ย้อนกลับ
โรคต้อที่ตาคืออะไร? แยกได้ทั้งหมดกี่ชนิด พร้อมอาการและวิธีการรักษา
  • โรคต้อที่ตามี 4 ประเภท คือต้อลม เกิดจากการระคายเคืองจากสภาพแวดล้อม ต้อกระจก เกิดจากเลนส์แก้วตาขุ่น ต้อเนื้อ  เป็นเนื้อเยื่อที่เติบโตบนกระจกตา และต้อหิน เกิดจากความดันในลูกตาสูงขึ้น

  • ต้อลมมักมีอาการระคายเคืองหรือแสบตา ต้อกระจกมีอาการมองเห็นพล่ามัว ต้อเนื้ออาจมีอาการกระทบต่อการมองเห็น ต้อหินเมื่อรุนแรงอาจทำให้สูญเสียการมองเห็น

  • การรักษาต้อแต่ละประเภท คือต้อลมใช้ยาหยอดตาหรือผ่าตัด ต้อกระจกผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ ต้อเนื้อใช้ยาหรือผ่าตัด ต้อหินใช้ยาหยอดตาหรือเลเซอร์หรือผ่าตัดลดความดัน ส่วนการป้องกันควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ฝุ่น และตรวจตากับจักษุแพทย์ประจำ

  • Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มีการรักษาโรคต้อด้วยจักษุแพทย์ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และบริการที่ครบวงจร

 

การทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพดวงตา เพราะโรคต้อทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นต้อลม ต้อหิน ต้อกระจก และต้อเนื้อ ต่างก็มีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกันออกไป การรู้จักปัจจัยเสี่ยงและวิธีการป้องกันจะช่วยให้เราดูแลรักษาดวงตาของเราได้อย่างเหมาะสม เพื่อรักษาสุขภาพดวงตาให้คงความสดใสและมองเห็นได้ชัดเจนต่อไป มาหาคำตอบได้ในบทความนี้

โรคต้อ หรือตาเป็นต้อ คืออะไร?

โรคต้อ หรือตาเป็นต้อ คืออะไร?

โรคต้อ หรือที่เรียกกันว่าภาวะตาเป็นต้อ หมายถึงกลุ่มของโรคที่เกิดบริเวณดวงตา ทำให้เกิดปัญหาที่เลนส์ตา โดยส่วนมากจะทำให้การมองเห็นลดลงหรือมองเห็นได้ผิดปกติ โดยภาวะตาเป็นต้อสามารถระบุได้หลายชนิดขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุที่แตกต่างกัน เพื่อให้ป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี ควรระบุก่อนว่าเป็นต้อชนิดใด

ต้อมีทั้งหมดกี่ประเภท

ภาวะตาเป็นต้อแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีอาการและสาเหตุที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งยังเกิดขึ้นในบริเวณที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีความรุนแรงต่างกันด้วย ดังนี้

 ต้อลม (Pinguecule)

1. ต้อลม (Pinguecule)

ต้อลมมีลักษณะเป็นเยื่อสีขาวหรือขาวอมเหลืองที่เกิดบริเวณตาขาวใกล้ตาดำ สาเหตุหลักมาจากการสัมผัสกับสิ่งที่ระคายเคืองต่อเยื่อบุตา เช่น ลม ฝุ่น และแสงแดดเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเคืองตาได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ต้อลมไม่ทำให้การมองเห็นพร่ามัวหรือสูญเสียการมองเห็น

วิธีการรักษาต้อลม

การรักษาต้อลม ทำได้โดยการผ่าตัดหรือการใช้เลเซอร์ โดยจักษุแพทย์มักจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดพร้อมปลูกเนื้อเยื่อลงแทนที่เยื่อบุตาขาวที่ถูกตัดออกไป เนื้อเยื่อที่ใช้ปลูกเป็นเนื้อเยื่อหุ้มรก ซึ่งจะถูกเย็บด้วยไหมหรือใช้กาว Fibrin Glue เพื่อเชื่อมสมานแผลระหว่างเนื้อเยื่อเดิมและเนื้อเยื่อที่ปลูกใหม่ หลังการผ่าตัดอาจเกิดอาการระคายเคืองบ้าง แต่วิธีนี้ช่วยลดโอกาสการเกิดต้อลมซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีป้องกันต้อลม

  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องออกแดดก็ควรสวมแว่นกันแดดกันลมหรือสวมหมวกปีกกว้างขณะอยู่กลางแจ้ง

  • พักสายตาเป็นระยะเมื่อรู้สึกตาล้าหรือตาเมื่อยจากการใช้สายตามากเกินไป

  • ไม่ควรขยี้ตา แต่หากรู้สึกระคายเคืองตาหรือตาแห้งให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดเพื่อบรรเทาอาการ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกใช้น้ำตาเทียม

  • หมั่นสังเกตอาการของดวงตา เช่น อาการคัน ระคายเคือง หรือการมองเห็นที่เปลี่ยนไป หากมีความผิดปกติควรพบแพทย์ทันที

  • ตรวจสุขภาพดวงตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อเนื้อหรือต้อลม ควรเข้าตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2. ต้อกระจก(Cataract)

2. ต้อกระจก(Cataract)

ต้อกระจกเป็นภาวะที่เลนส์ตาเกิดความขุ่น มีอาการมองเห็นผิดปกติ เหมือนมีหมอกหรือควันขาวบังสายตา โดยทั่วไปต้อกระจกมักเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุ แต่ก็ยังเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดหรือหลังได้รับอุบัติเหตุต่อดวงตาได้เช่นกัน หากไม่ได้รับการรักษาการมองเห็นจะมัวลงเรื่อยๆ จนอาจสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

วิธีการรักษาต้อกระจก

การรักษาต้อกระจกมีหลายวิธี ดังนี้

  • การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) เป็นการใช้คลื่นเสียงสลายต้อและดูดออก จากนั้นใส่เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับได้ลงไปในแผลขนาดเล็ก 2.6-3.0 มม. เพื่อฟื้นฟูการมองเห็นให้ชัดเจน เหมาะกับผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว หรือเอียง

  • วิธีสลายต้อ (Phacoemulsification) เป็นการนำเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นมัวออก แล้วแทนที่ด้วยเลนส์แก้วตาเทียม เพื่อฟื้นฟูการมองเห็นให้กลับมาชัดเจน

  • การเลเซอร์ Femtosecond Laser Assisted Cataract Surgery การใช้เลเซอร์ช่วยเปิดแผล เปิดถุงหุ้มเลนส์ และแบ่งเลนส์ต้อให้เป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้การสลายและดูดออกด้วย Ultrasound ง่ายขึ้น เพิ่มความแม่นยำในการวางเลนส์แก้วตาเทียม

วิธีป้องกันต้อกระจก

  • สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะที่มีวิตามินเอ อี และซี ซึ่งช่วยบำรุงสายตา

  • จัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม มีแสงสว่างเพียงพอและระยะการมองที่พอดี

  • พักสายตาเป็นระยะๆ เมื่อใช้สายตานานๆ โดยเฉพาะการจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ

  • หากต้องทำงานที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่อดวงตา ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน

  • ควรตรวจสายตาทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

ต้อเนื้อ(Pterygium)

3. ต้อเนื้อ(Pterygium)

ต้อเนื้อ เป็นภาวะเนื้อเยื่อที่เติบโตบนกระจกตา มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม เป็นเนื้อเยื่อสีขาวอมแดงที่มักปรากฏบริเวณหัวตาหรือหางตา เกิดจากการระคายเคืองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดงหรือเคืองตาเมื่อถูกสิ่งกระตุ้น แต่โรคนี้ไม่ทำให้ตามัวหรือตาบอดในระยะเริ่มต้น

วิธีการรักษาต้อเนื้อ

ต้อเนื้อที่เป็นน้อย รักษาได้ด้วยยาหยอดตาลดอาการอักเสบเพื่อบรรเทาการระคายเคือง หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น แพทย์จะรักษาโดยการลอกต้อเนื้อออก หรือใช้วิธีลอกต้อเนื้อแล้วปลูกเนื้อเยื่อใหม่ ซึ่งอาจใช้เนื้อเยื่อจากเยื่อบุตาของผู้ป่วยเอง การปลูกเนื้อเยื่อช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำได้อีกด้วย

วิธีป้องกันต้อเนื้อ

  • สวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์กรองรังสีอัลตราไวโอเลต หรือแว่นตาที่ช่วยปกป้องดวงตาจากลม ฝุ่น มลภาวะ และแสงสะท้อน

  • เมื่ออยู่กลางแจ้ง ควรสวมหมวกปีกกว้างเพื่อปกป้องดวงตาจากแสงอาทิตย์

  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีแสงแดดจ้า ฝุ่น ควัน ลม หรือมลภาวะมาก

  • ใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและหล่อลื่นดวงตา

4. ต้อหิน(Glaucoma)

4. ต้อหิน(Glaucoma)

โรคต้อหินเกิดจากการระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตาผิดปกติจนทำให้ความดันในลูกตาสูง มีอาการลูกตาแข็งขึ้นจนกดขั้วประสาทตา (Optic Disc) ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียลานสายตาจนถึงขั้นตาบอดได้ โรคต้อหินแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. ต้อหินมุมเปิด เกิดจากการอุดตันรูระบายน้ำระหว่างกระจกตาดำและตาขาว (Trabecular meshwork) ทำให้น้ำในลูกตาไหลออกไม่ได้ จนความดันในลูกตาสูงขึ้น

  2. ต้อหินมุมปิด เกิดจากม่านตาถูกดันให้ยกตัวขึ้นจนปิดมุมระบายน้ำ ทำให้น้ำไหลออกทาง Trabecular meshwork ไม่ได้ ความดันในลูกตาจึงสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

  3. ต้อหินแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของดวงตาที่เกิดจากพันธุกรรม โดยยีนที่ทำให้เกิดโรคเป็นยีนด้อย และจะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะ โดยมีโอกาสเกิด 25%

  4. ต้อหินแทรกซ้อน เกิดจากการกระตุ้นบางประการที่ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อม หรือจากความดันในลูกตาสูง ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรคนี้

 

วิธีการรักษาต้อหิน

การรักษาต้อหินมีหลายวิธี ได้แก่ การใช้ยาหยอดเพื่อลดการสร้างน้ำในลูกตาหรือช่วยระบายน้ำให้ดีขึ้น การรักษาด้วยเลเซอร์เพื่อควบคุมความดันในลูกตา และการผ่าตัดที่ทำได้สองวิธีคือ การทำทางระบายน้ำและการติดตั้งท่อเล็กๆ เพื่อช่วยลดความดันในลูกตา

วิธีป้องกันต้อหิน

  • สังเกตอาการร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ

  • เข้าตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจตากับจักษุแพทย์ปีละครั้ง โดยไม่ต้องรอจนมีอาการ

  • ควบคุมโรคที่อาจทำให้เกิดต้อหิน เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

  • สวมเครื่องป้องกันดวงตาเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ

  • หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตามาหยอดเองเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดต้อหิน

สรุป

โรคต้อมี 4 ประเภท ได้แก่ ต้อลมจากการระคายเคือง ต้อกระจกจากเลนส์แก้วตาขุ่น ต้อเนื้อจากเยื่อบุตาขยาย และต้อหินจากความดันลูกตาสูง การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและตรวจตากับจักษุแพทย์เป็นประจำ

หากเป็นโรคต้อ เข้ารับการรักษาที่Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ที่นี่พร้อมให้บริการดูแลและรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาอย่างครบวงจร ด้วยจักษุแพทย์มากประสบการณ์และเทคโนโลยีทันสมัย

calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111