มุมสุขภาพตา : #Eyes

เรียงตาม
ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง
อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม
ศูนย์เลสิก LASER VISION
เทคนิคการเลือกแว่นตาหลังทำเลสิก
เทคนิคการเลือกแว่นตาหลังทำเลสิก หลังจากที่ทำเลสิกแล้วเพื่อให้แผลหายเร็วและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การรักษาความสะอาดคือการหลีกเลี่ยงแสงแดด การใส่แว่นกันแดดเป็นสิ่งหนึ่งที่คุณสามารถทำเพื่อดูแลดวงตาของคุณหลังการผ่าตัดได้ โดยมีเทคนิคการเลือกแว่นกันแดดดังนี้   🌞 เลือกเลนส์ที่สามารถป้องกันแสง UV ได้ 99-100% แสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์สามารถทำอันตรายต่อดวงตาได้ แม้ว่าจะทำเลสิกแล้วก็ตาม การใส่แว่นกันแดดที่มีเลนส์ป้องกัน UV จึงเป็นสิ่งสำคัญ 🌞 ถ้าอยู่ในที่ ๆ มีแสงสะท้อนเยอะ ควรเลือกเลนส์โพลาไรซ์ซึ่งช่วยตัดแสงสะท้อนจะทำให้สบายตามากขึ้น 🌞 เลือกสีให้เหมาะกับการใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสีดำมืดก็ได้ 🌞 เลือกขนาดที่เหมาะกับใบหน้า เลนส์ควรมีความกว้างเท่ากับใบหน้าของคุณ สันจมูกควรสวมได้พอดีโดยไม่รัดแน่นเกินไป และขาแว่นควรสวมได้พอดีโดยไม่กดทับใบหน้า   สามารถมาเลือกแว่นตากันแดดแบรนด์ชั้นนำได้ที่ร้าน WALTZ ในโรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ Bangkok Eye Hospital ชั้น 3 เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 10.00 -19.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-511-2111
ศูนย์รักษาต้อกระจก
ศูนย์รักษาจอประสาทตา
ศูนย์เลสิก LASER VISION
ศูนย์รักษาต้อหิน
ศูนย์รักษากระจกตา
ศูนย์รักษาตาเด็ก
สงกรานต์ปลอดภัย ห่างไกลตาอักเสบ
สงกรานต์ปลอดภัย ห่างไกลตาอักเสบ ดวงตา เป็นอวัยวะเสี่ยงต่อการติดชื้อโรคต่างๆได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากน้ำที่ไม่สะอาด      น้ำสงกรานต์ที่เล่นกันอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือแม้กระทั่งเชื้อรา ที่สามารถติดมากับน้ำได้ การสังเกตุก่อนเล่นน้ำ ควรสังเกตุว่าน้ำที่นำมาเล่นมีการปนเปื้อนของฝุ่น หิน ดิน ทราย หรือคราบสกปรกหรือไม่   โรคตาที่อาจเกิดขึ้นได้จากน้ำไม่สะอาด และมีสารปนเปื้อน     เยื่อบุตาอักเสบ      อาการ ตาแดง คันตา มีขี้ตา น้ำตามาก เกิดการอักเสบบริเวณตาขาว สาเหตุเกิดจากการแพ้ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส จากสารเคมี     การถลอกของกระจกตา      หรือแผลที่กระจกตา กระจกตาหรือตาดำเป็นส่วนผิวของตาที่มีความใส การถลอกจะเกิดขึ้นเมื่อถูกวัตถุไปขูดที่ผิวของตาดำ จากของกระเด็นเข้าตา หรือจากการใช้คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี ถ้าเป็นมากจะเกิดการติดเชื้อและทำให้เกิดแผลที่ตาดำได้     ตากุ้งยิง      เกิดจาก การอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ซึ่งโดยปกติแล้วสามารถระบายไขมันออกมาได้โดยผ่านทางรูระบายเล็กๆใกล้ๆขนตา แต่หากมีการอุดตัน เช่น จากฝุ่น ก็อาจทำให้เกิดการอุดตันเป็นก้อนบริเวณเปลือกตา     ตาแดง      อาการตาขาวบวมแดง มีขี้ตามาก ระคายเคืองตา คันหรือเจ็บตา ปวดตา สู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหลมาก ถ้าน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา แนะนำให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาล้างตาเบื้องต้น สังเกตุอาการหลังจากนั้นว่า มีอาการดีขึ้นหรือไม่ หากไม่ดีขึ้นใน 1-2 วันควรรีบพบแพทย์   ข้อควรระวังเมื่อเล่นสงกรานต์ ก่อนเล่นน้ำควรสังเกตุว่าน้ำที่นำมาเล่น สะอาดเพียงพอหรือไม่ ระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าตาโดยตรง กรณีมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ไม่ควรขยี้ตาเพราะอาจทำให้กระจกตาถลอกได้ ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด กรณีสังเกตุว่ามีสารปนเปื้อนมากับน้ำทำให้แสบตา เคืองตา คันตา ควรล้างน้ำสะอาดด้วยการเปิดน้ำให้ไหลผ่านเข้าตา หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการอย่างทันท่วงที สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ไม่แนะนำให้ใส่คอนแทคเลนส์เล่นน้ำหรือหากจำเป็นควรใส่แบบรายวัน ป้องกันการติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ หลังการเล่นน้ำสงกรานต์ทุกครั้ง ให้สังเกตุว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาหรือไม่ หากรู้สึกมีอาการเคืองตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด หากอาการเคืองตาไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูต่อไป
ศูนย์เลสิก LASER VISION
หลังทำเลสิก ต้องดูแลตัวเองอย่างไร
หลังทำเลสิก ต้องดูแลตัวเองอย่างไร หลังทำเลสิก ต้องดูแลตัวเองอย่างไร      ภายหลังจากทำเลสิก ดวงตาของเราจะเปราะบางเป็นอย่างมาก ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากสวิซเซอร์แลนด์ NanoRelex และ NanoLASIK ที่มีการใช้เลเซอร์พลังงานต่ำ จึงทำให้อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังทำเลสิกลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ด้วยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ทำเลสิกมากกว่า 26 ปี การทำเลสิกกับ Laser Vision จึงมีความละเอียดและปลอดภัยในทุกขั้นตอน ในการรักษาการมองเห็นที่สดใสของดวงตาคุณให้กลับคืนมา   อาการข้างเคียงเบื้องต้นหลังการทำเลสิก      อย่างไรก็ตามการทำเลสิกอาจจะทำให้เกิดอาการค้างเคียงภายหลังทำเลสิกให้กับคนไข้ ซึ่งอาจจะมีอาการแตกต่างกันไปแล้วแต่ละบุคคล ในระยะสั้น อาการที่พบบ่อย มีดังนี้ อาการระคายเคืองตา เป็นอาการที่พบได้ในช่วง 24 ช.ม.แรก ภายหลังทำเลสิก สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ให้ใช้ทิชชู่ซับน้ำตารอบฝาครอบ หากมีน้ำตาไหลออกมา อาการนี้ส่วนใหญ่จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 1 วัน สายตาไม่ชัด หรือมีอาการตาพร่ามัว อาการนี้มักเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรก ซึ่งเกิดมาจากอาการตาแห้งที่เกิดขึ้นจากการทำเลสิก เมื่อแผลสมานและหายดีแล้ว การมองเห็นก็จะชัดเจนดีขึ้นตามลำดับ การมองเห็นแสงไฟแตกกระจายในตอนกลางคืน อาการนี้มักพบใน 2 ลักษณะ คือ อาการมองเห็นแสงเป็นรูปแบบของแสงกระจาย (Glare) หรือ แสงรัศมีรอบดวงไฟ (Halo)  ซึ่งเกิดขึ้นจากผิวกระจกตาที่ไม่เรียบเพราะถูกแสงเลเซอร์เจียระไนปรับความโค้งของกระจกตา แต่เมื่อเวลาผ่านไป กระจกตาจะมีการปรับเนื้อเยื่อจนเรียบเนียนขึ้น แสงที่แตกก็จะหายไปเป็นปกติ ในบางท่านอาจส่งผลต่อการขับขี่ตอนกลางคืน ควรงดการขับขี่ยานพาหนะชั่วคราว อาการตาแห้ง ภายหลังจากการทำเลสิกอาจทำให้เกิดสภาวะต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาน้อยลงกว่าปกติทำให้ตาแห้ง สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ซึ่งอาการนี้ดีขึ้นและหายไปเมื่อเวลาผ่านไป   อาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจะเป็นกังวล ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที      ถ้าหากคนไข้พบอาการในลักษณะดังกล่าวต่อไปนี้ ควรติดต่อแพทย์และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทันที อาการปวดตา หรือเคืองตา ตาบวม หรือ ตาแดงมากขึ้น กว่าวันแรกหลังผ่าตัด พบว่า ตามัวลง และมีสีของขี้ตาผิดปกติ ได้รับอุบัติเหตุโดนกระแทกบริเวณตาข้างที่ทำผ่าตัด      ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้อาการค้างเคียงที่เกิดขึ้นลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามดวงตาภายหลังการทำเลสิกยังมีความเปราะบาง จำเป็นต้องใช้เวลาและดูแลรักษาอย่างอ่อนโยนเพื่อฟื้นฟูดวงตาให้กลับมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญ การเลือกทำเลสิกควรเลือกสถานที่ศูนย์เลสิกที่สะอาด มาตรฐาน มีประสบการณ์ดำเนินการโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาโดยตรง มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาได้อย่างละเอียดครบถ้วนทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนทำเลสิก และหลังทำเลสิก
ศูนย์เลสิก LASER VISION
โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้
โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบอาจจะเกิดจากภูมิแพ้หรือเกิดจากการติดเชื้อโรคก็ได้      อาการทางภูมิแพ้มักจะเกิดที่ตาเนื่องจากตาเป็นอวัยวะที่มีเลือดไปเลี้ยงมาก เส้นเลือดเหล่านี้ตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ได้ง่าย และที่สำคัญตาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกเมื่อคุณได้รับสารก่อภูมิแพ้เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่น รังแคสัตว์ ยา ควันบุหรี่ สารภูมิแพ้เหล่านั้นจะละลายในน้ำตา และกลับสู่เยื่อบุตาซึ่งจะสร้างสารต่อต้านสารภูมิแพ้ที่เรียกว่า Antibody IgE เมื่อภูมิจับกับ antibody จะเกิดการหลั่งสารหลายอย่างทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้น ตาของคุณก็จะมีอาการเคือง แดงและมีน้ำตาไหล หนังตามักจะปกติ การมองเห็นจะปกติ และไม่แนะนำให้ใส่ contact lens เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย   ชนิดของเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ conjunctivitis เป็นเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด มักจะมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วย อาการที่สำคัญคือ มีน้ำตาไหล เคืองตา มักจะเป็นกับตาสองข้าง อาการมักจะเป็นตามฤดูกาล   Perrennial allergic conjunctivitis  เป็นการเกิดภูมิแพ้ที่เกิดจากสารภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นตลอดปี พบได้น้อยกว่าชนิดแรก อาการมักจะน้อกว่าชนิดแรก   Atopic Keratoconjuntivitis มักจะพบร่วมกับผื่น atopic ของผิวหนังที่หนังตา และหน้า อาการที่พบร่วมคือ ตาแดง เคืองตา คัน น้ำตาไหล   ลักษณะสำคัญที่บ่งบอกเยื่อบุตาอักเสบเกิดจากภูมิแพ้ อาการคันในตาเป็นอาการที่สำคัญ หากติดเชื้อจะเป็นอาการปวดแสบร้อน น้ำตาจะเป็นน้ำใส หากติดเชื้อจะเป็นเมือกหรือหนอง มักจะมีการอักเสบของเปลือกตา ผู้ป่วยมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว   การป้องกัน        ควรจะหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ เช่นไม่ไปเดินในที่มีเกสรดอกไม้ ไม่ไปในที่มีควันบุหรี่ กอฟาง   การดูแลตัวเอง      เมื่อเกิดอาการเคืองตาและสงสัยว่าเกิดจากภูมิแพ้ควรจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งก่อภูมิแพ้ทันที อาจจะซื้อน้ำตาเทียมซึ่งจะทำให้ลดอาการบวมและชะล้างสารก่อภูมิแพ้ ใช้ผ้าเย็นปิดตาเพื่อลดอาการบวม อาจจะซื้อยาแก้แพ้รับประทาน หากดูแลตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ซึ่งจะให้ยาหยอดตาแก้แพ้   หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ บางครั้งอาจจะต้องใช้น้ำสะอาดล้างตา ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม   การใช้ยาเพื่อรักษา ใช้ยาแก้แพ้ antihistamine ซึ่งใช้ได้ทั้งชนิดยาหยอดตาและยารับประทาน ยาหยอดตาเพื่อให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อลดอาการบวมของเยื่อบุตา ยาหยอดตา steroid
ศูนย์เลสิก LASER VISION
แว่นกันแดด
แว่นกันแดด คุณภาพของแว่นกันแดดแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ยิ่งราคาถูกเท่าไหร่ ยิ่งทำร้ายสุขภาพตามากขึ้นเท่านั้น      เพราะวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ประกอบเป็นแว่นกันแดดนั้น ไม่ได้มาตรฐาน คุณภาพต่ำ เลนส์แว่นกันแดดบางอันทำจากพลาสติก ติดแผ่นฟิล์มที่ไม่ได้คุณภาพ บ้างทำจากกระจกธรรมดา ซึ่งเมื่อเวลาใช้มองภาพอาจทำให้ภาพที่เห็นผิดเพี้ยนไปจากความจริง      ผู้ที่มีความจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับแสงแดดจ้า เช่น ขับรถในเวลากลางวัน เล่นกีฬาหรือทำงานกลางเปลวแดด ควรเลือกแว่นกันแดดชนิด โพลารอยด์ ซึ่งมีส่วนประกอบของ โพลาไรซ์เพลต ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันแสงที่สะท้อนผ่านเลนส์ ไม่ทำให้สายตาพร่ามัว และช่วยตัดแสงที่ทำมุม 45 องศาที่เข้ามากระทบกับดวงตาได้ดี
นอกจากนี้ยังช่วยตัดแสงทำให้ไม่เห็นภาพลวงตา ที่เกิดการหักเหของแสงบนพื้นถนนและยังช่วยลดความเข้มของแสง ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อตาและประสาทตาเกิดอาการอ่อนล้า รวมทั้งช่วยไม่ให้เกิดอาการง่วงนอน ขณะที่สายตาจ้องมองฝ่าเปลวแดดติดต่อกันเป็นเวลานาน      ปัจจุบันแว่นกันแดดยังมีแบบสีชาซึ่งเหมาะสมกับสภาพแดดจ้า โดยเฉพาะแดดชายทะเล แดดบนภูเขา แว่นกันแดดที่มีกระจกเลนส์สีนี้จะช่วยให้มองเห็นโครงร่างต่างๆ ของวัตถุได้อย่างชัดเจนและในวันที่ท้องฟ้าขมุกขมัวมีหมอกจัด แว่นชนิดนี้ยังทำหน้าที่เสมือนไฟตัดหมอกคล้ายกับไฟของรถยนต์ ทำให้ผู้สวมใส่มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจนขึ้น      วิธีที่ดีที่สุดในการเลือกแว่นกันแดด ควรดูจากใบแจ้งคุณภาพแว่นว่าทำจากวัสดุชนิดใด มีคุณสมบัติช่วยลดความเข้มของแสงได้หรือไม่ และที่สำคัญช่วยกรองแสงได้กี่เปอร์เซ็นต์   ควรซื้อแว่นกันแดดที่มีสารป้องกันแสงแดดเพียงพอ ดังนี้ กันรังสียูวีบี (ซึ่งทะลุเข้าไปในดวงตา) ได้ 95-100 เปอร์เซ็นต์ กันรังสียูวีเอ (ซึ่งทำลายผิวบริเวณรอบดวงตา) ได้ 60 เปอร์เซ็นต์      ดูฉลากให้ถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้เราไม่ควรซื้อแว่นกันแดดที่ขายตามแผงลอยต่างๆ เพราะมักไม่มีฉลากระบุไว้ แว่นกันแดดราคาถูกตามแผงลอยถึงแม้จะมีเลนส์สีเข้ม แต่ถ้าไม่มีสารป้องกันแสงแดดเมื่อนำมาใส่ รูม่านตาจะขยายใหญ่ขึ้นโดยธรรมชาติเพื่อปรับสมดุลย์ของแสงซึ่งช่วยในการมองเห็นของดวงตา ทำให้รังสียูวีเอและรังสียูวีบี ทะลุเข้ามาในดวงตาของเรามากยิ่งขึ้น ดังนั้นเวลาเลือกซื้อแว่นกันแดดจึงไม่ควรคำนึงถึงเรื่องแบบสวยและราคาถูกเท่านั้น   เราควรเลือกซื้อแว่นกันแดดกันอย่างไร เลนส์ เลนส์นั้นมีหลายชนิด แต่ควรเลือกเลนส์ที่มีส่วนผสมของสารเมลานิน เพราะเมลานินจะช่วยดูดซับแสงที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ช่วยให้ใส่แล้วมองเห็นสบายตา นอกจากนี้แว่นกันแดดที่ดีจะต้องดูดซับรังสียูวีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ใส่แล้วไม่หลอกตาด้วย สีของเลนส์ เลนส์ที่นิยมมากที่สุดคือเลนส์โทนสีเขียว-เทา เนื่องจากช่วยกรองแสงได้ดีและใส่แล้วหลอกตาน้อยที่สุด เลนส์สีนี้เหมาะกับวันที่ต้องเผชิญกับแสงแดดรุนแรง ส่วนเลนส์สีน้ำตาล-เหลือง อาจทำให้เรามองเห็นสีเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็เหมาะจะใส่ขณะขับรถตอนเย็นๆ หรือใส่ในวันที่มีเมฆหมอกมาก รูปทรงและกรอบแว่น การเลือกแว่นก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับรูปหน้าของเรา ที่สำคัญจะต้องมีขนาดพอดีกับใบหน้า สวมแล้วไม่คับเกินไปจนทำให้เจ็บขมับ และไม่หลวมเกินไปจนใส่แล้วแว่นตกลงมาอยู่ที่ปลายจมูก   อายุการใช้งานแค่ไหน ควรเปลี่ยนแว่นกันแดดทุกๆ 2 ปี หากคุณมีโหนกแก้มใหญ่ ไม่ควรใส่แว่นใหญ่ปิดโหนกแก้ม ถ้าหากไม่รู้ว่าจะเลือกใส่แว่นทรงไหนจริงๆ ก็ให้เลือกแว่นทรงวงรี เพราะแว่นทรงนี้เหมาะกับรูปหน้าเกือบทุกแบบ ทรงแว่นตาที่เหมาะสมกับเรามากที่สุดคือ ทรงที่มีลักษณะตรงข้ามกับหน้าของเรา แว่นที่มีเลนส์สีน้ำตาลเหมาะกับคนสายตาสั้น ส่วนแว่นที่มีเลนส์สีเขียวเหมาะกับคนสายตายาว
ศูนย์เลสิก LASER VISION
ควรดูแลดวงตาอย่างไร เมื่อต้องนั่งหน้าจอคอมฯ นานๆ
ควรดูแลดวงตาอย่างไร เมื่อต้องนั่งหน้าจอคอมฯ นานๆ สำหรับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์อยู่เป็นประจำ ควรจะดูแลดวงตาเบื้องต้น ดังนี้ เบื้องต้นเลยคือท่านั่ง ควรจัดท่านั่งตัวเองให้ถูกต้องสำหรับการใช้งาน ให้ศรีษะอยู่สูงกว่าจอคอมพิวเตอร์สักเล็กน้อย จะได้ไม่ต้องเงยหน้ามองคอมพิวเตอร์ ปรับการวางจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้แสงจากด้านหลัง สว่างจนเกินไป เพราะจะทำให้ต้องใช้การเพ่งมองที่มากขึ้น หากจอคอมพิวเตอร์วางอยู่ใกล้หน้าต่าง ควรจัดหามู่ลี่กันแสง และปรับให้แสงเหมาะสมขณะใช้งาน ขณะที่จ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุก 10-15 นาที ควรกระพริบตา เพื่อลดอาการตาแห้ง แสบตา หรือเคืองตา หากมีอาการตาแห้งมากเกินไปสามารถใช้น้ำตาเทียมหยอดเพื่อช่วยให้ดีขึ้นได้ เมื่อใช้งานไปสัก 40-60 นาที ควรพักสายตา โดยการมองทอดสายตามองไปไกลๆ เพื่อช่วยคลายความเมี่อยล้าของดวงตา (มองไปที่สีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าก็ได้คะ) หากสังเกตุว่าตัวเราเริ่มมองไม่ชัด ต้องเพ่งมากกว่าปกติ หรือปวดตาบ่อยๆ อาการดังกล่าวอาจเป็นที่มาของปัญหาสายตา ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ควรเข้ารับการตรวจจากจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของการผิดปกติดังกล่าว
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111