มุมสุขภาพตา : #คันตา

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และพฤติกรรมที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

อาการคันตาเกิดจากอะไรได้บ้าง พร้อมสาเหตุที่พบบ่อยและวิธีป้องกัน

อาการคันตาเป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายคนพบเจอในชีวิตประจำวัน และอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ภูมิแพ้ ฝุ่นละออง หรือการใช้หน้าจอนานๆ ซึ่งหากไม่ดูแลหรือบรรเทาอาการอย่างถูกวิธี อาจส่งผลต่อสุขภาพดวงตาในระยะยาว มาดูกันว่ามีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้เกิดอาการคันตา และวิธีบรรเทาอาการเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ   คันตาคืออาการที่เกิดจากการระคายเคืองหรือการแพ้ที่ทำให้รู้สึกคันบริเวณดวงตา สาเหตุของอาการคันตามักเกิดจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ หรือการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือไวรัส รวมถึงการใช้งานตาเป็นเวลานานหรือแห้งเกินไป การรักษาอาการคันตาอาจทำได้โดยการใช้ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบเย็น หรือหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ การรักษาอาการคันตาที่ Bangkok Eye Hospital ให้การดูแลโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ พร้อมใช้อุปกรณ์ทันสมัยเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่แม่นยำ ช่วยบรรเทาอาการได้เร็วและปลอดภัย     อาการคันตาคืออะไร? คันตาคืออาการที่รู้สึกคันบริเวณดวงตา ซึ่งสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ และพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาการอาจเป็นเพียงชั่วคราวหรือเกิดขึ้นเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ หากอาการคันตารุนแรงหรือไม่หายไป ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา การรักษาที่เหมาะสมจะช่วยให้อาการคันตาดีขึ้นและหายขาดได้     อาการคันตาเป็นอย่างไร? ลักษณะอาการที่ควรรู้ อาการคันตามักทำให้รู้สึกคันหัวตา เปลือกตาบน หรือภายในดวงตา บางครั้งอาจคันหัวตาข้างเดียวและอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตาแฉะหรือมีน้ำตาไหล ตาแดงหรือระคายเคือง มีจุดเลือดเกิดขึ้นภายในดวงตา เปลือกตาบวม ปัญหาการมองเห็นหรือเห็นภาพไม่ชัด ลืมตายากหรือไม่สามารถลืมตาได้เต็มที่ ตาแพ้แสงหรือไวต่อแสง เจ็บหรือปวดตา รู้สึกเหมือนมีเศษผงอยู่ในตา     สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันตา คันหัวตา หรือคันเปลือกตา อาการคันตา คันหัวตา หรือคันเปลือกตาอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับสุขภาพของดวงตาหรือสภาพแวดล้อมที่เราเผชิญในชีวิตประจำวัน ดังนี้ ภูมิแพ้ อาการแพ้สามารถทำให้เกิดอาการคันตา คันหัวตา หรือคันเปลือกตาบนได้ เนื่องจากบริเวณนี้บอบบางและไวต่อการแพ้ สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ ฝุ่น มลพิษ สบู่ น้ำยาทำความสะอาด สารเคมี เครื่องสำอางที่ใช้รอบดวงตา เช่น อายแชโดว์ หรืออายไลน์เนอร์ ครีมกันแดด และน้ำยาย้อมสีผมหรือยาทาเล็บ ระคายเคืองหรือแพ้คอนแท็กต์เลนส์ การใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นประจำอาจทำให้เกิดอาการคันตาหรือคันหัวตาได้ หากใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นระยะเวลานานโดยไม่ดูแลรักษาอย่างถูกต้อง การสะสมของเชื้อโรคหรือสารเคมีในคอนแท็กต์เลนส์สามารถกระตุ้นการระคายเคืองที่ดวงตาได้ บางรายอาจแพ้สารในน้ำยาทำความสะอาดคอนแท็กต์เลนส์ ซึ่งก็สามารถทำให้เกิดอาการคันตาได้เช่นกัน อาการตาล้า การใช้สายตานานๆ หรืออยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศนานๆ อาจทำให้ดวงตาล้าและแห้ง จนเกิดอาการคันตาได้ ภาวะตาล้ามักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตามัว ปวดศีรษะ ปวดคอและหลัง ตาแพ้แสง ไม่มีสมาธิ และลืมตาไม่ขึ้น ภาวะตาแห้ง อาการตาแห้งอาจทำให้เกิดอาการคันตา คันหัวตา และแสบร้อน รวมถึงอาการตาแฉะ ตาแดง น้ำตาไหล หรือมีปัญหาสายตาในเวลากลางคืน เช่น ตามัว ตาแพ้แสง และตาอ่อนล้า ปัญหาขนตาทิ่มตา ขนตาที่ขึ้นใหม่มักคดหรือม้วนเข้าด้านในตา ซึ่งทำให้ขนตาสัมผัสกับผิวหนังภายในตา ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง จนทำให้รู้สึกคันตา และอาจทำให้เกิดอาการตาแดงหรือบวมตามมาได้เช่นกัน เปลือกตาอักเสบ ภาวะนี้สามารถเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ต่อมไขมันในรูขุมขนที่บริเวณเปลือกตาอุดตัน ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองจนคันที่เปลือกตาบน การติดเชื้อแบคทีเรีย ผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือความผิดปกติของต่อมไขมัน รวมถึงการมีตัวไรที่ขนตา การอักเสบของเปลือกตาอาจทำให้มีเมือกเหนียวในดวงตาและสะเก็ดแข็งเกาะที่บริเวณเปลือกตาและขนตา ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน เยื่อบุตาอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบสามารถทำให้เกิดอาการคันตาและตาแดง ซึ่งอาจติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้น หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยด่วน กระจกตาเป็นแผล บาดแผลที่กระจกตาสามารถทำให้เกิดอาการคันตาได้ หากบาดแผลไม่ลึก อาจหายได้เองในระยะเวลาสั้นๆ แต่หากเป็นบาดแผลลึก อาจทำให้มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บตา ตามัว ตาแดง และตาแพ้แสง หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นได้ ติดเชื้อที่กระจกตา ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการใส่คอนแท็กต์เลนส์ โดยเฉพาะคอนแท็กต์เลนส์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและทำให้ดวงตาบาดเจ็บ ตามมาด้วยการอักเสบ เจ็บตา คันตา มีหนองในตา รวมทั้งปัญหาในการมองเห็น หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยด่วน เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้     แนวทางการแก้อาการคันตาเบื้องต้น คันตาเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเกิดจากหลายสาเหตุ การดูแลเบื้องต้นสามารถช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นก่อนพบแพทย์ หากคุณมีอาการคันตา นี่คือแนวทางที่อาจช่วยบรรเทาอาการได้ง่ายๆ ล้างตาแก้อาการคันตา วิธีแรกในการแก้อาการคันตาคือการลืมตาในน้ำอุ่นหรือน้ำไหลผ่านดวงตาเบาๆ เพื่อชำระสิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่นละออง หรือขนตาที่หลุดเข้าไปในตา อีกวิธีคือใช้คอตตอนบัดหรือสำลีก้อนจุ่มน้ำผสมแชมพูเด็ก เช็ดเบาๆ ที่เปลือกตาและขนตาขณะหลับตา จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด ช่วยบรรเทาอาการคันและทำความสะอาดสะเก็ดที่เปลือกตาได้ดี ไม่ขยี้ตา การขยี้ตาเมื่อคันตาอาจทำให้ฝุ่นหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ตา ทำให้คันมากขึ้น หรือเกิดการระคายเคือง เช่น ตาแดงและตาอักเสบ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการขีดข่วนที่กระจกตา ซึ่งอาจทำให้เจ็บตาและบาดเจ็บได้ ควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตาเพื่อป้องกันปัญหาดวงตาที่รุนแรงขึ้น ประคบเย็นที่ดวงตา การประคบเย็นที่ดวงตาช่วยลดอาการคันตาและตาบวมได้ โดยใช้ผ้าขนหนูสะอาดชุบน้ำเย็นแล้วประคบบนเปลือกตาประมาณ 10 นาที วิธีนี้ช่วยลดการไหลเวียนของเลือดและอาการบวม สามารถทำซ้ำได้ตามต้องการ กำจัดสารก่อภูมิแพ้ สารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา และรังแคจากสัตว์เลี้ยง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการคันตา ตาแดง ตาบวม และน้ำตาไหลในผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ การทำความสะอาดบ้านและเครื่องนอนเป็นประจำ การปิดประตูหน้าต่างเมื่อมีลมแรง และการใช้เครื่องฟอกอากาศ จะช่วยบรรเทาอาการคันตาได้ ล้างหน้าและทำความสะอาดคอนแท็กต์เลนส์ให้ถูกวิธี การล้างเครื่องสำอางไม่สะอาดอาจทำให้เกิดอาการคันตา เนื่องจากฝุ่นผงจากเครื่องสำอางที่ใช้บริเวณคิ้วและตาเข้าไปในดวงตา ผู้ที่แต่งหน้าควรเช็ดเครื่องสำอางและล้างหน้าให้สะอาด และไม่ควรนอนหลับไปทั้งที่ยังไม่ได้ล้างหน้า นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการนอนหลับขณะที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์ และทำความสะอาดคอนแท็กต์เลนส์อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยแก้อาการคันตาและป้องกันการติดเชื้อในดวงตา ผ่อนคลายสายตาระหว่างวัน การใช้สายตาเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการตาแห้ง คันตา ตาล้า และปวดตา วิธีแก้อาการคันตาง่ายๆ คือการพักสายตาตามหลัก 20:20:20 ทุก 20 นาที โดยมองออกไปไกล 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที เพื่อให้ดวงตาได้พักผ่อนและลดอาการคันตา ใช้น้ำตาเทียมรักษาความชุ่มชื้น หากมีอาการคันตาจากตาแห้ง การใช้น้ำตาเทียมที่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา บรรเทาอาการคันตาและลดการระคายเคืองจากการใส่คอนแท็กต์เลนส์ได้     วิธีรักษาและดูแลอาการคันตา อาการคันตาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และหากปล่อยไว้โดยไม่ดูแล อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ ดังนั้นการรักษาและดูแลอาการคันตาอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ดวงตาของคุณรู้สึกสบายและลดความเสี่ยงจากการเกิดปัญหาตามมา ต่อไปนี้คือวิธีการรักษาและดูแลอาการคันตาตามสาเหตุต่างๆ รักษาตามอาการแพ้ การบรรเทาอาการคันตาจากอาการแพ้สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และใช้ยาแก้แพ้ เช่น ยารับประทานหรือยาหยอดตา ซึ่งยารับประทานบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการง่วง ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานกับเครื่องจักรขณะใช้ยา นอกจากนี้การล้างดวงตาด้วยน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อจะช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง ควรเลือกน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อและบรรจุในขวดที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อน แก้อาการคันตาจากตาแห้ง อาการคันตาจากการผลิตน้ำตาน้อยกว่าปกติสามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้น้ำตาเทียมที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป นอกจากนี้หากอาการคันตาเกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แห้ง เช่น ห้องปรับอากาศ หรือที่มีลมแรง การเปลี่ยนสถานที่หรือการสวมแว่นตาป้องกันลมก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ รักษาภาวะเยื่อบุตาอักเสบ ภาวะนี้ส่วนใหญ่จะดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้โดยหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์ ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสตา และหยอดน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา หากอาการรุนแรงและต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการดูแลตัวเองตามที่กล่าวมา รักษาเปลือกตาอักเสบ การรักษาเปลือกตาอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุของการอักเสบ โดยเบื้องต้นแพทย์จะรักษาตามอาการเพื่อลดอาการคันตา เช่น การประคบอุ่นและทำความสะอาดเปลือกตาด้วยแชมพูหรือสบู่เด็ก นอกจากนี้หากมีการติดเชื้อ อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย รักษาอาการติดเชื้อที่ตา สาเหตุนี้พบได้บ่อยในผู้ที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์ โดยแพทย์มักจะแนะนำให้หยุดใช้คอนแท็กต์เลนส์ชั่วคราว และอาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะทั้งชนิดหยอดตาหรือชนิดรับประทาน เพื่อช่วยรักษาอาการติดเชื้อ ดูแลรักษากระจกตาเป็นรอย อาการคันตาที่มีความรุนแรงควรได้รับการดูแลจากแพทย์ เพราะการรักษาด้วยตัวเองอาจไม่เพียงพอ และหากปล่อยไว้อาจทำให้กระจกตาเกิดรอยถาวรได้ หากอาการคันตาเริ่มรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการอาจลุกลามและเป็นอันตรายต่อดวงตาได้     วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการคันตา วิธีป้องกันอาการคันตาที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการดังกล่าว โดยหากสาเหตุเกิดจากอาการแพ้หรือโรคภูมิแพ้ ควรปฏิบัติตามวิธีดังนี้ หลีกเลี่ยงการเปิดหน้าต่างโดยไม่จำเป็น เพื่อลดการเข้ามาของฝุ่นละอองและมลพิษที่อาจกระตุ้นอาการคันตา ใช้ผ้าปูที่ป้องกันไรฝุ่น และทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำ โดยการซักด้วยน้ำร้อนเพื่อลดการสะสมของไรฝุ่นและเชื้อรา ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนสัมผัสคอนแท็กต์เลนส์และดวงตา เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสิ่งสกปรก ทำความสะอาดเครื่องสำอางทุกครั้งก่อนเข้านอน โดยเฉพาะบริเวณดวงตา เพื่อป้องกันการอุดตันของรูขุมขนที่อาจทำให้เกิดเปลือกตาอักเสบ ทำความสะอาดตัวกรองในเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของฝุ่นและเชื้อโรคที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในห้องที่ระบายอากาศไม่ดี เพื่อไม่ให้สารเคมีในควันบุหรี่กระตุ้นอาการคันตา สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตา เช่น แว่นกันสารเคมีหรือหน้ากากอนามัย หากทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อสารเคมีหรือมลพิษ อาบน้ำและทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังกลับบ้าน เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคหรือมลพิษที่ติดมากับร่างกายเข้าสู่บ้าน หลีกเลี่ยงการเกาที่ตาหรือบริเวณที่รู้สึกคัน เพราะการเกาอาจกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารฮีสตามีนที่ทำให้การแพ้รุนแรงขึ้น ใช้น้ำเกลือชำระล้างดวงตา โดยใช้น้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธีและไม่มีสารเติมแต่งหรือวัตถุกันเสีย เพื่อความสะอาดและปลอดภัย สรุป อาการคันตาสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การแพ้ การติดเชื้อ การใช้คอนแท็กต์เลนส์ หรือการขาดความชุ่มชื้นในดวงตา การบรรเทาอาการคันตาเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการขยี้ตา ล้างตาด้วยน้ำเกลือ ใช้น้ำตาเทียม ประคบเย็น และพักสายตา การป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ทำความสะอาดดวงตาและคอนแท็กต์เลนส์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี หากอาการรุนแรงควรพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพพร้อมให้บริการดูแลและรักษาอาการคันตา โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยและการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงต่อจอประสาทตา และภาวะหรือโรคตาอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ FAQ มาดูคำถามเกี่ยวกับอาการคันตาที่พบบ่อย ซึ่งหลายคนมักสงสัยกันบ้าง เราจะมาไขข้อสงสัยและให้คำแนะนำในการดูแลเบื้องต้นเพื่อให้เข้าใจสาเหตุและวิธีการรับมือกับอาการคันตาได้ง่ายขึ้น ทำอย่างไรให้หายคันตา การแก้ไขและดูแลอาการคันตาด้วยตัวเอง เช่น ใช้น้ำตาเทียมล้างตา ประคบเย็นบรรเทาอักเสบ สวมหมวกหรือแว่นกันแดดเพื่อป้องกันละอองเกสร อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายหลังกลับบ้าน และล้างมือก่อนสัมผัสดวงตาทุกครั้ง ทำไมถึงรู้สึกคันตาตลอดเวลา อาการคันตาตลอดเวลามักเกิดจากโรคภูมิแพ้ที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่น และขนสัตว์ ซึ่งทำให้ร่างกายปล่อยฮิสตามินทำให้ตาคัน แดง และบวม คันหัวตายิบๆ คืออาการอะไร   คันหัวตายิบๆ เป็นอาการที่พบบ่อยในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก ซึ่งอาจลามขึ้นตามท่อน้ำตา ทำให้เกิดอาการคันหัวตามากๆ เมื่อภูมิแพ้กำเริบ
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111