มุมสุขภาพตา : #ลม

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

โรคต้อลมเกิดจากอะไร อาการที่พบบ่อย พร้อมวิธีรักษาและการป้องกัน

ต้อลมคือการสะสมของไขมัน โปรตีน หรือแคลเซียมบริเวณดวงตา ทำให้เกิดเป็นรอยนูนสีเหลืองบนเยื่อบุตา อาการต้อลม ได้แก่ รอยนูนสีเหลืองในตาขาว ตาแดง เจ็บตา ระคายเคือง ตาแห้ง น้ำตาไหลผิดปกติ และรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา วิธีรักษาต้อลม ทำได้โดยการใช้ยาหยอดตา ขี้ผึ้ง หรือในบางกรณีอาจต้องผ่าตัดร่วมด้วย รักษาต้อลมที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีความเฉพาะทางในการดูแลโรคตา ด้วยอุปกรณ์และจักษุแพทย์   ต้อลมคือปัญหาสุขภาพตาที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าต้อลมคืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง รวมถึงวิธีรักษาและแนวทางการป้องกันต้อลม เพื่อช่วยให้ดวงตาของเราสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคตาเหล่านี้ ทำได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย     ทำความเข้าใจว่าต้อลมคืออะไร โรคต้อลม (Pinguecula) คือการสะสมของไขมัน โปรตีน หรือแคลเซียมบริเวณดวงตา ทำให้เกิดเป็นรอยนูนสีเหลืองขนาดเล็กบนเยื่อบุตา โดยมักพบได้บริเวณหัวตาของตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ลักษณะของต้อลมอาจเป็นรูปวงกลมหรือสามเหลี่ยม และมีโอกาสขยายใหญ่ขึ้นตามระยะเวลา     ความต่างระหว่างต้อลมและต้อเนื้อ ต้อเนื้อเป็นโรคในกลุ่มเดียวกับต้อลม แต่มีความแตกต่างตรงที่ก้อนเนื้อจะลุกลามยื่นเข้าไปในกระจกตา (ตาดำ) สาเหตุของต้อเนื้อกับต้อลมนั้นมีความคล้ายกัน โดยเกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตาบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน เมื่อก้อนเนื้อต้อลมเจริญเติบโตมากขึ้นและลุกลามเข้าสู่ตาดำ ก็จะพัฒนากลายเป็นต้อเนื้อนั่นเอง     อาการที่มักพบของต้อลม สำหรับผู้ที่เป็นต้อลม มักจะมีอาการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น มีรอยนูนสีเหลืองขนาดเล็กบนตาขาว ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ตาแดง ตาบวม คันตา และรู้สึกระคายเคือง ตาแห้งหรือเจ็บตา น้ำตาไหลผิดปกติ รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา     ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดต้อลม มีอะไรบ้าง ปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อลมมักเกี่ยวข้องกับการสัมผัสสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลให้เยื่อบุตาเกิดการเสื่อมสภาพ โดยปัจจัยหลักๆ ได้แก่ ฝุ่นละอองและควันต่างๆ การสัมผัสอากาศร้อนเป็นเวลานาน การเผชิญกับลมบ่อยๆ การจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นเวลานาน ภาวะตาแห้งเรื้อรัง อายุที่มากขึ้น โดยมีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากเส้นใยคอลลาเจนบริเวณเยื่อตาเริ่มเสื่อมสภาพ (Degeneration of Collagen Fibers) คนงานก่อสร้างที่ต้องทำงานกลางแจ้งและเผชิญแสงแดดเป็นเวลานาน ช่างเชื่อมเหล็ก ที่ต้องสัมผัสกับแสงจ้าและความร้อน พนักงานเจียระไนเครื่องประดับ ที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองและแสงจ้า เมื่อไรที่ควรมารักษาต้อลม  ควรรักษาต้อลมเมื่อมีอาการที่รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น   เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบบ่อยครั้ง ต้อลมขยายใกล้เข้ามาที่กระจกตาจนส่งผลต่อการมองเห็น รู้สึกว่าสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ยากขึ้น การตรวจและวินิจฉัยต้อลม ทำอย่างไร  จักษุแพทย์วินิจฉัยต้อลมได้ด้วยการตรวจดวงตาตามปกติ โดยจะใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่มีกำลังขยายสูง (Slit Lamp) ในการตรวจสอบการเจริญเติบโตใกล้ๆ ดวงตา ซึ่งกล้อง Slit Lamp เป็นกล้องจุลทรรศน์ที่มุ่งเน้นลำแสงแคบๆ ของแสงสว่างสดใสลงบนดวงตา ซึ่งช่วยให้สามารถแยกแยะระหว่างต้อลมและการเจริญเติบโตที่คล้ายกันได้     วิธีรักษาต้อลม ทำอย่างไร  การรักษาต้อลมมีหลายวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้แย่ลง ดังนี้ ใช้น้ำตาเทียมที่มีส่วนผสมของ Antazoline และ Tetrahydrozoline หรือขี้ผึ้งเพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้น บรรเทาอาการระคายเคือง รับประทานยาแก้อักเสบเพื่อช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการไม่สบายตาที่เกิดจากต้อลม ใช้ยาหยอดตาแบบสเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวมและแดง หากอาการอักเสบไม่ดีขึ้น ต้อลมส่งผลต่อการมองเห็น หรือผู้ป่วยไม่พอใจกับลักษณะต้อลมในดวงตา แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัด อย่างไรก็ตามหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีโอกาสกลับมาเป็นต้อลมอีกได้ หลังผ่าตัดรักษาต้อลมแล้วจะมีอาการเป็นอย่างไร ต้อลมโดยทั่วไปจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา รวมถึงการผ่าตัดมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน แม้ว่าต้อลมอาจกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้งหลังการผ่าตัด จักษุแพทย์อาจให้ยาหรือใช้การฉายรังสีที่พื้นผิวเพื่อช่วยป้องกันการกลับมาเจริญเติบโตของต้อลมอีกครั้งได้     การดูแลดวงตา เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นต้อลม เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นต้อลม ควรดูแลดวงตาอย่างเหมาะสม โดยมีแนวทางการป้องกันและดูแลดวงตาให้ห่างไกลจากต้อลม ดังนี้ สวมแว่นกันแดดแบบปิดด้านข้างและหมวกปีกกว้างเมื่ออยู่กลางแดด เพื่อป้องกันตัวเองจากรังสี UVA และ UVB ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคต้อลม หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดกลางแจ้ง ฝุ่น ควัน และอากาศร้อนเป็นเวลานาน สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือฝุ่น ควรสวมใส่แว่นตากันฝุ่น ไม่เอาใบหน้าไปจ่อใกล้กับเครื่องปรับอากาศ พนักงานออฟฟิศที่ใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรจัดระยะห่างจากคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม และกระพริบตาทุก 30 วินาที เพื่อป้องกันตาแห้ง หากรู้สึกตาแห้ง อาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการขยี้ตา เมื่อมีความผิดปกติ ไม่ควรซื้อยามารับประทานหรือหยอดเอง ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรมาตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี      สรุป ต้อลมคือการสะสมของไขมัน โปรตีน หรือแคลเซียมที่ก่อตัวเป็นรอยนูนสีเหลืองบนเยื่อบุตา โดยมักขึ้นที่หัวตาและไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เมื่อเป็นต้อลม การรักษาสามารถทำได้ตามความรุนแรงของอาการ รวมถึงสามารถป้องกันได้โดยการดูแลดวงตาให้เหมาะสม สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาต้อลม แนะนำให้เข้ามารักษาที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่ให้บริการดูแลรักษาโรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาโดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ มาพร้อมเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย และได้มาตรฐาน
ศูนย์รักษากระจกตา

โรคต้อที่ตาคืออะไร? แยกได้ทั้งหมดกี่ชนิด พร้อมอาการและวิธีการรักษา

ต้อเนื้อและต้อลมคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร ?ต้อเนื้อเป็นโรคกลุ่มเดียวกันกับต้อลม แต่มีการยื่นเข้าไปในส่วนของกระจกตา (ตาดำ) สาเหตุเหมือนกับต้อลม คือเกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตา บริเวณที่โดนแดด คือเมื่อก้อนเนื้อต้อลมโตขั้นเป็นมากขึ้น แล้วมีการยื่นเข้าไปในตาดำ ก็จะกลายเป็นเป็นต้อเนื้อนั่นเอง รู้ได้อย่างไรว่าเป็นต้อเนื้อ?ถ้ามองเข้าไปที่ตาจะเห็นก้อนเนื้อ สีชมพู เป็นรูปสามเหลี่ยมยื่นเข้าไปในตาดำ ถ้ามีการอักเสบมักเห็นเป็นสีแดงมากขึ้น ถ้าต้อลมจะอยู่แต่ที่ตาขาวเท่านั้น เป็นต้อเนื้อแล้วจะมีอาการอย่างไร?จะมีอาการระคายเคืองตา ตาแดง อาจคันหรือมีน้ำตาไหลถ้าโดนฝุ่นหรือลม ถ้าเป็นมากๆอาจกดกระจกตาทำให้มีสายตาเอียง หรือถ้าเป็นมากจนลุกลามไปบังตรงกลางของตาดำ อาจทำให้การมองเห็นมัวลงได้ เราจะป้องกันได้อย่างไร?หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เจอแดดแรงๆ หรือ ควรสวมแว่นกันแดด กางร่ม หรือสวมหมวกเพื่อไม่ให้ตาโดนแสงแดดโดยตรง ถ้าเป็นแล้ว จะรักษาให้หายได้หรือไม่ ตาจะบอดหรือไม่?กรณีถ้าเป็นไม่มาก อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด อาจเพียงแค่รักษาด้วยยาลดการอักเสบ ลดแดง หรือลดอาการระคายเคืองเป็นครั้งคราว แต่ถ้ามีอาการอักเสบบ่อยๆ หรือต้อเนื้อใหญ่มากขึ้น จนทำให้การมองเห็นแย่ลง อาจพิจารณาทำผ่าตัดลอกต้อเนื้อได้ ต้อเนื้อไม่อันตรายโดยปรกติไม่ทำให้ตาบอด ถ้าเป็นมากสามารถผ่าตัดรักษาได้ การผ่าตัดทำได้โดยแค่ฉีดยาชาเฉพาะที่ ใช้เวลาไม่นาน แต่การดูแลหลังผ่าตัดเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ คนไข้ต้องหยอดยาตามแพทย์สั่ง และ หลีกเลี่ยงการเจอผุ่น ลม แดด ไม่เช่นนั้นต้อเนื้ออาจกลับเป็นซ้ำได้ ซึ่งจะมีการอักเสบรุนแรงมากขึ้น และการทำผ่าตัดซ้ำก็ทำได้ยากขึ้น การผ่าตัดต้อเนื้อมีหลายวิธีดังนี้ การลอกต้อเนื้อเพียงอย่างเดียว โดยไม่เอาเยื่อบุใดๆมาแปะ วิธีนี้ทำในกรณีผุ้ป่วยอายุมาก ต้อเนื้อไม่มีการอักเสบมาก ปัจจุบันไม่นิยมเนื่องจากอัตราการเกิดซ้ำสูงมาก การลอกต้อเนื้อ และเอาเยื่อบุตามาแปะ คือนอกจากตัดต้อเนื้อ ออกแล้ว ยังเอาเยื่อบุตาส่วนบนของตาคนไข้เอง มาเย็บเข้าในบริเวณที่เป็นต้อเนื้อเดิม วิธีนี้ช่วยลดการเกิดซ้ำได้ดีมาก การลอกต้อเนื้อ และเอาเยื่อหุ้มรกมาแปะ วิธีทำผ่าตัดเหมือนวิธีที่ 2 แต่ใช้เยื่อหุ้มรกมาเย็บแทน ทำให้ไม่ต้องใช้เยื่อบุตาของคนไข้ และใช้ได้ในกรณีเป็นซ้ำ และได้ใช้เยื่อบุตาตนเองไปแล้ว การลอกต้อเนือโดยการใช้mitomycin c ร่วมกับใช้เยื่อหุ้มรก หรือ เยื่อบุตาแปะ จะ ช่วยลดการเกิดซ้ำได้ดี โดยเฉพาะในคนไข้กลุ่มที่มีความเสียงสูงในการเกิดซ้ำ แต่ก็ต้องใช้ยานี้อย่างระมัดระวังเนื่องจากอาจมีข้อแทรกซ้อนจากยา การแปะเยื่อหุ้มรกหรือเยื่อบุตานั้น อาจใช้ไหมเย็บ หรืออาจใช้กาว fibrin แปะโดยไม่ต้องเย็บก็ได้ ทั้งต้อลมและต้อเนื้อนั้น ถ้าเราทราบว่าเป็นแล้ว การป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งทำได้ไม่ยากเลย เพียงแค่ระวังหรือหลีกเลี่ยงการโดนแดด ฝุ่น ลม เช่น ใส่แว่นกันแดด ใช้ร่ม สวมหมวก ก็ทำให้เราลดโอกาสการโดนแดดโดยตรง โรคก็จะไม่เป็นมากขึ้นค่ะ  
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111