มุมสุขภาพตา : #ตาขี้เกียจ

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

รู้เท่าทันโรคตาขี้เกียจ! วิธีสังเกตอาการ พร้อมหาสาเหตุและวิธีรักษา

โรคตาขี้เกียจ หรือ Lazy Eyes คือโรคที่พบบ่อยในเด็ก หากปล่อยไว้นานโดยไม่ทำการรักษาจะมีผลต่อกล้ามเนื้อตาในระยะยาวได้ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการและพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเพ่งมองสิ่งต่างๆ ปวดศีรษะร่วมกับปวดตา และมองเห็นชัดข้างเดียว ควรพาพบแพทย์เนื่องจากอาจเป็นอาการของโรคตาขี้เกียจได้ มาดูว่าโรคตาขี้เกียจคืออะไร มีอาการอย่างไร การวินิจฉัย พร้อมแนวทางการรักษาได้ที่นี่ โรคตาขี้เกียจคืออาการที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างสูญเสียประสิทธิภาพการมองเห็นจนสมองปิดการรับรู้ อาการของตาขี้เกียจที่สังเกตได้ เช่น ต้องเพ่งมอง ตาล้า ปวดศีรษะง่ายหรืออาจพบต้อในตาได้ โรคตาขี้เกียจรักษาได้หลายวิธี ทั้งการปิดตาหนึ่งข้าง การใส่แว่น การใช้ยาหยอดตาขยายรูม่านตา เป็นต้น อาการตาขี้เกียจป้องกันได้โดยการสังเกตพฤติกรรมของเด็กหรือหมั่นตรวจสุขภาพและสายตาอย่างสม่ำเสมอ รักษาโรคตาขี้เกียจที่ศูนย์รักษาโรคตาเด็ก Bangkok Eye Hospital มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ประสบการณ์สูงในเรื่องการรักษาตาขี้เกียจ พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับการรักษาที่ทันสมัย ใส่ใจการให้บริการในทุกเคส     โรคตาขี้เกียจ (Amblyopia) คืออะไร โรคตาขี้เกียจ (Amblyopia) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Lazy Eyes คืออาการที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างมองเห็นไม่ชัดจนทำให้สมองปิดการรับรู้ หรือทำให้ประสาทสัมผัสปิดการใช้งานและพัฒนาด้านอื่นแทน จนทำให้กล้ามเนื้อตานั้นอ่อนแอและมีการมองเห็นที่แย่ลง เป็นโรคสายตาที่พบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีได้ 2 - 5% โรคตาขี้เกียจ มีอาการอย่างไร ตาขี้เกียจมีอาการที่สามารถสังเกตที่บ่งชี้ได้ โดยสังเกตได้จากการพฤติกรรมการมองของเด็ก ดังนี้ เพ่งตามองสิ่งต่างๆ ในระยะใกล้ หรือเอียงคอมอง ปิดตาข้างใดข้างหนึ่งเพื่อมองให้ชัดเจน ตาเหล่หรือตาเข ปวดศีรษะร่วมกับอาการตาล้าหรือปวดตาบ่อยๆ     สาเหตุโรคตาขี้เกียจ เกิดจากอะไร สาเหตุของโรคตาขี้เกียจอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้ 1. ค่าสายตาผิดปกติตั้งแต่เด็ก หากมีค่าสายตามากทั้งสองข้างตั้งแต่เด็กจะทำให้สมองปิดการรับรู้จนหยุดพัฒนาค่าสายตาและพัฒนาประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ทดแทน หรือหากมีค่าสายตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งที่มากตั้งแต่เด็กจะทำให้การพัฒนาการมองเห็นมีเพียงข้างเดียวและส่งผลให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแอได้ในระยะยาว 2. อาการตาเหล่ ตาเข อาการตาเหล่หรือตาเขข้างเดียวเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจได้มากที่สุด เนื่องจากอาการตาเหล่หรือ ตาเขข้างเดียวจะทำให้ดวงตานั้นมีการใช้สายตาเพียงข้างเดียว หากเกิดขึ้นกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะทำให้การพัฒนาสายตาด้านการรับรู้ภาพ 3 มิตินั้นไม่เต็มที่ หากไม่รักษาดวงตาที่ไม่สามารถรับภาพ 3 มิติได้จะกลายเป็นโรคตาขี้เกียจที่รักษาได้ยาก 3. ภาวะเปลือกตาตก ภาวะเปลือกตาตก หากมีอาการเปลือกตาตกจะทำให้ถูกบดบังการมองเห็นหรือมองเห็นได้ไม่เต็มที่ ทำให้สายตานั้นทำงานได้แย่ลง จนเกิดเป็นโรคตาขี้เกียจได้ทั้งสองข้าง 4. ระบบประสาทผิดปกติ สาเหตุของตาขี้เกียจจากระบบประสาทผิดปกติ หากมีความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง กระแสประสาทหรือเส้นประสาทดวงตา ทำให้สมองไม่สามารถประมวลผลหรือรับภาพได้ตามปกติ จะทำให้การพัฒนาของสายตาทำได้ไม่เต็มที่จนเกิดโรคตาขี้เกียจ 5. โรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โรคทางสายตาอื่นๆ ก็สามารถทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจได้ เช่นต้อกระจกเลนส์ตาผิดปกติหรือจอประสาทตาเสื่อมในเด็ก ทำให้การมองเห็นของดวงตาผิดปกติหรือไม่ชัดเจน จนเกิดเป็นโรคตาขี้เกียจได้     ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคตาขี้เกียจ ภาวะแทรกซ้อนของโรคตาขี้เกียจคืออาจทำให้สูญเสียการมองเห็นแบบภาพ 3 มิติและสายตาสั้นผิดปกติได้ หากไม่รักษาตั้งแต่ก่อนอายุ 2 ปีก็จะทำให้รักษาไม่ค่อยเห็นผล และมีผลต่อการมองเห็นได้มาก จึงควรสังเกตอาการตั้งแต่ยังเด็กและรีบรักษาให้เร็วที่สุด การวินิจฉัยอาการตาขี้เกียจจากแพทย์ การวินิจฉัยโรคตาขี้เกียจโดยแพทย์นั้นจะทำการตรวจดูอาการตาเหล่ ตาเข เปลือกตา หรือส่วนอื่นๆ ในดวงตาที่อาจบดบังหรือทำให้การมองเห็นไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังต้องวินิจฉัยอาการตาขี้เกียจจากการวัดค่าสายตาของดวงตาทั้งสองข้างด้วย     แนวทางการรักษาโรคตาขี้เกียจ การรักษาโรคตาขี้เกียจนั้น หากยิ่งพบแพทย์และทำการวินิจฉัยการรักษาเร็วก็ยิ่งได้ประสิทธิภาพ โดยแพทย์จะทำการประเมินโรคตาขี้เกียจจากสาเหตุและอาการต่างๆ เพื่อเลือกวิธีรักษา ดังนี้ การสวมใส่แว่น การสวมใส่แว่นจะเป็นการรักษาตาขี้เกียจที่เกิดจากค่าสายตาที่มากผิดปกติ โดยการใส่แว่นจะช่วยปรับให้ดวงตาที่มีอาการตาขี้เกียจนั้นถูกกระตุ้นและใช้งานได้ดีขึ้นจนทำให้เกิดการพัฒนาการมองเห็นขึ้นตามลำดับ วิธีการรักษาตาขี้เกียจด้วยการสวมแว่นอาจทำร่วมกับการปิดตาข้างหนึ่งหากอาการตาขี้เกียจนั้นเกิดจากค่าสายตามากข้างเดียวหรืออาการตาเหล่ตาเขข้างเดียว การปิดตาข้างเดียว การปิดตาข้างเดียว เป็นการกระตุ้นในกรณีที่มีอาการโรคตาขี้เกียจข้างเดียว เนื่องจากอาการตาขี้เกียจคือการหยุดใช้งานดวงตา การปิดตาข้างเดียวจะเป็นการกระตุ้นให้ดวงตาที่หยุดการทำงานหรือการพัฒนานั้นกลับมาถูกกระตุ้นและใช้งานมากขึ้นเพื่อให้เทียบเท่ากับดวงตาที่มีการใช้งานปกติ การรักษาตาขี้เกียจด้วยการปิดตาข้างเดียวนั้นอาจใช้ระยะเวลา 5 - 6 ชั่วโมงต่อวันหรือตามที่แพทย์แนะนำ ในระหว่างการรักษาด้วยการปิดตาข้างเดียวในแต่ละวันนั้นควรที่จะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กที่รับการรักษาได้ถูกกระตุ้นให้ใช้ดวงตาตามปกติมากที่สุด วิธีการรักษาตาขี้เกียจด้วยการปิดตาข้างเดียวต้องอาศัยความสม่ำเสมอในการรักษาและอาจใช้ระยะเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีจนกว่าอาการตาขี้เกียจจะถูกกระตุ้นจนสามารถพัฒนาต่อได้ หยอดยาขยายรูม่านตา การหยอดยาขยายรูม่านตา ใช้ในกรณีที่คล้ายคลึงกันกับการปิดตาข้างเดียว คือการลดการมองเห็นของดวงตาข้างที่ถนัดเพื่อเปิดการกระตุ้นการใช้งานดวงตาที่มีอาการของโรคตาขี้เกียจให้มากขึ้น เนื่องจากการขยายรูม่านตาจะทำให้การมองเห็นนั้นน้อยลง การผ่าตัดรักษาตาขี้เกียจ การผ่าตัดรักษาโรคตาขี้เกียจ เป็นการแก้ไขอาการตาขี้เกียจที่เกิดจากอาการตาเหล่ ตาเข หรือหนังตาตกโดยแก้ที่สาเหตุของโรค เมื่อผ่าตัดรักษาอาการตาเหล่ ตาเข และหนังตาตกที่บดบังการมองเห็นหรือทำให้การมองเห็นไม่สมบูรณ์แล้ว ก็จะทำให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นและมีการกระตุ้นสายตาให้พัฒนาขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับอาการตาขี้เกียจในวัยผู้ใหญ่ที่มีการพัฒนาการมองเห็นเต็มที่แล้ว ป้องกันอาการตาขี้เกียจได้อย่างไร การรักษาอาการตาขี้เกียจอาจทำได้ยาก แพทย์จึงแนะนำให้ป้องกันอาการตาขี้เกียจตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมีแนวทางในการป้องกัน ได้แก่ ตรวจสุขภาพและค่าสายตาเป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กก่อนอายุ 2 - 3 ปี หมั่นสังเกตอาการที่อาจบ่งชี้ถึงโรคตาขี้เกียจ เช่น อาการเพ่งหรือเอียงคอมองสิ่งต่างๆ อาการปวดศีรษะหรือดวงตา สังเกตการค่าสายตาที่แตกต่างกันของดวงตาทั้งสองข้าง สอนให้เด็กรู้จักการสังเกตการมองเห็นของตนเองเพื่อให้รับรู้ได้อย่างรวดเร็วในช่วงที่พบความผิดปกติซึ่งอาจนำไปสู่โรคตาขี้เกียจได้ รักษาโรคตาขี้เกียจ (Amblyopia) ที่ศูนย์โรคตาเด็ก Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากมีอาการตาขี้เกียจ (Amblyopia) แนะนำให้เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการเหล่านี้ได้ที่ศูนย์รักษาตาเด็ก Bangkok Eye Hospital ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้ามเนื้อตาเข มีจุดเด่นดังนี้ โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง สรุป โรคตาขี้เกียจ หรือ Lazy eyes คือ อาการที่การมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างนั้นมีปัญหาจนทำให้สมองปิดการรับรู้หรือหยุดพัฒนาประสาทสัมผัสการมองเห็นและนำไปพัฒนาด้านอื่นทดแทน หากปล่อยไว้นานและไม่ทำการรักษาจะส่งผลในระยะยาวคือทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแอหรือสายตาสั้นผิดปกติ หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นของลูก แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยการรักษามีหลากหลายวิธี เช่น การใส่แว่น การปิดตาหนึ่งข้าง หรือการหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อเป็นการปรับการมองเห็น และกระตุ้นสายตาข้างที่มีอาการของโรคตาขี้เกียจให้มีการใช้งานและพัฒนาการมองเห็นให้ดีขึ้น ที่ศูนย์โรคตาเด็ก Bangkok Eye Hospitalมีการดูแลจากแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือในการรักษาที่ทันสมัย ดูแลอย่างครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนของการให้คำปรึกษา การวินิจฉัย และการรักษาโรคตาขี้เกียจ ด้วยใจบริการที่ใส่ใจในทุกเคสภายใต้สถานที่ที่มีความเป็นกันเอง ทำให้มั่นใจในการรักษาได้อย่างผ่อนคลายไร้กังวล
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111