มุมสุขภาพตา : #femto lasik

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และพฤติกรรมที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

FemtoLASIK เทคโนโลยีล้ำสมัย การผ่าตัดสายตาที่ปลอดภัย แม่นยำกว่า

FemtoLASIK คือหนึ่งในเทคโนโลยีการทำเลสิกที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน โดยใช้เลเซอร์ Femtosecond (เฟมโตเซคอนด์เลเซอร์) ในการสร้างฝาปิดกระจกตา (Flap) ซึ่งมีความแม่นยำสูง ช่วยลดความเสี่ยง และฟื้นตัวเร็วกว่าวิธีแบบเดิม มาดูข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจกันได้เลยในบทความนี้   FemtoLASIK คือนวัตกรรมการแก้ไขสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียงแบบไร้ใบมีด แผลสมานตัวเร็ว ใช้เวลาผ่าตัดน้อย ระยะฟื้นตัวสั้น และผลข้างเคียงน้อย FemtoLASIK โดดเด่นด้วยเทคโนโลยี Femtosecond Laser ที่ช่วยแยกชั้นกระจกตาและปรับแต่งค่าสายตาด้วยความแม่นยำสูง โอกาสเกิดตาแห้งและการติดเชื้อต่ำ กระจกตาฟื้นตัวเร็ว มีความเสี่ยงน้อยที่ฝากระจกตาจะเคลื่อน ทำให้เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้ต้องการแก้ไขสายตา การทำ FemtoLASIK ไม่เหมาะสำหรับสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นกระจกตาหมอกได้ในบางราย รวมถึงผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับกระจกตาหรือโรคทางกายที่ส่งผลต่อการมองเห็นไม่สามารถรับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ ผู้ที่เหมาะกับการผ่าตัด FemtoLASIK คือผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปที่มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี มีสายตาสั้นไม่เกิน 1,300 หรือมีสายตายาวและเอียงในระดับที่เหมาะสม มีสุขภาพดวงตาดีและกระจกตาแข็งแรง เป็นผู้ที่ไม่สะดวกใส่แว่นหรือคอนแท็กต์เลนส์เนื่องจากความจำเป็นในการทำงานหรือทำกิจกรรมพิเศษ และมีความคาดหวังที่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับผลลัพธ์หลังการผ่าตัด     เลสิกไร้ใบมีด FemtoLASIK คืออะไร? FemtoLASIK คือนวัตกรรมการแก้ไขสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียงแบบไร้ใบมีด ใช้เลเซอร์ Visumax 800 ความถี่สูงถึง 2 MHz และใช้เวลาในการเปิดฝากระจกตาเพียง 5 วินาทีเท่านั้น เทคโนโลยีนี้สามารถกำหนดความหนาของฝากระจก และแยกชั้นกระจกตาได้อย่างเรียบเนียนโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบ ส่งผลให้แผลสมานตัวได้เร็ว ใช้เวลาผ่าตัดน้อย ระยะพักฟื้นสั้น และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อดีของการทำ FemtoLASIK FemtoLASIK มีข้อดีหลายประการที่โดดเด่นกว่าการผ่าตัดแบบเดิม โดยเทคโนโลยีเลเซอร์เฟมโตเซคันด์ (Femtosecond Laser) ช่วยให้การแยกชั้นกระจกตาและปรับแต่งค่าสายตามีความแม่นยำสูง ทำให้ผลข้างเคียงเกิดขึ้นน้อยและสามารถรักษาได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด สายตายาวตามอายุ และสายตาเอียง   นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีโอกาสเกิดภาวะตาแห้งและการติดเชื้อต่ำมาก อีกทั้งกระจกตายังสมานตัวและฟื้นฟูได้รวดเร็ว พร้อมโอกาสที่ฝากระจกตาจะเคลื่อนน้อยมาก ทำให้เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่ต้องการแก้ไขสายตา ข้อเสียของการทำ FemtoLASIK การทำ FemtoLASIK ไม่เหมาะสำหรับสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในบางราย เช่น กระจกตาหมอก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยง หลังการผ่าตัดต้องระมัดระวังอุบัติเหตุกระทบดวงตาเป็นพิเศษ เนื่องจากแผลโค้งยาวที่กระจกตาอาจเกิดการเคลื่อนจนแผลเปิดได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับกระจกตาหรือโรคทางกายที่ส่งผลต่อการมองเห็นจะไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ วิธีเตรียมตัวก่อนทำ FemtoLASIK ก่อนทำ FemtoLASIK จำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมามีประสิทธิภาพและผ่านไปด้วยดีมากที่สุด   ศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำ FemtoLASIK เพื่อสร้างความเข้าใจและความคาดหวังที่เหมาะสมต่อผลลัพธ์ ค้นหาข้อมูลสถานที่ให้บริการโดยพิจารณาทั้งประสบการณ์ของแพทย์ ความสะดวกในการเดินทาง มาตรฐานความสะอาด และค่าใช้จ่าย งดใส่คอนแท็กต์เลนส์ก่อนตรวจวิเคราะห์สภาพตา โดยเลนส์ชนิดนิ่มต้องงดอย่างน้อย 3 วัน ส่วนเลนส์ชนิดแข็งหรือแข็งกึ่งนิ่มต้องงดอย่างน้อย 14 วัน งดรับประทานยารักษาสิวกลุ่ม Isotretinoin เช่น Roaccutane, Acnotin และ Sotret เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนก่อนตรวจวิเคราะห์สภาพตาและก่อนการผ่าตัด งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบหากมีการรับประทานยาประจำตัว เช่น ยาเบาหวาน ยาความดัน หรือยานอนหลับ เตรียมแว่นตากันแดดและผู้ดูแลมาด้วยในวันตรวจ เนื่องจากต้องหยอดยาขยายม่านตาซึ่งทำให้มองเห็นไม่ชัดและแพ้แสง เข้ารับการตรวจวิเคราะห์สภาพตาเพื่อประเมินว่าสุขภาพตาเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธี FemtoLASIK หรือไม่     ขั้นตอนการทำ FemtoLASIK หลายๆ คนยังกังวลว่าการทำ FemtoLASIK เป็นอย่างไร? น่ากลัวไหม? มาดูขั้นตอนการทำ FemtoLASIK เพื่อให้คลายข้อกังวลก่อนทำกันดีกว่า   ก่อนการผ่าตัด แพทย์จะหยอดยาชาและรอให้ยาออกฤทธิ์จนพร้อมสำหรับเริ่มขั้นตอนการรักษา แพทย์ใช้ Femtosecond Laser แยกชั้นกระจกตาตามความหนาที่คำนวณไว้อย่างแม่นยำ หลังจากเปิดฝากระจกตา แพทย์จะใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ปรับแต่งความโค้งภายในชั้นกระจกตา เมื่อปรับแต่งเสร็จสมบูรณ์ แพทย์จะนำฝากระจกตาปิดกลับเข้าตำแหน่งเดิมอย่างแนบสนิท ขั้นตอนสุดท้าย จักษุแพทย์จะทำการปิดฝาครอบตาเพื่อป้องกันและส่งเสริมการฟื้นตัวของดวงตา ดูแลตัวเองอย่างไรหลังทำ FemtoLASIK เพื่อประสิทธิภาพของผลลัพธ์ การดูแลตัวเองหลังทำ FemtoLASIK จึงมีความสำคัญมาก ดังนี้   ใส่ที่ครอบตาขณะนอนหลับเพื่อป้องกันการเผลอขยี้ตาโดยไม่รู้ตัว ระมัดระวังไม่ให้น้ำ ฝุ่น เหงื่อ หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา งดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นและพยายามนอนพักผ่อนให้มากเพื่อพักฟื้นสายตา หยอดยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด ใช้น้ำตาเทียมเมื่อเกิดภาวะตาแห้ง งดการแต่งหน้าบริเวณรอบดวงตา มัดผมเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นผมสัมผัสดวงตา (สำหรับผู้ที่มีผมยาว) สวมแว่นตากันแดดเมื่อต้องออกไปข้างนอก หลีกเลี่ยงการขับรถในตอนกลางคืนเนื่องจากอาจมองเห็นแสงเป็นแฉก เข้าพบจักษุแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ รีบพบจักษุแพทย์ทันทีหากพบความผิดปกติใดๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา     ใครเหมาะกับการทำ FemtoLASIK ผู้ที่เหมาะสมกับการผ่าตัด FemtoLASIK ได้แก่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยค่าสายตาต้องคงที่อย่างน้อย 1 ปี มีสายตาสั้นไม่เกิน 1,300 หรือมีสายตายาวหรือเอียงในระดับที่เหมาะสม และมีสุขภาพดวงตาโดยรวมดีพร้อมกระจกตาที่แข็งแรง นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรมีความคาดหวังที่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับผลลัพธ์ และมักเป็นผู้ที่ไม่สะดวกใส่แว่นตาหรือคอนแท็กต์เลนส์เนื่องจากความจำเป็นในการประกอบอาชีพหรือการทำกิจกรรมบางประเภท ใครไม่เหมาะกับการทำ FemtoLASIK ผู้ที่ไม่ควรทำ FemtoLASIK ได้แก่ ผู้ที่มีโรคหลอดเลือด โรคแพ้ภูมิต้านทานตัวเองและเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้ รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออยู่ระหว่างการรักษาที่กดภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร หรือผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ภายใน 6 เดือนหลังผ่าตัดก็ไม่ควรเข้ารับการรักษานี้ ท้ายที่สุด ผู้ที่เป็นโรคตาอื่นๆ เช่น ต้อกระจก ต้อหิน และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก็เป็นข้อห้ามในการทำ Femto LASIK เช่นเดียวกับการทำเลสิกทั่วไป หลังผ่าตัด FemtoLASIK ต้องพักฟื้นไหม? หลังจากรับการรักษาสายตาด้วย FemtoLASIK ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักฟื้นประมาณ 2 - 3 วัน โดยในช่วงเวลานี้อาจมีอาการระคายตาและน้ำตาไหลบ่อยเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการฟื้นตัวของดวงตาหลังการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์ชั้นสูงนี้ FemtoLASIK แก้ไขปัญหาสายตาได้ถาวรไหม? การทำ FemtoLASIK คือนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาสายตาที่มีอยู่เดิมให้กลับมาชัดเจนได้อย่างถาวร แต่ไม่สามารถยับยั้งการเสื่อมถอยของร่างกายตามธรรมชาติหรือปัญหาใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้น ผู้ที่ผ่านการทำ FemtoLASIK แล้วควรเข้าใจว่าการรักษานี้แก้ไขสภาพสายตาที่เป็นปัญหา ณ เวลาที่ทำการรักษาเท่านั้น ไม่ใช่วิธีป้องกันความเสื่อมของสายตาที่อาจเกิดขึ้นตามวัยในภายหลัง ทำ FemtoLASIK ราคาเท่าไร? การทำ FemtoLASIK ที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) โดยทั่วไปมีค่าใช้จ่ายราคาเริ่มต้นประมาณ 118,000 บาท โดยจะมีค่าตรวจประเมินสภาพสายตาโดยละเอียดอีก 3,500 บาท สามารถตรวจสอบโปรโมชันเพิ่มเติมได้ที่นี่ อัตราค่าบริการตรวจและรักษาสายตาเป็นค่าบริการสำหรับการรักษา 2 ตาในวันเดียวกัน โดยค่าบริการรวมค่ายาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการผ่าตัด และค่าบริการตรวจติดตามผลหลังการผ่าตัด 5 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี (1 วัน 1 อาทิตย์ 1 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี) เท่านั้น ทำ FemtoLASIK ที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากต้องการรักษาปัญหาสายตาด้วยการทำ FemtoLASIK มาปรึกษาและรักษาได้ที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) เพื่อการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยจักษุแพทย์ผู้มากความรู้เกี่ยวกับดวงตาและทีมงานที่มีประสบการณ์ ด้วยจุดเด่นดังนี้   โรงพยาบาลมีจักษุแพทย์มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับการรักษาดวงตา เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง สรุป FemtoLASIK คือนวัตกรรมการแก้ไขสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียงแบบไร้ใบมีด ที่โดดเด่นด้วยเทคโนโลยี Femtosecond Laser ซึ่งช่วยแยกชั้นกระจกตาและปรับแต่งค่าสายตาด้วยความแม่นยำสูง ทำให้แผลสมานตัวเร็ว ใช้เวลาผ่าตัดน้อย และมีระยะฟื้นตัวสั้น ข้อดีที่สำคัญคือมีโอกาสเกิดตาแห้งและการติดเชื้อต่ำ ความเสี่ยงที่ฝากระจกตาจะเคลื่อนมีน้อย ทำให้เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องการแก้ไขสายตา หากมีความผิดปกติของดวงตา มาเช็กสุขภาพตาอย่างละเอียดที่ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospitalโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีทีมแพทย์มากประสบการณ์ อุปกรณ์ที่ทันสมัย ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล มั่นใจได้ว่าการรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111