ย้อนกลับ
โรคต้อลมเกิดจากอะไร อาการที่พบบ่อย พร้อมวิธีรักษาและการป้องกัน
  • ต้อลมคือการสะสมของไขมัน โปรตีน หรือแคลเซียมบริเวณดวงตา ทำให้เกิดเป็นรอยนูนสีเหลืองบนเยื่อบุตา

  • อาการต้อลม ได้แก่ รอยนูนสีเหลืองในตาขาว ตาแดง เจ็บตา ระคายเคือง ตาแห้ง น้ำตาไหลผิดปกติ และรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา

  • วิธีรักษาต้อลม ทำได้โดยการใช้ยาหยอดตา ขี้ผึ้ง หรือในบางกรณีอาจต้องผ่าตัดร่วมด้วย

  • รักษาต้อลมที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีความเฉพาะทางในการดูแลโรคตา ด้วยอุปกรณ์และจักษุแพทย์

 

ต้อลมคือปัญหาสุขภาพตาที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าต้อลมคืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง รวมถึงวิธีรักษาและแนวทางการป้องกันต้อลม เพื่อช่วยให้ดวงตาของเราสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคตาเหล่านี้ ทำได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย

 

ทำความเข้าใจว่าต้อลมคืออะไร

 

ทำความเข้าใจว่าต้อลมคืออะไร

โรคต้อลม (Pinguecula) คือการสะสมของไขมัน โปรตีน หรือแคลเซียมบริเวณดวงตา ทำให้เกิดเป็นรอยนูนสีเหลืองขนาดเล็กบนเยื่อบุตา โดยมักพบได้บริเวณหัวตาของตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ลักษณะของต้อลมอาจเป็นรูปวงกลมหรือสามเหลี่ยม และมีโอกาสขยายใหญ่ขึ้นตามระยะเวลา

 

ความต่างระหว่างต้อลมและต้อเนื้อ

 

ความต่างระหว่างต้อลมและต้อเนื้อ

ต้อเนื้อเป็นโรคในกลุ่มเดียวกับต้อลม แต่มีความแตกต่างตรงที่ก้อนเนื้อจะลุกลามยื่นเข้าไปในกระจกตา (ตาดำ) สาเหตุของต้อเนื้อกับต้อลมนั้นมีความคล้ายกัน โดยเกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตาบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน เมื่อก้อนเนื้อต้อลมเจริญเติบโตมากขึ้นและลุกลามเข้าสู่ตาดำ ก็จะพัฒนากลายเป็นต้อเนื้อนั่นเอง

 

อาการที่มักพบของต้อลม

 

อาการที่มักพบของต้อลม

สำหรับผู้ที่เป็นต้อลม มักจะมีอาการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น

  • มีรอยนูนสีเหลืองขนาดเล็กบนตาขาว ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

  • ตาแดง ตาบวม คันตา และรู้สึกระคายเคือง

  • ตาแห้งหรือเจ็บตา

  • น้ำตาไหลผิดปกติ

  • รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา

 

ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดต้อลม มีอะไรบ้าง

 

ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดต้อลม มีอะไรบ้าง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อลมมักเกี่ยวข้องกับการสัมผัสสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลให้เยื่อบุตาเกิดการเสื่อมสภาพ โดยปัจจัยหลักๆ ได้แก่

  • ฝุ่นละอองและควันต่างๆ

  • การสัมผัสอากาศร้อนเป็นเวลานาน

  • การเผชิญกับลมบ่อยๆ

  • การจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นเวลานาน

  • ภาวะตาแห้งเรื้อรัง

  • อายุที่มากขึ้น โดยมีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากเส้นใยคอลลาเจนบริเวณเยื่อตาเริ่มเสื่อมสภาพ (Degeneration of Collagen Fibers)

  • คนงานก่อสร้างที่ต้องทำงานกลางแจ้งและเผชิญแสงแดดเป็นเวลานาน

  • ช่างเชื่อมเหล็ก ที่ต้องสัมผัสกับแสงจ้าและความร้อน

  • พนักงานเจียระไนเครื่องประดับ ที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองและแสงจ้า

เมื่อไรที่ควรมารักษาต้อลม 

ควรรักษาต้อลมเมื่อมีอาการที่รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น

 

  • เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบบ่อยครั้ง

  • ต้อลมขยายใกล้เข้ามาที่กระจกตาจนส่งผลต่อการมองเห็น

  • รู้สึกว่าสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ยากขึ้น

การตรวจและวินิจฉัยต้อลม ทำอย่างไร 

จักษุแพทย์วินิจฉัยต้อลมได้ด้วยการตรวจดวงตาตามปกติ โดยจะใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่มีกำลังขยายสูง (Slit Lamp) ในการตรวจสอบการเจริญเติบโตใกล้ๆ ดวงตา ซึ่งกล้อง Slit Lamp เป็นกล้องจุลทรรศน์ที่มุ่งเน้นลำแสงแคบๆ ของแสงสว่างสดใสลงบนดวงตา ซึ่งช่วยให้สามารถแยกแยะระหว่างต้อลมและการเจริญเติบโตที่คล้ายกันได้

 

วิธีรักษาต้อลม ทำอย่างไร

 

วิธีรักษาต้อลม ทำอย่างไร 

การรักษาต้อลมมีหลายวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้แย่ลง ดังนี้

  • ใช้น้ำตาเทียมที่มีส่วนผสมของ Antazoline และ Tetrahydrozoline หรือขี้ผึ้งเพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้น บรรเทาอาการระคายเคือง

  • รับประทานยาแก้อักเสบเพื่อช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการไม่สบายตาที่เกิดจากต้อลม

  • ใช้ยาหยอดตาแบบสเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวมและแดง

  • หากอาการอักเสบไม่ดีขึ้น ต้อลมส่งผลต่อการมองเห็น หรือผู้ป่วยไม่พอใจกับลักษณะต้อลมในดวงตา แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัด อย่างไรก็ตามหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีโอกาสกลับมาเป็นต้อลมอีกได้

หลังผ่าตัดรักษาต้อลมแล้วจะมีอาการเป็นอย่างไร

ต้อลมโดยทั่วไปจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา รวมถึงการผ่าตัดมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน แม้ว่าต้อลมอาจกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้งหลังการผ่าตัด จักษุแพทย์อาจให้ยาหรือใช้การฉายรังสีที่พื้นผิวเพื่อช่วยป้องกันการกลับมาเจริญเติบโตของต้อลมอีกครั้งได้

 

ต้อลม วิธีป้องกัน

 

การดูแลดวงตา เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นต้อลม

เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นต้อลม ควรดูแลดวงตาอย่างเหมาะสม โดยมีแนวทางการป้องกันและดูแลดวงตาให้ห่างไกลจากต้อลม ดังนี้

  • สวมแว่นกันแดดแบบปิดด้านข้างและหมวกปีกกว้างเมื่ออยู่กลางแดด เพื่อป้องกันตัวเองจากรังสี UVA และ UVB ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคต้อลม

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดกลางแจ้ง ฝุ่น ควัน และอากาศร้อนเป็นเวลานาน

  • สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือฝุ่น ควรสวมใส่แว่นตากันฝุ่น

  • ไม่เอาใบหน้าไปจ่อใกล้กับเครื่องปรับอากาศ

  • พนักงานออฟฟิศที่ใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรจัดระยะห่างจากคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม และกระพริบตาทุก 30 วินาที เพื่อป้องกันตาแห้ง

  • หากรู้สึกตาแห้ง อาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา

  • ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการขยี้ตา

  • เมื่อมีความผิดปกติ ไม่ควรซื้อยามารับประทานหรือหยอดเอง

  • ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรมาตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี

    

สรุป

ต้อลมคือการสะสมของไขมัน โปรตีน หรือแคลเซียมที่ก่อตัวเป็นรอยนูนสีเหลืองบนเยื่อบุตา โดยมักขึ้นที่หัวตาและไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เมื่อเป็นต้อลม การรักษาสามารถทำได้ตามความรุนแรงของอาการ รวมถึงสามารถป้องกันได้โดยการดูแลดวงตาให้เหมาะสม

สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาต้อลม แนะนำให้เข้ามารักษาที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่ให้บริการดูแลรักษาโรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาโดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ มาพร้อมเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย และได้มาตรฐาน

calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111