ត្រឡប់មកវិញ
Strabismus & Amblyopia: Causes and the Importance of Early Treatment!

อาการตาเหล่ ตาเข เป็นต้นตอของโรคตาขี้เกียจ และเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ค่าสายตาสูงผิดปกติ มองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน เบลอ หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ทางสายตา และถ้าหากไม่รีบเข้ารับการรักษา หรือปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอันตรายได้

ในบทความนี้ มาทำความรู้จักกับอาการตาเหล่ ตาเขให้มากขึ้นว่าคืออะไร มีสาเหตุเกิดจากอะไร มีวิธีแก้ตาเหล่ยังไง หรือมีวิธีรักษาตาเหล่ด้วยตัวเองหรือไม่ และมีแนวทางในการรักษาอาการตาเหล่ หรือตาเขอย่างไรบ้าง ไปดูกัน

 

  • ตาเหล่ หรือตาเข เป็นภาวะที่ดวงตาทั้งสองข้างไม่สามารถมองไปในทิศทางเดียวกันได้ อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา หรือการควบคุมของเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดปัญหาในการมองเห็นได้

  • อาการตาเหล่ ตาเขเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา หรือเส้นประสาท สมองได้รับบาดเจ็บ กรรมพันธุ์ หรือโรคทางระบบประสาท รวมถึงโรคทางกายภาพ เช่น เบาหวาน หรือการบาดเจ็บรอบดวงตา เป็นต้น

  • การรักษาตาเหล่ หรือตาเขแบบไม่ต้องผ่าตัด เหมาะสำหรับอาการที่ยังไม่รุนแรง เช่น การสวมแว่นสายตา การสวมแว่นปริซึม การปิดตาข้างที่ถนัด หรือการทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อตา เป็นต้น

  • การรักษาตาเหล่ หรือตาเขแบบผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่อาการรุนแรง หรือไม่ได้ผลจากวิธีอื่น เช่น การผ่าตัดปรับกล้ามเนื้อตา (Muscle Correction) หรือการผ่าตัดแก้ไขตำแหน่งกล้ามเนื้อ เป็นต้น

  • ศูนย์โรคตาเด็ก Bangkok Eye Hospital ให้บริการครบวงจรโดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้ามเนื้อตา มีเทคโนโลยีทันสมัยและเครื่องมือมาตรฐานระดับสากล

 

อาการตาเหล่ ตาเข คืออะไร

 

อาการตาเหล่ ตาเข คืออะไร

อาการตาเหล่ ตาเข คือภาวะที่ดวงตาทั้งสองข้างไม่สามารถมองตรงไปในทิศทางเดียวกันได้ โดยปกติแล้วกล้ามเนื้อตาจะทำงานประสานกัน เพื่อให้ดวงตาทั้งสองข้างมองไปยังจุดเดียวกัน แต่ถ้าหากเกิดอาการตาเหล่ หรือตาเข กล้ามเนื้อตาจะทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหันออกนอกทิศทาง ทำให้การมองเห็นไม่คมชัด และอาจเกิดอาการเห็นภาพซ้อน หรือปวดตาได้

อาการนี้สามารถพบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ และถ้าหากไม่ได้รับการรักษาในช่วงวัยเด็ก อาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านการมองเห็นในระยะยาว เช่น อาการตาขี้เกียจ (Amblyopia)

 

สังเกตอาการตาเหล่ ตาเข มีอะไรบ้าง

 

สังเกตอาการตาเหล่ ตาเข มีอะไรบ้าง

สำหรับอาการตาเหล่ หรืออาการตาเขที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

  • ดวงตาไม่มองในทิศทางเดียวกันเป็นอาการที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมองตรง แต่ตาอีกข้างหนึ่งหันไปในทิศทางอื่น เช่น เข้าด้านใน หรือออกด้านนอก

  • เห็นภาพซ้อนเป็นอาการที่จะเกิดขึ้นเมื่อดวงตาทั้งสองข้างส่งภาพไปยังสมองที่ไม่สอดคล้องกัน

  • ปวดตา หรือปวดศีรษะเป็นอาการที่จะเกิดขึ้นที่เกิดจากกล้ามเนื้อตามีการทำงานหนักเกินไป

  • การเอียงศีรษะ หรือเบี่ยงหน้าเป็นอาการที่ผู้ป่วยตาเหล่ หรือตาเขจะมีอาการเอียงศีรษะ หรือเบี่ยงหน้าอยู่บ่อยครั้ง เพื่อช่วยปรับการมองเห็นให้ชัดเจนขึ้น

  • พัฒนาการมองเห็นล่าช้าในเด็กเป็นอาการที่เด็กๆ มักจะหรี่ตามอง หันข้างมอง หรือเอียงคอมองสิ่งของ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านการโฟกัส หรือการหยิบจับวัตถุ และกลายเป็นปัญหาพัฒนาการมองเห็นล่าช้าได้

สาเหตุอาการตาเหล่ ตาเข เกิดจากอะไร

สำหรับอาการตาเหล่ หรือตาเขนั้นเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาเหล่ที่เกิดจากกล้ามเนื้อตาบางมัดอ่อนแรง หรือไม่สมดุล

  • ระบบประสาทผิดปกติเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาเขที่เกิดจากการส่งสัญญาณระหว่างสมอง และกล้ามเนื้อตาไม่สมบูรณ์

  • ปัญหาทางพันธุกรรมถ้าหากสมาชิกในครอบครัวเคยมีอาการ ก็มีโอกาสที่จะส่งต่อสู่รุ่นลูกหลานได้

  • สายตาผิดปกติเช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงที่ไม่ได้รับการแก้ไข เป็นต้น

  • โรคประจำตัวเช่น เบาหวาน โรคสมองพิการ หรือภาวะดาวน์ซินโดรม เป็นต้น

  • การบาดเจ็บเช่น การได้รับอุบัติเหตุที่กระทบดวงตา หรือศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยงตาเหล่ ตาเข มีใครบ้าง

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสในการเกิดอาการตาเหล่ หรือตาเข มีดังนี้

  • เด็กทารก หรือเด็กเล็กที่มีอายุไม่เกิน 3 ขวบ

  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่มีอาการตาเหล่ หรืออาการตาเข

  • ผู้ป่วยโรคทางสมอง

  • ผู้ที่มีสายตาผิดปกติรุนแรง

  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือดวงตา

  • ผู้สูงอายุ

 

ตาเหล่ ตาเข มีกี่รูปแบบ

 

ตาเหล่ ตาเข มีกี่รูปแบบ

อาการตาเหล่ หรือตาเขนั้นแบ่งออกได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ แบบเข้าใน แบบออกนอก แบบขึ้นบน และแบบลงล่าง โดยอาการตาเหล่ หรือตาเขในแต่ละรูปแบบนั้นมีสาเหตุ และลักษณะอาการ ดังนี้

1. ตาเหล่ ตาเขแบบเข้าใน

ตาเหล่ ตาเขแบบเข้าใน (Esotropia) เป็นอาการที่ลูกตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างเคลื่อนเข้าหากัน ทำให้ลูกตาดูเหมือนมองไขว้ โดยอาการตาเหล่ ตาเขในรูปแบบนี้เกิดจากความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อตาที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เช่น กล้ามเนื้อดึงตาเข้ามีแรงดึงมากเกินไป หรือเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือโรคที่ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดปัญหามองเห็นภาพซ้อน หรือภาพเบลอ

หากเกิดในเด็กอาจทำให้เกิดภาวะ "ตาขี้เกียจ" เนื่องจากสมองเลือกใช้งานตาข้างที่เห็นชัดกว่า และมักจะพบบ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในวัยก่อน 2 ขวบ

2. ตาเหล่ ตาเขแบบออกนอก

ตาเหล่ ตาเขแบบออกนอก (Exotropia) เป็นอาการที่ลูกตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างเคลื่อนออกไปด้านข้างจากตำแหน่งปกติ โดยอาการตาเหล่ ตาเขในรูปแบบนี้เกิดจากกล้ามเนื้อตาด้านนอกทำงานมากเกินไป หรือกล้ามเนื้อด้านในอ่อนแรง และอาจสัมพันธ์กับความผิดปกติของระบบประสาท การบาดเจ็บ หรือโรคเกี่ยวกับสมอง ทำให้เกิดปัญหามองเห็นภาพซ้อนในช่วงแรกที่มีอาการ และเมื่อสมองปรับตัวได้ อาจทำให้สมองมองข้ามภาพจากตาข้างที่อ่อนแรง

ตาเหล่ ตาเขแบบออกนอกมักจะพบบ่อยในเด็กโตและวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะมีอาการดวงตาอ่อนล้า หรือไม่สามารถโฟกัสได้ปกติ

3. ตาเหล่ ตาเขแบบขึ้นบน

ตาเหล่ ตาเขแบบขึ้นบน (Hypertropia) เป็นอาการที่ลูกตาข้างใดข้างหนึ่งเคลื่อนสูงกว่าตาอีกข้าง โดยอาการตาเหล่ ตาเขในรูปแบบนี้เกิดจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวแนวดิ่งทำงานผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อตายกขึ้นทำงานมากเกินไป หรือประสาทสมองคู่ที่ 4 (Trochlear nerve) บกพร่อง ทำให้เกิดปัญหาเห็นภาพซ้อนในแนวดิ่ง และมีอาการตาล้า และผู้ป่วยมักมีอาการเอียงศีรษะบ่อย เพื่อช่วยปรับการมองเห็น

อาการตาเหล่ ตาเขในรูปแบบนี้จะพบน้อยกว่าแบบเข้าใน และออกนอก และโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการบาดเจ็บ หรือความผิดปกติทางสมอง

4. ตาเหล่ ตาเขแบบลงล่าง

ตาเหล่ ตาเขแบบลงล่าง (Hypotropia) เป็นอาการที่ลูกตาข้างใดข้างหนึ่งเคลื่อนต่ำกว่าตาอีกข้าง โดยอาการตาเหล่ ตาเขในรูปแบบนี้เกิดจากกล้ามเนื้อควบคุมการมองลงทำงานผิดปกติ หรือความผิดปกติของระบบประสาท เช่น เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 (Oculomotor nerve) ถูกกดทับ ทำให้ผู้ป่วยอาจมีปัญหาการมองเห็นภาพซ้อนในแนวดิ่ง และอาจต้องเงยศีรษะบ่อยเพื่อช่วยปรับการมองเห็น

อาการตาเหล่ ตาเขในรูปแบบนี้จะพบน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่มักจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือโรคที่กระทบสมองโดยตรง

ตาเหล่ ตาเขในเด็ก อย่าปล่อยไว้ ต้องรีบรักษา

อาการตาเหล่ หรือตาเขในเด็ก เป็นภาวะที่ดวงตาทั้งสองข้างไม่สามารถมองในทิศทางเดียวกันได้ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา หรือสมองที่ควบคุมการทำงานของดวงตา ซึ่งอาการตาเหล่ หรือตาเขในเด็กอาจเริ่มต้นจากการมองเห็นไม่ชัดเจนในบางช่วง หรือมีดวงตาข้างใดข้างหนึ่งเบี่ยงไปด้านใดด้านหนึ่ง เช่น เข้าด้านใน ออกด้านนอก ขึ้นด้านบน หรือลงด้านล่าง

หากมีอาการดังกล่าวและปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการมองเห็นในระยะยาว เช่น ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) ซึ่งอาจทำให้เด็กสูญเสียการมองเห็นในตาข้างนั้นอย่างถาวร นอกจากนี้อาการตาเหล่ หรือตาเขในเด็กยังอาจส่งผลต่อความมั่นใจ และการเข้าสังคมของเด็กในอนาคต

ดังนั้น การรักษาในระยะเริ่มต้น เช่น การใส่แว่น การปิดตาข้างที่ปกติ หรือการทำกายภาพกล้ามเนื้อตา ก็เป็นวิธีในการรักษาที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูการมองเห็นให้เป็นปกติ และถ้าหากผู้ปกครองสังเกตเห็นความผิดปกติในดวงตาของเด็ก ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสม

การวินิจฉัยอาการตาเหล่ ตาเข โดยแพทย์

สำหรับการวินิจฉัยอาการตาเหล่ หรืออาการตาเขโดยแพทย์นั้นจะมีขั้นตอนในการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

  • ซักประวัติทางการแพทย์เริ่มต้นด้วยการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย เช่น ดวงตาเบี่ยงไปในทิศทางใด เบี่ยงบ่อยหรือไม่ ประวัติการเริ่มต้นของอาการ เช่น เกิดตั้งแต่กำเนิด หรือเริ่มในวัยเด็ก หรือวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพิจารณาประวัติครอบครัวว่ามีผู้ที่เคยมีอาการคล้ายกันหรือไม่ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไป เช่น โรคทางระบบประสาท การมองเห็นที่เคยผิดปกติ หรือเคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตามาก่อน เป็นต้น

  • ตรวจวัดการมองเห็นแพทย์จะใช้แผ่นทดสอบการมองเห็น (Snellen Chart) หรืออุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อตรวจสอบความชัดเจนของการมองเห็นในแต่ละตา โดยผู้ป่วยอาจจะต้องอ่านตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ในระยะต่างๆ ขณะปิดตาอีกข้างไว้ เพื่อประเมินความสามารถของการมองเห็นในตาทั้งสองข้าง

  • ตรวจการเคลื่อนไหวของดวงตาแพทย์จะสังเกตการเคลื่อนไหวของดวงตาโดยให้ผู้ป่วยมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ในทิศทางต่างๆ เช่น ซ้าย-ขวา บน-ล่าง และแนวทแยงมุม ซึ่งจะสามารถช่วยประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อตา และช่วยระบุได้ว่ามีกล้ามเนื้อใดที่ทำงานผิดปกติ

  • การใช้แสงส่องดวงตาแพทย์จะฉายแสงไปที่ดวงตาทั้งสองข้าง และสังเกตตำแหน่งของแสงที่สะท้อนบนกระจกตา หากดวงตาปกติ แสงสะท้อนจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกันในทั้งสองตา แต่หากมีอาการตาเหล่ หรือตาเข แสงสะท้อนจะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกัน

  • การใช้ปริซึมในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเบี่ยงเบนของตาชัดเจน แพทย์อาจใช้เลนส์ปริซึมวางหน้าดวงตา เพื่อลดการเบี่ยงเบน และวัดองศาของอาการตาเหล่ หรืออาการตาเข และในขั้นตอนการตรวจนี้จะช่วยในการระบุความรุนแรงของอาการ และนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการรักษาได้

  • การตรวจสุขภาพดวงตาเป็นขั้นตอนการวินิจฉัยที่แพทย์จะใช้เครื่องมือ Ophthalmoscope เพื่อตรวจสอบภายในดวงตา เช่น จอประสาทตาและเส้นประสาทตา และในขั้นตอนการตรวจนี้จะช่วยวินิจฉัยว่าอาการตาเหล่ หรืออาการตาเขมีสาเหตุจากโรคทางสายตาอื่นๆ เช่น จอประสาทตาหลุดลอก หรือความผิดปกติของเส้นประสาทตาหรือไม่

 

แนวทางการรักษาตาเหล่ ตาเข โดยไม่ต้องผ่าตัด

 

แนวทางการรักษาตาเหล่ ตาเข โดยไม่ต้องผ่าตัด

สำหรับอาการตาเหล่ หรือตาเขในหลายกรณีนั้นสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องใช้การผ่าตัด โดยเฉพาะในกรณีที่อาการยังไม่รุนแรง หรือเกิดจากปัญหาสายตา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ และระดับความรุนแรงของอาการด้วย และวิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัดนั้นจะเน้นการปรับสมดุลกล้ามเนื้อตา และการทำงานของดวงตาให้ประสานกันมากขึ้น ซึ่งการรักษาตาเหล่และตาเขโดยไม่ต้องผ่าตัด ทำได้ดังนี้

  • การสวมแว่นสายตาโดยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อาการตาเหล่ หรืออาการตาเขเกิดจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ซึ่งแว่นสายตาจะช่วยปรับการมองเห็นให้ชัดเจนขึ้น และลดแรงกดดันต่อกล้ามเนื้อตา ช่วยให้ตาทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น และเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับเด็ก และผู้ใหญ่ที่มีอาการตาเหล่ในระดับเริ่มต้นถึงปานกลาง

  • การสวมแว่นปริซึมเพื่อช่วยแก้ไขอาการมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของตาเหล่ หรือตาเข เพราะว่าเลนส์ปริซึมนั้นออกแบบมาเพื่อปรับแสงที่เข้าสู่ดวงตาให้ตรงกับจุดที่เหมาะสม ทำให้มองเห็นภาพที่ชัดเจน และสมดุลมากขึ้น และเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง หรือยังไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้

  • การปิดตาข้างที่ถนัดเหมาะกับผู้ที่มีภาวะ "ตาขี้เกียจ" หรืออาการที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมีอาการอ่อนแรง โดยวิธีนี้แพทย์จะให้ผู้ป่วยปิดตาข้างที่ถนัดเพื่อกระตุ้นให้ตาข้างที่อ่อนแรงทำงานมากขึ้น การรักษาด้วยวิธีนี้จะนิยมใช้บ่อยในเด็กเล็ก และเป็นวิธีที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ชัดเจน

  • การกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อตาฝึกกล้ามเนื้อตาด้วยกิจกรรมเฉพาะ เช่น การฝึกโฟกัส การเคลื่อนไหวสายตาตามวัตถุ เพื่อช่วยปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อตา และการประสานงานระหว่างสมองกับดวงตา เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตาเหล่ หรืออาการตาเขเล็กน้อยถึงปานกลาง

  • การฉีดโบท็อกซ์เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้อตาทำงานผิดปกติ การฉีดโบท็อกซ์จะช่วยลดแรงดึงของกล้ามเนื้อ และช่วยปรับสมดุลการเคลื่อนไหวของดวงตา ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่พร้อมสำหรับการผ่าตัดใหญ่ หรือใช้เป็นการรักษาเบื้องต้น

 

แนวทางการรักษาตาเหล่ ตาเข โดยการผ่าตัด

 

แนวทางการรักษาตาเหล่ ตาเข โดยการผ่าตัด

สำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตาเหล่ หรืออาการตาเขอย่างรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น ก็อาจจะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพราะว่าการผ่าตัดแก้ไขตาเหล่ หรือตาเขนั้นออกแบบมาเพื่อปรับตำแหน่ง และความสมดุลของกล้ามเนื้อตาโดยตรง โดยอาการตาเข และตาเหล่รักษาโดยการผ่าตัดนั้นมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

  • การผ่าตัด Muscle Correctionเป็นวิธีการรักษาที่แพทย์จะทำการผ่าตัดปรับแต่งกล้ามเนื้อตาให้มีความยาวที่เหมาะสม โดยวิธีนี้จะช่วยให้สามารถขยับซ้าย ขวา ขึ้น และลงได้ปกติ และช่วยปรับการเคลื่อนไหวของดวงตาให้สอดคล้องกันมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแต่กล้ามเนื้อตายังอยู่ในสภาพดี

  • การผ่าตัดปรับกล้ามเนื้อตาเป็นวิธีการรักษาที่แพทย์จะทำการผ่าตัดที่เน้นแก้ไขความผิดปกติของตำแหน่งกล้ามเนื้อตา ด้วยการตัด หรือเชื่อมต่อกล้ามเนื้อในตำแหน่งใหม่ เพื่อปรับตำแหน่งของลูกตาให้สมดุล ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่น และมักใช้ในผู้ใหญ่ หรือเด็กที่มีอาการทรงตัวแล้ว

รักษาตาเหล่ ตาเข ที่ศูนย์โรคตาเด็ก Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร

หากมีอาการตาเหล่ ตาเข แนะนำให้เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการตาเหล่ได้ที่ศูนย์โรคตาเด็ก Bangkok Eye Hospital ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้ามเนื้อตาเข ที่สามารถดูแล รักษาอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่มีอาการตาเหล่ ตาเข มีจุดเด่นดังนี้

  • โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

  • เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย

  • พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ

  • จักษุแพทย์ สามารถดูแล รักษา และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการตาเหล่ ตาเข ได้ตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่

  • ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง

สรุป

อาการตาเหล่ หรือตาเข คือภาวะที่ดวงตาทั้งสองข้างมองไม่ตรงกัน เนื่องจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาหรือระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของตา ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการมองเห็น และอาการนี้สามารถพบได้ทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็ก ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภท ได้แก่ ตาเขเข้าใน ตาเขออกนอก ตาเขขึ้นบน และตาเขลงล่าง โดยสามารถทำการรักษาได้ทั้งแบบไม่ผ่าตัด และแบบผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการตาเหล่ได้ที่ศูนย์รักษาตาเด็ก Bangkok Eye Hospitalที่มีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ มาพร้อมกับเทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล ให้บริการแบบครบวงจร ดูแล รักษา และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการตาเหล่ ตาเข ได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ดูแลใส่ใจทุกท่านดุจญาติมิตร

calling
ទំនាក់ទំនងមកយើងខ្ញុំ : +662 511 2111