มุมสุขภาพตา : #กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

เรียงตาม

ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ปัญหาที่ส่งผลมากกว่าความงาม รักษาได้อย่างไร?

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อด้านความงามเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาด้วยเช่นกัน ทั้งอาการมองเห็นได้ไม่ชัด สายตาเอียง ตาขี้เกียจ เป็นต้น มาดูกันว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาอย่างไร หาคำตอบ ได้ในบทความนี้   กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่ยกเปลือกตาหรือเส้นประสาทบริเวณดวงตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาบนหย่อนคล้อยและอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งปกติ ส่งผลต่อทัศนวิสัยการมองเห็น ล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีสาเหตุจากพันธุกรรม อายุที่มากขึ้น พฤติกรรมการใช้ชีวิต อุบัติเหตุหรือศัลยกรรมตาผิดพลาด กล้ามเนื้อเบ้าตาฉีกขาดและความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน อาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่สังเกตได้คือมีปัญหาด้านการลืมตา ขยี้ตาบ่อย เกิดภาวะหนังตาตก เบ้าตาลึกผิดปกติ เลิกหน้าผากเพื่อมอง และอาการอื่นๆ เช่น ตาปรือ ชั้นตาไม่เท่ากัน ชั้นตาซ้อน เป็นต้น กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงป้องกันไม่ได้ เพราะบางรายอาจมีอาการตั้งแต่เกิดหรือเกิดภายหลัง แต่สามารถตรวจสายตาเป็นประจำและสังเกตอาการที่อาจเป็นตัวบ่งชี้ของภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้     กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) คืออะไร กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) คือภาวะกล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่ยกเปลือกตาหรือเส้นประสาทบริเวณดวงตาทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เปลือกตาบนหย่อนคล้อยและอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งปกติ หนังตาบนลงมาปิดตาดำจนมองเห็นได้ไม่ชัดเจนหรืออาจจะปิดการมองเห็นเลยก็ได้เช่นกัน ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมักดูเหมือนง่วงนอนตลอดเวลา ตาปรือ ทำให้เสียบุคลิกภาพ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงพบได้ในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย เป็นได้ตั้งแต่เกิดหรือเกิดในภายหลังจากอายุที่มากขึ้น การบาดเจ็บของดวงตาและการศัลยกรรม และกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดขึ้นได้กับเปลือกตาข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ซึ่งข้างใดข้างหนึ่งอาจรุนแรงกว่าอีกข้างก็ได้เช่นกัน     หาสาเหตุกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เกิดจากอะไรได้บ้าง กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ซึ่งแบ่งสาเหตุหลักๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ ดังนี้ 1. พันธุกรรม กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงจากพันธุกรรมเป็นการเกิดขึ้นของภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงตั้งแต่กำเนิด เรียกว่าโรคหนังตาตกแต่เกิด (Congenital Ptosis) เกิดจากกล้ามเนื้อตาไม่พัฒนา หรือถ่ายทอดจากพันธุกรรมทำให้หนังตาตกลงมาปิดตาดำมากกว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อตาหนึ่งหรือสองข้าง เด็กที่มีภาวะกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสายตาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นตาขี้เกียจ สายตาเอียง มองเห็นภาพมัว ตาเข การเคลื่อนไหวตาผิดปกติ เนื้องอกบริเวณเปลือกตาหรือตำแหน่งอื่น สังเกตเด็กที่มีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้จากพฤติกรรมการเลิกคิ้ว แหงนคอไปด้านหลัง ยกคางขึ้นเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อบุคลิกภาพแต่ยังทำให้เกิดปัญหากับศีรษะและคอของเด็กด้วย 2. อายุที่มากขึ้น อายุที่มากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อตาและผิวหนังมีการหย่อนคล้อยไปตามวัยและการใช้งาน ทำให้หนังตาหย่อนคล้อย หนังตาตก บดบังทัศนียภาพการมองเห็น เกิดการเลิกคิ้วเพื่อให้มองเห็นได้ชัด ซึ่งยิ่งทำให้เกิดริ้วรอยย่นบนหน้าผากเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความงามและการใช้ชีวิตประจำวัน 3. พฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างอาจเป็นสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เช่น การอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือจ้องหน้าจอโทรศัพท์เป็นเวลานานโดยไม่ได้พักสายตา ทำให้สายตาทำงานหนัก เกิดอาการอ่อนล้าดวงตา เสี่ยงพัฒนาไปเป็นภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง รวมไปถึงการขยี้ยาบ่อยๆ แรงๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงได้เช่นกัน 4. อุบัติเหตุ หรือศัลยกรรมตาผิดพลาด การเกิดอุบัติเหตุหรือศัลยกรรมตาผิดพลาดส่งผิดให้เกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ การเกิดอุบัติเหตุมีส่วนทำให้กระดูกบริเวณใบหน้าผิดไปจากเดิม เนื่องจากการกระแทกทำให้เส้นประสาทควบคุมกล้ามเนื้อตาผิดปกติ จนเกิดหนังตาตก ลืมตาลำบาก จนส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง การศัลยกรรมตาสองชั้นผิดพลาดเกิดจากความไม่เชี่ยวชาญของแพทย์ที่ทำการผ่าตัด หรือไม่ได้วินิจฉัยก่อนว่าผู้รับการผ่าตัดมีปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงหรือไม่ การผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อาจมาจากการทำตาสองชั้นสูงเกินไป ทำให้เกิดการรั้งจนเป็นพังพืดที่กล้ามเนื้อตา การผูกปมไหมที่ไปขัดขวางการทำงานของกล้ามเนื้อตา การผ่าตัดไปกระทบกับกล้ามเนื้อตา ทำให้ตาไม่เท่ากัน ตาปรือ หรือหนังตาตก 5. กล้ามเนื้อเหนือเบ้าตาฉีกขาด กล้ามเนื้อเหนือเบ้าตาฉีกขาด เกิดจากกล้ามเนื้อลีเวเตอร์ (Levator) ที่มีหน้าที่หน้าที่ยกเปลือกตาและควบคุมการปิดเปิดทำงานผิดปกติได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนนี้เกิดการอ่อนแรง การใส่คอนแท็กต์เลนส์หรือการขยี้ตาบ่อยๆ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อตาบาดเจ็บจนเกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง 6. ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Myasthenia Gravis) กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Myasthenia Gravis) หรือ MG ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของตาอ่อนแรงง่ายขึ้น เนื่องจากหลั่งสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการตาปรือ ลืมตาลำบาก หนังตาตก การกลอกตาผิดปกติ เกิดภาพซ้อน และตาไม่สามารถโฟกัสได้     กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาการเป็นอย่างไร การสังเกตอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ โดยกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอาการที่พบได้ มีดังนี้ 1. มีปัญหาด้านการลืมตา เมื่อมีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะทำให้ไม่สามารถลืมตาได้เต็มที่ กรณีที่เป็นข้างเดียวจะสังเกตได้ว่าตาไม่เท่ากัน หนังตาตกลงมาชัดเจน ชั้นตาใหญ่กว่าปกติ ดูตาปรือ และลืมตาให้เต็มที่เท่ากับข้างที่เป็นปกติไม่ได้ 2. มีพฤติกรรมขยี้ตาบ่อย กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่ส่งผลให้ชั้นตาพับ ตาปรือ หนังตาตก และอาจทำให้รู้สึกระคายเคืองบริเวณดวงตา ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมขยี้ตาบ่อยๆ ได้ 3. เกิดภาวะหนังตาตก ภาวะหนังตาตกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เกิดหรือเกิดขึ้นในภายหลังได้จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทำให้ตาไม่เท่ากัน ตาง่วง ปรือ ใบหน้าไม่สดใส เหมือนคนง่วงนอนตลอดเวลา เนื่องจากกล้ามเนื้อตาเปิดได้ไม่เต็มที่จากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง และอาจทำให้การมองเห็นไม่ปกติจากหนังตาตกที่มาบดบังการมองเห็น 4. เบ้าตาลึกผิดปกติ ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมักมีเบ้าตาลึกมากกว่าปกติ จะสังเกตได้ว่ามีร่องรอยลึกอยู่เหนือเปลือกตา พบบ่อยในผู้ที่มีอายุ เบ้าตาลึกจะเห็นได้ง่ายในผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเนื่องจากไขมันใต้เปลือกตาหายไป ทำให้ตาดูโหล ดูโทรม ดูมีอายุ 5. เลิกหน้าผากเพื่อมอง อีกหนึ่งอาการที่สังเกตเห็นได้ง่ายคือพฤติกรรมการเลิกหน้าเพื่อมองให้ชัดขึ้น เพราะผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง หนังตาจะเกิดการหย่อนคล้อยส่งผลต่อการมองเห็น จึงต้องเลิกคิ้วขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดริ้วรอยบนหน้าผาก ทำให้ใบหน้าดูมีอายุ และเสียบุคลิกภาพ 6. อาการอื่นๆ ที่สังเกตเห็นได้ชัด อาการอื่นๆ ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ การเลิกคิ้ว เงยหน้ามอง ตาปรือ ชั้นตาไม่เท่ากัน ชั้นตาซ้อน หนังตาตกและหย่อนคล้อย การมองเห็นผิดปกติ สายตาเอียง และตาไม่เท่ากัน ผลกระทบกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่มากกว่าแค่ความงาม กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงไม่เพียงแต่ส่งผลด้านความงามเท่านั้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาดูแลยังส่งผลต่อสุขภาพดวงตาและปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น การเกิดสายตาเอียงจากแรงกดของเปลือกตาด้านหน้าซึ่งทำให้รูปร่างตาเปลี่ยน เกิดการมองเห็นที่ผิดเพี้ยน การเกิดสายตาขี้เกียจ ในเด็กอาจทำให้เด็กแหงนหน้ายกคางขึ้นเพื่อให้มองเห็น ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาเกี่ยวกับคอ และการหดเกร็งกล้ามเนื้อหน้าผากและทำให้เกิดปัญหาพัฒนาการช้าได้     วินิจฉัยกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงโดยแพทย์ กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงวินิจฉัยได้จากการมองด้วยตาเปล่าได้ เนื่องด้วยผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะมีหนังตาตก หากเป็นข้างเดียวจะสังเกตได้ง่ายกว่าเป็นทั้ง 2 ข้าง ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจตา ซึ่งประกอบไปด้วย Slit Lamp Examinationคือกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้แสงสว่างในการตรวจ จะช่วยให้จักษุแพทย์สามารถส่องเห็นทั้งภายนอกและภายในดวงตาแบบภาพ 3 มิติ ตรวจลานสายตา (Visual Field Test)คือการตรวจลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการวัดขอบเขตการมองเห็นเมื่อมองตรงไปข้างหน้า ตรวจการกลอกตา (Ocular Motility Testing)เพื่อตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อตา โดยการให้ผู้ป่วยมองตามนิ้วโดยไม่เคลื่อนไหวใบหน้า Tensilon Testทดสอบโดยฉีดยา edrophonium chloride 2 - 5 มิลลิกรัม ทางหลอดเลือดดำเพื่อตรวจหาโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (MG)     แนวทางการรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง การแก้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงหรือรักษาด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับอาการและการทำงานของกล้ามเนื้อเปลือกตา หากไม่มีการบดบังของดวงตาจนส่งผลให้เกิดปัญหาการมองเห็น อาจไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ แต่หากปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงส่งผลต่อความงามและกระทบการมองเห็น ควรรีบได้รับการรักษาเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ตามมาได้ กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงมีแนวทางการรักษา ดังนี้ ผ่าตัดรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง การผ่าตัดรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะมีการใช้ยาชาเฉพาะพื้นที่ และมีรูปแบบการผ่าตัดที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับลักษณะของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หากยังเปิดตาเองได้จะใช้การผ่าตัดดึงกล้ามเนื้อเปิดตาแบบแผลด้านใน (Mullerectomy)เพราะฟื้นตัวเร็ว ได้ชั้นตาที่เป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับชั้นตาเดิมก่อนเป็นกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หากตาตกมากแต่ยังพอมีแรงเปิดตาได้ จะใช้วิธีการผ่าตัดดึงกล้ามเนื้อเปิดตาแบบแผลด้านนอก (Levator Surgery)โดยแพทย์จะผ่าตัดจะเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อลึกด้านใน เพื่อดึงเพื่อให้กล้ามเนื้อเปิดตากลับมาทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแต่กำเนิดและไม่มีแรงเปิดตาได้ จะใช้วิธีการผ่าตัดดึงกล้ามเนื้อเปิดตา ใช้แรงดึงจากกล้ามเนื้อหน้าผาก (Frontalis Sling) โดยใช้เอ็นหุ้มกล้ามเนื้อส่วนต้นขาแทนการใช้วัสดุสังเคราะห์มาคล้องแทน เพราะอยู่ได้นาน โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย ยาหยอดรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง การรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงโดยการใช้ยาหยอด จะใช้ตัวยาที่เรียกว่า Oxymetazoline ที่เข้าไปทำงานกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการยกเปลือกตาบน (Levator Muscle) ซึ่งช่วยให้เปิดตาได้กว้างขึ้น และต้องใช้เป็นประจำ แต่มีข้อจำกัดคือรักษากล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงบางประเภทไม่ได้ การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดได้กับทุกคน และบางครั้งก็เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เกิด แต่ก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงและแก้ไขแต่เนินๆ ได้ โดยการหมั่นพบแพทย์ตรวจเช็กสายตา การสังเกตอาการของโรค และลดการใช้สายตาหนักๆ รักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ที่ศูนย์ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง Bangkok Eye Hospital ดีอย่างไร หากมีอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เข้ารับคำปรึกษาและการรักษาได้ที่ศูนย์ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง Bangkok Eye Hospitalที่นี่เชี่ยวชาญด้านการดูแลและรักษาความผิดปกติของดวงตา โดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีความโดดเด่นดังนี้ โรงพยาบาลดูแลโดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการผิดปกติ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม โรงพยาบาลมีเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับการรักษาดวงตา เครื่องมือได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อการรักษาดวงตาอย่างแม่นยำและปลอดภัย โรงพยาบาลพร้อมให้การรักษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ โรงพยาบาลใส่ใจในการบริการ พร้อมบรรยากาศที่เป็นกันเอง สรุป กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) เป็นภาวะที่เปลือกตาหย่อนคล้อยกว่าปกติ เนื่องจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาหรือเส้นประสาท ส่งผลให้ตาปรือ คล้ายคนง่วงนอน ลืมตาได้ไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านสายตาอย่างสายตาเอียง สายตาขี้เกียจได้ กระทบต่อทั้งบุคลิกภาพ ความมั่นใจ และการมองเห็น ภาวะนี้เกิดได้ในทุกเพศทุกวัย ทั้งจากพันธุกรรม อายุที่มากขึ้น การบาดเจ็บ หรือผลข้างเคียงจากการศัลยกรรม โดยอาจเกิดขึ้นที่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ซึ่งระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล ศูนย์ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง Bangkok Eye Hospitalที่นี่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือทันสมัย แก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงในราคาเข้าถึงได้ ให้คำแนะนำ ดูแล พร้อมบรรยากาศที่เป็นกันเอง
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111