มุมสุขภาพตา : #ตากุ้งยิง

เรียงตาม
ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง
อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม
เคืองตา กะพริบตาแล้วเจ็บเกิดจากอะไร พร้อมการรักษาอย่างถูกวิธี
ดวงตาเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกายแต่ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อม พฤติกรรมการใช้งานดวงตา หรือแม้กระทั่งการสัมผัสกับสารระคายเคือง อาจทำเกิดอาการระคายเคืองตา กะพริบตาแล้วเจ็บ รู้สึกเหมือนมีอะไรเข้าตาอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าอาการนี้จะดูเหมือนไม่รุนแรง แต่หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ พร้อมทั้งวิธีการป้องกันอาการระคายเคืองตา   อาการระคายเคืองตา (Eye Irritation) เป็นภาวะที่รู้สึกไม่สบายดวงตาหรือบริเวณรอบดวงตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา โดยมักมีอาการเจ็บ ปวด คัน ตาแดงหรือบวม ตาไวต่อแสง และน้ำตาไหล อาการเคืองตาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น มลภาวะและแสงแดด สิ่งแปลกปลอม เครื่องสำอาง การบาดเจ็บหรือเป็นโรคบางชนิด พฤติกรรมการใช้งานดวงตา เป็นต้น เมื่อเกิดอาการระคายเคืองตาสามารถบรรเทาด้วยตัวเองได้โดยการล้างทำความสะอาดดวงตาด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด ประคบเย็นหรือร้อน หยอดน้ำตาเทียม หยอดยาหรือกินยาแก้แพ้ หากมีอาการเคืองตารุนแรงเช่น มีของเหลวสีเขียวหรือเหลืองอยู่ในดวงตา ตามีความไวต่อแสงมาก รู้สึกปวดอย่างรุนแรง สูญเสียการมองเห็นอย่างฉับพลัน เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรง เช่น ถูกของแข็งกระแทก สารเคมีเข้าตา เป็นต้น ต้องรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เมื่อมีอาการเคืองตาสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital ดูแล ให้คำปรึกษาและรักษาแบบครบวงจรโดยทีมจักษุแพทย์ผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านดวงตาโดยเฉพาะ โดยใช้เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาที่ทันสมัยได้มาตรฐานในระดับสากล     อาการระคายเคืองตาเป็นอย่างไร อาการระคายเคืองตา (Eye Irritation) เป็นภาวะที่รู้สึกไม่สบายดวงตาหรือบริเวณรอบดวงตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา โดยมักมีอาการเจ็บ ปวด คัน ตาแดงหรือบวม ตาไวต่อแสง และน้ำตาไหล อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและหายไปได้เอง อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเรื้อรังหรือรุนแรงซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ หรือมีสิ่งแปลกปลอมและสารเคมีเข้าดวงตา ควรเข้ารับการตรวจจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี     หาสาเหตุอาการเคืองตา เกิดจากอะไรได้บ้าง อาการเคืองตาสามารถเกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุทั้งจากปัจจัยภายนอก พฤติกรรมการใช้งานดวงตาและจากการเป็นโรคบางชนิด ดังนี้ 1. แสงแดดและมลภาวะ มลภาวะต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง ควันจากบุหรี่ มลพิษจากไอเสียรถยนต์ และรังสียูวีที่มีอยู่ในแสงแดด รวมทั้งการสัมผัสความร้อน โดยเฉพาะบริเวณกลางแจ้งที่มีลมแรง อาจเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคืองตา ทำให้เกิดอาการตาแห้ง ตาแดง และน้ำตาไหลได้ 2. สิ่งแปลกปลอมเข้าตา สิ่งแปลกปลอมลักษณะต่างๆ เช่น ขนตา เศษดิน เศษแก้ว ก้อนหิน ทราย แมลง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย เช่น แชมพู สบู่ เครื่องสำอาง มีส่วนทำให้เกิดความระคายเคืองในดวงตาได้ อาการที่พบบ่อยได้แก่ แสบหรือเจ็บตา น้ำตาไหล ตาอักเสบ หรือหากสิ่งแปลกปลอมมีความแหลมคม อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง มีเลือดออกจากดวงตาได้ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาให้หลีกเลี่ยงการขยี้ตา ควรกะพริบตาถี่ๆ หรือใช้น้ำเกลือหรือน้ำสะอาดล้างตา แต่หากมีอาการบาดเจ็บที่ตารุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา 3. คอนแท็กต์เลนส์และเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้กับดวงตา เช่น คอนแท็กต์เลนส์และเครื่องสำอาง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเคืองตาได้ การใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุ การไม่ทำเช็ดล้างเครื่องสำอางให้หมดจดก่อนเข้านอน และการติดขนตาปลอม อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา รวมถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ อาการที่พบ ได้แก่ ตาแดง แสบตา น้ำตาไหล การมองเห็นไม่ชัด และมีความไวต่อแสงเพิ่มขึ้น การใช้คอนแท็กต์เลนส์อย่างไม่ถูกวิธี เช่น การล้างทำความสะอาดไม่ถูกต้อง การใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ไม่พอดีกับดวงตา การใช้งานร่วมกับผู้อื่น การใส่คอนแท็กต์เลนส์ขณะนอนหลับ หรือการใช้คอนแท็กต์เลนส์แฟชั่นที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ดวงตาระคายเคือง เกิดแผลที่กระจกตา และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ 4. อาการตาแห้ง ตาแห้งเกิดจากการที่ต่อมน้ำตาไม่สามารถผลิตน้ำตาได้ในปริมาณที่เพียงพอ ทำให้ดวงตาขาดน้ำช่วยหล่อลื่นและรักษาความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ ผู้ที่มีอาการตาแห้งจะรู้สึกระคายเคืองตาเหมือนอะไรเข้าตาแต่ไม่มี มีอาการคันตา บางรายอาจรู้สึกแสบร้อนหรือมองเห็นภาพไม่ชัด การเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา เช่นการหยอดน้ำตาเทียมจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้ 5. อาการตาล้า อาการตาล้ามักเกิดขึ้นจากการจ้องมองหน้าจอ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เป็นเวลานานโดยไม่ได้พักสายตา หรือเรียกภาวะนี้ว่า "คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม" (Computer Vision Syndrome) ผู้ที่มีอาการตาล้าจะรู้สึกเมื่อยล้าดวงตา มีอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา รวมทั้งมีอาการปวดหัว ปวดคอ และปวดไหล่ร่วมด้วย อาการนี้สามารถบรรเทาได้โดยการหยุดพักการใช้สายตา ไม่ดูหน้าจอต่อเนื่องนานเกินไป     6. เปลือกตาอักเสบ เปลือกตาอักเสบเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองตาเปลือกตาบน ตาแดง แสบตา มีสะเก็ดเล็กๆ บริเวณเปลือกตา ขอบตาบวมแดง และมีน้ำตาหรือขี้ตามาก โดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน การบรรเทาอาการสามารถทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านการอักเสบในกรณีที่เกิดการติดเชื้อและอักเสบ และในบางรายอาจต้องใช้ยารักษาภูมิแพ้ด้วย   7. ตาแดง ตาแดงเป็นภาวะที่เยื่อบุตาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเกิดการอักเสบ ส่งผลให้ตาขาวมีลักษณะเป็นสีแดงหรือชมพู มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ผู้ป่วยอาจรู้สึกระคายเคืองตา รวมถึงอาจส่งผลต่อการมองเห็น ตาแดงจัดเป็นโรคติดต่อประเภทหนึ่ง สามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเช็ดตัว หากมีอาการตาแดงควรงดเว้นการรบกวนดวงตาเช่น แต่งหน้าหรือใส่คอนแท็กต์เลนส์ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นและสะอาดวางบนดวงตา และเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าอาการตาแดงนั้นเกิดจากติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียแล้วทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป     8. ตากุ้งยิง ตากุ้งยิงเป็นภาวะที่บริเวณดวงตาเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดตุ่มนูนขนาดเล็ก มีลักษณะบวมแดงคล้ายกับสิวที่บริเวณขอบหรือด้านในของเปลือกตา อาการที่มักพบ ได้แก่ รู้สึกระคายเคืองตาและปวดบริเวณดวงตา โดยเฉพาะเมื่อกะพริบตา บริเวณเปลือกตาบวมแดงและมีน้ำตาไหล โดยปกติแล้วตากุ้งยิงสามารถหายได้เอง ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการระคายเคืองได้โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณตากุ้งยิงประมาณ 10-15 นาทีต่อครั้ง 4-5 ครั้งต่อวัน ร่วมกับการนวดเปลือกตาเบาๆ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์     9. ภูมิแพ้ ภาวะเยื่อบุตาขาวอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis) เป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น มลภาวะทางอากาศ สะเก็ดผิวหนังสัตว์ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองตา มีตุ่มในตา ตาแดง น้ำตาไหล รวมถึงอาการคันตาอย่างรุนแรง อาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้โดยใช้ยาหยอดตาต้านฮิสตามีนหรือกินยาแก้แพ้เพื่อช่วยลดอาการแพ้และระคายเคืองตา ประคบเย็นบริเวณที่มีความคันมาก นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ดูแลรักษาความสะอาดภายในบ้านและเครื่องนอนอย่างสม่ำเสมอ ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด โดยเฉพาะในวันที่มีลมแรง รวมถึงการใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองภายในบ้าน     บรรเทาอาการเคืองตาด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร เมื่อมีอาการระคายเคืองตา สามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการได้ด้วยวิธีแก้อาการเคืองตาต่างๆ เหล่านี้ ทำความสะอาดดวงตาด้วยน้ำสะอาดโดยลืมตาในภาชนะที่ใส่น้ำสะอาด หรือปล่อยให้น้ำไหลผ่านดวงตาเบาๆ วิธีนี้จะช่วยขจัดฝุ่นละออง สิ่งสกปรก หรือสารก่อภูมิแพ้ที่อาจติดอยู่ และบรรเทาอาการระคายเคืองได้ ประคบร้อนหรือประคบเย็นโดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น บิดให้หมาด และวางเบา ๆ บนเปลือกตา การประคบร้อนเหมาะสำหรับการบรรเทาอาการตาแห้ง การอักเสบของเปลือกตา และตากุ้งยิง เนื่องจากความร้อนจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมัน ส่วนการประคบเย็นจะช่วยลดอาการบวมบริเวณดวงตาที่เกิดจากการติดเชื้อหรือการอักเสบเฉพาะที่ได้ หยอดน้ำตาเทียมใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ใช้ยาแก้แพ้ที่มีกลไกการทำงานในการยับยั้งปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ถูกกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้มีทั้งรูปแบบยากินและยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองที่เกิดจากโรคภูมิแพ้     อาการแทรกซ้อนจากการเคืองตา โดยทั่วไปแล้วอาการระคายเคืองตามักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและสามารถหายได้เอง อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในดวงตาเช่น ฝุ่น ทราย หรือเศษแก้วเล็ก แล้วทำให้ดวงตาเกิดความเสียหายและเกิดรอยแผลบริเวณกระจกตาซึ่งเป็นเนื้อเยื่อใสบางๆ ที่ปกคลุมดวงตาที่เรียกว่า การบาดเจ็บที่กระจกตา (corneal abrasion) แม้ว่าการถลอกของกระจกตามักจะหายได้เองแต่ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาเพื่อรับยาหยอดตาบรรเทาอาการปวด ป้องกันอาการเคืองตาได้อย่างไร การดูแลดวงตานอกจากจะทำให้ดวงตามีสุขภาพที่ดีในระยะยาวแล้ว ยังช่วยป้องกันอาการเคืองตาได้ โดยสามารถทำได้ดังนี้ สวมแว่นกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA และ UVB ทุกครั้ง ที่ต้องออกไปอยู่กลางแจ้ง สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตาเช่น แว่นตานิรภัย แว่นตากันกระแทก เมื่อต้องทำงานหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น ทำงานใกล้ฝุ่นหรือเครื่องจักร การเล่นกีฬาโลดโผน การทำงานก่อสร้าง การซ่อมแซมบ้าน การขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น ไม่จ้องมองหน้าจอเป็นเวลานานควรมีช่วงเวลาในการพักสายตาโดยใช้สูตร 20-20-20 โดยหยุดพักสายตาเป็นเวลา 20 วินาที ทุก 20 นาที ด้วยการมองไกลออก 20 ฟุต รักษาความชุ่มชื้นให้กับดวงตาเพื่อป้องกันตาแห้ง เช่น การกะพริบตาบ่อยๆ การหยอดน้ำตาเทียม ไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่นเครื่องสำอางที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง รวมทั้งไม่ใช่เครื่องสำอางที่หมดอายุ ทำความสะอาดรอบดวงตาเป็นประจำทุกวันด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับรอบดวงตาโดยเฉพาะ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสดวงตาหากจำเป็น ควรล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้นให้เคืองตาเช่น ฝุ่นละออง ควัน สารก่อภูมิแพ้ ละอองเกสรดอกไม้ ขนหรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง หรือสารคลอรีนที่อยู่ในสระว่ายน้ำ   อาการเคืองตาแบบไหนควรรีบพบแพทย์ โดยปกติแล้วอาการระคายเคืองตาสามารถหายไปได้เองเมื่อดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีอาการเหล่านี้อย่างความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรือหากอาการยังคงอยู่เกินกว่า 48 ชั่วโมง ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อประเมินอาการและทำการรักษา โดยอาการที่ควรรีบพบจักษุแพทย์ได้แก่   มีของเหลวสีเขียวหรือเหลืองอยู่ในดวงตา ตามีความไวต่อแสงมาก รู้สึกปวดอย่างรุนแรง สูญเสียการมองเห็นอย่างฉับพลัน เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรง เช่น ถูกของแข็งกระแทก สารเคมีเข้าตา เป็นต้น รักษาอาการเคืองตา ที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากมีอาการเคืองตา แนะนำให้เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการเหล่านี้ได้ที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีจุดเด่นดังนี้   โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง สรุป อาการระคายเคืองตา (Eye Irritation) เป็นภาวะที่รู้สึกไม่สบายดวงตาหรือบริเวณรอบดวงตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา โดยมักมีอาการเจ็บ ปวด คัน ตาแดงหรือบวม ตาไวต่อแสง และน้ำตาไหล อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น มลภาวะและแสงแดด สิ่งแปลกปลอม เครื่องสำอาง การบาดเจ็บหรือโรคบางชนิด พฤติกรรมการใช้งานดวงตา โดยอาการระคายเคืองตาทั่วไปแล้วมักไม่รุนแรงและหายไปได้เอง อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเรื้อรังหรือรุนแรง ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาต่อไป หากมีอาการระคายเคืองตาเหมือนอะไรเข้าตาแต่ไม่มีวิธีแก้ไข ต้องการดูแลสุขภาพของดวงตา รวมทั้งมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับดวงตา เข้ามาปรึกษาได้ที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospitalที่นี่ดูแลและรักษาโดยทีมจักษุแพทย์ผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านดวงตาโดยเฉพาะ
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111