการและรักษาระดับน้ำตาลให้เหมาะสมได้ ดังนี้ เลือกกินผักผลไม้ที่น้ำตาลต่ำ เช่น แอปเปิล ฝรั่ง ชมพู่ เป็นต้น เลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันเพื่อลดไขมันในเลือด เช่น เนื้อปลา อกไก่ เป็นต้น หลีกเลี่ยงขนมหวานและอาหารที่มีน้ำตาลสูง หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัดหรืออาหารที่ผ่านการปรุงด้วยเกลือแกง น้ำปลา ซีอิ๊วขาว หรือซอส รักษาเบาหวานขึ้นตา ที่ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการเบาหวานขึ้นตาได้ที่ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาอย่างมีประสิทธิภาพด้วยข้อโดดเด่นที่น่าสนใจ ดังนี้ โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ คอยให้คำปรึกษา วินิจฉัย และแนวทางการรักษาที่เหมาะสม โรงพยาบาลมีเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เป็นการรักษาสมัยใหม่ด้วยเครื่องมือที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาที่แม่นยำและปลอดภัย โรงพยาบาลให้การรักษาอย่างครบวงจร พร้อมให้บริการตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ตลอดจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ โรงพยาบาลใส่ใจในการบริการ และมีบรรยากาศที่เป็นกันเอง สรุป อาการเบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะที่จอประสาทตาได้รับความเสียหายจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ในระยะเริ่มแรกจะยังไม่รุนแรงมากนัก แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองผ่านการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตและการเลือกกิน พร้อมประคับประคองโรคอื่นๆ ด้วย แต่หากเป็นหนักถึงขั้นระยะก้าวหน้า ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นไม่ชัด มองเห็นเป็นจุดดำ หรือสูญเสียการมองเห็นเลยก็ได้ แพทย์จะรักษาโดยการใช้ยา การเลเซอร์ หรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานแม้ว่าจะยังมองเห็นได้ชัดเจนเป็นปกติ ควรเข้ามาตรวจสุขภาพดวงตาเพื่อเฝ้าระวังอาการเบาหวาน มาที่ศูนย์โรคจอประสาทตา Bangkok Eye Hospitalเรามีบริการตรวจและรักษาอาการเบาหวานขึ้นตาอย่างครบวงจรด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ รักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มั่นใจได้ในผลลัพธ์การรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111