มุมสุขภาพตา : #หนังตากระตุก

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม
ศูนย์รักษาจอประสาทตา
ศูนย์รักษาจักษุประสาทวิทยา

หนังตากระตุกเกิดจากอะไร? และเคล็ดลับดูแลสายตาเพื่อป้องกันอาการ

หนังตากระตุกคืออาการที่กล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตาขยับหรือกระตุกโดยไม่ตั้งใจ โดยมักเกิดที่เปลือกตาบนและเกิดขึ้นเป็นระยะๆ อาจเป็นเพียงชั่วขณะหรือเกิดบ่อยๆ เป็นอาการที่ไม่รุนแรง หนังตากระตุกมักเกิดจากความเครียดหรือวิตกกังวล นอนหลับไม่เพียงพอ ใช้สายตามากเกินไป ขาดแมกนีเซียม โรคพาร์กินสัน หรือการติดเชื้อที่เปลือกตา อาการเปลือกตากระตุกที่ควรพบจักษุแพทย์ ได้แก่ กระตุกตาต่อเนื่องเกิน 2-3 สัปดาห์ มีอาการปวด หรือทำให้ลืมตาลำบาก ตาแดงหรือมีขี้ตา กระตุกเกิดร่วมกับการเกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้า หากมีอาการหนังตากระตุกต่อเนื่องหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรพบจักษุแพทย์ที่ Bangkok Eye Hospital เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม   การที่หนังตากระตุกเป็นอาการที่หลายคนคุ้นเคย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล แต่ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรใส่ใจ มาดูกันว่าอาการนี้เกิดจากอะไร และเราจะดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการนี้ได้อย่างไร     อาการหนังตากระตุกคืออะไร? ตากระตุก (Eye Twitching) คืออาการที่หนังตาขยับหรือหนังใต้ตากระตุกอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นแค่เพียงเล็กน้อยหรือถี่จนทำให้เกิดความรำคาญได้ อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่เปลือกตาบนและล่าง แต่พบมากที่เปลือกตาบน โดยทั่วไปแล้วอาการตากระตุกมักไม่รุนแรงและไม่มีความเจ็บปวด     สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการหนังตากระตุก อาการหนังตากระตุกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันหรือสภาวะร่างกาย ดังนี้ ความเครียดและความวิตกกังวลสะสมเป็นเวลานาน นอนหลับไม่เป็นเวลาหรือนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ใช้สายตามากเกินไป เช่น การมองจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานๆ โดยไม่พักสายตา ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์มากในปริมาณมาก แสงสว่างที่จ้าเกินไป ลม หรือมลพิษทางอากาศ การขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารบางชนิด เช่น แมกนีเซียม วิตามินบี 12 หรือวิตามินดี การระคายเคืองที่เปลือกตาด้านใน หรือโรคภูมิแพ้ โรคตาที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ตาแห้ง ที่อาจทำให้เปลือกตากระตุกหรือเกร็งจากการพยายามรักษาความชุ่มชื้นให้กับตา โรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน หรือผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ในการรักษา     อาการหนังตากระตุกบ่อยๆ บ่งบอกถึงอะไร? แม้ว่าอาการหนังตากระตุกจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองในหลายกรณี แต่หากเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้น ควรสังเกตให้ดี เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคต่างๆ เช่น โรคทูเร็ตต์ (Tourette's Disorder) โรคอัมพาตใบหน้า (Bell’s Palsy) โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia) โรคกล้ามเนื้อใบหน้าบิดเกร็ง (Facial Dystonia) โรคคอบิดเกร็ง (Cervical dystonia) โรคกล้ามเนื้อช่องปากหรือขากรรไกรบิดเกร็ง (Oromandibular Dystonia) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)     วิธีการรักษาเปลือกตากระตุกและการบรรเทาอาการ การรักษาและบรรเทาอาการเปลือกตากระตุกสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ดังนี้ รับประทานยา การใช้กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อหรือกลุ่มยานอนหลับ อาจช่วยบรรเทาอาการหนังตากระตุกชั่วคราว เช่น ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl) และยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ จึงควรใช้ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รักษาตามปัจจัยที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก การจัดการกับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเกร็งหรือกระตุกของกล้ามเนื้อเปลือกตา เช่น การใช้น้ำตาเทียมอาการกล้ามเนื้อเปลือกตากระตุกอาจเกิดจากตาแห้ง การใช้น้ำตาเทียมช่วยให้ความชุ่มชื้น ลดการระคายเคือง และป้องกันการกระตุกของกล้ามเนื้อเปลือกตา การรักษาเปลือกตาอักเสบหากการกระตุกเกิดจากการอักเสบ เช่น โรคภูมิแพ้หรือการติดเชื้อ การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาสเตียรอยด์จะช่วยลดอาการอักเสบและทำให้การกระตุกหายไป การใช้แว่นตาดำ (FL-41)ช่วยกรองแสงจ้า เช่น แสงจากจอคอมพิวเตอร์หรือแสงแดด ลดการกระตุกของกล้ามเนื้อเปลือกตา โดยช่วยให้ตารู้สึกสบายและลดอาการกระตุก ฉีดโบท็อกซ์ การฉีดโบท็อกซ์ได้รับการรับรองในการรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งที่ควบคุมไม่ได้ และปัจจุบันเป็นวิธีที่นิยมและแนะนำมากที่สุดในการรักษาอาการเปลือกตากระตุก แพทย์จะฉีดโบท็อกซ์ลงไปบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตาที่มีอาการกระตุก เพื่อทำให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นอ่อนแรงชั่วคราว และไม่สามารถหดเกร็งได้ โบท็อกซ์จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและบล็อกสัญญาณจากเส้นประสาทที่กระตุ้นการกระตุก เมื่อฉีดโบท็อกซ์แล้วอาการตากระตุกจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ผลของโบท็อกซ์จะอยู่ได้ประมาณ 3-6 เดือน เมื่อยาหมดฤทธิ์ อาการอาจกลับมา จึงแนะนำให้กลับไปพบแพทย์หากอาการยังคงมีอยู่ การผ่าตัด การผ่าตัดสำหรับอาการตากระตุกจะพิจารณาในกรณีที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยโบท็อกซ์หรือวิธีอื่นๆ โดยการผ่าตัดอาจจะทำการตัดเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเปลือกตา เพื่อหยุดการกระตุกที่ไม่สามารถควบคุมได้     หนังตากระตุกหายได้เองไหม? และเมื่อไรที่ควรพบแพทย์? โดยทั่วไปแล้วอาการกล้ามเนื้อเปลือกตากระตุกมักหายได้เองหากหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที หนังตากระตุกที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจนรบกวนหรือมีผลต่อชีวิตประจำวันและการทำงาน อาการเปลือกตากระตุกที่ไม่หายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ เปลือกตากระตุกที่ทำให้ลืมตายากหรือเปลือกตาปิดสนิท อาการตาเกร็งหรือกะพริบตาค้างจนไม่สามารถลืมตาขึ้นได้เอง ตาแดง หรือมีขี้ตา รวมถึงเปลือกตาตก มีการกระตุกบริเวณอื่นของใบหน้าหรือร่างกายร่วมด้วย     วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเปลือกตากระตุก การป้องกันอาการเปลือกตากระตุกสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อเปลือกตา ดังนี้ ลดเวลาในการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หาสิ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ หรือการฝึกหายใจเพื่อลดความเครียด นวดกล้ามเนื้อรอบดวงตาเพื่อช่วยคลายความตึงเครียด ประคบร้อนหรืออุ่นบริเวณดวงตาประมาณ 10 นาที หากเกิดอาการตาแห้งหรือระคายเคือง สามารถหยอดน้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการ   สรุป หนังตากระตุกคืออาการที่กล้ามเนื้อเปลือกตาขยับโดยไม่ตั้งใจ มักเกิดที่เปลือกตาบน สาเหตุรวมถึงความเครียด การนอนน้อย การใช้สายตานาน ขาดสารอาหาร หรือแสงจ้า โดยวิธีรักษา ได้แก่ ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ น้ำตาเทียม แว่นตากรองแสง โบท็อกซ์ หรือการผ่าตัดในกรณีที่จำเป็น หากมีอาการหนังตากระตุกต่อเนื่องหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรพบจักษุแพทย์ที่Bangkok Eye Hospitalเพื่อรับคำปรึกษาและการรักษาที่เหมาะสม
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111