มุมสุขภาพตา : #กระจกตาถลอก

เรียงตาม
ตาแห้งมีอาการอย่างไร วิธีรักษา ป้องกัน และนิสัยที่ช่วยลดอาการตาแห้ง
อาการตาแห้ง คือภาวะตาขาดความชุ่มชื้นเพราะการผลิตน้ำตาน้อยเกินไปหรือคุณภาพน้ำตาไม่ดี ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไม่สบายตาได้ ตาแห้งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้การผลิตน้ำตาน้อยลง การสวมใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินไป การจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การรักษาตาแห้งทำได้หลายวิธี เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม การประคบอุ่น และการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ รักษาอาการตาแห้งที่ Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ   ตาแห้งเป็นโรคที่ทำให้ตารู้สึกแห้งและระคายเคือง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลดลงหรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หากดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการและป้องกันภาวะตาแห้งในระยะยาว มาหาสาเหตุของอาการตาแห้ง วิธีรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้งได้ในบทความนี้     อาการตาแห้ง คืออะไร? ก่อนทำความรู้จักกับอาการตาแห้ง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘น้ำตา’ กันก่อน โดยน้ำตามีความสำคัญต่อดวงตา เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน หล่อเลี้ยงเลี้ยงกระจกตาด้วยออกซิเจน และป้องกันการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาทำร้ายดวงตา ตาแห้ง เป็นอาการที่ปริมาณน้ำตาที่เข้ามาหล่อเลี้ยงผิวตามีไม่เพียงพอส่งผลให้ผิวตาอักเสบได้ โดยอาการของตาแห้งอาจเริ่มจากการแสบตา หรือรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา รวมถึงอาจพบอาการตาแดง เจ็บ หรือมีการพร่ามัวที่ดีขึ้นเมื่อกะพริบตา นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกฝืดๆ หนักๆ ที่ตา หรือลืมตาลำบาก และบางครั้งอาจมีอาการตาล้าหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ     ทำไมถึงมีอาการตาแห้งได้ ตาแห้งเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสบายของดวงตาและการมองเห็น โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลานานเกินไป อาการภูมิแพ้ที่ตาซึ่งอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ อยู่ในที่ร้อน ลมแรง หรือความชื้นต่ำ ความผิดปกติของต่อมไขมันขอบตา การพบตัวไร (Demodex blepharitis) บริเวณโคนขนตา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำตา การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้แพ้ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะในเพศหญิงที่อาจทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง     อาการตาแห้งเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำตาหรือการทำงานของต่อมน้ำตา หากมีลักษณะดังต่อไปนี้ จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายขึ้น สร้างน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือปัจจัยที่ส่งผลให้สามารถสร้างน้ำตาได้น้อย ได้แก่   กลุ่มคนที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือภาวะที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น Primary Sjogren’s Syndrome กลุ่มคนที่ไม่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพ้ยารุนแรง หรือการอักเสบที่ทำให้ท่อน้ำตาตัน กลุ่มคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยน มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้การผลิตน้ำตาและสารคัดหลั่งอื่นๆ ในร่างกายลดลง การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต หรือยาคลายเครียดบางชนิด ที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการผลิตน้ำตาได้ น้ำตาระเหยเร็ว (Evaporative Dry Eyes)  ปัจจัยที่ส่งผลให้การระเหยของน้ำตาเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ได้แก่   ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เปลือกตาอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของชั้นไขมัน จะทำให้การสร้างน้ำตาชั้นน้ำมันลดลง ซึ่งทำให้เกิดการระเหยของน้ำตาได้เร็วขึ้น ความผิดปกติของเปลือกตา การปิดตาไม่สนิทหรือการกะพริบตาน้อยผิดปกติ ซึ่งทำให้การกระจายน้ำตาผิดปกติ และเพิ่มการระเหยของน้ำตา โดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง การอักเสบของเยื่อบุตาอาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งส่งผลต่อการสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตา ทำให้การสร้างน้ำตาผิดปกติ การใช้สายตามาก พบมากในวัยทำงานจากพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา และการใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ดูดน้ำออกจากดวงตา ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงและน้ำตาระเหยเร็ว     วิธีรักษาหรือวิธีแก้โรคตาแห้ง วิธีรักษาโรคตาแห้งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละบุคคล โดยใช้วิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตาแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ฝุ่นควัน หรือแสงจ้า โดยการใส่แว่นกันแดดและแว่นกันลม เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ตาแห้งขึ้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นเวลานานๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงจากดวงตาที่อาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลงได้ ใช้น้ำตาเทียม ในการรักษาอาการตาแห้ง น้ำตาเทียมเป็นตัวช่วยที่ดี โดยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่   น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ในรูปแบบขวด ควรใช้ไม่เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน อาจแบ่งการใช้ยาเพิ่มน้ำตาตามช่วงเวลาของวัน เช่น เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ซึ่งเหมาะสำหรับอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย แบบกระเปาะ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือขวดที่มีระบบวาล์วพิเศษใช้ได้นาน 6 เดือน ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1-2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง  ใช้ยาหยอดตาเพิ่มปริมาณน้ำตา มียาหยอดตาที่ช่วยเพิ่มน้ำตาและรักษาอาการตาแห้งได้ โดยแต่ละชนิดจะช่วยรักษาตามอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้   ยา Diquafosol ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาและลดอาการแห้ง ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ยาลดการอักเสบของเปลือกตาช่วยลดการอักเสบและอาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง ยากลุ่ม Steroids โดยยานี้ช่วยบรรเทาการอักเสบของผิวตาและลดอาการระคายเคืองที่เกิดจากการขาดน้ำตา ยา Cyclosporine ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอดตา ช่วยลดการอักเสบในตาและเพิ่มการผลิตน้ำตา โดยการปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยลดอาการตาแห้งได้ การทำความสะอาดเปลือกตา การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่นด้วยแชมพูเด็กผสมเจือจางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา ทำให้ชั้นไขมันที่เคลือบน้ำตาทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันน้ำตาระเหยเร็วและลดอาการตาแห้ง ใช้ Autologous Serum การรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรงโดยใช้สารที่ช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อทำได้โดยการเจาะเลือดจากผู้ป่วยไปปั่นแยกเป็น Serum และนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และส่งเสริมการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อให้กลับสู่สภาพปกติได้ดีขึ้น การอุดท่อระบายน้ำตาที่หัวตา (Punctal Plug) การรักษาอาการตาแห้งที่รุนแรงทำได้โดยการอุดช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา (Punctum) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยการใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery ซึ่งเป็นการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา วิธีนี้ช่วยให้ดวงตาเก็บน้ำตาไว้ได้นานขึ้น ลดการระเหยของน้ำตา และช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก     การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง การป้องกันอาการตาแห้งทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ดังนี้    หยุดพักจากการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุกๆ 20 นาที โดยการหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองสิ่งที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ตาได้พักและผ่อนคลาย งดการใช้คอนแท็กต์เลนส์ต่อเนื่อง ควรสลับใส่แว่นในระหว่างวันเพื่อให้ดวงตาได้พัก ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยลดความเครียดของดวงตา เตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อให้น้ำตาเคลือบตาและช่วยลดการระเหยของน้ำตา หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมแรง ควรสวมแว่นกันแดดกันลมเพื่อปกป้องตาจากสภาพแวดล้อม กินอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารที่มีโอเมกา 3 ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของตา  ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน สรุป ตาแห้งคืออาการที่น้ำตาผลิตไม่เพียงพอหรือระเหยเร็วเกินไป ทำให้ดวงตารู้สึกแห้ง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ รักษาได้หลายวิธี เช่น ใช้น้ำตาเทียม ประคบอุ่น ใช้ยาเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาหรือลดการอักเสบ และป้องกันตาแห้งได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตา รวมถึงการใช้ยาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา  สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง รับการรักษาได้ที่ ศูนย์โรคจักษุประสาทวิทยา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) ซึ่งให้การดูแลปัญหาตาแห้งที่ส่งผลต่อการมองเห็นและระบบประสาท โดยจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะตาแห้งอย่างครบวงจร
อ่านเพิ่มเติม
สาเหตุที่ทำให้กระจกตาถลอก พร้อมวิธีการรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
กระจกตาถลอกคือการบาดเจ็บที่กระจกตา เกิดรอยขีดข่วนหรือแผลที่ผิวกระจกตา ส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดบริเวณดวงตาและมองเห็นได้ไม่ชัด กระจกตาถลอกเกิดจากการขีดข่วนหรือบาดเจ็บที่กระจกตา เช่น การขยี้ตาแรง การมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในดวงตา หรือการใช้คอนแท็กต์เลนส์ไม่ถูกวิธี วิธีรักษากระจกตาถลอกคือการใช้ยาหยอดตาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และปิดตาลดการเสียดสี ส่วนวิธีป้องกัน เช่น ไม่ขยี้ตา สวมแว่นตาป้องกัน และรักษาความสะอาดมือ รักษากระจกตาถลอกที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ) มอบการดูแลจากจักษุแพทย์ที่มีประสบการณ์ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและปลอดภัย   ทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้เกิดกระจกตาถลอกและการเลือกวิธีการรักษาและป้องกันที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพดวงตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาว     กระจกตาถลอก คืออาการอะไร กระจกตาถลอก คือการขีดข่วนหรือบาดเจ็บที่ผิวกระจกตาซึ่งเป็นส่วนโปร่งใสที่ปกคลุมดวงตา ชั้นบนสุดของกระจกตาคือเยื่อบุ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 ชั้นของกระจกตา อาการของการถลอกเกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุผิว การเสียดสี หรืออุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงมาก แต่เมื่อผิวกระจกตาหลุดออกจะกระทบกับเส้นประสาทที่อยู่ใต้เยื่อบุผิว ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดจากการสัมผัสกับน้ำหรืออากาศ     รู้ได้อย่างไรว่าเป็นกระจกตาถลอก หากกระจกตาถูกขีดข่วนหรือบาดเจ็บ อาจทำให้เกิดอาการกระจกตาถลอก ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการต่างๆ คือ ดวงตาแฉะหรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ เจ็บปวดที่ดวงตา อาจมีอาการระคายเคืองหรือรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา มีอาการไวต่อแสงหรือแสบตาเมื่อมองแสง มองเห็นไม่ชัด หรือภาพพร่ามัวเนื่องจากกระจกตาไม่เรียบ เวียนศีรษะจากการมองเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ชัดเจน หนังตาบวม หรือมีอาการเปลือกตากระตุก     กระจกตาถลอก มองไม่ชัด เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง กระจกตาถลอกและทำให้มองเห็นไม่ชัดเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาการผิดปกติ และโรคต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้ สิ่งแปลกปลอมเข้าตา หากอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองหรือเศษสิ่งสกปรกมาก โดยเฉพาะในผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นหรือเศษละอองจากสิ่งสกปรกเยอะ เช่น ผู้ที่ทำงานในอาชีพก่อสร้าง ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือชาวไร่ชาวสวนที่ใกล้ชิดกับใบไม้และกิ่งไม้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระจกตาถลอกได้ ขยี้ตาแรง การขยี้ตาแรงอาจทำให้กระจกตาถลอกได้ เนื่องจากแรงที่เกิดขึ้นจากการขยี้ตาทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างมือหรือสิ่งที่มีสิ่งสกปรกติดอยู่กับผิวกระจกตา นอกจากนี้การขยี้ตายังทำให้สิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่น หรือเชื้อโรคเข้าไปในตา ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือการระคายเคืองเพิ่มขึ้น ดวงตาบาดเจ็บ การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาจากสาเหตุต่างๆ เช่น การขูดขีดจากเล็บมือ แปรงแต่งหน้า หรือปากกาทิ่มตา ทำให้เกิดกระจกตาถลอกได้ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไปสัมผัสหรือเสียดสีกับผิวกระจกตาที่บอบบาง ทำให้เกิดรอยขีดข่วนหรือการบาดเจ็บได้ง่าย นอกจากนี้การเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง เช่น กีฬาที่มีลูกบอลหรืออุปกรณ์กระทบเข้ากับดวงตา หากไม่ใส่แว่นตาป้องกัน หรือการผ่าตัดที่ไม่ได้ปิดตาอย่างถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดกระจกตาถลอก ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อหรือการบาดเจ็บที่รุนแรงขึ้นได้ การใส่คอนแท็กต์เลนส์ไม่ถูกต้อง คอนแท็กต์เลนส์เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดกระจกตาถลอกได้ โดยเฉพาะในคนที่ใช้คอนแท็กต์เลนส์แฟชั่นที่อาจไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน หากคอนแท็กต์เลนส์ไม่สะอาดหรือเสียดสีกับดวงตาก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเป็นแผลที่กระจกตาได้ รวมถึงการใช้คอนแท็กต์เลนส์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้คอนแท็กต์เลนส์แบบรายวันแต่ใส่ติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด หรือไม่รักษาความสะอาดของคอนแท็กต์เลนส์อย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้เลนส์เสื่อมสภาพและส่งผลให้เกิดการถลอกที่กระจกตาได้ ติดเชื้อที่ดวงตา การติดเชื้อที่ดวงตา เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ดวงตาผ่านการสัมผัสโดยตรงหรือการใช้สิ่งของที่ไม่สะอาดจะทำให้เกิดการอักเสบหรือแผลที่กระจกตา ซึ่งจะทำให้ผิวกระจกตาบอบบางและเสี่ยงต่อการขีดข่วนหรือการบาดเจ็บได้ง่าย ทำให้เกิดกระจกตาถลอกได้ โรคประจำตัว นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว อาการกระจกตาถลอก มองไม่ชัดอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวได้เช่นกัน เช่น ผู้ที่มีภาวะตาแห้งซึ่งทำให้ดวงตาขาดน้ำและเกิดการถลอกของกระจกตาง่ายขึ้น ผู้ที่มีอาการของโรคภูมิแพ้หรือเยื่อบุตาอักเสบจากโรคภูมิแพ้ที่ทำให้ขยี้ตาบ่อยครั้ง จนทำให้กระจกตาถลอกเป็นแผล ผู้ที่มีโรคที่ทำให้เปลือกตาปิดไม่สนิท ก็เสี่ยงต่อการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาและทำให้เกิดการถลอกหรือแผลที่กระจกตาได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระจกตาถลอก อาการกระจกตาถลอกเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในร่างกาย ได้แก่ การทำงานใกล้กับอันตรายที่อาจกระทบตา เช่น เครื่องเจียรหรือโรงเลื่อย การทำสวนโดยไม่สวมแว่นตาป้องกัน การเล่นกีฬาอันตรายที่อาจทำให้เกิดบาดเจ็บที่ดวงตา การใส่คอนแท็กต์เลนส์ การมีอาการตาแห้ง การขยี้ตาซ้ำๆ หรือขยี้ตาด้วยแรงมาก     การรักษาและฟื้นฟูกระจกตาถลอก วิธีรักษากระจกตาถลอกจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันตามการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ดังนี้ การใช้ยายาหยอดตาและยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการเจ็บตาและตาแดง ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตาหรือยาทาชนิดขี้ผึ้งใช้ป้องกันการติดเชื้อที่ดวงตาและฆ่าเชื้อไวรัส ใช้ผ้าปิดตาช่วยป้องกันแสงและลดการเคลื่อนไหวของดวงตา โดยเฉพาะในกรณีที่มีรอยแผลใหญ่หรือภาวะตาไวต่อแสง เพื่อป้องกันการเสียดสีและช่วยฟื้นตัว ใช้คอนแท็กต์เลนส์พอดีตาช่วยป้องกันการเสียดสีได้ และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์     การป้องกันไม่ให้เกิดกระจกตาถลอก วิธีป้องกันและดูแลเพื่อลดความเสี่ยงและปกป้องดวงตาให้ปลอดภัยจากการบาดเจ็บ ไม่ให้เกิดกระจกตาถลอก มองเห็นไม่ชัด สามารถทำได้มีหลายวิธี ดังนี้ รักษาความสะอาด หมั่นล้างมือ ตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการจับ ถู หรือขยี้ดวงตาแรงๆ สวมแว่นตาป้องกันเพื่อป้องกันดวงตาจากสิ่งแปลกปลอมในชีวิตประจำวันหรือสถานการณ์เสี่ยง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละออง เช่น พื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดความเสี่ยงจากสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา เลือกใช้คอนแท็กต์เลนส์ที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับสภาพดวงตา รวมถึงถอดคอนแท็กต์เลนส์ก่อนนอนและทำความสะอาดให้ถูกวิธี ใช้สารเคมีหรืออุปกรณ์ที่มีคมอย่างระมัดระวัง สรุป กระจกตาถลอกคือการบาดเจ็บที่ผิวกระจกตา ซึ่งทำให้เกิดรอยขีดข่วนหรือแผลที่ผิวหนังของกระจกตา โดยสาเหตุของกระจกตาถลอกมักเกิดจากขยี้ตาแรง การใช้อุปกรณ์หรือสารเคมีเสี่ยง การใส่คอนแท็กต์เลนส์ไม่สะอาด หรือการบาดเจ็บจากของแข็ง การรักษากระจกตาถลอกมีการใช้ยาหยอดตา ยาปฏิชีวนะ และการปิดตาเพื่อป้องกันการเสียดสี ส่วนการป้องกันควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตา สวมแว่นตาป้องกัน และใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่สะอาด หากมีอาการกระจกตาถลอก มารับการรักษาที่ศูนย์รักษาโรคกระจกตา Bangkok Eye Hospital (โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ)มีแพทย์ที่ชำนาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดูแลดวงตาที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระจกตา
calling
ติดต่อเรา : +662 511 2111