|
การติดเชื้อที่กระจกตาเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้ดวงตาพร่ามัว อาจรุนแรงจนส่งผลต่อการมองเห็น หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อดวงตาได้ อย่างไรก็ตามภาวะนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพตาและปฏิบัติตามวิธีลดความเสี่ยง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและรักษาดวงตาให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ภาวะกระจกตาอักเสบติดเชื้อ (Infectious Keratitis) เกิดจากการติดเชื้อที่กระจกตา ทำให้เกิดการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็น
การอักเสบส่งผลให้กระจกตาเกิดแผลเป็น กระจกตาผิดรูปร่าง และกระจกตาขุ่นมัว ส่งผลให้การหักเหแสงผิดปกติ แสงไม่สามารถผ่านเข้าสู่ดวงตาได้ตามปกติ ซึ่งอาจกระทบต่อการมองเห็นอย่างรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
กระจกตาติดเชื้อ มีอาการเริ่มต้นจากการรู้สึกปวดตา เคืองตา ตาแดง มีขี้ตาสีขาวขุ่น เหลือง หรือเขียวขุ่น ร่วมกับอาการแพ้แสงจนน้ำตาไหล และอาจมีการมองเห็นพร่ามัว หรือในบางกรณีอาจไม่มีอาการมองเห็นผิดปกติเลย
ในระยะแรกอาการอาจสังเกตได้ยาก ผู้ป่วยอาจพบเพียงสีขาวขุ่นบางๆ บนกระจกตา แต่หากอาการรุนแรงขึ้น จะสังเกตเห็นฝ้าขาวบนกระจกตาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ควรรีบเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็ว
สาเหตุของกระจกตาติดเชื้อที่พบได้บ่อยที่สุดมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือเชื้อราและเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม หรือไวรัสงูสวัด ส่วนการติดเชื้อจากโปรโตซัว เช่น Acanthamoeba นั้นพบได้น้อยกว่า แต่ยังเป็นไปได้ในบางกรณี
ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดกระจกตาติดเชื้อ มีดังนี้
ปัจจัยภายนอก เช่น สิ่งแปลกปลอมเข้าตา การใช้คอนแท็กต์เลนส์ การใช้ยาหยอดตาบางชนิด การได้รับอุบัติเหตุต่อกระจกตา และการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาหรือการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตา
โรคของผิวตา เบ้าตา และส่วนอื่นๆ ของดวงตา เช่น เปลือกตาอักเสบ เปลือกตาผิดรูป หรือหลับตาไม่สนิท ขนตาม้วนเข้าหรือออก การอักเสบติดเชื้อในเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียง ตาแห้ง และทางเดินน้ำตาอุดตัน
ความผิดปกติของกระจกตา เช่น กระจกตาบวมเรื้อรัง รอยถลอกหรือกระจกตาเปิด การเสียความรู้สึกบริเวณกระจกตา และประวัติติดเชื้อไวรัสที่กระจกตามาก่อน
ภาวะทางร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาวะขาดสารอาหาร โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็งหรือโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
วิธีรักษากระจกตาติดเชื้อมุ่งเน้นเพื่อหยุดการลุกลามของเชื้อ ช่วยสมานแผล และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้
ในกรณีที่ยังไม่ทราบชนิดของเชื้อโรค อาจเริ่มต้นด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อที่ครอบคลุมการติดเชื้อในวงกว้าง หากจำเป็นอาจต้องขูดผิวกระจกตาเพื่อตรวจหาเชื้อและเลือกใช้ยาที่ตรงกับชนิดของเชื้อก่อโรค แต่สำหรับกรณีที่แผลมีขนาดเล็ก แพทย์อาจให้ยาฆ่าเชื้อแบบครอบคลุมโดยไม่ต้องขูดกระจกตา
เพื่อเร่งการสมานแผล แพทย์อาจพิจารณาให้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยหล่อลื่นกระจกตา และลดความระคายเคียง รวมถึงการใช้ยารักษาการติดเชื้อควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและฟื้นฟูสภาพกระจกตาให้กลับมาเป็นปกติ
ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อเพิ่มเติมในรูปแบบอื่น เช่น การฉีดยาเข้าทางเส้นเลือด การรับประทานยา หรือแม้กระทั่งการฉีดยาเข้าบริเวณกระจกตาโดยตรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อและการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษา
การรักษากระจกตาติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาวิธีการลดการสัมผัสของผิวตาจากสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการระคายเคืองหรือการติดเชื้อซ้ำ เช่น การใช้เทปปิดตาในตอนกลางคืน การเย็บเปลือกตาติดกันแบบชั่วคราว หรือการใช้เลนส์สัมผัสปิดทับกระจกตา นอกจากนี้ ในกรณีที่แผลเปิดเรื้อรัง อาจทำการเย็บเนื้อเยื่อปิดทับเพื่อช่วยในการรักษาและสมานแผล
ภาวะกระจกตาทะลุหรือเกิดรูรั่วในกระจกตา การรักษาควรทำอย่างเร่งด่วน โดยใช้เนื้อเยื่อจากกระจกตาหรือตาขาวแปะ หรือใช้กาวพิเศษเพื่ออุดรูรั่ว พร้อมกับการใช้เลนส์สัมผัสปิดทับ เพื่อช่วยปิดรอยรั่วและป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่กระจกตาเพิ่มเติม
หากไม่สามารถควบคุมอาการติดเชื้อได้ อาจต้องพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาหรือผ่าตัดปลูกถ่ายเซลล์ผิวตา ในบางกรณีที่รุนแรงมากอาจจำเป็นต้องนำลูกตาออกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและรักษาอาการที่เกิดขึ้น
การป้องกันการติดเชื้อที่กระจกตาเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพดวงตา เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้ โดยมีแนวทางป้องกันที่ทำได้ดังนี้
ถ้ามีแผลบริเวณริมฝีปากหรือมีตุ่มเริม หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา เปลือกตา และบริเวณรอบตา
ใช้ยาหยอดตาที่แพทย์จักษุแพทย์สั่งเท่านั้น
การล้างมือบ่อยๆ ช่วยลดการแพร่ของไวรัสได้
กระจกตาติดเชื้อคือภาวะที่กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้ตาระคายเคืองและพร่ามัวได้ หากเป็นแล้วควรรีบรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อลุกลาม นอกจากนี้ยังป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น การรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงการสัมผัสตาโดยไม่จำเป็น
สำหรับคนที่มีอาการกระจกตาติดเชื้อ มารักษาได้ที่ ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่เราพร้อมดูแลดวงตาของคุณด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีแพทย์เฉพาะทางและบริการที่ครอบคลุม เพื่อให้คุณกลับมามองเห็นได้ชัดเจนอีกครั้ง