มุมสุขภาพตา : #วุ้นในตา

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

วุ้นในตาเสื่อม อันตรายต่อการมองเห็น มาหาสาเหตุและวิธีการรักษา

วุ้นในตาเสื่อม คือภาวะที่วุ้นในตาเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำและหลุดออกจากจอประสาทตา ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติในการมองเห็นได้ ผู้ที่มีอาการวุ้นในตาเสื่อมอาจมองเห็นเงาดำลอยไปมา แสงวาบในตา หรือมีปัญหาการมองเห็น หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร วุ้นในตาเสื่อมเกิดจากหลายปัจจัย เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น สายตาสั้นมาก การอักเสบในตา และอุบัติเหตุทางตา วุ้นในตาเสื่อม โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษาเว้นแต่พบจอตาฉีกขาด ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยเลเซอร์หรือการจี้เย็น หรือแนวทางการรักษาวุ้นในตาเสื่อมแบบอื่น ๆ ศูนย์จอประสาทตา Bangkok Eye Hospital ให้บริการตรวจและรักษาโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย พร้อมที่จะช่วยป้องกันและรักษาโรคดวงตาได้อย่างปลอดภัย   อาการวุ้นในตาเสื่อมอาจดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องเล็ก แต่แท้จริงแล้วอาจอันตรายกว่าที่คิดและอาจนำไปสู่ปัญหาสายตาที่ร้ายแรง ส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้สูญเสียการมองเห็นระยะยาวได้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอย่างทันท่วงที มารู้ถึงสาเหตุ วิธีการรักษา และแนวทางป้องกันวุ้นในตาเสื่อมได้ในบทความนี้     วุ้นในตาเสื่อม คืออะไร วุ้นในตา (Vitreous) เป็นองค์ประกอบสำคัญของดวงตา มีลักษณะเป็นเจลใสที่ประกอบด้วยน้ำประมาณ 99% และโปรตีนเส้นใย เช่น คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิก และสารเกลือแร่ต่างๆ โดยวุ้นในตาจะมีหน้าที่ช่วยรักษารูปร่างของลูกตาให้กลม และช่วยให้แสงผ่านเข้าสู่จอประสาทตาเพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน อาการวุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) คือภาวะที่วุ้นในตาเริ่มสูญเสียความหนืดและเปลี่ยนสภาพจากเจลใสเป็นของเหลวเหมือนน้ำเมื่ออายุมากขึ้น โดยวุ้นตาเสื่อมมักมาพร้อมกับการหลุดลอกออกจากจอประสาทตา ซึ่งเรียกว่าภาวะ "Posterior Vitreous Detachment (PVD)" อาการวุ้นในตาเสื่อม เป็นอย่างไร อาการวุ้นในตาเสื่อมที่พบได้ทั่วไป มีดังนี้ มองเห็นเงาดำหรือจุดดำลอยไปมาในสายตา อาจมีลักษณะเป็นเส้น เส้นขด หรือวงกลม เงาที่มองเห็นมักเกิดจากการที่เส้นใยโปรตีนในวุ้นตาจับตัวกันเป็นตะกอนขุ่น เกิดอาการเห็นแสงไฟวาบในตา ซึ่งมักบ่งชี้ถึงแรงดึงที่เกิดขึ้นระหว่างวุ้นตาและจอประสาทตา     สาเหตุวุ้นในตาเสื่อม เกิดจากอะไร สาเหตุที่ทำให้วุ้นในตาเสื่อมอาจเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ดังนี้ 1. อายุที่เพิ่มมากขึ้น วุ้นตาจะเสื่อมสภาพและกลายเป็นของเหลวตามกาลเวลา ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสื่อมนี้ก็ยิ่งชัดเจน ส่งผลให้เกิดเงาดำหรือจุดลอยในสายตามากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากอายุ 50 ปีขึ้นไป 2. ค่าสายตาสั้น ตามสถิติพบว่าผู้ที่มีสายตาสั้นมากกว่า 400 จะมีความเสี่ยงเกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมสูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า เนื่องจากโครงสร้างของดวงตาที่มีสายตาสั้นมักเปราะบางและเสื่อมง่ายกว่าปกติ 3. อาการอักเสบในลูกตา การได้รับอุบัติเหตุที่กระทบดวงตาในอดีตสามารถส่งผลต่อโครงสร้างของวุ้นตา ทำให้วุ้นในตาอ่อนแอและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น เช่น การถูกของแข็งกระแทกหรือบาดเจ็บอย่างรุนแรง 4. อุบัติเหตุทางดวงตา ภาวะอักเสบในลูกตา เช่น Uveitis สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของวุ้นในตา การอักเสบนี้อาจทำให้วุ้นตาเกิดการลอยตัว หรือหลุดลอกจากจอประสาทตา ส่งผลให้เกิดวุ้นในตาเสื่อมในที่สุด 5. ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต้อกระจก การผ่าตัดต้อกระจกอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของดวงตา การใส่เลนส์ตาเทียมแทนเลนส์เดิมอาจทำให้วุ้นในตาหลุดลอกและเร่งการเสื่อมสภาพให้เร็วขึ้น     วุ้นในตาเสื่อม ปล่อยทิ้งไว้อันตรายกว่าที่คิด วุ้นในตาเสื่อมเป็นปัญหาที่ไม่ร้ายแรงในตัวเอง แต่หากเกิดอาการแทรกซ้อนแล้วไม่ดูแลให้ถูกต้องหรือไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ อาการนี้อาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงต่อสุขภาพดวงตาและการมองเห็นในระยะยาว โดยผลกระทบจากอาการวุ้นในตาเสื่อมก็จะมีอยู่ดังนี้ 1. สร้างความรำคาญตา เมื่อเกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อม ผู้ป่วยมักเห็นจุดดำ เงา หรือเส้นลอยไปมาขณะมองสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงจ้าหรือขณะทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา เช่น อ่านหนังสือหรือทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นประจำ จนอาจก่อความรำคาญหรือการขยี้ตาซึ่งอาจทำให้สุขภาพตายิ่งแย่ลงไปอีก 2. เกิดเงาในจอตา วุ้นในตาที่เสื่อมสภาพจนเกิดรูรั่วหรือรอยฉีกขาดในจอประสาทตา ก็จะก่อให้เกิดการสะท้อนแสงหรือการบิดเบือนของภาพทำให้เห็นเงาดำหรือแสงวาบในจอตาได้ ซึ่งหากปล่อยไว้รูรั่วก็อาจจะขยายใหญ่ขึ้นจนนำไปสู่ปัญหาต่อๆ ไป 3. จอประสาทตาฉีกขาด หากปล่อยให้เกิดเงาในจอตาแล้วไม่มีการรักษาจนอาการเสื่อมรุนแรงขึ้น วุ้นตาที่หลุดลอกจากจอประสาทตาอาจดึงรั้งจอประสาทตาอย่างรุนแรงจนเกิดการฉีกขาดได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาจอตาหลุดลอกซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน 4. เสียสุขภาพตา ภาวะวุ้นในตาเสื่อมส่งผลต่อสุขภาพตาโดยรวม โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดการอักเสบหรือมีโรคอื่นๆ แทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา บาดแผลในดวงตา หรือการติดเชื้อในดวงตา ซึ่งจะยิ่งทำให้การรักษามีความซับซ้อนและอาการอาจรุนแรงมากขึ้น 5. สูญเสียการมองเห็นถาวร หากปล่อยให้ปัญหาวุ้นในตาเสื่อมลุกลามโดยไม่ได้รับการดูแลเป็นเวลานาน จนจอตาหลุดลอกหรือเกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตและการดำเนินชีวิตประจำวัน     อาการวุ้นในตาเสื่อม หายเองได้ไหม อาการวุ้นในตาเสื่อมจะค่อยๆ บรรเทาลงภายในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนและสามารถหายได้เองหากไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอย่างรูรั่วหรือรอยฉีกขาดในจอประสาทตา แต่หากเกิดอาการดังกล่าว ผู้ป่วยต้องรีบเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้การฉีกขาดขยายตัวมากขึ้นจนทำลายดวงตา ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงควรไปพบจักษุแพทย์ให้วินิจฉัยอาการเพื่อรักษาวุ้นในตาเสื่อมอย่างเหมาะสม วินิจฉัยอาการวุ้นในตาเสื่อม ผู้ที่มีภาวะวุ้นตาเสื่อมควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ โดยแพทย์จะเริ่มตรวจดวงตาส่วนหน้า จากนั้นแพทย์จะหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อตรวจวุ้นตาและจอตา โดยหลังหยอดยาดวงตาจะรู้สึกพร่ามัว มองแสงจ้าไม่ได้ และจะไม่สามารถมองเห็นในระยะใกล้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นผู้ที่เข้ารับการวินิจฉัยจึงควรพกแว่นกันแดดและมีคนขับรถไปด้วย     แนวทางการรักษาวุ้นในตาเสื่อม แนวทางในการรักษาวุ้นในตาเสื่อมทำได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการวุ้นในตาเสื่อม โดยจะแบ่งแนวทางการรักษาโดยคร่าวๆ ได้ดังนี้ ปล่อยให้อาการดีขึ้นเองโดยทั่วไปภาวะวุ้นในตาเสื่อมจะไม่จำเป็นต้องรับการรักษา โดยอาการเงาดำหรือแสงวาบที่เห็นจะค่อยๆ ลดลงและหายไปในที่สุดในช่วง 3 เดือน โดยในระหว่างนั้นผู้ป่วยเพียงต้องปรับตัวการใช้ชีวิตให้เหมาะสมและสังเกตอาการอย่างต่อเนื่องก็เพียงพอ รักษาด้วยเลเซอร์ใช้ในกรณีที่พบรอยฉีกขาดในจอตา โดยเลเซอร์จะถูกใช้ยิงไปยังบริเวณรอยฉีกขาดของจอตา เพื่อสร้างความร้อนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการยึดติดระหว่างจอตากับเนื้อเยื่อรอบข้าง รักษาด้วยการจี้เย็น (Cryopexy)ใช้ในกรณีที่พบรอยฉีกขาดในจอตา โดยจะใช้หัวอุปกรณ์ที่ปล่อยความเย็นไปยังบริเวณที่จอตาฉีกขาด ความเย็นจะกระตุ้นให้เนื้อเยื่อรอบรอยฉีกขาดแข็งตัวและติดกัน รักษาโรคทางตาอื่นๆ ที่เป็นต้นเหตุบางครั้งอาการวุ้นในตาเสื่อมก็อาจเกิดขึ้นจากโรคหรืออาการอื่นๆ เช่น การอักเสบในดวงตาหรือโรคเบาหวานขึ้นตา ดังนั้นจึงต้องรักษาต้นเหตุไปด้วยระหว่างการรักษาวุ้นในตาเสื่อม เพื่อป้องกันอาการวุ้นตาเสื่อมแทรกซ้อน ปรึกษาจักษุแพทย์ในกรณีฉุกเฉินหากมีอาการแสงวาบเพิ่มขึ้น หรือมีเงาดำจำนวนมากปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วอาจเป็นสัญญาณของปัญหาร้ายแรง เช่น ภาวะจอตาหลุดลอก ดังนั้นหากพบเจอกับอาการเหล่านี้ควรเข้าพบแพทย์โดยทันที แนวทางการป้องกันวุ้นในตาเสื่อม การป้องกันวุ้นในตาเสื่อม ทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพของดวงตาโดยทั่วไป โดยมีแนวทางการป้องกันวุ้นในตาเสื่อมดังนี้ รักษาสุขภาพดวงตาหลีกเลี่ยงการขยี้ตาแรงๆ หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของดวงตา ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำเข้ารับการตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 40 ปี ใส่แว่นตาป้องกันแสง UVใช้แว่นตากันแดดคุณภาพดีที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากแสงแดดที่อาจทำลายดวงตา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตาเพิ่มอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ซี อี ลูทีน และซีแซนทีน เช่น ผักใบเขียว ปลาแซลมอน และแครอท ควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสำหรับผู้ที่มีโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจอประสาทตาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ลดการใช้งานดวงตาหนักเกินไปพักสายตาทุกๆ 20 นาทีเมื่อใช้งานจอคอมพิวเตอร์หรือจอโทรศัพท์เป็นเวลานาน โดยให้หลับตาแล้วมองไปยังจุดที่มืดของห้องหรือใช้มือป้องแสงเป็นเวลา 1-2นาทีก่อนจะลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่การสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวุ้นในตาเสื่อมได้ รักษาวุ้นในตาเสื่อม ที่ศูนย์รักษาจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากมีอาการวุ้นในตาเสื่อม แนะนำให้เข้ามาปรึกษาและรักษาอาการวุ้นในตาเสื่อมได้ที่ศูนย์รักษาจอประสาทตา Bangkok Eye Hospital ที่นี่โดดเด่นด้านการรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีจุดเด่นดังนี้ โรงพยาบาลมีทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เทคโนโลยีสำหรับการรักษาดวงตาสมัยใหม่ เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย พร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศของโรงพยาบาลที่เป็นกันเอง สรุป วุ้นในตาเสื่อม คือภาวะที่วุ้นตาเสื่อมสภาพจนกลายเป็นน้ำและหลุดออกจากจอประสาทตา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเห็นเงาดำลอยไปมา หรือแสงวาบในตาได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ในบางกรณีอาจทำให้จอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอกได้ จนหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาก็อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้อย่างถาวร โดยการป้องกันที่ดีก็จะเป็นการดูแลสุขภาพดวงตาและเข้ารับการตรวจเป็นประจำ หากกังวลเรื่องวุ้นในตาเสื่อม ที่ศูนย์รักษาจอประสาทตา Bangkok Eye Hospitalพร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรควุ้นในตาเสื่อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมความมุ่งมั่นในการดูแลดวงตาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การป้องกัน รักษา ไปจนถึงฟื้นฟูสุขภาพตา เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111