มุมสุขภาพตา : #ต้อ

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

วิธีรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าต้อกระจกมีกี่แบบ ผ่าต้อกระจกที่ไหนดี

การผ่าต้อกระจกคือการกำจัดเลนส์ตาขุ่นและใส่เลนส์ตาเทียมเพื่อคืนวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน วิธีรักษาต้อกระจกมี 4 วิธี คือการสลายต้อ ใช้เลเซอร์ ผ่าตัดเอาออกทั้งก้อน และผ่าตัดแผลเล็ก ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังผ่าต้อกระจก ได้แก่ การมีเลือดออกในลูกตา การติดเชื้อ ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก เลนส์ตาเทียมเลื่อนหลุด ปวดตา และการมองเห็นผิดปกติ รักษาต้อกระจกที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) เพราะที่นี่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านดวงตา พร้อมให้บริการโดยจักษุแพทย์ด้านต้อกระจก อุปกรณ์ทันสมัย และการดูแลที่ใกล้ชิดเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด   การผ่าต้อกระจกเป็นการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเลนส์ตาขุ่นมัวหรือเปลี่ยนแปลง ทำให้การมองเห็นลดลง วิธีการเตรียมตัวก่อนและดูแลหลังการผ่าตัดมีความสำคัญเพื่อการฟื้นตัวและผลลัพธ์ที่ดี รวมถึงการเลือกผ่าต้อกระจกที่ไหนดี? ควรเลือกสถานที่ที่เหมาะสมผ่านปัจจัยต่างๆ ที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ     การผ่าต้อกระจกคืออะไร การรักษาต้อกระจกแตกต่างจากการรักษาต้อลมและต้อเนื้อเพราะมีเพียงวิธีเดียว คือ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งถือเป็นวิธีการรักษามาตรฐานทั่วโลก และสามารถทำได้ทั้งหมด 3 เทคนิควิธี ได้แก่ 1. ผ่าต้อกระจกโดยการสลายต้อ (Phacoemulsification) การผ่าตัดสลายต้อกระจกเป็นการผ่าตัดที่มีแผลขนาดเล็กมากประมาณ 2.6-3 มิลลิเมตร จึงไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผล ซึ่งทำให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของจักษุแพทย์และความซับซ้อนของเคส นอกจากนี้การใส่เลนส์ตาเทียมใหม่ยังช่วยแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสายตามองใกล้ผิดปกติได้อีกด้วย 2. ผ่าต้อกระจกโดยใช้เลเซอร์ (Femtosecond Laser-Assisted Cataract Surgery) การรักษาต้อกระจกด้วยเลเซอร์Femtosecond Laserช่วยในขั้นตอนการเปิดแผล การเปิดถุงหุ้มเลนส์ และการแบ่งเลนส์ต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้การสลายและดูดออกด้วยอัลตราซาวนด์ง่ายขึ้น เนื่องจาก Femtosecond Laser ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จักษุแพทย์จึงวางแผนการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดแผลจะมีความแม่นยำสูง สามารถเปิดถุงหุ้มเลนส์ให้มีขนาดตามต้องการ และวางเลนส์แก้วตาเทียมให้อยู่ตำแหน่งตรงกลางได้ดี ช่วยแก้ไขสายตาเอียงให้ได้องศาที่ต้องการ 3. การผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็ก (MSICS: Manual Small Incision Cataract Surgery) เทคนิคการผ่าตัดที่เอาต้อกระจกทั้งก้อนออกผ่านแผลขนาดเล็กบริเวณตาขาวที่ปิดเองได้โดยไม่ต้องเย็บแผล มีถุงหุ้มเลนส์ยังคงอยู่ในตา แผลผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีขนาดเล็กกว่าวิธีผ่าต้อกระจกโดยวิธีเอาออกทั้งก้อน แต่ใหญ่กว่าวิธีผ่าต้อกระจกโดยใช้เลเซอร์ นอกจากนี้การไม่ต้องเย็บแผลช่วยลดปัญหาการเกิดสายตาเอียงที่อาจเกิดจากการผ่าตัด ฟื้นตัวเร็วกว่าและลดจำนวนครั้งในการพบแพทย์เพื่อการติดตามผลการรักษาหลังผ่าตัด     ชนิดของเลนส์ตามเทียมที่ใส่หลังผ่าต้อกระจก การผ่าต้อกระจกมักจะตามมาด้วยการใส่เลนส์ตาเทียมเพื่อช่วยปรับการมองเห็นให้ชัดเจนขึ้น มีชนิดของเลนส์ตาเทียมหลายประเภทให้เลือก ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและข้อดีที่แตกต่างกันไป ดังนี้ Monofocal IOLเลนส์ตาเทียมชนิดมองไกลได้ระยะเดียวสามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาวที่มีอยู่เดิมก่อนการผ่าตัดได้ เป็นเลนส์ตาเทียมที่ได้รับความนิยมมากในโรงพยาบาลทั่วไปในประเทศไทย Toric IOLเลนส์ตาเทียมชนิดที่แก้ไขปัญหาสายตาเอียงได้ Multifocal IOLเป็นเลนส์ตาเทียมที่มองเห็นได้หลายระยะ ใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศและในโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย     ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าต้อกระจก ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าต้อกระจก ได้แก่ การมีเลือดออกในลูกตาหรือเบ้าตาจากการฉีดยาชา กระจกตาขุ่นมัวเนื่องจากเซลล์ตาไม่แข็งแรง การติดเชื้อ จอประสาทตาหลุดลอก ปวดตาแสงจ้า และเลนส์แก้วตาเทียมเลื่อนหลุด อาการรุนแรงอาจนำไปสู่การสูญเสียดวงตาหรือการมองเห็น ภาวะเหล่านี้พบได้น้อยมากและอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือน หรือหลายปีหลังการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วยในการดูแลตนเองหลังผ่าตัด การเตรียมตัวก่อนผ่าต้อกระจก การเตรียมตัวก่อนผ่าต้อกระจกจึงมีความสำคัญ ควรปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย ฝึกนอนหงาย โดยมีผ้าคลุมบริเวณใบหน้า นานประมาณ 20-30 นาที เพื่อให้หายใจใต้ผ้าคลุมจนชิน เนื่องจากตอนผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องนอนคลุมผ้าในลักษณะคล้ายกัน ในวันผ่าตัด ให้อาบน้ำสระผม ล้างหน้า และงดทาแป้ง ครีม หรือแต่งหน้าก่อนมาโรงพยาบาล รับประทานอาหารเช้าและยาโรคประจำตัวตามปกติ ยกเว้นยาที่แพทย์สั่งให้งด เช่น แอสไพริน หรือยาละลายลิ่มเลือด ถอดของมีค่า เครื่องประดับ และฟันปลอม หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง เคืองตา มีขี้ตา หรือเป็นหวัด ไอ จาม กรุณาแจ้งแพทย์หรือพยาบาล เพื่อรักษาให้หายก่อนเข้ารับการผ่าตัด ในวันผ่าตัด ควรมีญาติหรือเพื่อนมาด้วยอย่างน้อย 1 คน เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องปิดตาข้างที่ผ่าตัดกลับบ้าน การดูแลหลังผ่าต้อกระจก เพื่อให้ไม่มีการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก ควรดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด โดยมีขั้นตอนดังนี้ สวมแว่นกันแดดหรือแว่นสายตาตลอดเวลา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกระทบกระแทก หากไม่มีให้ครอบตาด้วยฝาครอบตาที่โรงพยาบาลจัดให้ ใช้ฝาครอบตาก่อนเข้านอนทุกคืนเพื่อป้องกันการขยี้ตาโดยไม่รู้สึกตัว ควรนอนหงายเป็นหลัก แต่สามารถนอนตะแคงได้โดยเอาตาข้างที่ผ่าตัดขึ้นด้านบน อ่านหนังสือและดูโทรทัศน์ได้ แต่ควรหยุดพักเมื่อรู้สึกแสบตา สามารถทำกิจวัตรประจำวันเบาๆ เช่น เดินเล่น หรือ ไปทานอาหารนอกบ้าน แต่ไม่ควรก้มศีรษะต่ำกว่าเอว ไม่ควรยกของหนัก หลีกเลี่ยงการไอ จาม เบ่งอย่างรุนแรง ห้ามขยี้ตา และระวังการลื่นหกล้ม อาบน้ำได้ โดยไม่ให้น้ำเข้าตา การสระผมควรนอนสระที่ร้าน หรือให้ผู้อื่นสระให้ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าตา สามารถแปรงฟัน และล้างใบหน้าครึ่งล่างได้ โดยไม่ควรให้น้ำกระเด็นเข้าตา ทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาและใบหน้า โดยใช้สำลีหรือผ้าสะอาดชุบน้ำ เช็ดหน้าและเปลือกตาจากหัวตาไปหางตา หลีกเลี่ยงการทำสวน รดน้ำ พรวนดิน ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหารที่มีไอหรือควัน 7 วัน หยอดยาตามแพทย์สั่ง และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง     ผ่าต้อกระจกราคาเท่าไร ควรผ่าที่ไหนดี ราคาการผ่าต้อกระจกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 20,000 ถึง 80,000 บาท หรือมากกว่านั้น สามารถแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และเงื่อนไขสุขภาพดวงตาของแต่ละบุคคล เช่น โรงพยาบาลที่เลือกรักษา ประเภทของเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้ เทคนิคการผ่าตัด การใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัด และความซับซ้อนของเคส รวมถึงการบริการเสริมอื่นๆ เช่น การตรวจหลังผ่าตัดและการติดตามผล วิธีการเลือกโรงพยาบาลผ่าต้อกระจก ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านต้อกระจก พร้อมให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือทันสมัยในการรักษาต้อกระจก เพื่อให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยมากที่สุด   สรุป การผ่าต้อกระจกคือการนำเลนส์ตาขุ่นออกและใส่เลนส์เทียมใหม่เพื่อฟื้นฟูการมองเห็นทำได้ 4 วิธี คือผ่าตัดสลายต้อ ผ่าตัดโดยเลเซอร์ ผ่าตัดออกทั้งก้อน และผ่าตัดแบบแผลเล็ก ก่อนผ่าควรเตรียมตัวตามคำแนะนำแพทย์ และหลังผ่าต้องดูแลตาอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงของผลแทรกซ้อน สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาต้อกระจก สามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์โรคต้อกระจก Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)ซึ่งให้การดูแลและรักษาโรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาอย่างครบวงจร
ศูนย์รักษาต้อหิน

วิธีรักษาต้อหิน พร้อมแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดต้อหิน

ต้อหินมักเกิดจากปัจจัยภายในที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้น พันธุกรรม โรคเบาหวาน และความผิดปกติของโครงสร้างลูกตา ซึ่งล้วนส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น จนไปกดทับเส้นประสาทตา ส่งผลให้เส้นประสาทตาเสื่อมสภาพและถูกทำลายอย่างช้าๆ และเกิดเป็นต้อหินในท้ายที่สุด วิธีรักษาต้อหินรวมทั้งการประคองอาการทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การใช้ยาหยอดตา การจ่ายยาเพื่อรับประทาน การทำเลเซอร์ ไปจนถึงการผ่าตัดระบายน้ำหล่อเลี้ยงดวงตา ป้องกันต้อหินได้ด้วยการหมั่นตรวจสุขภาพดวงตา และปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เลือกกินอาหารบำรุงดวงตา ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหมอนสูง และสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตาเมื่อต้องออกแดด แนะนำมารักษาต้อหินได้ที่Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)ที่นี่มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการวินิจฉัย ให้คำแนะนำ ตลอดจนการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย ให้ผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพ   ต้อหิน เป็นภัยเงียบที่สังเกตอาการได้ยาก ผู้ป่วยบางคนอาจรู้ตัวเมื่อสายไป ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้เลยทีเดียว! มาทำความรู้จักกับโรคต้อหินให้มากขึ้น หาสาเหตุและอาการ กลุ่มเสี่ยงเป็นต้อหินที่ควรรู้ ตลอดจากการวินิจฉัยและวิธีการรักษาต้อหิน มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่     รู้จักกับต้อหิน มีสาเหตุและอาการอย่างไร ต้อหินคือหนึ่งในกลุ่มโรคต้อโดยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเส้นประสาทตาที่เป็นตัวนำกระแสการมองเห็นสู่สมอง หากเส้นประสาทตาถูกทำลายก็จะสูญเสียลานสายตา ส่งผลให้เส้นประสาทตาเสื่อมสภาพและถูกทำลายอย่างช้าๆ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้อย่างถาวร และไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ ต้อหินมักเกิดจากปัจจัยภายในที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้น พันธุกรรม โรคเบาหวาน และความผิดปกติของโครงสร้างลูกตา ปัจจัยเหล่านี้เป็นต้นตอที่ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้นจนกดทับเส้นประสาทตาจนเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ อุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อดวงตา อาจทำให้ความดันตาสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดต้อหินได้เช่นกัน อาการของต้อหินในระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นเพียงแค่ขอบภาพมัวลง หรือมีจุดบอดเล็กๆ ในสายตา แต่เมื่อปล่อยไว้นานขึ้นโรคก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น อาจมีอาการเห็นภาพซ้อน หรือมองเห็นเป็นแสงวาบได้ ดังนั้น หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับสายตา ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาวิธีรักษาต้อหิน     กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นต้อหินมากที่สุด แม้ว่าต้อหินเกิดจากปัจจัยภายในที่ควบคุมไม่ได้ แต่ก็มีกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่ากลุ่มคนทั่วไปอยู่ หากคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ควรตรวจสายตาเป็นประจำ หรือ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อสังเกตอาการต้อหินอย่างใกล้ชิด และหาวิธีรักษาต้อหินได้อย่างทันท่วงที   กลุ่มผู้สูงอายุเพราะโครงสร้างของดวงตาจะเสื่อมสภาพตามวัย กลุ่มผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหินเพราะพันธุกรรมมีส่วนสำคัญในการกำหนดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ กลุ่มผู้ที่มีความดันตาสูงความดันภายในลูกตาที่สูงขึ้นเรื้อรังจะกดทับเส้นประสาทตา ทำให้เกิดความเสียหายได้ง่าย กลุ่มผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากรูปร่างของลูกตาที่ผิดปกติอาจส่งผลต่อการระบายน้ำในลูกตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นได้ กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานเพราะโรคเบาหวานสามารถทำลายหลอดเลือดฝอยที่เลี้ยงเส้นประสาทตาได้ กลุ่มผู้ที่เคยผ่าตัดตาเพราะการผ่าตัดบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหิน กลุ่มผู้ที่ใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานานเช่น สเตียรอยด์ที่อาจเพิ่มความดันในลูกตา กลุ่มผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเช่น มีขั้วตาใหญ่ เคยได้รับอุบัติเหตุที่ตา หรือมีโรคทางระบบอื่นๆ อย่างโรคไทรอยด์เป็นพิษ ระยะเวลาของการเกิดต้อหิน ระยะเวลาในการเกิดต้อหินตั้งแต่เริ่มแรกไปจนถึงการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรใช้เวลาประมาณ 5 - 10 ปี โดยเฉพาะโรคต้อหินที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมสภาพตามวัย ทั้งนี้ ระยะเวลาขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยตรวจพบต้อหินในระยะไหนด้วย หากพบไวก็จะหาวิธีรักษาต้อหินได้ไว แต่หากตรวจพบต้อหินในระยะท้าย อาจหาวิธีการรักษาต้อหินได้ยาก หรืออาจสูญเสียการมองเห็นภายในไม่กี่เดือน     วิธีการตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษาต้อหิน วิธีการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาวิธีรักษาต้อหิน แพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติ จากนั้นจะตรวจสายตาโดยละเอียด ซึ่งมีวิธีการตรวจดังนี้   การวัดสายตา การวัดความดันในลูกตา การตรวจขั้วประสาทตาและจอตา การตรวจดูลานตา การวัดความหนาของกระจกตา การตรวจมุมระบายน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา     วิธีรักษาต้อหินหรือกลับมาใกล้เคียงปกติ วิธีการรักษาต้อหินหรือประคองอาการไม่ให้ประสาทตาถูกทำลายมากขึ้น และคงการมองเห็นเอาไว้ให้กลับมาใกล้เคียงปกติมีอยู่หลายวิธี โดยจักษุแพทย์จะพิจารณาการรักษาแต่ละวิธีจากสาเหตุ อาการ และความรุนแรงของอาการ ดังนี้ การรักษาต้อหินโดยใช้ยาหยอดตา โดยทั่วไปแล้ว การรักษาต้อหินมักจะใช้วิธีการจ่ายยาหยอดตาที่มีส่วนช่วยลดความดันภายในลูกตา เพื่อลดการกดทับของเส้นประสาทในดวงตา ตัวยาจะเข้าไปลดการสร้างน้ำในดวงตา หรืออาจช่วยเพิ่มอัตราการไหลออกของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา โดยมีกลุ่มยาหยอดตาที่แพทย์พิจารณาใช้ ดังนี้   ยาต้านเบต้า (Beta-blockers)ลดการผลิตน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา ทำให้ความดันภายในลูกตาลดลง ยาคาร์บอนิกแอนไฮเดรสอินฮิบิเตอร์ (Carbonic Anhydrase Inhibitors)ยับยั้งการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา โปรสตาแกลนดินแอนะล็อก (Prostaglandin Analogs)เพิ่มการระบายน้ำหล่อเลี้ยงออกจากลูกตา อะดรีนเนอร์จิกอะโกนิสต์ (Adrenergic Agonists)ทำให้รูม่านตาหดตัวและช่วยเพิ่มการระบายน้ำหล่อเลี้ยง พาราซิมพาโทมิเมติก (Parasympathomimetics)ทำให้รูม่านตาหดตัวและช่วยเพิ่มการระบายน้ำหล่อเลี้ยง     การรักษาต้อหินโดยการรับประทานยา หากการรักษาต้อหินโดยยาหยอดตาไม่ได้ผล จักษุแพทย์จะพิจารณาจ่ายยาชนิดรับประทานให้ผู้ป่วย โดยใช้ยาคาร์บอนิก แอนไฮเดรส อิฮิบิเตอร์ (Carbonic Anhydrase Inhibitors) ที่มีทั้งชนิดเม็ดและยาหยอดตา มีส่วนช่วยลดการสร้างของเหลวในลูกตา ทำให้ความดันภายในตาลดลง การรักษาต้อหินด้วยเลเซอร์ การรักษาต้อหินด้วยเลเซอร์มีจุดมุ่งหมายเพื่อระบายน้ำในตาออก ลดความดันภายในดวงตา ซึ่งการใช้เลเซอร์แบ่งออกเป็น 2 ชนิดขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน ดังนี้   ใช้เลเซอร์กับต้อหินมุมปิดโดยจักษุแพทย์จะยิงเลเซอร์เข้าไปรักษาต้อหิน โดยเจาะรูเล็กๆ บนม่านตา เพื่อสร้างช่องทางให้ของเหลวในลูกตาไหลเวียนได้สะดวกขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ใช้เลเซอร์กับต้อหินมุมเปิดโดยจักษุแพทย์จะยิงเลเซอร์พลังงานต่ำเข้าไปรักษาต้อหิน โดยยิงไปที่บริเวณมุมระบายน้ำของลูกตา เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำทำงานได้ดีขึ้น     การรักษาต้อหินด้วยการผ่าตัด จักษุแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดต้อหินเพื่อสร้างช่องทางระบายน้ำภายในลูกตาที่มีขนาดเล็กประมาณ 1 - 1.5 มิลลิเมตร เพื่อให้ความดันในลูกตาต่ำลง ลดโอกาสกดทับเส้นประสาทตาที่เป็นต้นตอของต้อหิน โดยจักษุแพทย์จะมีแนวทางการผ่าตัดรักษาต้อหิน ดังนี้ 1. ผ่าตัดรักษาต้อหินด้วยวิธี Trabeculectomy ผ่าตัดรักษาต้อหินด้วยวิธี Trabeculectomy เป็นวิธีการผ่าตัดที่นิยมใช้มากที่สุด โดยการผ่าตัดสร้างแผ่นเนื้อเยื่อบางๆ ที่มุมระบายน้ำของลูกตา เพื่อให้น้ำหล่อเลี้ยงไหลออกจากลูกตาได้ง่ายขึ้น วิธีนี้จะช่วยลดความดันภายในลูกตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การรั่วของน้ำหล่อเลี้ยง การติดเชื้อ หรือการเกิดต้อกระจก 2. ผ่าตัดรักษาต้อหินด้วยวิธี Aqueous Shunt Surgery ผ่าตัดรักษาต้อหินด้วยวิธี Aqueous Shunt Surgery เป็นการผ่าตัดโดยการใส่ท่อระบายน้ำขนาดเล็กเข้าไปในลูกตา เพื่อเชื่อมต่อกับช่องว่างใต้เยื่อบุตาขาว ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงไหลออกจากลูกตาได้โดยตรง วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความดันตาสูงมาก หรือผู้ป่วยที่เคยผ่าตัด Trabeculectomy แล้วไม่ประสบความสำเร็จ 3. ผ่าตัดรักษาต้อหินด้วยวิธี Xen Implantation ผ่าตัดรักษาต้อหินด้วยวิธีXen Implantationเป็นการผ่าตัดเพื่อใส่ท่อระบายน้ำขนาดเล็กและยืดหยุ่นเข้าไปในดวงตา เพื่อสร้างทางระบายใหม่สำหรับของเหลวภายในลูกตา จากนั้นของเหลวส่วนเกินก็จะไหลออกจากตัวท่อไปยังใต้เยื่อบุตาขาว ส่งผลให้ความดันตาลดลง     ขั้นตอนการผ่าตัดรักษาต้อหิน การผ่าตัดรักษาต้อหินมีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้   วิสัญญีแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่บริเวณดวงตา หรืออาจให้ยาสลบในบางกรณี จักษุแพทย์จะผ่าตัดเพื่อสร้างช่องทางระบายน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา โดยวิธีการผ่าตัดจะแตกต่างกันไปตามชนิดของการผ่าตัด หลังจากทำการสร้างช่องทางระบายน้ำแล้ว จักษุแพทย์จะทำการเย็บปิดแผล     ผ่าตัดต้อหินเตรียมตัวอย่างไรและพักฟื้นกี่วัน? ผ่าตัดต้อหินพักฟื้นกี่วัน? โดยทั่วไปแล้วระยะเวลาในการพักฟื้นหลังการผ่าตัดต้อหินจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาจใช้เวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ในการพักฟื้นที่บ้าน และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ในการกลับมาทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ   และเพื่อให้วิธีการผ่าตัดรักษาต้อหินหรือประคองอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด คนไข้ควรดูแลตัวเองทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดอย่างถูกวิธี โดยมีแนวทางการดูแลตัวเองดังนี้ การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อหิน แจ้งประวัติสุขภาพทั้งหมดให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโรคประจำตัว ยาที่กำลังรับประทาน และอาการแพ้ ตรวจสุขภาพ โดยแพทย์จะทำการตรวจตาและตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อประเมินสภาพร่างกายก่อนการผ่าตัด หยุดยาบางชนิดก่อนการผ่าตัด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาแอสไพริน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก งดอาหารและเครื่องดื่มก่อนการผ่าตัดตามเวลาที่แพทย์กำหนด หากต้องเข้าพักโรงพยาบาล ให้เตรียมเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น ควรมีญาติหรือเพื่อนมาคอยดูแลหลังการผ่าตัด การดูแลตนเองหลังผ่าตัดต้อหิน หยอดยาตามที่จักษุแพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการอักเสบ หลีกเลี่ยงการขยี้ตา หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงการก้มหน้า เพราะการก้มหน้าอาจทำให้น้ำหล่อเลี้ยงไหลออกจากลูกตาได้ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เช่น การออกกำลังกายหนัก การพักผ่อนจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ติดตามผลการผ่าตัดและตรวจสอบภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น     แนวทางในการป้องกันต้อหิน อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าต้อหินมีอาการที่สังเกตเห็นได้ยาก บางรายอาจเสี่ยงสูญเสียการมองเห็นก่อนรู้ว่าเป็นต้อหินก็ได้ ดังนั้น การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันต้อหินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้ โดยมีแนวทางดังนี้     ตรวจสายตาทุก 5 - 10 ปี ควรตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ ซึ่งความถี่อาจขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละบุคคล ดังนี้   อายุต่ำกว่า 40 ปี ควรตรวจสุขภาพดวงตาทุก 5 - 10 ปี อายุ 40 - 54 ปี ควรตรวจสุขภาพดวงตาทุก 2 - 4 ปี อายุ 55 - 64 ปี ควรตรวจสุขภาพดวงตาทุก 1 - 3 ปี อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพดวงตาทุก 1 - 2 ปี     การออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีส่วนช่วยลดความดันภายในดวงตาลงได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย รับประทานวิตามินบำรุงสายตา ควรเลือกกินอาหารที่มีวิตามินบำรุงสายตา เพื่อรักษาสุขภาพของดวงตาให้แข็งแรง โดยมีวิตามินที่แนะนำ เช่น วิตามินเอ (Vitamin A) วิตามินซี (Vitamin C) วิตามินดี (Vitamin D) และวิตามินอี (Vitamin E) เป็นต้น     สวมอุปกรณ์ป้องกันสายตา หากจำเป็นต้องออกแดด หรือต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งบ่อยๆ เป็นเวลานานๆ แนะนำให้สวมอุปกรณ์ป้องกันสายตา เช่น แว่นดำ หรือหมวกที่มีปีก เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บของดวงตา และป้องกันการเสื่อมสภาพของดวงตาที่เป็นสาเหตุให้เกิดต้อหินได้ หนุนหมอนในระดับที่พอเหมาะ ควรนอนหนุนหมอนที่มีระดับความสูงประมาณ 20 องศา เพื่อลดความดันของลูกตาขณะนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ รักษาต้อหินที่ศูนย์รักษาต้อหิน Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากเป็นต้อหิน แนะนำให้เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการได้ที่ศูนย์รักษาต้อหิน Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)จักษุแพทย์ของเรา มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาอาการต้อหินทุกระยะ ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการักษาต้อหินโดยเฉพาะ มีจุดเด่นดังนี้ โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านต้อหิน ที่มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง สรุป แม้ว่าจะไม่มีวิธีรักษาต้อหินได้ แต่ผู้ป่วยสามารถรีบรักษาเพื่อประคองและบรรเทาอาการ ป้องกันการสูญเสียการมองเห็นในระยะยาวได้ โดยควรตรวจสุขภาพดวงตาอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำ เลือกกินอาหารที่มีสารอาหารบำรุงสุขภาพดวงตา นอนหมอนที่มีระดับเหมาะสม และสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตาทุกครั้งที่ต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน เท่านี้ก็สามารถรักษาดวงตาให้สุขภาพดี ห่างไกลต้อหินได้แล้ว แนะนำมารักษาต้อหินได้ที่ศูนย์รักษาต้อหินBangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)ที่นี่มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้บริการตั้งแต่ขั้นตอนการวินิจฉัย ให้คำปรึกษา ตลอดจนการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย ให้ผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ทำความเข้าใจถึงสาเหตุของต้อเนื้อ อาการ วิธีการรักษา และการป้องกัน

ต้อเนื้อ คือเนื้อเยื่อผิดปกติที่เติบโตบนเยื่อบุตาขาว ทำให้ตาขาวมีสีแดงและรู้สึกระคายเคือง รวมทั้งอาจทำให้มองเห็นมัวได้ วิธีรักษาต้อเนื้อ ทำได้ตั้งแต่การใช้ยาลดอาการอักเสบ การลอกเนื้อเยื่อออก และการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออก ป้องกันต้อเนื้อ เช่น ใส่แว่นกันแดดป้องกันแสง UV หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่น ควัน หรือสารเคมี และควรพักสายตาหากใช้งานดวงตามากเกินไป รักษาต้อเนื้อที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีจักษุแพทย์ที่มีประสบการณ์ อุปกรณ์ทันสมัย และบริการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย   ทำความเข้าใจกับต้อเนื้อ โรคที่เกิดจากเยื่อบุที่ปกคลุมดวงตาเจริญเติบโตผิดปกติ สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อเนื้อ การรักษาที่สามารถทำได้หลายวิธี รวมถึงการป้องกันที่เหมาะสม เพื่อให้คุณสามารถดูแลดวงตาของคุณได้อย่างดีและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นในอนาคต     รู้จักกับต้อเนื้อว่าคืออะไร ต้อเนื้อ (Pterygium) เกิดจากความผิดปกติของเยื่อเมือกบุตาที่มีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม อาจเริ่มโตจากบริเวณหัวตาหรือหางตา โดยมักพบบริเวณหัวตามากกว่า ต้อเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้ที่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง โดยจะมีอาการตาแดงและระคายเคือง หากต้อเนื้อลามไปบนกระจกตา อาจทำให้รบกวนการมองเห็นได้     สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อเนื้อ สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อเนื้อยังไม่รู้ชัดเจน แต่ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ คือ   ใช้สายตามากเกินไป เช่น ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นเวลานาน ดวงตาแห้งและระคายเคืองบ่อย ดวงตาสัมผัสกับฝุ่นควัน มลภาวะ ลมร้อน ลมแห้ง และรังสียูวีมากกว่าปกติ ดวงตาสัมผัสกับสารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเป็นเวลานาน มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อเนื้อ โรคเบาหวาน     อาการที่พบได้เมื่อเป็นต้อเนื้อ ต้อเนื้อในระยะแรก อาการยังไม่ชัด หรือไม่แสดงอาการให้ทราบ แต่เมื่อเข้าสู่ระยะหลังๆ อาการจะแสดงออก ดังนี้ ตาแดง บวม และระคายเคือง รู้สึกตาแห้ง คัน และแสบ รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายหรือกรวดในตา มีก้อนเนื้อสีชมพูรูปทรงเหมือนสามเหลี่ยมงอกเข้าสู่ตาดำ น้ำตาไหลออกมามาก มองเห็นภาพไม่ชัด วิธีในการตรวจวินิจฉัยต้อเนื้อ จักษุแพทย์จะซักประวัติเพื่อหาสาเหตุที่อาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน การทำงานหน้าจอ หรือสัมผัสสารเคมีโดยไม่มีการป้องกัน รวมถึงประวัติครอบครัวที่มีโรคต้อเนื้อ เพราะโรคต้อเนื้อมักพบได้จากผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อเนื้อมาก่อน นอกจากนี้จักษุแพทย์สามารถวินิจฉัยต้อเนื้อได้โดยใช้กล้องตรวจตา และอุปกรณ์ตรวจตาพิเศษ ซึ่งช่วยถ่ายภาพลูกตาเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของต้อเนื้อ เช่น การขยายขนาดหรือการลุกลาม และจักษุแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อแยกโรคอื่นๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกับต้อเนื้อ เช่น มะเร็งของผิวดวงตา     วิธีรักษาต้อเนื้อ ทำได้อย่างไรบ้าง การรักษาต้อเนื้อทำได้หลายวิธี โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็นการใช้ยาและการผ่าตัด ได้แก่ การใช้ยารักษาต้อเนื้อ วิธีรักษาต้อเนื้อด้วยยาหยอดตา เช่น การใช้ขี้ผึ้งหรือน้ำตาเทียม หรือการควบคุมการอักเสบด้วยยาหยอดตาสเตียรอยด์ ยาต้านฮีสตามีน มีส่วนช่วยลดอาการคัน อาการระคายเคือง และตาแดงได้ แต่ไม่มียาหยอดตาตัวใดที่ทำให้ก้อนพังผืดต้อเนื้อหายไปได้    การใช้ยาในการรักษาต้อเนื้อจึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่จะช่วยลดอาการระคายเคืองบรรเทาลงเท่านั้น การผ่าตัดรักษาต้อเนื้อ การผ่าตัดเป็นวิธีที่ใช้ในการนำต้อเนื้อออก โดยทั่วไปมี 2 วิธีหลักที่แพทย์เลือกใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการลุกลามและลดผลกระทบต่อการมองเห็น 1. ผ่าตัดลอกต้อเนื้อ การผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติ เป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว โดยลอกต้อเนื้อออกแล้วปล่อยให้เยื่อบุตาสร้างตัวขึ้นมาคลุมบริเวณที่ลอกออกเอง  วิธีนี้ไม่ค่อยเจ็บหรือระคายเคืองมากและไม่ต้องเย็บปิดแผล เนื่องจากร่างกายสามารถสร้างเยื่อบุตาขาวขึ้นมาทดแทนส่วนที่ถูกลอกออกไปได้เอง อย่างไรก็ตามข้อเสียของวิธีนี้คือมีโอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเกิดซ้ำได้สูงมากถึง 40-50% 2. ผ่าตัดลอกต้อเนื้อและปลูกเนื้อเยื่อ การผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อ เป็นการลอกต้อเนื้อออกแล้วเย็บปิดด้วยเนื้อเยื่อบุตาขาวของผู้ป่วยหรือเนื้อเยื่อรก วิธีนี้ใช้เวลาผ่าตัดนานและอาจระคายเคืองหลังผ่าตัด แต่ปัจจุบันมีการใช้กาวไฟบริน (Fibrin Glue) ช่วยลดระยะเวลาผ่าตัดและลดการระคายเคืองหลังผ่าตัดได้   ข้อดีของวิธีนี้คือ ลดโอกาสการเกิดซ้ำของต้อเนื้อให้เหลือเพียง 5-10% และช่วยให้แผลจากการผ่าตัดหายได้เร็วขึ้น ส่วนข้อเสียคือผู้ป่วยอาจรู้สึกระคายเคืองมากกว่า เนื่องจากไหมเย็บที่ใช้ในการปลูกเนื้อเยื่ออาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตาหลังการผ่าตัด เมื่อไรที่ควรรีบผ่าตัดรักษาต้อเนื้อ ต้อเนื้อไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่สามารถทำให้เกิดความระคายเคืองหรือไม่สบายตาได้ หากต้อเนื้อยังมีขนาดเล็ก สามารถรักษาได้ตามอาการ เช่น การใช้ยาหยอดตาเพื่อลดการระคายเคือง อย่างไรก็ตามหากต้อเนื้อลุกลามจนมีขนาดใหญ่และส่งผลต่อการมองเห็น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการผ่าตัดรักษาโดยเร็ว วิธีปฏิบัติและดูแลตนเองหลังลอกตาต้อเนื้อ ข้อปฏิบัติหลังการลอกตาต้อเนื้อ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เยื่อบุตาขาวเสื่อมซ้ำ เพื่อป้องกันการเกิดต้อเนื้อใหม่ โดยดูแลตัวเองได้ดังนี้   หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งที่มีฝุ่น ควัน ลม และแสงแดดโดยตรง หากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมแว่นกันแดดที่ป้องกันรังสียูวีและกันลม  หากจำเป็นต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับแสงยูวีหรือสารเคมีที่ระคายเคืองตา ควรสวมเครื่องป้องกันดวงตา เช่น แว่นตานิรภัย หรือหน้ากากป้องกันเสมอ ในกรณีที่ต้องทำงานที่ใช้สายตามาก ควรพักสายตาเป็นระยะ เพื่อช่วยลดความเมื่อยล้าและลดความเสี่ยงที่ต้อเนื้อจะขยายขนาด ผู้ป่วยควรใช้ยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง ไม่ควรขยี้ตา เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบของตาและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ ห้ามใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ติดต่อกันเกินระยะเวลาที่แพทย์สั่งหรือซื้อมาใช้เอง เพราะอาจเสี่ยงเกิดต้อหินและสูญเสียการมองเห็นถาวรได้     ป้องกันตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นต้อเนื้อ เพื่อป้องกันต้อเนื้อและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดขึ้น ควรปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้   หากมีอาการระคายเคืองตาจากตาแห้ง ให้ใช้น้ำตาเทียมได้ โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ หากตาล้าหรือตาแห้งระหว่างวัน ให้พักสายตาโดยการหลับตา หรือเปลี่ยนระยะการมองบ่อยๆ หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วง 10:00 - 14:00 น. เพื่อลดการโดนแสงยูวี ใส่แว่นที่สามารถป้องกันแสงยูวีและเพื่อป้องกันฝุ่น ลม ควัน หลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่มีลม ฝุ่น ความร้อน ควัน สิ่งสกปรก และความแห้ง สังเกตดวงตาภายนอกและการมองเห็นของตนเองอยู่เสมอ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบเข้าพบจักษุแพทย์ สรุป ต้อเนื้อคือเยื่อบุตาขาวที่เจริญผิดปกติเข้ามาบริเวณตาดำ ทำให้ระคายเคืองและอาจบดบังการมองเห็นได้ อาการหลัก ได้แก่ ตาแดง ระคายเคือง มีอาการเจ็บเล็กน้อย และรู้สึกมีอะไรติดตา สาเหตุหลักมาจากการอยู่กลางแดด ฝุ่น ลม และแสงยูวี วิธีรักษาต้อเนื้อ สามารถใช้ยาหยอดตาหรือผ่าตัดเอาเยื่อบุตาที่ผิดปกติออก ส่วนการป้องกันควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด ฝุ่น ลม และแสงยูวี สวมแว่นกันแดด และใช้น้ำตาเทียมหากตาแห้ง หากคุณมีต้อเนื้อ แนะนำเข้ามารับการรักษาที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านดวงตาที่นี่พร้อมให้บริการดูแลและรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วยเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย

โรคต้อลมเกิดจากอะไร อาการที่พบบ่อย พร้อมวิธีรักษาและการป้องกัน

ต้อลมคือการสะสมของไขมัน โปรตีน หรือแคลเซียมบริเวณดวงตา ทำให้เกิดเป็นรอยนูนสีเหลืองบนเยื่อบุตา อาการต้อลม ได้แก่ รอยนูนสีเหลืองในตาขาว ตาแดง เจ็บตา ระคายเคือง ตาแห้ง น้ำตาไหลผิดปกติ และรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา วิธีรักษาต้อลม ทำได้โดยการใช้ยาหยอดตา ขี้ผึ้ง หรือในบางกรณีอาจต้องผ่าตัดร่วมด้วย รักษาต้อลมที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีความเฉพาะทางในการดูแลโรคตา ด้วยอุปกรณ์และจักษุแพทย์   ต้อลมคือปัญหาสุขภาพตาที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าต้อลมคืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง รวมถึงวิธีรักษาและแนวทางการป้องกันต้อลม เพื่อช่วยให้ดวงตาของเราสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคตาเหล่านี้ ทำได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย     ทำความเข้าใจว่าต้อลมคืออะไร โรคต้อลม (Pinguecula) คือการสะสมของไขมัน โปรตีน หรือแคลเซียมบริเวณดวงตา ทำให้เกิดเป็นรอยนูนสีเหลืองขนาดเล็กบนเยื่อบุตา โดยมักพบได้บริเวณหัวตาของตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ลักษณะของต้อลมอาจเป็นรูปวงกลมหรือสามเหลี่ยม และมีโอกาสขยายใหญ่ขึ้นตามระยะเวลา     ความต่างระหว่างต้อลมและต้อเนื้อ ต้อเนื้อเป็นโรคในกลุ่มเดียวกับต้อลม แต่มีความแตกต่างตรงที่ก้อนเนื้อจะลุกลามยื่นเข้าไปในกระจกตา (ตาดำ) สาเหตุของต้อเนื้อกับต้อลมนั้นมีความคล้ายกัน โดยเกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตาบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน เมื่อก้อนเนื้อต้อลมเจริญเติบโตมากขึ้นและลุกลามเข้าสู่ตาดำ ก็จะพัฒนากลายเป็นต้อเนื้อนั่นเอง     อาการที่มักพบของต้อลม สำหรับผู้ที่เป็นต้อลม มักจะมีอาการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น มีรอยนูนสีเหลืองขนาดเล็กบนตาขาว ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ตาแดง ตาบวม คันตา และรู้สึกระคายเคือง ตาแห้งหรือเจ็บตา น้ำตาไหลผิดปกติ รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา     ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดต้อลม มีอะไรบ้าง ปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อลมมักเกี่ยวข้องกับการสัมผัสสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลให้เยื่อบุตาเกิดการเสื่อมสภาพ โดยปัจจัยหลักๆ ได้แก่ ฝุ่นละอองและควันต่างๆ การสัมผัสอากาศร้อนเป็นเวลานาน การเผชิญกับลมบ่อยๆ การจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นเวลานาน ภาวะตาแห้งเรื้อรัง อายุที่มากขึ้น โดยมีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากเส้นใยคอลลาเจนบริเวณเยื่อตาเริ่มเสื่อมสภาพ (Degeneration of Collagen Fibers) คนงานก่อสร้างที่ต้องทำงานกลางแจ้งและเผชิญแสงแดดเป็นเวลานาน ช่างเชื่อมเหล็ก ที่ต้องสัมผัสกับแสงจ้าและความร้อน พนักงานเจียระไนเครื่องประดับ ที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองและแสงจ้า เมื่อไรที่ควรมารักษาต้อลม  ควรรักษาต้อลมเมื่อมีอาการที่รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น   เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบบ่อยครั้ง ต้อลมขยายใกล้เข้ามาที่กระจกตาจนส่งผลต่อการมองเห็น รู้สึกว่าสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์ยากขึ้น การตรวจและวินิจฉัยต้อลม ทำอย่างไร  จักษุแพทย์วินิจฉัยต้อลมได้ด้วยการตรวจดวงตาตามปกติ โดยจะใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่มีกำลังขยายสูง (Slit Lamp) ในการตรวจสอบการเจริญเติบโตใกล้ๆ ดวงตา ซึ่งกล้อง Slit Lamp เป็นกล้องจุลทรรศน์ที่มุ่งเน้นลำแสงแคบๆ ของแสงสว่างสดใสลงบนดวงตา ซึ่งช่วยให้สามารถแยกแยะระหว่างต้อลมและการเจริญเติบโตที่คล้ายกันได้     วิธีรักษาต้อลม ทำอย่างไร  การรักษาต้อลมมีหลายวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้แย่ลง ดังนี้ ใช้น้ำตาเทียมที่มีส่วนผสมของ Antazoline และ Tetrahydrozoline หรือขี้ผึ้งเพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้น บรรเทาอาการระคายเคือง รับประทานยาแก้อักเสบเพื่อช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการไม่สบายตาที่เกิดจากต้อลม ใช้ยาหยอดตาแบบสเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวมและแดง หากอาการอักเสบไม่ดีขึ้น ต้อลมส่งผลต่อการมองเห็น หรือผู้ป่วยไม่พอใจกับลักษณะต้อลมในดวงตา แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัด อย่างไรก็ตามหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีโอกาสกลับมาเป็นต้อลมอีกได้ หลังผ่าตัดรักษาต้อลมแล้วจะมีอาการเป็นอย่างไร ต้อลมโดยทั่วไปจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา รวมถึงการผ่าตัดมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน แม้ว่าต้อลมอาจกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้งหลังการผ่าตัด จักษุแพทย์อาจให้ยาหรือใช้การฉายรังสีที่พื้นผิวเพื่อช่วยป้องกันการกลับมาเจริญเติบโตของต้อลมอีกครั้งได้     การดูแลดวงตา เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นต้อลม เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นต้อลม ควรดูแลดวงตาอย่างเหมาะสม โดยมีแนวทางการป้องกันและดูแลดวงตาให้ห่างไกลจากต้อลม ดังนี้ สวมแว่นกันแดดแบบปิดด้านข้างและหมวกปีกกว้างเมื่ออยู่กลางแดด เพื่อป้องกันตัวเองจากรังสี UVA และ UVB ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคต้อลม หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดกลางแจ้ง ฝุ่น ควัน และอากาศร้อนเป็นเวลานาน สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือฝุ่น ควรสวมใส่แว่นตากันฝุ่น ไม่เอาใบหน้าไปจ่อใกล้กับเครื่องปรับอากาศ พนักงานออฟฟิศที่ใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรจัดระยะห่างจากคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม และกระพริบตาทุก 30 วินาที เพื่อป้องกันตาแห้ง หากรู้สึกตาแห้ง อาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการขยี้ตา เมื่อมีความผิดปกติ ไม่ควรซื้อยามารับประทานหรือหยอดเอง ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรมาตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี      สรุป ต้อลมคือการสะสมของไขมัน โปรตีน หรือแคลเซียมที่ก่อตัวเป็นรอยนูนสีเหลืองบนเยื่อบุตา โดยมักขึ้นที่หัวตาและไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เมื่อเป็นต้อลม การรักษาสามารถทำได้ตามความรุนแรงของอาการ รวมถึงสามารถป้องกันได้โดยการดูแลดวงตาให้เหมาะสม สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาต้อลม แนะนำให้เข้ามารักษาที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่ให้บริการดูแลรักษาโรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาโดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ มาพร้อมเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย และได้มาตรฐาน

โรคต้อที่ตาคืออะไร? แยกได้ทั้งหมดกี่ชนิด พร้อมอาการและวิธีการรักษา

โรคต้อที่ตามี 4 ประเภท คือต้อลม เกิดจากการระคายเคืองจากสภาพแวดล้อม ต้อกระจก เกิดจากเลนส์แก้วตาขุ่น ต้อเนื้อ  เป็นเนื้อเยื่อที่เติบโตบนกระจกตา และต้อหิน เกิดจากความดันในลูกตาสูงขึ้น ต้อลมมักมีอาการระคายเคืองหรือแสบตา ต้อกระจกมีอาการมองเห็นพล่ามัว ต้อเนื้ออาจมีอาการกระทบต่อการมองเห็น ต้อหินเมื่อรุนแรงอาจทำให้สูญเสียการมองเห็น การรักษาต้อแต่ละประเภท คือต้อลมใช้ยาหยอดตาหรือผ่าตัด ต้อกระจกผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ ต้อเนื้อใช้ยาหรือผ่าตัด ต้อหินใช้ยาหยอดตาหรือเลเซอร์หรือผ่าตัดลดความดัน ส่วนการป้องกันควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ฝุ่น และตรวจตากับจักษุแพทย์ประจำ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีการรักษาโรคต้อด้วยจักษุแพทย์ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และบริการที่ครบวงจร   การทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพดวงตา เพราะโรคต้อทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นต้อลม ต้อหิน ต้อกระจก และต้อเนื้อ ต่างก็มีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกันออกไป การรู้จักปัจจัยเสี่ยงและวิธีการป้องกันจะช่วยให้เราดูแลรักษาดวงตาของเราได้อย่างเหมาะสม เพื่อรักษาสุขภาพดวงตาให้คงความสดใสและมองเห็นได้ชัดเจนต่อไป มาหาคำตอบได้ในบทความนี้ โรคต้อ หรือตาเป็นต้อ คืออะไร? โรคต้อ หรือที่เรียกกันว่าภาวะตาเป็นต้อ หมายถึงกลุ่มของโรคที่เกิดบริเวณดวงตา ทำให้เกิดปัญหาที่เลนส์ตา โดยส่วนมากจะทำให้การมองเห็นลดลงหรือมองเห็นได้ผิดปกติ โดยภาวะตาเป็นต้อสามารถระบุได้หลายชนิดขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุที่แตกต่างกัน เพื่อให้ป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี ควรระบุก่อนว่าเป็นต้อชนิดใด ต้อมีทั้งหมดกี่ประเภท ภาวะตาเป็นต้อแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีอาการและสาเหตุที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งยังเกิดขึ้นในบริเวณที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีความรุนแรงต่างกันด้วย ดังนี้ 1. ต้อลม (Pinguecule) ต้อลมมีลักษณะเป็นเยื่อสีขาวหรือขาวอมเหลืองที่เกิดบริเวณตาขาวใกล้ตาดำ สาเหตุหลักมาจากการสัมผัสกับสิ่งที่ระคายเคืองต่อเยื่อบุตา เช่น ลม ฝุ่น และแสงแดดเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเคืองตาได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ต้อลมไม่ทำให้การมองเห็นพร่ามัวหรือสูญเสียการมองเห็น วิธีการรักษาต้อลม การรักษาต้อลม ทำได้โดยการผ่าตัดหรือการใช้เลเซอร์ โดยจักษุแพทย์มักจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดพร้อมปลูกเนื้อเยื่อลงแทนที่เยื่อบุตาขาวที่ถูกตัดออกไป เนื้อเยื่อที่ใช้ปลูกเป็นเนื้อเยื่อหุ้มรก ซึ่งจะถูกเย็บด้วยไหมหรือใช้กาว Fibrin Glue เพื่อเชื่อมสมานแผลระหว่างเนื้อเยื่อเดิมและเนื้อเยื่อที่ปลูกใหม่ หลังการผ่าตัดอาจเกิดอาการระคายเคืองบ้าง แต่วิธีนี้ช่วยลดโอกาสการเกิดต้อลมซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีป้องกันต้อลม หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องออกแดดก็ควรสวมแว่นกันแดดกันลมหรือสวมหมวกปีกกว้างขณะอยู่กลางแจ้ง พักสายตาเป็นระยะเมื่อรู้สึกตาล้าหรือตาเมื่อยจากการใช้สายตามากเกินไป ไม่ควรขยี้ตา แต่หากรู้สึกระคายเคืองตาหรือตาแห้งให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดเพื่อบรรเทาอาการ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกใช้น้ำตาเทียม หมั่นสังเกตอาการของดวงตา เช่น อาการคัน ระคายเคือง หรือการมองเห็นที่เปลี่ยนไป หากมีความผิดปกติควรพบแพทย์ทันที ตรวจสุขภาพดวงตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อเนื้อหรือต้อลม ควรเข้าตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 2. ต้อกระจก(Cataract) ต้อกระจกเป็นภาวะที่เลนส์ตาเกิดความขุ่น มีอาการมองเห็นผิดปกติ เหมือนมีหมอกหรือควันขาวบังสายตา โดยทั่วไปต้อกระจกมักเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุ แต่ก็ยังเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดหรือหลังได้รับอุบัติเหตุต่อดวงตาได้เช่นกัน หากไม่ได้รับการรักษาการมองเห็นจะมัวลงเรื่อยๆ จนอาจสูญเสียการมองเห็นในที่สุด วิธีการรักษาต้อกระจก การรักษาต้อกระจกมีหลายวิธี ดังนี้ การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) เป็นการใช้คลื่นเสียงสลายต้อและดูดออก จากนั้นใส่เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับได้ลงไปในแผลขนาดเล็ก 2.6-3.0 มม. เพื่อฟื้นฟูการมองเห็นให้ชัดเจน เหมาะกับผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว หรือเอียง วิธีสลายต้อ (Phacoemulsification) เป็นการนำเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นมัวออก แล้วแทนที่ด้วยเลนส์แก้วตาเทียม เพื่อฟื้นฟูการมองเห็นให้กลับมาชัดเจน การเลเซอร์ Femtosecond Laser Assisted Cataract Surgery การใช้เลเซอร์ช่วยเปิดแผล เปิดถุงหุ้มเลนส์ และแบ่งเลนส์ต้อให้เป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้การสลายและดูดออกด้วย Ultrasound ง่ายขึ้น เพิ่มความแม่นยำในการวางเลนส์แก้วตาเทียม วิธีป้องกันต้อกระจก สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะที่มีวิตามินเอ อี และซี ซึ่งช่วยบำรุงสายตา จัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม มีแสงสว่างเพียงพอและระยะการมองที่พอดี พักสายตาเป็นระยะๆ เมื่อใช้สายตานานๆ โดยเฉพาะการจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ หากต้องทำงานที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่อดวงตา ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน ควรตรวจสายตาทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป 3. ต้อเนื้อ(Pterygium) ต้อเนื้อ เป็นภาวะเนื้อเยื่อที่เติบโตบนกระจกตา มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม เป็นเนื้อเยื่อสีขาวอมแดงที่มักปรากฏบริเวณหัวตาหรือหางตา เกิดจากการระคายเคืองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดงหรือเคืองตาเมื่อถูกสิ่งกระตุ้น แต่โรคนี้ไม่ทำให้ตามัวหรือตาบอดในระยะเริ่มต้น วิธีการรักษาต้อเนื้อ ต้อเนื้อที่เป็นน้อย รักษาได้ด้วยยาหยอดตาลดอาการอักเสบเพื่อบรรเทาการระคายเคือง หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น แพทย์จะรักษาโดยการลอกต้อเนื้อออก หรือใช้วิธีลอกต้อเนื้อแล้วปลูกเนื้อเยื่อใหม่ ซึ่งอาจใช้เนื้อเยื่อจากเยื่อบุตาของผู้ป่วยเอง การปลูกเนื้อเยื่อช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำได้อีกด้วย วิธีป้องกันต้อเนื้อ สวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์กรองรังสีอัลตราไวโอเลต หรือแว่นตาที่ช่วยปกป้องดวงตาจากลม ฝุ่น มลภาวะ และแสงสะท้อน เมื่ออยู่กลางแจ้ง ควรสวมหมวกปีกกว้างเพื่อปกป้องดวงตาจากแสงอาทิตย์ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีแสงแดดจ้า ฝุ่น ควัน ลม หรือมลภาวะมาก ใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและหล่อลื่นดวงตา 4. ต้อหิน(Glaucoma) โรคต้อหินเกิดจากการระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตาผิดปกติจนทำให้ความดันในลูกตาสูง มีอาการลูกตาแข็งขึ้นจนกดขั้วประสาทตา (Optic Disc) ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียลานสายตาจนถึงขั้นตาบอดได้ โรคต้อหินแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ต้อหินมุมเปิด เกิดจากการอุดตันรูระบายน้ำระหว่างกระจกตาดำและตาขาว (Trabecular meshwork) ทำให้น้ำในลูกตาไหลออกไม่ได้ จนความดันในลูกตาสูงขึ้น ต้อหินมุมปิด เกิดจากม่านตาถูกดันให้ยกตัวขึ้นจนปิดมุมระบายน้ำ ทำให้น้ำไหลออกทาง Trabecular meshwork ไม่ได้ ความดันในลูกตาจึงสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ต้อหินแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของดวงตาที่เกิดจากพันธุกรรม โดยยีนที่ทำให้เกิดโรคเป็นยีนด้อย และจะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะ โดยมีโอกาสเกิด 25% ต้อหินแทรกซ้อน เกิดจากการกระตุ้นบางประการที่ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อม หรือจากความดันในลูกตาสูง ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรคนี้   วิธีการรักษาต้อหิน การรักษาต้อหินมีหลายวิธี ได้แก่ การใช้ยาหยอดเพื่อลดการสร้างน้ำในลูกตาหรือช่วยระบายน้ำให้ดีขึ้น การรักษาด้วยเลเซอร์เพื่อควบคุมความดันในลูกตา และการผ่าตัดที่ทำได้สองวิธีคือ การทำทางระบายน้ำและการติดตั้งท่อเล็กๆ เพื่อช่วยลดความดันในลูกตา วิธีป้องกันต้อหิน สังเกตอาการร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ เข้าตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจตากับจักษุแพทย์ปีละครั้ง โดยไม่ต้องรอจนมีอาการ ควบคุมโรคที่อาจทำให้เกิดต้อหิน เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ สวมเครื่องป้องกันดวงตาเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตามาหยอดเองเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดต้อหิน สรุป โรคต้อมี 4 ประเภท ได้แก่ ต้อลมจากการระคายเคือง ต้อกระจกจากเลนส์แก้วตาขุ่น ต้อเนื้อจากเยื่อบุตาขยาย และต้อหินจากความดันลูกตาสูง การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและตรวจตากับจักษุแพทย์เป็นประจำ หากเป็นโรคต้อ เข้ารับการรักษาที่Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่พร้อมให้บริการดูแลและรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาอย่างครบวงจร ด้วยจักษุแพทย์มากประสบการณ์และเทคโนโลยีทันสมัย

การปฏิบัติตัวและวิธีดูแลหลังผ่าตัดต้อกระจก เพื่อการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

หลังผ่าตัดต้อกระจก ควรหลีกเลี่ยงการนอนตะแคงด้านที่ผ่าตัด ตรวจดวงตาตามนัดและทำความสะอาดตาเป็นประจำ ห้ามขยี้ตาและระวังไม่ให้น้ำหรือฝุ่นเข้าตา และหลีกเลี่ยงการไอหรือจามแรงๆ สิ่งที่ควรใส่ใจหลังผ่าตัดต้อกระจกคือการหยอดยาให้ถูกต้อง ปกป้องตาด้วยแว่นกันแดดและที่ครอบทั้งดวงตา รักษาความสะอาดตาและควรพักผ่อนให้เพียงพอ  ข้อห้ามหลังผ่าตัดต้อกระจก ได้แก่ ห้ามยกของหนัก ห้ามน้ำเข้าตา และห้ามออกกำลังกายหนัก รักษาต้อกระจกที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาและดูแล โดยรักษาแบบไร้ใบมีด เลนส์พรีเมียมเพื่อการมองเห็นที่ดีที่สุดพร้อมบริการดูแลหลังผ่าตัดต้อกระจกครบวงจรและติดตามผลอย่างใกล้ชิด   หลังผ่าตัดต้อกระจก มีสิ่งที่ควรทำและข้อห้ามต่างๆ เพื่อการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและทำให้สายตากลับมามองเห็นชัดเจนตามปกติ โดยการดูแลตนเองอย่างถูกวิธีในระยะฟื้นฟูจะช่วยให้กระบวนการหายเร็วขึ้น และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน การดูแลตนเองเบื้องต้นหลังผ่าตัดต้อกระจก การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์หลังผ่าตัดต้อกระจกเป็นสิ่งสำคัญที่มีส่วนช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ดังนี้ แพทย์จะจ่ายยาหยอดและยาสำหรับทานให้ ควรใช้ยาเหล่านี้ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ในวันแรกหลังผ่าตัดควรนอนพักผ่อนให้มากที่สุด โดยนอนหมอนสูงและหลีกเลี่ยงการนอนตะแคงด้านที่เพิ่งผ่าตัด แต่นอนตะแคงข้างตรงข้ามได้ หลังการผ่าตัด 1 วัน แพทย์จะนัดเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยและทำความสะอาดตา ห้ามขยี้ตา ห้ามสัมผัสดวงตาโดยไม่จำเป็น และควรระมัดระวังไม่ให้น้ำหรือเศษฝุ่นเข้าตา โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้า แนะนำให้สระผมที่ร้านหรือให้มีคนมาดูแลช่วยสระผมเพื่อป้องกันน้ำเข้าตา ทำความสะอาดดวงตาทุกวันอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์ ใช้สายตาอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือเล่นโทรศัพท์ได้ตามปกติ แต่หากรู้สึกแสบตาหรือปวดตา ควรหยุดพัก ระวังไม่ให้ไอ จาม หรือเบ่งแรงๆ เพราะอาจทำให้ตาได้รับแรงกระทบ        สิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจหลังผ่าตัดต้อกระจก   หลังผ่าตัดต้อกระจกมาระยะหนึ่ง ยังมีสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจเพื่อให้ดวงตาฟื้นตัวสมบูรณ์และกลับมาใช้งานได้ตามปกติ คือ การใช้ยาหยอดตาที่ถูกต้อง ยาหยอดตาช่วยปกป้องดวงตาและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดต้อกระจก ควรใช้อย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้ ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนหยอดตาทุกครั้ง อ่านวิธีใช้ยาหยอดตาแต่ละขวดอย่างละเอียด บางชนิดอาจต้องเขย่าขวดก่อนใช้ นั่งเอนหลังพิงพนักหรือในท่านอนราบ เงยศีรษะไปด้านหลัง ดึงเปลือกตาล่างลงให้เป็นแอ่ง แล้วมองขึ้นด้านบน หยอดตาลงในแอ่งตามจำนวนที่แพทย์แนะนำ ปิดฝาเก็บทันทีโดยไม่ต้องเช็ดหัวหยด และหลีกเลี่ยงไม่ให้ปลายหัวหยดสัมผัสกับมือ ดวงตา เปลือกตา หรือขนตาเพื่อป้องกันการปนเปื้อน หลับตาหลังหยอดยาเพื่อให้ยาซึมเข้าสู่ดวงตา หากมียาเกินให้ใช้สำลีปลอดเชื้อเช็ดออก หากต้องหยอดยามากกว่าหนึ่งชนิด ให้เว้นระยะห่างระหว่างยาประมาณ 3-5 นาที วิธีใส่ที่ครอบตาให้ถูกวิธี หลังผ่าตัดต้อกระจก ผู้ป่วยควรใส่ที่ครอบดวงตาอย่างน้อย 1 เดือน และทำความสะอาดที่ครอบดวงตาทุกวันด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด เช็ดให้แห้งก่อนใช้งานอีกครั้ง วิธีใส่เริ่มจากตัดพลาสเตอร์กาวยาวประมาณ 5 นิ้ว 4 เส้น นำที่ครอบดวงตาหันด้านตรงเข้าชิดจมูก แล้วแปะพลาสเตอร์ทับที่ครอบดวงตาข้างละ 2 เส้น ในแนวเฉียงลงไปทางแก้ม เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย การทำความสะอาดรอบดวงตา การเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตาเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อและรักษาความสะอาดหลังผ่าตัดต้อกระจก ควรปฏิบัติตามดังนี้ ล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้งก่อนสัมผัสดวงตาทุกครั้ง ใช้สำลีชุบน้ำเกลือหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา โดยเริ่มเช็ดจากหัวตาไปยังหางตา ทำความสะอาดให้ทั่วทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง ควรเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 2-4 เดือนหลังการผ่าตัดต้อกระจก การพักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนให้เพียงพอ และนอนในท่าที่เหมาะสมหลังผ่าตัดต้อกระจก มีส่วนช่วยฟื้นฟูร่างกาย ลดการอักเสบ กระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้การฟื้นตัวรวดเร็วและสายตากลับมาชัดเจน การใส่แว่นกันแดด ควรใส่แว่นกันแดดแทนฝาครอบตาในตอนกลางวัน เพื่อป้องกันแสงจ้าและฝุ่น และใส่ที่ครอบตาในตอนกลางคืน ป้องกันการขยี้ตา อย่างต่อเนื่อง 1 เดือน เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดต้อกระจกได้เร็วขึ้น     ข้อห้ามหรือสิ่งที่ไม่ควรทำหลังผ่าตัดต้อกระจก หลังผ่าตัดต้อกระจกจนกว่าจะหายดี ควรหลีกเลี่ยงการทำสิ่งบางประการเพื่อการฟื้นตัวที่ดีและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้ ห้ามยกของหนัก หลังผ่าตัดต้อกระจกควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักเกิน 10 กิโลกรัม รวมถึงห้ามก้มเก็บของหรือลงต่ำกว่าระดับเอวเพราะอาจทำให้ตาถูกกระแทกหรือเกิดการเคลื่อนตัวของเลนส์ตาได้ ไม่ควรให้ดวงตาโดนน้ำ หลังผ่าตัดต้อกระจก ห้ามให้ตาโดนน้ำอย่างน้อย 2 สัปดาห์แรก สำหรับการทำความสะอาดใบหน้า ควรใช้น้ำเกลือสะอาด น้ำดื่ม หรือน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว สระผมควรทำที่ร้านและระวังน้ำเข้าตา ส่วนการอาบน้ำและแปรงฟันทำได้ตามปกติ เลี่ยงการออกกำลังกายหนัก หลังผ่าตัดต้อกระจก 1 เดือนแรก ห้ามออกกำลังกายหนัก รวมถึงพักการทำครัว การทำสวน และการเลี้ยงเด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยงที่อาจมาเล่นโดนใบหน้า เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนที่อาจส่งผลต่อดวงตา การติดตามผลหลังผ่าตัดต้อกระจก   ควรตรวจดวงตาตามนัดทุกครั้งหลังผ่าตัดต้อกระจก เช่น หลัง 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และทุกปี เพื่อเช็กความคืบหน้าและประเมินภาวะที่อาจเกิดขึ้น อย่างอาการผิดปกติหลังผ่าตัดต้อกระจกแล้วมองไม่ชัด ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที   ผลข้างเคียงหรืออาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดต้อกระจก หลังผ่าตัดต้อกระจก อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ คือ อาการติดเชื้อ แม้อาการจะพบได้น้อย แต่การหยอดยาตามที่แพทย์สั่งและดูแลความสะอาดจะช่วยลดความเสี่ยงได้ หากมีอาการบวมแดง เจ็บ หรือมีขี้ตาเยอะ ควรพบแพทย์ทันที จุดรับภาพอักเสบ อาจมีอาการตามัวหรือเห็นภาพเบี้ยวเกิดขึ้นได้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด จากการอักเสบและบวมของจุดรับภาพ อาการนี้พบได้บ่อยและมักหายเองภายใน 6 เดือน ถุงหุ้มเลนส์ขุ่นมัว หลังใส่เลนส์มาหลายปี อาจมีอาการภาพขุ่นมัว รักษาได้ด้วย Yag Laser โดยใช้เวลา 5 นาที และกลับมาใช้สายตาได้ตามปกติหลังพักสายตาและหยอดยา 1-2 วัน สรุป หลังผ่าตัดต้อกระจก ควรดูแลตนเองโดยหยอดยาตามคำแนะนำ ปกป้องตาด้วยแว่นกันแดดและที่ครอบตา ทำความสะอาดตาและพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือกิจกรรมที่เสี่ยงกระทบตา และติดตามผลกับแพทย์ตามนัดเพื่อเช็กความคืบหน้า  ศูนย์โรคต้อกระจก Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีบริการรักษาต้อกระจกทุกชนิด รวมถึงการผ่าตัดต้อกระจกแบบไร้ใบมีด พร้อมเลนส์พรีเมียม เพื่อให้สายตากลับมามองเห็นได้ชัดเจนและปกติหลังการผ่าตัด
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111