มุมสุขภาพตา : #PRK

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และพฤติกรรมที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

PRK และ LASIK คืออะไร? เทคนิคการผ่าตัดสายตาที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจ

ในปัจจุบันประชากรทั่วโลกประสบปัญหาสายตาเพิ่มขึ้น ทั้งสายตาสั้นและสายตาเอียงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกเพศทุกวัย สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการใช้สายตาที่มากเกินความจำเป็น วิธีการใช้สายตาที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้มีความต้องการในการรักษาค่าสายตาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้แว่นตา คอนแท็กต์เลนส์ หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดแก้ไขสายตา สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพตาอย่างถูกวิธีในยุคนี้ PRK คือการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ต่างจาก LASIK ทั่วไป บทความนี้พามาดูว่า แล้ว PRK กับ LASIK ต่างกันอย่างไร? พร้อมอธิบายขั้นตอนการรักษา ข้อดี-ข้อเสีย และการพักฟื้นให้เห็นแบบชัดๆ กัน   PRK และ LASIK คือการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ แต่มีขั้นตอนที่แตกต่างกัน โดย PRK ไม่มีการเปิดกระจกตาในขณะที่ LASIK มีการเปิดและปิดกระจกตาหลังจากเลเซอร์ยิงแก้ไขสายตา PRK มีระยะเวลาฟื้นตัวนานกว่า LASIK เนื่องจากไม่มีการปิดกระจกตากลับเหมือน LASIK แต่มีความปลอดภัยสูงกว่าในระยะยาวสำหรับบางอาชีพหรือผู้ที่มีสายตาสั้นมาก PRK เหมาะกับผู้ที่มีกระจกตาบางหรือมีความเสี่ยงจากกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก ส่วน LASIK เหมาะกับผู้ที่ต้องการฟื้นตัวเร็วและไม่ต้องทนต่ออาการระคายเคืองนาน Bangkok Eye Hospital มีแพทย์เฉพาะทางและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้บริการทั้ง PRK และ LASIK พร้อมคำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล     นวัตกรรมผ่าตัดสายตา PRK คืออะไร? PRK (Photorefractive Keratectomy) คือวิธีรักษาสายตาที่ปรับแก้กระจกตาคล้ายเลสิก แต่เลสิกมีผลข้างเคียงน้อยกว่า PRK และต่างกันที่วิธีผ่าตัด โดย PRK มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ก่อนหน้าเลสิก และยังได้รับความนิยมอยู่เนื่องจากให้ผลถาวร PRK เป็นทางเลือกที่ดีในการแก้ปัญหาสายตาสั้น สายตาสั้นข้างเดียว และสายตาเอียง โดยสามารถแก้ไขสายตาสั้นได้ถึง 500 (5.00 Diopters) และสายตาเอียงไม่เกิน 200 (2.00 Diopters) วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาบางหรือมีอาการตาแห้งซึ่งไม่สามารถทำเลสิกได้ เนื่องจากเลสิกต้องตัดกระจกตาชั้นบนออกชั่วคราว ทำให้อาการตาแห้งอาจรุนแรงขึ้น สำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ PRK จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าในการแก้ไขปัญหาสายตา กระบวนการนี้ใช้เวลาในการหายประมาณ 5- 7 วัน และอาจมีอาการระคายตาบ้าง ข้อดี-ข้อเสียของการทำ PRK รู้จักนวัตกรรมการทำ PRK หรือ Photorefractive Keratectomy กันไปแล้ว มาเช็กข้อดีและข้อเสียของการทำ PRK กันว่ามีอะไรบ้าง ข้อดีของการทำ PRK ข้อดีของการทำ PRK คือเป็นวิธีรักษาสายตาที่ให้ผลลัพธ์ถาวรและมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการทำเลสิก ขั้นตอนการรักษาสะดวกสบาย เพียงหยอดยาชาโดยไม่ต้องฉีดยา ไม่เจ็บระหว่างทำ และไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังผ่าตัด PRK มีข้อจำกัดน้อยกว่าเลสิก เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาบาง ตาแห้ง หรือเป็นโรคที่ทำเลสิกไม่ได้ และไม่มีความเสี่ยงกระจกตาเปิดเหมือนการทำเลสิก นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสในการทำงานสำหรับอาชีพนักบิน ทหาร ตำรวจ และช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันสะดวกขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาแว่นตาอีกต่อไป ผลข้างเคียงของการทำ PRK ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงแรกหลังผ่าตัด PRK   อาการปวดและไม่สบายตาในช่วง 2 - 3 วันแรกอาจมีอาการปวดตา แสบตา และรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา โดยอาการนี้จะค่อยๆ บรรเทาลงตามระยะเวลา อาการตาแห้งอาจคงอยู่นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงความแห้งในดวงตา ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยน้ำตาเทียมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด มองเห็นภาพไม่ชัดในช่วงแรกหลังผ่าตัด การมองเห็นอาจยังไม่ชัดและต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยอาจต้องใช้ระยะเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์กว่าสายตาจะปรับตัวและมองเห็นได้อย่างชัดเจน ไวต่อแสงผู้ป่วยจะรู้สึกมีความไวต่อแสงเป็นพิเศษในช่วงระยะแรกหลังผ่าตัด ซึ่งอาจทำให้ต้องสวมแว่นกันแดดหรือหลีกเลี่ยงแสงจ้าเพื่อความสบายและป้องกันความระคายเคืองของดวงตา   ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวหลังผ่าตัด PRK   กระจกตาเป็นฝ้า (Corneal haze)ในบางกรณีอาจเกิดฝ้าที่กระจกตาหลังผ่าตัด PRK แต่โดยทั่วไปแล้วอาการนี้จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป การมองเห็นแสงกระจาย (Glare) หรือแสงฟุ้ง (Halos)โดยเฉพาะในสภาวะแสงน้อยหรือเวลากลางคืน ผู้ป่วยจะรับรู้ถึงแสงที่กระจายหรือมีวงแหวนรอบแหล่งกำเนิดแสง อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ในบางกรณีอาจเป็นถาวร การมองเห็นไม่คงที่ (Fluctuating Vision)โดยเฉพาะในช่วงระยะแรกฟื้นตัว การมองเห็นอาจเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน โดยทั่วไปอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและคงที่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป การแก้ไขสายตาไม่สมบูรณ์อาจมีการแก้ไขสายตาน้อยเกินไป (Under-correction) หรือมากเกินไป (Over-correction) ทำให้ผู้ป่วยยังต้องพึ่งแว่นตาหรือคอนแท็กต์เลนส์ในบางระดับ ในกรณีนี้ แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเสริมหรือแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากที่สุด การกลับมาของสายตาผิดปกติ (Regression)สายตาอาจกลับมาสั้น ยาว หรือเอียงอีกครั้ง อัตราการเกิดจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบางปัจจัย อายุ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย การทำ PRK เหมาะกับใครบ้าง ผู้ที่เหมาะสมกับการทำ PRK ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยค่าสายตาจะต้องคงที่ไม่น้อยกว่า 1 ปี กระจกตาต้องแข็งแรงไม่มีประวัติกระจกตาถลอกหรือหลุดลอก และไม่มีโรคอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการผ่าตัด เช่น เบาหวาน วิธีนี้เหมาะกับสายตาสั้นหรือเอียงในระดับที่รักษาได้ รวมถึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาบางกว่าปกติ ตาแห้งแบบรักษายาก หรือกระจกตาโค้งผิดรูป ผู้ที่เป็นต้อหินอาจทำได้ในบางกรณีแต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน นอกจากนี้ยังเหมาะกับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพที่ต้องการสายตาดี เช่น นักบิน ตำรวจ หรือทหาร เป็นต้น     ขั้นตอนการทำ PRK หยดแอลกอฮอล์ลงบนผิวตาเพื่อละลายเยื่อหุ้มกระจกตาออก ใช้เครื่องมือผ่าตัดปรับผิวกระจกตาให้เรียบ ใช้ Excimer Laser ปรับรูปทรงกระจกตาใหม่ให้พอดีกับค่าสายตา ปิดแผลด้วยคอนแท็กต์เลนส์พิเศษเป็นเวลา 5 - 7 วัน เพื่อรอให้เยื่อหุ้มกระจกตาสร้างใหม่ ไม่จำเป็นต้องเย็บแผลผ่าตัดหลังจากนำคอนแท็กต์เลนส์ออก     เทคนิคการผ่าตัดสายตา LASIK คืออะไร? เลสิก (LASIK)คือวิธีผ่าตัดแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด หรือสายตาเอียง โดยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาอย่างแม่นยำตามค่าสายตาที่คำนวณไว้ ทำให้แสงที่สะท้อนเข้าสู่ดวงตาหักเหไปรวมกันที่เรตินาได้พอดี ส่งผลให้ผู้รับการรักษากลับมามองเห็นได้ชัดเจนอีกครั้ง การรักษาด้วยเลสิกมีจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1949 โดย Dr.Jose I. Barraquer จักษุแพทย์ผู้คิดค้นวิธีการผ่าตัดแบบแยกชั้นกระจกตา (Keratomileusis) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาเทคนิคเลสิกที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ข้อดี-ข้อเสียของการทำ LASIK แม้การทำ LASIK จะเป็นการผ่าตัดแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติที่เคยได้ยินกันมานาน แต่หลายคนก็ยังไม่เคยทราบถึงข้อดีและข้อเสียของการทำ LASIK เลย ซึ่งข้อดีและข้อเสียของการทำเลสิกมีดังนี้ ข้อดีของการทำ LASIK LASIK เป็นเทคโนโลยีการแก้ไขสายตาชั้นสูงที่ใช้ Femtosecond Laser และ Excimer Laser ปรับความโค้งของกระจกตาได้อย่างแม่นยำ แก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ การผ่าตัดทำได้รวดเร็ว ไม่เจ็บ ไม่ต้องเย็บแผล และใช้เวลาพักฟื้นสั้นมาก สามารถใช้สายตาได้ภายใน 1 วันและเห็นชัดขึ้นใน 2 - 3 วัน ผลลัพธ์คงทนในระยะยาว ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเล่นกีฬา การอ่านหนังสือ การใช้อุปกรณ์สื่อสาร หรือการขับรถได้อย่างอิสระ ผลข้างเคียงของการทำ LASIK การทำ LASIK มีข้อเสียที่ควรพิจารณาทั้งในด้านผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับตา สตรีตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ทำให้ไม่สามารถทำได้ทุกคน ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายอาจประสบปัญหาตาแห้ง จึงจำเป็นต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้การฟื้นฟูเป็นไปอย่างราบรื่น การทำ LASIK เหมาะกับใคร การทำ LASIK เหมาะกับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีค่าสายตาที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงในรอบ 1 ปี และมีสุขภาพดวงตาที่แข็งแรงสมบูรณ์ โดยมีความหนาของกระจกตาที่เพียงพอสำหรับการรักษา นอกจากนี้ ยังต้องไม่มีโรคเกี่ยวกับกระจกตาหรือโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อดวงตา เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องต่างๆ     ขั้นตอนการทำ LASIK แยกชั้นกระจกตาด้วยเครื่องไมโครเครราโตม (Microkeratome) หรือใช้ใบมีดเพื่อสร้างชั้นกระจกตา (Flap) สำหรับเข้าถึงพื้นที่การรักษา ยกชั้นกระจกตาขึ้นเพื่อเตรียมพื้นที่ชั้นกลางของกระจกตา ทำให้พร้อมสำหรับการปรับความโค้งด้วยเลเซอร์ในขั้นตอนต่อไป ใช้ Excimer Laser ยิงไปที่ชั้นกลางของกระจกตา เพื่อปรับเปลี่ยนความโค้งให้ได้ตามการคำนวณที่ได้ออกแบบไว้ ปิดชั้นกระจกตา (Flap) กลับคืนตำแหน่งเดิม โดยกระจกตาจะสมานตัวเองได้โดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องเย็บแผลใดๆ ทั้งสิ้น     PRK VS. LASIK เปรียบเทียบให้ชัดต่างกันอย่างไร? การทำ PRK และ LASIK เจ็บไหม? ระหว่างการทำจะไม่รู้สึกเจ็บเพราะมีการใช้ยาชาหยอดตา อย่างไรก็ตาม การทำ PRK อาจมีอาการระคายตาในช่วงฟื้นตัวมากกว่าการทำ LASIK ค่ารักษาของการทำ PRK และ LASIK ต่างกันไหม? โดยทั่วไป การทำ PRK และ LASIK มีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกัน แต่ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลและเทคโนโลยีที่ใช้ด้วย การแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์สามารถทำซ้ำได้ไหม? สามารถทำซ้ำได้หากมีการเปลี่ยนแปลงของสายตาในอนาคต แต่ต้องรอให้สายตาคงที่ก่อน ทำ PRK และ LASIK ที่ ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากต้องการแก้ไขปัญหาสายตา มาปรึกษาและรักษาได้ที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) เพื่อการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยจักษุแพทย์ผู้มากความรู้เกี่ยวกับดวงตาและทีมงานที่มีประสบการณ์ และจุดเด่นดังนี้   โรงพยาบาลมีจักษุแพทย์มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง สรุป PRK และ LASIK คือวิธีผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ที่แตกต่างกันตรงที่การทำ PRK ไม่มีการเปิดกระจกตา ขณะที่การทำ LASIK มีการเปิดและปิดกระจกตาหลังการยิงเลเซอร์ ทำให้การทำ PRK มีระยะเวลาฟื้นตัวนานกว่าแต่มีความปลอดภัยสูงในระยะยาวสำหรับบางอาชีพหรือผู้ที่มีสายตาสั้นมาก การทำ PRK จึงเหมาะกับผู้ที่มีกระจกตาบางหรือมีความเสี่ยงจากกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก ส่วนการทำ LASIK เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการฟื้นตัวเร็วและไม่ต้องทนต่ออาการระคายเคืองเป็นเวลานาน หากมีความผิดปกติของดวงตา มาเช็กสุขภาพตาอย่างละเอียดที่ ศูนย์เลเซอร์วิชั่น Bangkok Eye Hospital โรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีทีมแพทย์มากประสบการณ์ อุปกรณ์ที่ทันสมัย ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล มั่นใจได้ว่าการรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย
ศูนย์เลสิก LASER VISION

อย่าให้ปัญหาสายตาสั้นทำให้ชีวิตของคุณยุ่งยาก!

หลายคนมีปัญหาสายตาสั้น ทำให้มีทัศนวิสัยในการมองเห็นแย่ มองเห็นภาพไกล ๆ ไม่ชัด มองเห็นเป็นภาพเบลอ ซึ่งสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่มีค่าสายตาสั้นสูงมาก จนทำให้ต้องใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์แทบจะตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มอุปกรณ์จำเป็นในการดำรงชีวิตและเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันอีกด้วย โดยเฉพาะคนที่สายตาสั้นและต้องใส่คอนแทคเลนส์ยังต้องเพิ่มเรื่องของการดูแลความสะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ดวงตาติดเชื้อและอาจนำไปสู่อันตรายร้ายแรงต่อดวงตาอีกด้วย   ทั้งนี้ทั้งนั้นสายตาสั้นอาจไม่ใช่แค่ปัญหาที่สร้างความรำคาญ หรือทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินชีวิตเพียงแค่นั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับชีวิตได้อีกหลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพ ด้านการเงิน หรือแม้กระทั่งยังอาจเป็นตัวกำหนดอาชีพในอนาคตเราได้อีกด้วย ดังนั้นหากไม่อยากปล่อยให้เรื่องสายตาสั้นเป็นปัญหากวนใจ ควรหาทางแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ   ผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่เกิดจากสายตาสั้น ด้านสุขภาพ หลายคนยังไม่ทราบว่าหากใครที่มีสายตาสั้นมาก ๆ ในอนาคตอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ในบริเวณดวงตาได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อม จอตาลอก จอตาฉีกขาด หรือวุ้นในตาเสื่อม ซึ่งในบางกรณีอาจรุนแรงถึงขึ้นทำทำให้สูญเสียการมองเห็นได้เลย   ด้านสังคมและการดำเนินชีวิตประจำวัน สายตาสั้นทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินชีวิตและการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ในวัยเรียนอาจประสบปัญหามองกระดานเรียนไม่ชัด ทำให้มีปัญหาการเรียนสะดุดได้ เมื่อโตขึ้นการทำกิจกรรมบางอย่างก็ต้องใช้สายตาเป็นส่วนสำคัญ เช่น การขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถมอเตอร์ไซต์และอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อความคล่องตัวและความปลอดภัยจึงต้องใส่แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ และนำมาสู่ผลกระทบในข้อถัดไป   ด้านการเงิน เมื่อเริ่มรู้ว่าตนเองมีค่าสายตาที่ผิดปกติ ควรตรวจวัดค่าสายตาก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงทำการตัดแว่นหรือหาซื้อคอนแทคเลนส์ตามค่าสายตาของตนเอง เพื่อปรับให้มีการมองเห็นที่เหมาะสม ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา ต่างจากคนที่มีค่าสายตาปกติ และค่าสายตาเป็นอะไรที่ไม่คงที เมื่ออายุมากขึ้นค่าสายตาสั้นก็อาจสูงขึ้นตามไปด้วยทำให้ต้องเปลี่ยนเลนส์แว่นหรือคอนแทคเลนส์ใหม่ ๆ ทุกครั้งที่ค่าสายตาเปลี่ยน ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในชีวิตประจำวัน   ด้านการประกอบอาชีพ รู้หรือไม่ว่าบางอาชีพมีการกำหนดค่าสายตาสูงสุดที่สามารถประกอบอาชีพนั้น ๆ ได้ด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ต้องใช้สายตาเพื่อความละเอียดแม่นยำเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ของทั้งตนเองและผู้อื่น อย่างเช่น อาชีพนักบินถูกกำหนดห้ามสายตาสั้นเกิน -3.00D ห้ามสายตาเอียงเกิน -1.50D ส่วนนายสิบ นายร้อย ตำรวจและทหาร ต้องมีสายตาปกติและอ่าน snellen chart ได้หกต่อหก   แก้ไขสายตาสั้น ให้หมดความกังวลใจ ด้วยการทำเลสิกกับ LASERVISION เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินชีวิต และสำหรับบางคนที่อยากทำอาชีพได้แบบที่หวังโดยไม่ต้องกังวลใจกับเรื่องค่าสายตา หนทางเดียวที่จะทำให้ค่าสายตาเป็นปกติ คือ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขค่าสายตา โดยที่ในปัจจุบันการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตานั้นนิยมทำด้วยการเลเซอร์ ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้ผลลัพธ์มีความแม่นยำมากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น ที่สำคัญคือแผลผ่าเล็กไม่ต้องพักฟื้นนาน เหมือนกับการที่ศูนย์รักษาสายตานานาชาติ เลเซอร์วิชั่น เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในไทยที่นำเอาเทคโนโลยี NanoRelex® เข้ามาใช้ในการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตา   โดย NanoRelex® เป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของ Femtosecond Laser ที่มีความแม่นยำสูง ในการปรับแต่งเนื้อเยื่อภายในชั้น Stroma ของกระจกตา ด้วยการคำนวณชิ้นเนื้อกระจกตา เป็นรูป 3 มิติ ที่เรียกว่า Lenticule ตามค่าสายตาของแต่ละบุคคล แล้วทำการนำ Lenticule ออกผ่านทางแผลขนาดเล็กประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ใช้เวลาผ่าตัดน้อย ลดอาการตาแห้งได้ดี ที่สำคัญคือ หลังการผ่าตัดกระจกตาจะยังคงรูปร่างและความแข็งแรงอยู่ ทำให้คุณมั่นใจในการใช้ชีวิตด้วยการมองเห็นที่ดีขึ้น และไม่มีปัญหากวนใจอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง
ศูนย์เลสิก LASER VISION

สายตายาวแต่กำเนิด VS สายตายาวตามวัย มีความแตกต่างกันอย่างไร?

หลายคนอาจจะคิดว่าสายตายาวมักพบได้บ่อยในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่เชื่อหรือไม่ว่าสายตายาวสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กวัยแรกเกิดเช่นเดียวกัน ซึ่งเรียกว่าภาวะสายตายาวแต่กำเนิด (Hyperodia) เนื่องจากกระบอกตามีขนาดสั้น และกระจกตามีลักษณะโค้งน้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดการหักเหของแสงน้อยลง ส่งผลให้แสงไปตกด้านหลังของจอประสาทตา เด็กวัยแรกเกิดจึงต้องเพ่งในทุกระยะสายตา ทั้งระยะใกล้และระยะไกลอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยความที่กล้ามเนื้อตาในวัยเด็กยังมีความยืดหยุ่นสูง จึงทำให้เด็กมักไม่รู้ตัวว่ามีภาวะสายตายาว แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อตาจะค่อย ๆ เสื่อมลง ภาวะสายตายาวก็จะเริ่มแสดงอาการออกมาชัดเจนยิ่งขึ้น การมองเห็นก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป   ภาวะสายตายาวแต่กำเนิด ต่างกับ สายตายาวตามวัย อย่างไร? สายตายาวตามวัย (Presbyopia) ถือเป็นความผิดปกติของการมองเห็นที่เกิดขึ้นกับทุกคน เนื่องจากเลนส์ตาของเรายืดหยุ่นได้น้อยลง และกล้ามเนื้อตาเสื่อมสภาพลงไปตามวัยที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการมองเห็นระยะใกล้ จึงสามารถเกิดร่วมได้กับผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น สายตายาวแต่กำเนิด และสายตาเอียงได้ ในขณะที่ภาวะสายตายาวแต่กำเนิดจะเกิดจากความผิดปกติของกระบอกตาหรือกระจกตาตั้งแต่แรกเกิดนั่นเอง   อาการของสายตายาวแต่กำเนิด ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในแต่ละช่วงอายุ ●       ก่อนวัยเรียน เมื่อเด็กเล็กอายุมากขึ้นจนถึงวัยที่ต้องใช้กล้ามเนื้อตาในการเพ่งมากกว่าปกติ อาจส่งผลให้มีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการตาเหล่ ตาเข เมื่อมองใกล้หรือเวลาอ่านหนังสือ ●       วัยเรียน ถึงวัยที่อาการมองเห็นเริ่มแสดงผลชัดเจนมากขึ้นแล้ว เด็กจะเริ่มมองเห็นไม่ชัดในระยะใกล้ แต่สำหรับระยะสายตาไกลยังคงชัดเจนอยู่ วิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ คือเด็กที่มีสายตายาวจะไม่สามารถอ่านหนังสือเป็นเวลานาน ๆ ได้ ●       วัยทำงาน นับเป็นช่วงวัยที่อายุเริ่มมากขึ้นแล้ว กล้ามเนื้อตาและประสาทตาต่าง ๆ เริ่มเสื่อมสภาพลง เมื่อทำงานหรือเพ่งตาระยะใกล้เป็นเวลานาน จึงเริ่มเกิดอาการตาล้าเร็วกว่าคนทั่วไป ●       วัยอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่อาการสายตายาวแสดงผลชัดเจนที่สุด การมองเห็นจะไม่ชัดอีกต่อไปทั้งในระยะใกล้และระยะไกล จำเป็นต้องสวมแว่นมองใกล้ช่วยในการอ่านหนังสือก่อนคนอื่น วิธีแก้ไขง่าย ๆ คือสวมใส่แว่นสายตาที่มีเลนส์นูน เพื่อหักเหแสงให้ตกลงบนจอประสาทตา   ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการของสายตายาวแต่กำเนิดข้างต้น คืออาการเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีค่าสายตายาวไม่มากเท่านั้น เด็กบางคนที่มีค่าสายตายาวน้อย อาจมีหรือไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่ในกรณีที่มีค่าสายตายาวแต่กำเนิดสูง ๆ อาการก็อาจหนักขึ้นได้เช่นกัน โดยอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดตา ตาหยี หรือแม้กระทั่งการมองเห็นจะเป็นภาพมัว โดยเฉพาะการมองเห็นวัตถุระยะใกล้ด้วย หากเป็นเช่นนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยเข้าพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมจะส่งผลดีต่อลูกน้อยที่สุด   แนวทางการรักษาภาวะสายตายาวแต่กำเนิด ที่ปลอดภัย อาการหายเป็นปลิดทิ้ง ●       การทำ FemtoLASIK การทำ FemtoLASIK (การทำเลสิกแบบไร้ใบมีด) เป็นการรักษาภาวะสายตายาวแต่กำเนิด เพื่อผ่าตัดแก้ไขปรับความโค้งของกระจกตา ด้วยเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับศักยภาพความสามารถในการแยกชั้นกระจกตาขั้นสูง แพทย์สามารถกำหนดระดับความหนาของกระจกตาตามที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ และปลอดภัย โดยใช้เฟมโตเซเคินเลเซอร์ สร้างฝากระจกตาแทนการใช้ใบมีด ผลลัพธ์ที่ได้คือฝากระจกตาหนาเท่ากันทั้งแผ่น สามารถทำขอบกระจกตาเป็นมุมเข้าร่องกับเนื้อกระจกตาข้างเคียง ลดโอกาสเคลื่อนของฝากระจกตาได้ ●       การทำ LASIK ปกติแล้วการทำเลสิกจะใช้รักษาสายตาสั้น แต่สามารถรักษาภาวะสายตายาวแต่กำเนิดได้เช่นกัน โดยการผ่าตัดสายตา เปิดฝากระจกตาด้วยเครื่องมือใบมีดติดมอเตอร์ ในการแยกชั้นกระจกตา และสร้างฝากระจกตาให้มีความหนาที่เหมาะสม จากนั้นจึงใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ เพื่อปรับความโค้งของผิวกระจกตาให้ได้ค่าสายตาที่ต้องการแก้ไข ●       การทำ PRK การรักษาภาวะสายตายาวแต่กำเนิดอีกวิธีหนึ่งที่คล้ายกับการทำเลสิก โดยการเปิดกระจกตาชั้นนอกสุดออก แล้วใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (เลเซอร์เย็น) ยิงลงบนเนื้อกระจกตา เพื่อปรับความโค้งที่ผิวกระจกตา ก่อนปิดแผลที่ผิวกระจกตาด้วยเลนส์สัมผัสคุณภาพพรีเมี่ยม สำหรับลดอาการระคายเคือง เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากระจกตาบาง ไม่เหมาะกับเด็กวัยเล็ก เพราะต้องใช้ระยะเวลารักษานานกว่าการทำเลสิก   Laser Vision ทุกการรักษาภาวะสายตายาวแต่กำเนิด หรือสายตายาวตามวัย เป็นไปได้จริง Laser Vision International LASIK Center ศูนย์รักษาสายตา เลเซอร์วิชั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านรักษาสายตาสั้น สายตายาว เอียง และโรคตาทุกชนิดแบบครบวงจร ตั้งแต่ปัญหาโรคตาทั่วไป สายตาสั้น สายตายาว ภาวะสายตายาวแต่กำเนิด ไปจนถึงการผ่าตัดที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทางในแต่ละด้าน เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและดีที่สุดของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสามารถให้บริการรักษาได้ทั้งการทำ FemtoLasik การทำ LASIK และการทำ PRK คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยที่ภาวะสายตายาวแต่กำเนิด เข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ แพทย์จะช่วยวินิจฉัยอาการและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้ สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร 02-511-2111
ศูนย์เลสิก LASER VISION

วิธีทำเลสิกเลือกด้วยตัวเองได้ไหม?

วิธีทำเลสิกเลือกด้วยตัวเองได้ไหม? วิธีทำเลสิกเลือกด้วยตัวเองได้ไหม?      หนึ่งในข้อสงสัยที่สอบถามกันเข้ามาอย่างมากมาย คือ ทำเลสิกแบบไหนดี? ฉันเลือกเองได้ไหม? หรือต้องให้หมอเลือก? ซึ่งในวันนี้ Laser Vision จะขอตอบให้เคลียร์ทุกคำถามเกี่ยวกับการทำเลสิกแต่ละวิธี และวิธีการทำเลสิกแบบไหนเป็นวิธีที่เหมาะสมกับคุณ? Laser Vision มีการให้บริการรักษาสายตาไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตาเอียง หรือสายตายาวทั้งหมด 4 รูปแบบด้วยกัน โดยแต่ละรูปแบบก็จะมีข้อจำกัดและขอบเขตในการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้   PRK      PRK เป็นการรักษาที่เริ่มต้นมายาวนาน การรักษาสายตาด้วยวิธีนี้จะเริ่มจาก การลอกผิวกระจกตาชั้นนอกสุดก่อน จากนั้นจะใช้ Excimer Laser ทำการปรับผิวกระจกตาให้ได้ความโค้งที่พอดีกับค่าสายตา วิธีนี้จะไม่มีการแยกขั้นกระจกตา เหมาะกับการรักษาสายตาผิดปกติสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้น สายตาเอียง หรือสายตายาวที่ไม่มากเกินไป ต้องอาศัยการพักฟื้นที่ยาวนานกว่า อย่างน้อยประมาณ 1 สัปดาห์ และอาจต้องมีการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง   LASIK      LASIK หรือ Laser In Situ Keratomileusis เป็นการรักษาที่ได้รับการพัฒนาต่อมาจากการรักษาด้วยวิธี PRK และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยวิธีนี้จะมีขั้นตอนการแยกชั้นกระจกตาด้วยใบมีดขนาดเล็ก และเปิดชั้นกระจกตาออก จากนั้นจึงใช้ Excimer Laser ไปปรับความโค้งของผิวกระจกตาชั้นกลางเพื่อให้ได้ค่าความโค้งที่พอดี แล้วปิดกระจกตากลับเข้าตำแหน่งเดิม การรักษาด้วยวิธีเลสิกนี้ทำให้เพิ่มโอกาสในการรักษาสำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติในระดับสูงได้ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตาเอียง หรือสายตายาว และยังใช้เวลาในการพักฟื้นเพียง 1 วันก็กลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ   NanoLASIK      NanoLASIK เป็นวิธีการรักษาสายตาที่ทันสมัยมากขึ้น และได้รับความนิยมมากที่สุด วิธีนี้จะเป็นการรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ในทุกขั้นตอน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบมีด (Bladeless) โดยขั้นตอนในการแยกชั้นกระจกตาจะใช้เลเซอร์ที่เรียกว่า Femtosecond Laser ที่มีพลังงานน้อยกว่า ในระดับนาโนจูล ในการแยกชั้นกระจกตาแทน แล้วค่อยใช้ Excimer Laser ทำการปรับผิวกระจกตาให้ได้ค่าสายตาตามต้องการ วิธีนี้สามารถเพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่มีสายตาผิดปกติในระดับสูงได้มากขึ้น และยังช่วยลดอาการระคายเคืองได้   NanoRelex      NanoRelex ถือเป็นวิธีการรักษาสายตาที่ทันสมัยที่สุด โดยการใช้ Femtosecond Laser ยิงเข้าไปตัดแต่งเนื้อเยื่อในชั้นกระจกตาเพื่อปรับค่าสายตาให้เป็นปกติ จากนั้นนำกระจกตาส่วนเกินออกมาผ่านทางแผลขนาดเล็ก ๆ เพียง 2-3 มม. การรักษาสายตาด้วยวิธี NanoRelex นี้ จะไม่มีการแยกชั้นกระจกตา และแผลมีขนาดเล็กมาก ๆ จึงถือเป็นการรักษาที่มีความอ่อนโยนต่อดวงตามากที่สุด และยังรักษาความแข็งแรงให้กระจกตาได้ แต่วิธี NanoRelex นั้น จะเหมาะกับผู้ที่มีสายตาสั้น หรือสายตาเอียงเท่านั้น ยังไม่สามารถรักษาสายตายาวโดยกำเนิดได้      หลังจากทราบถึงความแตกต่างของการรักษาแต่ละวิธีแล้ว จะเห็นได้ว่า “ดวงตาของคุณ” จะเป็นผู้ให้คำตอบเองว่า คุณสามารถเข้ารับการรักษาสายตาด้วยวิธีใดได้บ้าง      และนอกเหนือจากข้อมูลด้านสภาพดวงตา และวิธีการรักษาสายตาแต่ละแบบแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทีมแพทย์นำมาพิจารณาแนะนำวิธีการทำเลสิกที่เหมาะสมที่สุด การทำเลสิกแต่ละชนิดก็ยังมีข้อระวังเรื่องการดูแลหลังการรักษาและการพักฟื้นที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย ดังนั้น การตัดสินใจว่าจะเลือกทำเลสิกวิธีใด จึงควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างคนไข้และแพทย์ เพื่อการมองเห็นที่ดีที่สุดของคุณ และขอให้วางใจใน Laser Vision เพราะจักษุแพทย์ของเราเป็นทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการรักษาสายตาผิดปกติโดยเฉพาะที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์การรักษาที่ยาวนาน
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111