มุมสุขภาพตา : #ต้อกระจก

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

วิธีรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าต้อกระจกมีกี่แบบ ผ่าต้อกระจกที่ไหนดี

การผ่าต้อกระจกคือการกำจัดเลนส์ตาขุ่นและใส่เลนส์ตาเทียมเพื่อคืนวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน วิธีรักษาต้อกระจกมี 4 วิธี คือการสลายต้อ ใช้เลเซอร์ ผ่าตัดเอาออกทั้งก้อน และผ่าตัดแผลเล็ก ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังผ่าต้อกระจก ได้แก่ การมีเลือดออกในลูกตา การติดเชื้อ ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก เลนส์ตาเทียมเลื่อนหลุด ปวดตา และการมองเห็นผิดปกติ รักษาต้อกระจกที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) เพราะที่นี่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านดวงตา พร้อมให้บริการโดยจักษุแพทย์ด้านต้อกระจก อุปกรณ์ทันสมัย และการดูแลที่ใกล้ชิดเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด   การผ่าต้อกระจกเป็นการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเลนส์ตาขุ่นมัวหรือเปลี่ยนแปลง ทำให้การมองเห็นลดลง วิธีการเตรียมตัวก่อนและดูแลหลังการผ่าตัดมีความสำคัญเพื่อการฟื้นตัวและผลลัพธ์ที่ดี รวมถึงการเลือกผ่าต้อกระจกที่ไหนดี? ควรเลือกสถานที่ที่เหมาะสมผ่านปัจจัยต่างๆ ที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ     การผ่าต้อกระจกคืออะไร การรักษาต้อกระจกแตกต่างจากการรักษาต้อลมและต้อเนื้อเพราะมีเพียงวิธีเดียว คือ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งถือเป็นวิธีการรักษามาตรฐานทั่วโลก และสามารถทำได้ทั้งหมด 3 เทคนิควิธี ได้แก่ 1. ผ่าต้อกระจกโดยการสลายต้อ (Phacoemulsification) การผ่าตัดสลายต้อกระจกเป็นการผ่าตัดที่มีแผลขนาดเล็กมากประมาณ 2.6-3 มิลลิเมตร จึงไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผล ซึ่งทำให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของจักษุแพทย์และความซับซ้อนของเคส นอกจากนี้การใส่เลนส์ตาเทียมใหม่ยังช่วยแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสายตามองใกล้ผิดปกติได้อีกด้วย 2. ผ่าต้อกระจกโดยใช้เลเซอร์ (Femtosecond Laser-Assisted Cataract Surgery) การรักษาต้อกระจกด้วยเลเซอร์Femtosecond Laserช่วยในขั้นตอนการเปิดแผล การเปิดถุงหุ้มเลนส์ และการแบ่งเลนส์ต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้การสลายและดูดออกด้วยอัลตราซาวนด์ง่ายขึ้น เนื่องจาก Femtosecond Laser ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จักษุแพทย์จึงวางแผนการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดแผลจะมีความแม่นยำสูง สามารถเปิดถุงหุ้มเลนส์ให้มีขนาดตามต้องการ และวางเลนส์แก้วตาเทียมให้อยู่ตำแหน่งตรงกลางได้ดี ช่วยแก้ไขสายตาเอียงให้ได้องศาที่ต้องการ 3. การผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็ก (MSICS: Manual Small Incision Cataract Surgery) เทคนิคการผ่าตัดที่เอาต้อกระจกทั้งก้อนออกผ่านแผลขนาดเล็กบริเวณตาขาวที่ปิดเองได้โดยไม่ต้องเย็บแผล มีถุงหุ้มเลนส์ยังคงอยู่ในตา แผลผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีขนาดเล็กกว่าวิธีผ่าต้อกระจกโดยวิธีเอาออกทั้งก้อน แต่ใหญ่กว่าวิธีผ่าต้อกระจกโดยใช้เลเซอร์ นอกจากนี้การไม่ต้องเย็บแผลช่วยลดปัญหาการเกิดสายตาเอียงที่อาจเกิดจากการผ่าตัด ฟื้นตัวเร็วกว่าและลดจำนวนครั้งในการพบแพทย์เพื่อการติดตามผลการรักษาหลังผ่าตัด     ชนิดของเลนส์ตามเทียมที่ใส่หลังผ่าต้อกระจก การผ่าต้อกระจกมักจะตามมาด้วยการใส่เลนส์ตาเทียมเพื่อช่วยปรับการมองเห็นให้ชัดเจนขึ้น มีชนิดของเลนส์ตาเทียมหลายประเภทให้เลือก ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและข้อดีที่แตกต่างกันไป ดังนี้ Monofocal IOLเลนส์ตาเทียมชนิดมองไกลได้ระยะเดียวสามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาวที่มีอยู่เดิมก่อนการผ่าตัดได้ เป็นเลนส์ตาเทียมที่ได้รับความนิยมมากในโรงพยาบาลทั่วไปในประเทศไทย Toric IOLเลนส์ตาเทียมชนิดที่แก้ไขปัญหาสายตาเอียงได้ Multifocal IOLเป็นเลนส์ตาเทียมที่มองเห็นได้หลายระยะ ใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศและในโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย     ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าต้อกระจก ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าต้อกระจก ได้แก่ การมีเลือดออกในลูกตาหรือเบ้าตาจากการฉีดยาชา กระจกตาขุ่นมัวเนื่องจากเซลล์ตาไม่แข็งแรง การติดเชื้อ จอประสาทตาหลุดลอก ปวดตาแสงจ้า และเลนส์แก้วตาเทียมเลื่อนหลุด อาการรุนแรงอาจนำไปสู่การสูญเสียดวงตาหรือการมองเห็น ภาวะเหล่านี้พบได้น้อยมากและอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือน หรือหลายปีหลังการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วยในการดูแลตนเองหลังผ่าตัด การเตรียมตัวก่อนผ่าต้อกระจก การเตรียมตัวก่อนผ่าต้อกระจกจึงมีความสำคัญ ควรปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย ฝึกนอนหงาย โดยมีผ้าคลุมบริเวณใบหน้า นานประมาณ 20-30 นาที เพื่อให้หายใจใต้ผ้าคลุมจนชิน เนื่องจากตอนผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องนอนคลุมผ้าในลักษณะคล้ายกัน ในวันผ่าตัด ให้อาบน้ำสระผม ล้างหน้า และงดทาแป้ง ครีม หรือแต่งหน้าก่อนมาโรงพยาบาล รับประทานอาหารเช้าและยาโรคประจำตัวตามปกติ ยกเว้นยาที่แพทย์สั่งให้งด เช่น แอสไพริน หรือยาละลายลิ่มเลือด ถอดของมีค่า เครื่องประดับ และฟันปลอม หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง เคืองตา มีขี้ตา หรือเป็นหวัด ไอ จาม กรุณาแจ้งแพทย์หรือพยาบาล เพื่อรักษาให้หายก่อนเข้ารับการผ่าตัด ในวันผ่าตัด ควรมีญาติหรือเพื่อนมาด้วยอย่างน้อย 1 คน เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องปิดตาข้างที่ผ่าตัดกลับบ้าน การดูแลหลังผ่าต้อกระจก เพื่อให้ไม่มีการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก ควรดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด โดยมีขั้นตอนดังนี้ สวมแว่นกันแดดหรือแว่นสายตาตลอดเวลา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกระทบกระแทก หากไม่มีให้ครอบตาด้วยฝาครอบตาที่โรงพยาบาลจัดให้ ใช้ฝาครอบตาก่อนเข้านอนทุกคืนเพื่อป้องกันการขยี้ตาโดยไม่รู้สึกตัว ควรนอนหงายเป็นหลัก แต่สามารถนอนตะแคงได้โดยเอาตาข้างที่ผ่าตัดขึ้นด้านบน อ่านหนังสือและดูโทรทัศน์ได้ แต่ควรหยุดพักเมื่อรู้สึกแสบตา สามารถทำกิจวัตรประจำวันเบาๆ เช่น เดินเล่น หรือ ไปทานอาหารนอกบ้าน แต่ไม่ควรก้มศีรษะต่ำกว่าเอว ไม่ควรยกของหนัก หลีกเลี่ยงการไอ จาม เบ่งอย่างรุนแรง ห้ามขยี้ตา และระวังการลื่นหกล้ม อาบน้ำได้ โดยไม่ให้น้ำเข้าตา การสระผมควรนอนสระที่ร้าน หรือให้ผู้อื่นสระให้ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าตา สามารถแปรงฟัน และล้างใบหน้าครึ่งล่างได้ โดยไม่ควรให้น้ำกระเด็นเข้าตา ทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาและใบหน้า โดยใช้สำลีหรือผ้าสะอาดชุบน้ำ เช็ดหน้าและเปลือกตาจากหัวตาไปหางตา หลีกเลี่ยงการทำสวน รดน้ำ พรวนดิน ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหารที่มีไอหรือควัน 7 วัน หยอดยาตามแพทย์สั่ง และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง     ผ่าต้อกระจกราคาเท่าไร ควรผ่าที่ไหนดี ราคาการผ่าต้อกระจกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 20,000 ถึง 80,000 บาท หรือมากกว่านั้น สามารถแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และเงื่อนไขสุขภาพดวงตาของแต่ละบุคคล เช่น โรงพยาบาลที่เลือกรักษา ประเภทของเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้ เทคนิคการผ่าตัด การใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัด และความซับซ้อนของเคส รวมถึงการบริการเสริมอื่นๆ เช่น การตรวจหลังผ่าตัดและการติดตามผล วิธีการเลือกโรงพยาบาลผ่าต้อกระจก ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านต้อกระจก พร้อมให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือทันสมัยในการรักษาต้อกระจก เพื่อให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยมากที่สุด   สรุป การผ่าต้อกระจกคือการนำเลนส์ตาขุ่นออกและใส่เลนส์เทียมใหม่เพื่อฟื้นฟูการมองเห็นทำได้ 4 วิธี คือผ่าตัดสลายต้อ ผ่าตัดโดยเลเซอร์ ผ่าตัดออกทั้งก้อน และผ่าตัดแบบแผลเล็ก ก่อนผ่าควรเตรียมตัวตามคำแนะนำแพทย์ และหลังผ่าต้องดูแลตาอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงของผลแทรกซ้อน สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาต้อกระจก สามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์โรคต้อกระจก Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)ซึ่งให้การดูแลและรักษาโรคและอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาอย่างครบวงจร

การปฏิบัติตัวและวิธีดูแลหลังผ่าตัดต้อกระจก เพื่อการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

หลังผ่าตัดต้อกระจก ควรหลีกเลี่ยงการนอนตะแคงด้านที่ผ่าตัด ตรวจดวงตาตามนัดและทำความสะอาดตาเป็นประจำ ห้ามขยี้ตาและระวังไม่ให้น้ำหรือฝุ่นเข้าตา และหลีกเลี่ยงการไอหรือจามแรงๆ สิ่งที่ควรใส่ใจหลังผ่าตัดต้อกระจกคือการหยอดยาให้ถูกต้อง ปกป้องตาด้วยแว่นกันแดดและที่ครอบทั้งดวงตา รักษาความสะอาดตาและควรพักผ่อนให้เพียงพอ  ข้อห้ามหลังผ่าตัดต้อกระจก ได้แก่ ห้ามยกของหนัก ห้ามน้ำเข้าตา และห้ามออกกำลังกายหนัก รักษาต้อกระจกที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาและดูแล โดยรักษาแบบไร้ใบมีด เลนส์พรีเมียมเพื่อการมองเห็นที่ดีที่สุดพร้อมบริการดูแลหลังผ่าตัดต้อกระจกครบวงจรและติดตามผลอย่างใกล้ชิด   หลังผ่าตัดต้อกระจก มีสิ่งที่ควรทำและข้อห้ามต่างๆ เพื่อการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและทำให้สายตากลับมามองเห็นชัดเจนตามปกติ โดยการดูแลตนเองอย่างถูกวิธีในระยะฟื้นฟูจะช่วยให้กระบวนการหายเร็วขึ้น และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน การดูแลตนเองเบื้องต้นหลังผ่าตัดต้อกระจก การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์หลังผ่าตัดต้อกระจกเป็นสิ่งสำคัญที่มีส่วนช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ดังนี้ แพทย์จะจ่ายยาหยอดและยาสำหรับทานให้ ควรใช้ยาเหล่านี้ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ในวันแรกหลังผ่าตัดควรนอนพักผ่อนให้มากที่สุด โดยนอนหมอนสูงและหลีกเลี่ยงการนอนตะแคงด้านที่เพิ่งผ่าตัด แต่นอนตะแคงข้างตรงข้ามได้ หลังการผ่าตัด 1 วัน แพทย์จะนัดเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยและทำความสะอาดตา ห้ามขยี้ตา ห้ามสัมผัสดวงตาโดยไม่จำเป็น และควรระมัดระวังไม่ให้น้ำหรือเศษฝุ่นเข้าตา โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้า แนะนำให้สระผมที่ร้านหรือให้มีคนมาดูแลช่วยสระผมเพื่อป้องกันน้ำเข้าตา ทำความสะอาดดวงตาทุกวันอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์ ใช้สายตาอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือเล่นโทรศัพท์ได้ตามปกติ แต่หากรู้สึกแสบตาหรือปวดตา ควรหยุดพัก ระวังไม่ให้ไอ จาม หรือเบ่งแรงๆ เพราะอาจทำให้ตาได้รับแรงกระทบ        สิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจหลังผ่าตัดต้อกระจก   หลังผ่าตัดต้อกระจกมาระยะหนึ่ง ยังมีสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจเพื่อให้ดวงตาฟื้นตัวสมบูรณ์และกลับมาใช้งานได้ตามปกติ คือ การใช้ยาหยอดตาที่ถูกต้อง ยาหยอดตาช่วยปกป้องดวงตาและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดต้อกระจก ควรใช้อย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้ ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนหยอดตาทุกครั้ง อ่านวิธีใช้ยาหยอดตาแต่ละขวดอย่างละเอียด บางชนิดอาจต้องเขย่าขวดก่อนใช้ นั่งเอนหลังพิงพนักหรือในท่านอนราบ เงยศีรษะไปด้านหลัง ดึงเปลือกตาล่างลงให้เป็นแอ่ง แล้วมองขึ้นด้านบน หยอดตาลงในแอ่งตามจำนวนที่แพทย์แนะนำ ปิดฝาเก็บทันทีโดยไม่ต้องเช็ดหัวหยด และหลีกเลี่ยงไม่ให้ปลายหัวหยดสัมผัสกับมือ ดวงตา เปลือกตา หรือขนตาเพื่อป้องกันการปนเปื้อน หลับตาหลังหยอดยาเพื่อให้ยาซึมเข้าสู่ดวงตา หากมียาเกินให้ใช้สำลีปลอดเชื้อเช็ดออก หากต้องหยอดยามากกว่าหนึ่งชนิด ให้เว้นระยะห่างระหว่างยาประมาณ 3-5 นาที วิธีใส่ที่ครอบตาให้ถูกวิธี หลังผ่าตัดต้อกระจก ผู้ป่วยควรใส่ที่ครอบดวงตาอย่างน้อย 1 เดือน และทำความสะอาดที่ครอบดวงตาทุกวันด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด เช็ดให้แห้งก่อนใช้งานอีกครั้ง วิธีใส่เริ่มจากตัดพลาสเตอร์กาวยาวประมาณ 5 นิ้ว 4 เส้น นำที่ครอบดวงตาหันด้านตรงเข้าชิดจมูก แล้วแปะพลาสเตอร์ทับที่ครอบดวงตาข้างละ 2 เส้น ในแนวเฉียงลงไปทางแก้ม เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย การทำความสะอาดรอบดวงตา การเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตาเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อและรักษาความสะอาดหลังผ่าตัดต้อกระจก ควรปฏิบัติตามดังนี้ ล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้งก่อนสัมผัสดวงตาทุกครั้ง ใช้สำลีชุบน้ำเกลือหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา โดยเริ่มเช็ดจากหัวตาไปยังหางตา ทำความสะอาดให้ทั่วทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง ควรเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 2-4 เดือนหลังการผ่าตัดต้อกระจก การพักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนให้เพียงพอ และนอนในท่าที่เหมาะสมหลังผ่าตัดต้อกระจก มีส่วนช่วยฟื้นฟูร่างกาย ลดการอักเสบ กระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้การฟื้นตัวรวดเร็วและสายตากลับมาชัดเจน การใส่แว่นกันแดด ควรใส่แว่นกันแดดแทนฝาครอบตาในตอนกลางวัน เพื่อป้องกันแสงจ้าและฝุ่น และใส่ที่ครอบตาในตอนกลางคืน ป้องกันการขยี้ตา อย่างต่อเนื่อง 1 เดือน เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดต้อกระจกได้เร็วขึ้น     ข้อห้ามหรือสิ่งที่ไม่ควรทำหลังผ่าตัดต้อกระจก หลังผ่าตัดต้อกระจกจนกว่าจะหายดี ควรหลีกเลี่ยงการทำสิ่งบางประการเพื่อการฟื้นตัวที่ดีและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้ ห้ามยกของหนัก หลังผ่าตัดต้อกระจกควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักเกิน 10 กิโลกรัม รวมถึงห้ามก้มเก็บของหรือลงต่ำกว่าระดับเอวเพราะอาจทำให้ตาถูกกระแทกหรือเกิดการเคลื่อนตัวของเลนส์ตาได้ ไม่ควรให้ดวงตาโดนน้ำ หลังผ่าตัดต้อกระจก ห้ามให้ตาโดนน้ำอย่างน้อย 2 สัปดาห์แรก สำหรับการทำความสะอาดใบหน้า ควรใช้น้ำเกลือสะอาด น้ำดื่ม หรือน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว สระผมควรทำที่ร้านและระวังน้ำเข้าตา ส่วนการอาบน้ำและแปรงฟันทำได้ตามปกติ เลี่ยงการออกกำลังกายหนัก หลังผ่าตัดต้อกระจก 1 เดือนแรก ห้ามออกกำลังกายหนัก รวมถึงพักการทำครัว การทำสวน และการเลี้ยงเด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยงที่อาจมาเล่นโดนใบหน้า เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนที่อาจส่งผลต่อดวงตา การติดตามผลหลังผ่าตัดต้อกระจก   ควรตรวจดวงตาตามนัดทุกครั้งหลังผ่าตัดต้อกระจก เช่น หลัง 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และทุกปี เพื่อเช็กความคืบหน้าและประเมินภาวะที่อาจเกิดขึ้น อย่างอาการผิดปกติหลังผ่าตัดต้อกระจกแล้วมองไม่ชัด ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที   ผลข้างเคียงหรืออาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดต้อกระจก หลังผ่าตัดต้อกระจก อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ คือ อาการติดเชื้อ แม้อาการจะพบได้น้อย แต่การหยอดยาตามที่แพทย์สั่งและดูแลความสะอาดจะช่วยลดความเสี่ยงได้ หากมีอาการบวมแดง เจ็บ หรือมีขี้ตาเยอะ ควรพบแพทย์ทันที จุดรับภาพอักเสบ อาจมีอาการตามัวหรือเห็นภาพเบี้ยวเกิดขึ้นได้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด จากการอักเสบและบวมของจุดรับภาพ อาการนี้พบได้บ่อยและมักหายเองภายใน 6 เดือน ถุงหุ้มเลนส์ขุ่นมัว หลังใส่เลนส์มาหลายปี อาจมีอาการภาพขุ่นมัว รักษาได้ด้วย Yag Laser โดยใช้เวลา 5 นาที และกลับมาใช้สายตาได้ตามปกติหลังพักสายตาและหยอดยา 1-2 วัน สรุป หลังผ่าตัดต้อกระจก ควรดูแลตนเองโดยหยอดยาตามคำแนะนำ ปกป้องตาด้วยแว่นกันแดดและที่ครอบตา ทำความสะอาดตาและพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือกิจกรรมที่เสี่ยงกระทบตา และติดตามผลกับแพทย์ตามนัดเพื่อเช็กความคืบหน้า  ศูนย์โรคต้อกระจก Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีบริการรักษาต้อกระจกทุกชนิด รวมถึงการผ่าตัดต้อกระจกแบบไร้ใบมีด พร้อมเลนส์พรีเมียม เพื่อให้สายตากลับมามองเห็นได้ชัดเจนและปกติหลังการผ่าตัด
ศูนย์รักษาจอประสาทตา

5 สุดยอดอาหารบำรุงจอประสาทตา

5 สุดยอดอาหารบำรุงจอประสาทตา :  เสริมแกร่งสายตาคู่ใจ เพื่อการมองเห็นที่คมชัด จอประสาทตา คือ อวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่รับภาพและส่งสัญญาณไปยังสมอง ทำให้เรามองเห็นโลกอันสวยงามรอบตัวเรา การดูแลรักษาจอประสาทตาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้น อาจส่งผลต่อการมองเห็นอย่างถาวรได้ นอกจากการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำแล้ว การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยบำรุงและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับจอประสาทตาได้ อาหาร 5 ชนิด ที่ช่วยบำรุงจอประสาทตา และความสำคัญของสารอาหารแต่ละชนิดในอาหาร 1.    ผักใบเขียวเข้ม : ผักใบเขียว เช่น คะน้า ตำลึง ผักโขม และผักบุ้ง อุดมไปด้วยลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องจอประสาทตาจากแสงสีฟ้าและรังสียูวี o    ลูทีนและซีแซนทีน : ทำหน้าที่เป็นเหมือน “แว่นกันแดดภายใน” ช่วยกรองแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายต่อดวงตา และยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Age-related Macular Degeneration - AMD) อ้างอิงจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Ophthalmology 2.    ปลาที่มีไขมันสูง : ปลาแซลมอน ปลาทูน่า และปลาแมคเคอเรล เป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาสุขภาพของจอประสาทตา o    กรดไขมันโอเมก้า-3 : ช่วยลดการอักเสบและป้องกันจอประสาทตาแห้ง นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าโอเมก้า-3 อาจช่วยชะลอการลุกลามของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ อ้างอิงจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Ophthalmology 3.    ไข่ : ไข่แดงอุดมไปด้วยลูทีน ซีแซนทีน และสังกะสี o    สังกะสี : ช่วยในการขนส่งวิตามินเอไปยังจอประสาทตา ซึ่งวิตามินเอมีบทบาทสำคัญในการมองเห็นในที่แสงน้อย การขาดสังกะสีอาจนำไปสู่ภาวะตาบอดกลางคืนได้ 4.    ผลไม้ตระกูลเบอร์รี : บลูเบอร์รี สตรอว์เบอร์รี และราสเบอร์รี เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ o    สารต้านอนุมูลอิสระ : ช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาจากความเสียหาย และยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังดวงตา ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพตาโดยรวม 5.    ถั่วและเมล็ดพืช : อัลมอนด์ วอลนัท และเมล็ดทานตะวัน เป็นแหล่งของวิตามินอี o    วิตามินอี : เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตา วิตามินอียังช่วยลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อมตามที่ระบุในวารสารทางการแพทย์หลายฉบับ เมนูอาหารบำรุงสายตาที่คุณสามารถทำเองได้ง่ายๆ สลัดผักโขมกับปลาแซลมอนย่าง : อุดมไปด้วยลูทีน ซีแซนทีน และโอเมก้า-3 ไข่เจียวใส่ผัก : ได้รับทั้งลูทีน ซีแซนทีน และสังกะสี โยเกิร์ตกับผลไม้รวมและถั่ว : รวมสารอาหารบำรุงสายตาหลายชนิดไว้ในเมนูเดียว น้ำปั่นบลูเบอร์รี : ดื่มง่าย ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเต็มๆ ผลงานวิจัยสนับสนุน งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Ophthalmology พบว่า การรับประทานอาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีนสูง ช่วยลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมขั้นสูงได้ งานวิจัยในวารสาร Archives of Ophthalmology ระบุว่า ผู้ที่รับประทานปลาที่มีไขมันสูงเป็นประจำ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมน้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยรับประทาน  ที่ศูนย์รักษาจอประสาทตา โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ เรามีทีมจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านจอประสาทตา พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย คอยให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคทางจอประสาทตาอย่างครบวงจรหากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพตา หรือต้องการเข้ารับการตรวจเช็คสุขภาพตา สามารถติดต่อได้ที่ 02-511-2111 ศูนย์รักษาจอประสาทตา โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ ได้ทันที เราพร้อมดูแลดวงตาของคุณ เพื่อให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมองเห็นโลกได้อย่างชัดเจน สุขภาพตาที่ดี เริ่มต้นจากการใส่ใจ
ศูนย์รักษากระจกตา

โรคต้อที่ตาคืออะไร? แยกได้ทั้งหมดกี่ชนิด พร้อมอาการและวิธีการรักษา

ต้อเนื้อและต้อลมคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร ?ต้อเนื้อเป็นโรคกลุ่มเดียวกันกับต้อลม แต่มีการยื่นเข้าไปในส่วนของกระจกตา (ตาดำ) สาเหตุเหมือนกับต้อลม คือเกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตา บริเวณที่โดนแดด คือเมื่อก้อนเนื้อต้อลมโตขั้นเป็นมากขึ้น แล้วมีการยื่นเข้าไปในตาดำ ก็จะกลายเป็นเป็นต้อเนื้อนั่นเอง รู้ได้อย่างไรว่าเป็นต้อเนื้อ?ถ้ามองเข้าไปที่ตาจะเห็นก้อนเนื้อ สีชมพู เป็นรูปสามเหลี่ยมยื่นเข้าไปในตาดำ ถ้ามีการอักเสบมักเห็นเป็นสีแดงมากขึ้น ถ้าต้อลมจะอยู่แต่ที่ตาขาวเท่านั้น เป็นต้อเนื้อแล้วจะมีอาการอย่างไร?จะมีอาการระคายเคืองตา ตาแดง อาจคันหรือมีน้ำตาไหลถ้าโดนฝุ่นหรือลม ถ้าเป็นมากๆอาจกดกระจกตาทำให้มีสายตาเอียง หรือถ้าเป็นมากจนลุกลามไปบังตรงกลางของตาดำ อาจทำให้การมองเห็นมัวลงได้ เราจะป้องกันได้อย่างไร?หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เจอแดดแรงๆ หรือ ควรสวมแว่นกันแดด กางร่ม หรือสวมหมวกเพื่อไม่ให้ตาโดนแสงแดดโดยตรง ถ้าเป็นแล้ว จะรักษาให้หายได้หรือไม่ ตาจะบอดหรือไม่?กรณีถ้าเป็นไม่มาก อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด อาจเพียงแค่รักษาด้วยยาลดการอักเสบ ลดแดง หรือลดอาการระคายเคืองเป็นครั้งคราว แต่ถ้ามีอาการอักเสบบ่อยๆ หรือต้อเนื้อใหญ่มากขึ้น จนทำให้การมองเห็นแย่ลง อาจพิจารณาทำผ่าตัดลอกต้อเนื้อได้ ต้อเนื้อไม่อันตรายโดยปรกติไม่ทำให้ตาบอด ถ้าเป็นมากสามารถผ่าตัดรักษาได้ การผ่าตัดทำได้โดยแค่ฉีดยาชาเฉพาะที่ ใช้เวลาไม่นาน แต่การดูแลหลังผ่าตัดเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ คนไข้ต้องหยอดยาตามแพทย์สั่ง และ หลีกเลี่ยงการเจอผุ่น ลม แดด ไม่เช่นนั้นต้อเนื้ออาจกลับเป็นซ้ำได้ ซึ่งจะมีการอักเสบรุนแรงมากขึ้น และการทำผ่าตัดซ้ำก็ทำได้ยากขึ้น การผ่าตัดต้อเนื้อมีหลายวิธีดังนี้ การลอกต้อเนื้อเพียงอย่างเดียว โดยไม่เอาเยื่อบุใดๆมาแปะ วิธีนี้ทำในกรณีผุ้ป่วยอายุมาก ต้อเนื้อไม่มีการอักเสบมาก ปัจจุบันไม่นิยมเนื่องจากอัตราการเกิดซ้ำสูงมาก การลอกต้อเนื้อ และเอาเยื่อบุตามาแปะ คือนอกจากตัดต้อเนื้อ ออกแล้ว ยังเอาเยื่อบุตาส่วนบนของตาคนไข้เอง มาเย็บเข้าในบริเวณที่เป็นต้อเนื้อเดิม วิธีนี้ช่วยลดการเกิดซ้ำได้ดีมาก การลอกต้อเนื้อ และเอาเยื่อหุ้มรกมาแปะ วิธีทำผ่าตัดเหมือนวิธีที่ 2 แต่ใช้เยื่อหุ้มรกมาเย็บแทน ทำให้ไม่ต้องใช้เยื่อบุตาของคนไข้ และใช้ได้ในกรณีเป็นซ้ำ และได้ใช้เยื่อบุตาตนเองไปแล้ว การลอกต้อเนือโดยการใช้mitomycin c ร่วมกับใช้เยื่อหุ้มรก หรือ เยื่อบุตาแปะ จะ ช่วยลดการเกิดซ้ำได้ดี โดยเฉพาะในคนไข้กลุ่มที่มีความเสียงสูงในการเกิดซ้ำ แต่ก็ต้องใช้ยานี้อย่างระมัดระวังเนื่องจากอาจมีข้อแทรกซ้อนจากยา การแปะเยื่อหุ้มรกหรือเยื่อบุตานั้น อาจใช้ไหมเย็บ หรืออาจใช้กาว fibrin แปะโดยไม่ต้องเย็บก็ได้ ทั้งต้อลมและต้อเนื้อนั้น ถ้าเราทราบว่าเป็นแล้ว การป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งทำได้ไม่ยากเลย เพียงแค่ระวังหรือหลีกเลี่ยงการโดนแดด ฝุ่น ลม เช่น ใส่แว่นกันแดด ใช้ร่ม สวมหมวก ก็ทำให้เราลดโอกาสการโดนแดดโดยตรง โรคก็จะไม่เป็นมากขึ้นค่ะ  
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111